หน้า:รายงาน สว (๒๕๖๔-๐๑-๒๐).pdf/6

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๓)

๒.วิธีพิจารณาศึกษา

๒.๑ประธานคณะกรรมาธิการได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการกฎหมายเป็นผู้พิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และรายงานผลการพิจารณาศึกษาต่อคณะกรรมาธิการ

๒.๒คณะกรรมาธิการได้ประชุมเพื่อพิจารณาผลการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของคณะอนุกรรมาธิการการกฎหมาย ในคราวบระชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ วันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔

๓.ผลการพิจารณาศึกษา

คณะกรรมาธิการพิจารณาผลการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พิจารณาศึกษา ปรากฏผลการพิจารณาศึกษา ดังนี้

ข้อเท็จจริง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ ๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า

(๑)ประมวลกฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองบุคคลและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา ๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เรื่องความผิดฐานทำให้แท้งลูกนั้น มีเจตนารมณ์และคุณธรรมทางกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์มารดา แม้การยุติการตั้งครรภ์จะเป็นปัญหาทั้งทางสังคม ทางการแพทย์ และทางกฎหมาย ที่มีความละเอียดอ่อน รวมทั้งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางอาญาก็ตาม แต่การที่มีบทลงโทษหญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก อันเป็นการมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียว โดยมิได้พิจารณาถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิของหญิงผู้ตั้งครรภ์ อันมีมาก่อนสิทธิของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกลิดรอนหรือจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิง ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ เป็นสิทธิพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดต่อชีวิตและร่างกายของตนได้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ไปรบกวนหรือล่วงล้ำเข้าไปในสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งยังส่งผลกระทบถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของหญิงตั้งครรภ์ที่ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการตัดสินใจของหญิงว่า จะยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ การคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์และสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ต้องให้เกิดความสมดุลกัน โดยอาจต้องนำช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์มาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา การปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยปราศจากการกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เหมาะสม ดังเช่นมาตรา ๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน และเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย