หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๗) a.pdf/11

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๓๐

พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ถามว่า หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เห็นว่า จะทำขึ้นใหม่หรือจะแก้ไขของเก่าประการใด จะต้องนำมาผ่านสภาหรือไม่ เพราะดูความในวรรค ๓ แห่งมาตรานี้แล้ว ไม่ทราบว่า จะได้ความเพียงนั้น

พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า คำว่า "สัญญา" นั้น เราใช้โดยนัยกว้าง ๆ ไม่หมายฉะเพาะว่า สัญญาอันใด เช่น รวมทั้งสัญญาที่เรียกว่า Treaty อนุสัญญา (Convention) ความตกลง (Agreement) หรือ (Arrangement) ซึ่งประเทศเราอาจจะทำความตกลงกับนานาประเทศด้วย ความตกลงในที่นี้อาจจะมีข้อความเกี่ยวฉะเพาะการบริหารก็ได้ หรืออาจจะมีข้อความบัญญัติถึงอำนาจในทางนีติบัญญัติก็ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของสภา ส่วนสัญญาที่มีลักษณะเป็นการบริหารนั้น เช่น อาจจะมีความตกลงระวางระเบียบระวางประเทศว่า ถ้าแม้เวลาเรือรบเข้ามาในประเทศ จะให้มีระเบียบการรับรองเพียงใด นี่ก็เรียกว่า สัญญา หรือในทางที่เกี่ยวกับเขตต์แดนซึ่งเป็นการปกครอง เราก็อาจจะทำสัญญากับประเทศใกล้เคียงว่า ปีหนึ่งจะมีประชุมตำรวจรวมกันเพื่อปราบปรามผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น ซึ่งล่วนแต่มีลักษณะในทางบริหาร ส่วนสัญญาที่พาดพิงอำนาจนีติบัญญัติ สัญญาทางพระราชไมตรี นั้น เวลาทำ ถ้ามีบทบัญญัติที่พาดพิงถึงสิทธิและหน้าที่บุคคลอื่น อาจเกี่ยวถึงการเงินด้วย โดยเหตุนี้ สัญญานั้นเกินความถึงลักษณะการบริหาร และพาดพิงถึงนีติบัญญัติ