หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/28

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔

จากตำแหน่ง ไม่ใช่เพราะลอร์ดคารลิงฟอร์ดทำผิดหรือมีนโยบายขัดแย้ง แต่เพื่อเอาลอร์ดโรสเบอรี่เข้าแทน แต่ลอร์ดคารลิงฟอร์ดไม่ยอมออก และไม่ปรากฏว่า แกลดสโตนปฏิบัติอย่างไร

โดยสรุป นายกรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะขอให้รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงลาออกหรือย้ายไปรับตำแหน่งอื่นใดก็ได้ สิทธินี้เนื่องมาจากประเพณีที่ถือกันว่า นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า แต่โดยปกติไม่จำเป็นที่นายกฯ จะกราบทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิถอดในกรณีไม่ยอมลาออก เพราะมีนิติประเพณีซึ่งนิยมกันมาช้านานว่า ไม่มีรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงอยากยึดเก้าอี้ แต่พร้อมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน นิติประเพณีนี้มีความหมายโดยปริยายว่า มีหน้าที่เช่นเดียวกับที่จะลาออกถ้าถูกกระซิบว่า ควรลาออก แต่ในที่สุด ถ้ามีรัฐมนตรีที่ดื้อดึง นายกฯ ก็อาจกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงถอดได้ เซอร์โรเบิตพีลเคยกล่าวว่า ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ถ้ามีการแตกยกกันในความเห็นอย่างรุนแรงระหว่างนายกรัฐมนตรีและเพื่อนร่วมคณะ และการแตกแยกนี้ไม่สามารถปรองดองโดยทำความเข้าใจกันได้แล้ว ผลก็คือ เพื่อร่วมคณะผู้นั้นต้องลาออกไป ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี

โดยปกติ การขัดกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้นมีน้อย เพราะนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเลือกผู้มาร่วมคณะ ก็ต้องมีความไว้วางใจในตัวรัฐมนตรีนั้น และรัฐมนตรีนั้น ๆ ก็มีหน้าที่จะต้องนับถือในฐานเป็นหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยมีเวลาพอหรือปรารถนาที่จะเข้าไปแทรกแซงในกิจการของกระทรวงต่าง ๆ ถ้าไม่ไว้ใจรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่ควรแต่งตั้งเขา แต่ถ้าแต่งตั้งแล้วปรากฏว่า