หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/43

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๗

ตามหนังสือของเธอนั้น หนักไปในทางกฎหมาย อันกฎหมายนั้นก็เป็นหนังสือแต่งซึ่งเก็บเอาข้อบังคับต่าง ๆ มารวมต่อกันเข้าเหมือนกัน ย่อมแต่งกันหลายเจ้าของด้วย จึงเรียกไปต่างกันว่า เป็นกฎหมายฉะบับนั้นฉะบับนี้ ลางข้อต้องกันก็มี ไม่ต้องกันก็มี สุดแต่ผู้รวบรวมจะพบเข้า ข้อเหล่านั้นข้อใดไม่ใช้ ก็ไม่ได้บอกยกเลิกไว้ ก็ต้องขัดกันอยู่เองเป็นธรรมดา ข้อที่เก็บมารวมกันเข้านั้น ไม่ใช่จำเพาะแต่ข้อบังคับในบ้านเรา แม้เป็นข้อบังคับทางต่างประเทศก็เก็บเอามา จะเห็นได้ในตอนต้นกฎหมายมี "พระธรรมศาสตร์" นั้นเป็นข้อบังคับที่คัดมาจากอินเดีย และข้อความซึ่งคัดมาจากต่างประเทศนั้น อะไรที่เข้ากับเราได้ ก็เอาไว้ ที่เข้าไม่ได้ ก็แก้เปลี่ยนไป แม้ข้อความใดซึ่งเวลาโน้นเข้ากับเราได้ ก็เอาไว้ แต่ทีหลัง ประเพณีเราเปลี่ยนไป ก็แก้แซกเข้า เก่าก็ไม่บอกยก ลางฉบับที่ไม่ได้ใช้ ก็ไม่ได้แก้ ถ้าจะดูหนังสือ ก็มีแต่ยุ่ง จะติผู้เขียน ก็ไม่ถนัด เพราะผู้เขียนจะรู้กฎหมายไปทุกฉบับ ย่อมไม่ได้อยู่เอง

ในการที่เราจะแปลคำในกฎหมาย ก็ย่อมขัดข้องอยู่เหมือนกัน ด้วยข้อบังคับเก่าตามประเพณีและถ้อยคำซึ่งใช้เข้าใจกันอยู่ในเวลาโน้นลงมาถึงเวลานี้ ก็เปลี่ยนไปหมด เราเป็นคนทุกวันนี้ จะแปลคำครั้งกระโน้น ย่อมไม่ได้อยู่เอง ได้แต่เดา ก็ย่อมผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา

ตามที่เธอตั้งใจจะปรึกษา อาว์ก็มีความเห็นที่จะบอกได้แต่เพียงเท่านี้

นริศ
เรื่อง ฝิ่นเมืองเชียงตุง

เหตุที่จะทรงเล่าเรื่องนี้ เนื่องมาจากทรงปรารภเรื่องการทำฝิ่นว่า เมืองเชียงตุงเป็นเมืองฝิ่น และฝิ่นเมืองเชียงตุงนั้นเข้ามาเมืองไทยช้านานแล้ว