ห่วงว่า การปฏิบัติราชการเช่นนี้อาจนำประเทศชาติไปสู่ความหายนะได้ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว พระยาพหลฯ จึงได้ปรารภความรู้สึกของท่านแก่เพื่อนเกลอทั้ง 2 เกลอทั้งสองก็รับว่า ต่างมีความรู้สึกตรงกันกับพระยาพหลฯ และเห็นพ้องต้องกันว่า ภาวะแห่งราชการแผ่นดินเช่นนี้สมควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข มิฉะนั้น ประเทศชาติก็ไม่มีทางจะเจริญก้าวหน้าได้
เมื่อได้รับความเห็นชอบร่วมกันกับเพื่อนเกลอเช่นนั้นแล้ว และเมื่อได้ใช้เวลาครุ่นคิดต่อไป พระยาพหลฯ จึงได้ข้อยุติในที่สุดว่า การที่จะแก้ภาวะราชการแผ่นดินในเวลานั้น จะแก้ในทางอื่นก็ขัดสนจนปัญญา เห็นมีอยู่แต่ทางเดียว คือ คิดเปลี่ยนระบอบการปกครอง ซึ่งเป็นการแก้จากรากฐานทีเดียว ครั้นพระยาพหลฯ แย้มพรายความคิดข้อนี้แก่พระยาศรีสิทธิสงคราม หวังจะชวนให้ร่วมความคิดด้วย พระยาศรีสิทธิสงครามก็เป็นแต่เพียงพยักเอา แต่ก็ไม่แสดงออกมาให้แน่ชัดว่าจะล่มหัวจมท้ายหรือไม่ พระยาพหลฯ ได้เพียรพูดจูงใจพระยาศรีฯ อยู่หลายคราว พระยาศรีฯ ก็ประหยัดถ้อยคำ ไม่แสดงความคิดให้ปรากฏออกมาอยู่นั่นเอง
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าในวันก่อการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนนั้น พอพระยาศรีสิทธิสงครามได้ข่าวว่า มีคณะนายทหารก่อการปฏิวัติขึ้น พระยาศรีฯ ก็รีบตรงมาที่บ้านพระยาพหลฯ ด้วยไม่ทราบว่า ท่านเกลอของท่านเป็นผู้นำในการปฏิวัติ ครั้นทราบความจริงแล้ว พระยาศรีฯ ก็หลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านพระยาพหลฯ นั่นเอง