หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๗.pdf/42

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ศุโขไทย แล้วเล่าถึงเหตุการณ์ที่เชิญพระสิหิงค์ไปไว้ยังเมืองต่าง ๆ หนังสือเรื่องนี้ได้แปลแลแต่งเปนภาษาไทยหลายฉบับ

หนังสือชินกาลมาลินี พระภิกษุชื่อ รัตนปัญญาญาณ อยู่ในอาณาจักรลานนาไทย (คือ เชียงใหม่) แต่งเปนภาษามคธเมื่อปีชวด จุลศักราช ๘๗๘ พ.ศ. ๒๐๕๙ กล่าวด้วยเรื่องพระพุทธสาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ แปลเปนภาษาไทยเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

หนังสือจีนชื่อ คิมเตี้ยซกทงจี่ ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนในราชวงษ์ไต้เชงแผ่นดินเขียนหลงมีรับสั่งในกรรมการขุนนางแต่งขึ้นเมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๑๒๙ พ.ศ. ๒๓๑๐ ว่าด้วยทางพระราชไมตรีในระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยาม หนังสือเรื่องนี้ ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) ได้แปลเปนภาษาไทย

หนังสือพงษาวดารเหนือ ได้ความตามบานแพนกที่มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงรวบรวมเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ พ.ศ. ๒๓๕๐ กรมพระราชวังฯ มีพระบัณฑูรให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ขวา เปนผู้เรียบเรียง วิธีที่พระวิเชียรปรีชาเรียบเรียงพงษาวดารเหนือ ดูเหมือนหนึ่งเที่ยวเก็บหนังสือเรื่องราวอะไรเก่า ๆ บรรดามีซึ่งเชื่อว่า เปนเรื่องก่อนสร้างกรุงศรีอยุทธยา บางทีจะถึงจดคำเล่าคำบอกของชาวเมืองเหนือที่รู้เรื่อง