หน้า:ลัทธิฯ (๒๓) - ๒๔๗๓.pdf/24

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๘

ตกมาตอนปลายแผ่นดินไต้เช็ง จึงรวม ๒ ระยะ ๆ เข้าเป็น ๑ คงเหลือแต่ ๓ ระยะ ในที่นี้ จะกล่าวด้วยพิธี ๖ ระยะตามเดิมก่อน พิธีระยะแรกที่เรียกว่า เคียะเตี้ย นั้น (แปลกว่า เอามัดจำ เท่ากับคำไทยเรียกว่า หมั้น) บิดามารดาผู้ปกครองจะหาภรรยาให้บุตรตน ก็หาเถ้าแก่แม่สื่อไปเลือกหาบุตรหญิงของวงศ์แซ่ใดแซ่หนึ่ง ไม่ว่าตำบลใกล้หรือไกล เมื่อเถ้าแก่แม่สื่อได้พูดจาแนะนำตกลงกับข้างฝ่ายหญิงแล้ว ก็กลับไปบอกแก่บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย ผู้ปกครองฝ่ายชายเห็นชอบด้วยแล้ว ก็เอากระดาษแดงตัดเป็นรูปรองเท้าของลูกชายมอบให้เถ้าแก่แม่สื่อเอาไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิง ๆ รับเอารูปรองเท้านั้นไว้เป็นของหมั้นสัญญา บางคนใช้แหวนหยกแหวนทองของขวัญเป็นของหมั้นก็มี ของหมั้นจะเป็นราคาเล็กน้อยก็ตาม ถ้าบิดามารดาผู้ปกครองได้รับไว้แล้ว นับว่า เป็นการยินยอมตกลงกัน เมื่อตกลงรับหมั้นกันแล้ว บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิงจึงสัญญากะเกณฑ์เอาขนมต่าง ๆ แก่ฝ่ายชาย คือ เรียกเอาขนมเข่งใหญ่ ขนมฟูเข่งใหญ่ มีน้ำหนักตั้ง ๑๐๐ ชั่ง และซอละเปาลูกใหญ่เท่ากลอง ขนมเข้าพอง ถั่วตัด งาตัดแผ่นใหญ่ ๆ เครื่องจันอับต่าง ๆ บางรายเรียกเอาอย่างละ ๓๐๐ ชั่งก็มี ถ้าเป็นขนมอย่างเอก ก็ตีราคากันไว้หนัก ๑๐๐ ชั่ง เป็นเงิน ๖๐ เหรียญก็มี ๔๐ เหรียญก็มี และทำเล้ยเทียบ (บัตรธรรมเนียม) บอกวันเดือนปีเกิดของลูกสาวส่งไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย