หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๗) a.pdf/17

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๓๖

แผนกบริหารที่มีพระราชบัญญัติให้ทำอยู่แล้ว เช่น การประกาศใช้พระราชบัญญัติชันสูตรพลิกศพซึ่งสภาได้เคยพิจารณามาแล้ว เป็นต้น กฎหมายเช่นนี้เรียกว่า Executive law ซึ่งควรจะทำได้เพื่อความสะดวกในทางบริหาร เพราะลักษณะของงานเป็นไปในทางนั้น

นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ตามบทนี้ คำว่า พระราชกฤษฎีกา ทำไมจะจำกัดได้ว่าแค่ไหน จำเดิม สภาเป็นผู้มีอำนาจออกกฎหมาย แล้วต่อมา พระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจออกกฎหมายได้ แต่ต้องมาเสนอสภา ครั้นในมาตรานี้ ท่านทรงออกพระราชกฤษฎีกา จะต้องมาเสมอสภาหรือเปล่า

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในการที่จะออกพระราชกฤษฎีกานี้ มีบทบังคับอยู่แล้วว่า จะทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

นายจรูญ ณบางช้าง ถามว่า จะแก้ความให้ชัดกว่านี้ไม่ได้หรือ

พระยาราชวังสันกล่าวว่า เราจะทำคำขึ้นใหม่เพื่อใช้สะดวก ของเก่านั้น พระราชกฤษฎีกาก็คือกฎหมาย ตอ่ไปนี้ จะทำบัญญัติขึ้นใหม่ คือว่า พระราชกฤษฎีกานั้นทำในสิ่งที่มีกฎหมายออกไว้แล้ว เช่น ประกาศต่าง ๆ ให้ใช้พระราชบัญญัติ

นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ถ้าไม่มีสิ่งใดอธิบายแล้ว จะทำให้เข้าใจผิด

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแถลงว่า ต่อไป จะเข้าใจผิดไม่ได้ ที่แล้วมาแต่ครั้งก่อน ถ้อยคำเราใช้ฟั่นเฝือ บางที สิ่งที่เกี่ยวกับนีติบัญญัติ เรียกเป็น พระราชบัญญัติ บ้าง พระราชกฤษฎีกา บ้าง พระราชกำหนด บ้าง และ ประกาศ บ้าง ฉะนั้น ต่อไป เราจะเรียกสิ่งที่อยู่ในนีติบัญญัติว่า