หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/37

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓

ดำเนินให้ได้ ถ้าแพ้คะแนนเสียง ต้องถือว่า รัฐบาลแพ้ด้วย ข้อเสนอใด ๆ ของรัฐมนตรี ไม่ว่าข้อเสนอนั้นคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถือว่า เป็นข้อเสนอของรัฐบาล อย่างไรก็ดี หลักนี้มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ถึงแม้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในข้อเสนอใด ๆ ของรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อห้ามให้รัฐบาลโอนอ่อนผ่อนตามเสียงของรัฐสภา และเคยมีตัวอย่างแล้วเช่นเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้ ถ้ารัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงเจ้าของเรื่องเห็นว่า เป็นการเสื่อมเสียแก่ตน ก็ควรลาออก นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องความผิดพลาดฉะเพาะตัวของรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวง เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๑) ลอร์ดเอลเลนบราฟ (Lord Ellenborough) รัฐมนตรีว่าการเกี่ยวกับอินเดีย ได้อนุมัติให้มีการพิมพ์โฆษณาคำสั่งราชการฉะบับหนึ่งซึ่งมีถึงลอร์ดแคนนิง (Lord Canning) ผู้สำเร็จราชการอินเดีย ซึ่งยังไม่ควรเปิดเผย เมื่อลอร์ดเอลเลนบราฟเห็นว่า รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยเปล่า ๆ จึงรีบลาออก

ความรับผิดชอบร่วมกันนี้กินไปถึงการต้องช่วยกันสนับสนุนรัฐบาลด้วย อาทิ ในสภาขุนนางก็ดี สภาสามัญก็ดี รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงต้องชี้แจงสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีที่ร่วมคณะด้วย จะไปพูดว่าไม่เห็นด้วยไม่ได้ ในสภาฯ เมื่อเวลาออกเสียง ก็ต้องออกเสียงร่วมกันทุกคน แต่เคยมีกรณีที่เกิดขัดความเห็นกันขึ้น และรัฐมนตรีข้างฝ่ายน้อยจะลาออก แต่รัฐบาลได้ขอให้อยู่ต่อไปโดยอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย แต่กรณีเช่นนี้ ในสมัยปัจจุบัน ไม่ค่อยทำกัน แต่การไม่ออกเสียงลงคะแนนสนับสนุนนโยบายนั้นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับออกเสียงลงคะแนนค้าน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ (ค.ศ. ๑๘๘๑)