หน้า:หลักภาษาไทย อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ.pdf/17

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ในเสียงสระ ๓๒ นี้ มีเสียงซ้ำกันอยู่ ๘ เสียง ซึ่งเป็นสระเกิน คือ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ อำ ใอ ไอ เอา เพราะฉะนั้นจึงมีเสียงสระไทยต่างกัน เพียง ๒๔ เสียงเท่านั้น

ข้อ๗.สระที่อยู่แถวหน้านั้นมีเสียงสระสั้นเรียกว่า ‘รัสสระ’ (สระสั้น) สระที่อยู่แถวหลังนั้นมีเสียงยาวเรียกว่า ‘ทีฆสระ’ (สระยาว) เสียงรัสสระที่ไม่มีตัวสะกดท่านจัดเป็น ‘ลหุ’ (เบา) เสียงรัสสระ มีตัวสะกดกับเสียงทีฆสระมีตัวสะกดก็ดี ไม่มีก็ดี ท่านจัดเป็น “ครุ” (หนัก) แต่ อำ ใอ ไอ เอา ๔ ตัวนี้จัดเป็นครุ เพราะเป็นเสียงมีตัวสะกดอยู่แล้ว คือ อัม อัย อัว (อะ + ว)

ข้อ๘.สระในภาษาบาลีมี ๘ ตัว คือ อะ อาอิ อี อุ อู เอ โอ และสระในภาษาสันสกฤตก็มีเพียง ๑๔ ตัวเท่านั้น คือ อะ อา อิ อี อุ อู ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เอ ไอ โอ เอา สระไทยที่มีมากออกไปนั้น เป็นด้วยเพิ่มเติมกันทีหลัง เพื่อให้พอกับสำเนียงภาษาไทย

จำแนกสระ

ข้อ๙.เสียงสระทั้ง ๓๒ นั้น จัดออกเป็น ๓ พวก คือ:–

(๑)สระแท้ คือสระแท้ที่เปล่งออกมาเป็นเสียงเดียวไม่มีเสียงสระอื่นประสม มี ๑๘ ตัวด้วยกัน คือ:–

(ก)สระแท้ฐานเดียว คือสระที่เปล่งออก โดยใช้ลิ้นหรือริมฝีปากกระทบฐานใดฐานหนึ่งคือ คอ เพดาน ปุ่มเหงือก หรือฟัน ริมฝีปากแต่ฐานเดียว มี ๘ ตัวด้วยกัน คือ:–

อะ อา คู่นี้เกิดแต่ฐานคอ คือให้ลมกระทบคอ
อิ อี คู่นี้เกิดแต่ฐานเพดาน คือให้ลมกระทบเพดาน