หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/47

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๑

ตามตำราอินเดีย จะมีเรื่องอย่างไร ก็ยังไม่รู้ บางทีเสื้อเมือง ทรงเมืองนั้น เรามาแปลเป็นไทยไปแล้ว เจตคุปต์อาจยังเหลืออยู่ก็เป็นได้ เจตคุปต์นี้ไทยเอามาทำเหลว เป็น เจตคุก ก็มี เคยให้ความหมายของเสื้อเมืองไว้ว่า มิลลิตารีเพาเวอร์ ทรงเมืองเป็น ซิวิลเพาเวอร์ และหลักเมืองเป็น จูดิคัลเพาเวอร์ เพื่อออปท์กับโมเดินไอเดีย หลักเมืองก็มี เสื้อเมืองก็ดี ทรงเมืองก็ดี ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ เอาอย่างมาจากกรุงเก่า

พระสยามเทวาธิราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้นสำหรับบูชาสปิริตของเมืองไทยอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

มีข้อความเพิ่มเติม ก็คือ บรรดาเมืองโบราณที่มีป้อมปราการ หรืออีกอย่างหนึ่ง เมืองที่ตั้งประจำ ที่ต้องมีหลักเมืองทั้งนั้น แต่ศาลเทพารักษ์เห็นจะมีต่างกันตามคติศาสนาของพวกที่สร้างเมือง และสร้างตามที่ต่าง ๆ กันเหมือนอย่างที่กรุงเทพฯ นี้ ศาลเทพารักษ์มี ๔ แห่งมาแต่เดิม คือ ศาลหลักเมือง อยู่ตรงที่ตั้งอยู่ทุกวันนี้ ที่ริมหอกลองหน้าวัดพระเชตุพนมีสร้างเรียกกันไว้ ๓ ศาล เรียกว่า ศาลพระเสื้อเมือง ศาลหนึ่ง ศาลพระทรงเมือง ศาลหนึ่ง ศาลพระกาลหรือศาลเจ้าเจตคุปต์ ศาลหนึ่ง เหตุใดจึงสร้างศาลทั้ง ๓ นั้น และเหตุใดจึงไปสร้างตรงนั้น ไม่รู้ รูปเจ้าเจตคุปต์นั้นนึกว่า ได้เคยเห็นครั้งหนึ่ง ทำรูปเทวดานั่งคุกเข่า มีตัวนาคมัดมือไพร่หลัง ถ้าเป็นดังจำได้ ดูสร้างเป็นพระภูมิของคุก เพราะคุกก็อยู่ต่อหอกลองไปทางข้างตะวันออกไม่ห่างนัก แต่เดี๋ยวนี้ จะอยู่ที่ไหนไม่รู้ แต่เป็นเทวรูปใหม่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ทั้ง ๓ องค์