หน้า:พระราชลัญจกร - เสฐียรโกเกศศ - ๒๔๙๓.pdf/30

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๑

ไปด้วย ส่วนอุณาโลมรูปนี้ อุณาโลม น่าจะเป็นของทางไสยศาสตร์ คือ ตาที่สามของพระอิศวรซึ่งประดิษฐานอยู่ตรงหน้าผาก ที่เอามาใส่ไว้เหนืออักขระโอมนั้น ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นทางไสยศาสตร์ ตราพระมหาโองการ หมายถึง พระอิศวร ตราครุฑ หมายถึง พระนารายณ์ ตราหงสพิมาน หมายถึง พระพรหม ตราไอราพต หมายถึง พระอินทร์ ฯลฯ แต่ล้วนเป็นทางไสยศาสตร์ทั้งนั้น ที่เรียกว่า อุณาโลม กลัวจะลากเอาเข้ามาสู่พุทธศาสนาทีหลัง ดูไม่เห็นจะเป็นอุณาโลมได้ที่ตรงไหน พระพุทธรูปที่ทำกันในเมืองเราก็เป็นพระนลาฏเกลี้ยง ๆ ไม่มีอุณาโลม มีพระพุทธรูปทางอินเดียเหนือทำมีอุณาโลมอยู่บ้าง แต่ก็ทำเป็นเมล็ดกลมเท่านั้น เป็นสมควรที่สุดที่จะหมายเป็นขนหว่างคิ้ว มีหนังสือท่านอธิบายว่า เป็นขนเส้นยาวขมวดอยู่"

พระราชลัญจกรองค์นี้เป็นตราประจำชาด สร้างในรัชกาลที่ ๔ ทำด้วยทองคำ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีช้างหมอบอยู่บนหลังตราเป็นที่จับประทับ (จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า ตราช้างหมอบ) ชื่อพระราชลัญจกรดวงนี้ คือ สยามโลกัคราช เทียบเลียนล้อมาจากคำว่า "เสี้ยมโหลก๊กอ๋อง" ในดวงตรามีอักษรขอมอยู่ ๔ บรรทัด (ดู รูปที่ ๑๗) ว่า

  • สฺยามโลกคฺคราชสฺส
  • สนฺเทสลญฺจนํ อิทํ
  • อชฺฌาวาสฺสานุสาสกสฺส
  • วิชเต สพฺพชนฺตุนํ