หน้า:พรบ มาตรการป้องกันความผิดซ้ำ ๒๕๖๕.pdf/6

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๑๑
ราชกิจจานุเบกษา



มาตรา ๑๙ ในคดีที่มีการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุกเพื่อป้องกันมิให้กระทำความผิดซ้ำ โดยจะขอรวมกันไปในการฟ้องคดีดังกล่าวหรือก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ได้

มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้แก่

(๑) มาตรการทางการแพทย์

(๒) มาตรการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ

การมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นของผู้กระทำความผิด ความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

ในการไต่สวน ศาลอาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณารับฟังคำคัดค้านของผู้กระทำความผิด หรือมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติก็ได้

ให้ศาลระบุเหตุผลในการออกคำสั่งพร้อมทั้งคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดไว้ในคำพิพากษา และให้ระบุคำสั่งไว้ในหมายจำคุกด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกคำสั่งของศาล ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

มาตรา ๒๐ ให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่งของศาล และจัดทำรายงานผลของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อพนักงานอัยการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากพนักงานอัยการเห็นสมควรอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดได้

มาตรา ๒๑ มาตรการทางการแพทย์ที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ (๑) ให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อยสองคนซึ่งมีความเห็นพ้องต้องกัน ทั้งนี้ ต้องเป็นแพทย์