หน้า:หลักภาษาไทย อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ.pdf/26

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖

เอาตัว อ แทนที่เข้าไว้ เช่น อะไร อาลัย อิเหนา อุทัย ไอน้ำ จะเขียนเป็น ะไร, าลัย, ิเหนา, ุทัย, ไ น้ำ ดังนี้ไม่ได้

ตัว ฮ นี้ตั้งไว้เป้นอักษรต่ำของตัว ห ใช้ในคำไทย เช่นเฮฮา เฮ้ย โฮก ฮุก ฯลฯ

วรรณยุกต์

รูปวรรณยุกต์

ข้อ๑๖ภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ มีแต่สระกับพยัญชนะก็พอแล้ว จะอ่านเป็นเสียงสูงต่ำอย่างไรก็แล้วแต่นิยม แต่ในภาษาไทยนิยมใช้วรรณยุกต์ด้วย จึงต้องมีอักษร วรรณยุกต์บังคับอีกต่อหนึ่ง จะอ่านเป็นเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ตามอำเภอใจไม่ได้ วรรณยุกต์มีเสียงต่างกันเป็น ๔ ดังนี้:–

(๑)' เรียกไม้เอก

(๒)้ เรียกไม้โท

(๓)๊ เรียกไม้ตรี (เหมือนเลข ๗)

(๔)๋ เรียกไม้จัตวา (เหมือนเครื่องหมายบวก)

รูปวรรณยุกต์ทั้ง ๔ นี้ใช้เขียนบนส่วนท้ายของพยัญชนะต้น ดังนี้ กร่อย ด้วย ก๊ก เจ๋อ จะเขียนบนรูปสระหรือตัวสะกด ดังนี้ กรอ่ย, ดว้ย ไม่ถูก, ถ้ามีรูปสระอยู่ด้านบน ต้องเขียนบนรูปสระนั้นอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ เคลื่อน, ชิ้น, กั๊ก, ตื๋อ

นอกจากรูปวรรณยุกต์นี้ ยังมีวิธีบอกเสียงวรรณยุกต์ได้อีก โดยกำหนดพยัญชนะ ดังจะอธิบายต่อไปในข้างหน้า ข้อ ๑๘ (๒)