หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/20

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ไปแล้วนาน หาได้เป็นเจ้าของแผ่นดินใหญ่ดังกล่าวแล้วนั้นไม่ ถึงกระนั้น เพราะเจ้านายฝ่ายเขมรพวกแตงหวานนั้นมีเชื้อวงศ์สืบสาวยาวยืดต่อมาในผู้ครองแผ่นดินเขมรนั้นนานกว่า ๕๐๐–๖๐๐ ปีมาแล้ว สกุลเจ้าจำพวกนี้จึ่งเป็นที่นับถือของเขมรทั้งแผ่นดินกัมพูชามาก แต่เพราะเจ้าแผ่นดินเมืองเขมรอำนาจน้อย มีเมืองตั้งอยู่ในระหว่างเมืองมีอำนาจใหญ่ทั้งสอง ต้องฝากตัวอ่อนน้อมพึ่งพิงอิงอาศัยเมืองไทยบ้าง เมืองญวนบ้าง เมื่อใดขุ่นข้องหมองหมางกับไทย ก็เหหันผันไปพึ่งพิงอิงเมืองญวน เมื่อถูกรบกวนรังแกแต่ญวนแล้ว ก็กลับป่วนปรวนเปรเหมาหาไทยเล่า ลางทีเจ้านายฝ่ายเขมรนั้นเกิดวิวาทกันแล้วก็ย้ายแยกแตกเป็นพวกเป็นเหล่า ข้างหนึ่งไปพึ่งญวน ข้างหนึ่งมาพึ่งไทย รบกวนกันไป ข้างไหนมีกำลังขึ้นได้เป็นเจ้าเป็นนาย เจ้านั้นนายนั้นสนัดนับถือข้างไหน ก็พาไพร่บ้านพลเมืองโอนอ่อนไปอยู่ข้างนั้น ถ้ามิใช่เจ้าในสกุลนี้แล้ว จะให้ผู้อื่นแม้นเป็นเขมรด้วยกันก็ดีให้ได้ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรไม่ได้ ไม่มีใครยินยอมเลย คงต้องเลือกสันจัดเอาผู้ซึ่งเกิดในสกุลเจ้านั้น คือ ผู้ใดจะเป็นที่ชอบใจของชนทั้งปวงนั้น ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองเขมร จะว่าแต่การในเร็ว ๆ ภายใน ๑๐๐ ปีลงมา ตั้งแต่เวลาองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตนซึ่งเป็นอัยกาธิบดีขององค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีที่ถึงพิราลัยไปในเร็ว ๆ ยังไม่ลุเลิกศพอยู่ที่เมืองอุดงมีไชยบัดนี้นั้น แต่ครั้งแผ่นดินกรุงพระมหานครศรีอยุธยาโบราณราชธานี ก็ได้เคยมาพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเก่า ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเมืองออกอ่อนน้อม ครั้นกรุงศรีอยุธยาเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว จึ่งหันไปพึ่งพิงอิงอำนาจเจ้าเวียดนามเก่า ครั้นเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีตั้งขึ้น สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน วิวาทรบกันขึ้นกับนักองค์ราม[1] ซึ่งเป็นญาติอยู่ในเชื้อวงศ์เจ้าแผ่นดินเมืองเขมรเก่า


  1. ชื่อ นน หรือ โนน