หน้า:หลักภาษาไทย อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ.pdf/19

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

สระ อำ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ม สะกด คือ อัม, สระ ใอ ไอ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ย สะกด คือ อัย แต่บางอาจารย์ท่านว่าเสียง ใอ สั้นกว่าเสียง ไอ เล็กน้อย จึงได้ตั้งไว้ต่างกัน

สระ เอา มีเสียงซ้ำกับสระอะ มีตัว ว สะกด ที่ถูกควรเป็นรูป ‘อัว’ แต่รูปนี้เราใช้เป็นสระ อัว (ซึ่งควรจะเป็น ‘อูา’) นี้เสียแล้ว เพราะฉะนั้นสระ อะ มีตัว ว สะกดจึงไม่มีวิธีเขียนในภาษาไทย ต้องเขียนสระ เอา แทน แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเขียนเป็นอักษรไทยเป็น อัว เช่นนี้จะอ่านเป็นสระอัว อย่างไทยไม่ได้ ต้องอ่านเป็นเสียง อะ มีตัว ว สะกด เช่น ‘อุปัว์หยัน์ตา’ ต้องอ่าน ‘อุเปาหยันตา’ เปลี่ยนตามแบบพินทุเป็น ‘อุปวฺหยันฺตา’ แล้วจะทำให้ผู้อ่านไม่หลงเป็นสระ อัว ได้ทีเดียว

สระเกินเหล่านี้ ถึงแม้จะมีเสียงซ้ำกับสระแท้ ดังอธิบายแล้วก็ดี แต่ยังมีวิธีใช้ต่างกัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า


พยัญชนะ

รูปพยัญชนะ

ข้อ๑๐.รูปพยัญชนะไทย ๔๔ ตัว คือ:–

ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง, จ ฉ ช ซ ฌ ญ, ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น, บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม, ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ

[อักขร.๒]