หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/135

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
พระราชหัตถเลขากระแสพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่พระยาราชวรานุกูล

จดหมายมายังพระยาราชวรานุกูล[1] เมื่อ ฯข้าฯ จดหมายมาครั้งก่อนนั้น ว่าไถลถลากไปตามสบายใจเมื่อเวลางม ๆ อยู่ เพราะการในอุดงมีไชยไม่ได้รู้เลยว่าอย่างไรเป็นแน่ พูดไปไม่ถูก เป็นแต่คเนว่าไปเลอะ ๆ ถึงท่านเสนาบดีก็เหมือนกัน ก็นายราชสารซึ่งถือหนังสือไปนั้นได้ไปถึงกรุงเทพฯ ในวัน ๑๕ ฯ  ค่ำ ฯข้าฯ ได้อ่านต่อวัน [2] ค่ำ ฯข้าฯ ก็ได้รีบทำหนังสือตอบถึงองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช ความยืดยาวแจ้งอยู่ในหนังสือนั้นแล้ว ไปขอเธออ่านดูก็จะรู้ความดอก ครั้นจะเขียนมาให้ท่านเป็นสองซ้ำ เวลาก็จะช้าไป สังเกตดูหนังสือคำของฝรั่งเศสที่เขียนให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชสองฉบับ กับคำที่มาอ่านอวยพรวันยกฉัตรเป็นสามฉบับด้วยกัน หนังสือเหล่านั้น ฯข้าฯ ลงเนื้อเห็นว่า องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชแปลคัดส่งมาโดยสุจริต ไม่ได้ตัดรอนผ่อนปรนแก้ไขอะไร เพราะคำที่ย้อนมาว่า องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชไปนินทาไทยให้ฟังนั้น ก็ใส่มา หาข้ามเสียไม่ ก็นินทาเช่นนี้ ฯข้าฯ ก็ไม่ถือเอาเป็นนินทา ก็เพราะว่า เมื่อพูดกับผู้อื่น ๆ จะกดเอาไปตามความปรารถนา ก็เมื่อยามผู้พูดด้วยจะไม่ยอมตาม ก็ต้องบ่นออดแอดบ้าง เอาที่โตที่ใหญ่ว่า ตัวต้องจำใจอยู่ในอำนาจผู้อื่น จะทำไปไม่ได้ดังปรารถนาแล


  1. ชื่อ ครุฑ ต่อมามีความชอบ ได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยายมราชเมื่อวัน ๑๒ ๑๒ ค่ำ ปีชวด จ.ศ. ๑๒๒๖ ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๗
  2. วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๐๗