หน้า:Banthuek Phraya Songsuradet 2514.djvu/36

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
29
 

ในเดือนมีนาคม ๒๔๗๔ พระยาทรงฯ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารในกรมยุทธศึกษาทหารบก ได้ถือโอกาสในการเป็นประธานกรรมการสอบไล่นักเรียนนายร้อยในสนามที่ราชบุรี รวบรวมหาพรรคพวกและคิดกะแผนการปฏิวัติรวมกับพระประศาสน์พิทยายุทธ พระสิทธิเรืองเดชพล[๖] ซึ่งเป็นกรรมการสำคัญ

ณ ที่ราชบุรีนี้เอง ทั้งสามท่านได้คิดแผนการขึ้นอันหนึ่ง กะว่ายึดพระที่นั่งอัมพร ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ ๗ แล้วจะขอถวายความอารักขาแก่ในหลวง เพื่อเป็นประกันในการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญต่อไป

แต่แล้วแผนนี้ก็ต้องเลิกล่ม เพราะพระประศาสน์ฯ ได้เสนอผลเสียว่า แม้จะยึดพระที่นั่งอัมพรได้ แต่ทว่าจะได้เข้าเฝ้าในหลวงก็ย่อมต้องผ่านมหาดเล็กและบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีกมาก อันเป็นธรรมดาที่ในหลวงจะต้องมีผู้ห้อมล้อม ผู้ห้อมล้อมนี้เองอาจจะขัดขวาง และถ้ามีการขัดขวางเกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว ก็จะต้องมีการปะทะกัน