หน้า:เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ กับอักขรานุกรมฯ สุพรรณฯ - ดำรงฯ, ราชบัณฑิตยฯ - ๒๔๙๑.pdf/25

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖

ส่งเสียงอะไรแปลก ๆ ขึ้นไปบนฟ้า หวังจะให้พระราหูตกใจทิ้งพระจันทร์ ทำนองเดียวกับขับนกให้ทิ้งข้าวในท้องนา ที่จริงมิใช่กลัวว่าว่า พระจันทร์จะล้มตาย เป็นแต่จะช่วยให้พ้นความรำคาญเท่านั้น ยังเชื่อกันต่อไปว่า พระราหูมีแต่ครึ่งตัว เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นดวงจันทร์ผ่านพ้นเงามืดเฉียงไป ก็เข้าใจพระราหูต้อง "คาย" พระจันทร์ ถ้าเห็นดวงจันทร์มุดเงามืดตรงไป ก็เข้าใจว่า พระจันทร์หลุดเลยออกไปทางท้องพระราหู จึงมักถามกันว่า "ขี้หรือคาย" และประสงค์จะให้พระราหูต้องคายพระจันทร์ เมื่อมีจันทร์อังคาธแล้ว ต่อไปถึงวันหลัง พอพระจันทร์ขึ้น ก็มักทำขวัญพระจันทร์ด้วย เมื่อฉันยังเป็นเด็กอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลามีจันทร์อังคาธ เคยเห็นเขาเอาเชี่ยนขันตีช่วยพระจันทร์ เคยช่วยเขาตี เป็นการสนุกอย่างยิ่ง เขาบอกว่า ถึงไม่มีอะไรจะตี เพียงดีดเล็บมือให้มีเสียงก็อาจจะช่วยพระจันทร์ได้ ดูพิลึก แต่เวลาฉันไปหัวเมือง เพิ่งจะไปพ้องกับจันทร์อังคาธเมื่อวันนั้น พึงเห็นได้ว่า ความเชื่อเช่นกล่าวมาคงจะมีมาเก่าแก่ทีเดียว ในอินเดียถือคติต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งว่า เวลามีจันทร์อังคาธ ถ้าใครลงน้ำดำหัว เป็นสวัสดิมงคลยิ่ง