หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/40

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๔

ในโนตที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเรื่อง "กระลาโหม" ในวารสารของสยามสมาคม ข้าพระพุทธเจ้าได้ทักว่า ศาสตราจารย์เซเดส์แปลศิลาจาฤกเขมรโบราณแห่งหนึ่ง มีบัญชีสิ่งของซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงพระราชอุทิศถวายพระเป็นเจ้า ในบัญชีนั้นมีรายการอันหนึ่งว่า "กระลาพระกาล" ซึ่งเซเดย์หาได้อธิบายไว้ไม่ว่า เป็นสิ่งของชนิดไร ทำให้อยากเดาว่า ตามรูปศัพท์น่าจะแปลว่า บริเวณของเวลา หรืออีกนัยหนึ่ง เครื่องวัดเวลา ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไทยเราแต่เดิมทีก็ปรากฏว่า ใช้เปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นเครื่องวัดเวลา จึ่งเห็นว่า เป็นเหตุให้ชวนสันนิษฐานต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ด้วยนัยนี้เองกระมัง เปลือกแข็งของลูกมะพร้าวจึงมาได้ชื่อว่า "กระลา" ทั้งนี้ ก็ได้แต่เพียงปรารภ เพราะไม่มีหลักฐานอันใดที่แน่นอนยิ่งไปกว่านี้ที่พอจะยืนยันได้

ต่อมา นายแล็งกาต์ได้มาบอกข้าพระพุทธเจ้าให้สังเกตดูในกฎหมายลักษณะพิศูจน์และพระราชกำหนดใหม่ซึ่งมีกล่าวถึง "นาระกา" เป็นเครื่องวัดในการดำน้ำพิศูจน์สำหรับคู่ความในพระราชกำหนดใหม่ (บทที่ ๒๙ หน้า ๔๐๑ เล่ม ๓ ในฉะบับตราสามดวง ซึ่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองพิมพ์ขึ้น) มีความว่า เกิดการพิศูจน์ดำน้ำโดยใช้ "นาระกา" ถือเกณฑ์กันที่ "นาระกา" ล่มหรือยัง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า "ทรงแคลง" การที่เอา "นาระกา" มาใช้ โปรดให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงสอบพระอัยการ พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูลว่า "ดำน้ำตั้งนาระกามิได้พบในพระอัยการ พบแต่คำว่า ดำน้ำกัน ให้ยุกระบัดกลั้นใจสามกลั้น" แต่ปรากฏว่า ที่เมืองราชบุรีใช้นาระกากัน จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า "กฎหมายให้ตั้งนาระกานั้นหามิได้" ให้ห้ามมิให้ใช้นาระกา และตัวอย่างราชบุรีก็ไม่โปรดให้อนุโลมตาม