ผู้พูดได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “ความเคารพนับถือน่ะไม่ต้องการคำโฆษณาใด ๆ” ข้อนี้ก็จริงอยู่ แต่นายมั่น นายคง ได้ทำอะไรอยู่ทุกคืนเล่า ถ้ามิได้ทำการโฆษณา?
ผู้พูดได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “การเขียนเรื่องนี้ขึ้นนับว่ามีความมุ่งหมายที่ดี” แต่ในตอนท้ายการสนทนา ผู้พูดกลับตั้งข้อถามขึ้นว่า “การที่หนังสือพิมพ์นำเอาเรื่องนี้มาเขียน เขามีความมุ่งหมายอย่างไร?” และคู่สนทนาได้ตอบว่า “เป็นเรื่องน่าคิดอยู่” การพูดขัดกันเองเช่นนี้มักจะมีอยู่เสมอในบทสนทนาของนายมั่น นายคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะเข้าใจความประสงค์ของเขาได้
ความประสงค์หรือความมุ่งหมายในการเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นี้ได้แถลงไว้แล้วในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งถ้าผู้พูดได้ไปพลิกดู ก็จะพบข้อความตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งวีรภาพของบุคคลคณะนั้น ซึ่งอนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเยี่ยงอย่างอันดีไว้ อีกทั้งจะได้สืบรักษาอุดมคติของคณะราษฎรไว้ชั่วกาลนาน” แต่ถ้าผู้พูดยังไม่พอใจและจะพยายามแปลไปในทางร้ายให้จงได้แล้ว นั่นเป็นการล่วงพ้นอำนาจของเราที่จะตามชี้แจง นั่นเป็นเรื่องในขอบเขตอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
อนึ่ง นอกจากความประสงค์ดังกล่าวแล้ว เราขอชี้แจงเพิ่มเติมให้ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้ทราบตระหนักไว้ด้วยว่า กรณียกิจสำคัญข้อหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือกันในวงการหนังสือพิมพ์ทั่วโลกก็คือ หนังสือพิมพ์จำจะต้องใฝ่แสวงหาข้อความ