หน้า:Great & wonderful revolution in Siam (1690).pdf/5

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
2
คำนำถึงผู้อ่าน

เฝ้าพระสันตะปาปา ครั้นต่อมาในเดือนมีนาคม หลวงพ่อจะต้องได้ลงเรือมาสยามเป็นหนที่ 3 แล้ว แต่ต่อนั้นไปท่านจะเป็นอย่างไรบ้างก็ยังไม่ทราบ

ในเรื่องเล่าทั้ง 3 ฉบับนี้ มีกล่าวถึงเจ้าหญิงพระองค์น้อย พระธิดาของพระเจ้าแผ่นดินในพระโกศของสยาม ซึ่งยามนั้นยังมีพระชนม์อยู่ แต่ในคำพรรณนาต่อไปนี้ซึ่งว่าด้วยการปฏิวัติครั้งล่าสุดนั้นไม่มีระบุถึงพระนางเลย ทว่า ในจดหมายอื่น ๆ ซึ่งได้มาถึงฝรั่งเศสจากแหล่งอื่นนั้น เราพบคำพรรณนาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระนางซึ่งเป็นไปอย่างชวนสลดไม่น้อยกว่าการสิ้นพระชนม์ของพระปิตุลาและพระอนุชาบุญธรรม[1] ของพระนางเลย อาการที่สิ้นพระชนม์นั้นเขาว่าไว้ดังนี้ ออกพระเพทราชา เมื่อกำจัดพระอนุชาทั้งสองและพระโอรสบุญธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นเจ้าชายกลุ่มเดียวที่ขวางทางตนในการขึ้นสู่ราชสมบัติแล้ว ก็ให้นำเจ้าหญิงพระองค์น้อย ผู้เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของพระเจ้าแผ่นดิน ไปยัดใส่ถุงกำมะหยี่ใบโต และตี[2] พระมัตถลุงค์[3] ของพระนางด้วยกระบองขนาดใหญ่ทำจากไม้อันหอมหวนและเป็นที่ยกย่องยิ่งนักในแดนอินเดียทั้งปวง เรียกว่า ไม้กฤษณา และไม้จันทน์ แล้วจึงโยนลงในแม่น้ำ มีการพรรณนาไว้ว่า หากประหารด้วยอาการธรรมดาดุจผู้อื่น จะเป็นการดูหมิ่นและฝ่าฝืนความเคารพสักการะอันสมควรแก่เจ้าหญิงเชื้อพระโลหิตแห่งสยาม และฉะนั้น เขาจึงกระทำการนั้นด้วยความนอบน้อมยิ่งและด้วยพิธีอันมีลักษณะเฉพาะซึ่งเหมาะสมต่อสถานะของพระนาง โดยไม่รบกวนให้พระวรกายของพระนางต้องแปดเปื้อนด้วยการสัมผัสจากมือไพร่หรือเครื่องมือประหัตประหารใด ๆ

พระเจ้าแผ่นดินสยามที่เพิ่งสวรรคตนั้นมีพระชนม์สัก 59 พรรษาได้ ลายลักษณ์อักษรซึ่งให้ไว้เกี่ยวกับพระองค์ในเรื่องเล่าของชาวฝรั่งเศสทุกฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วนั้นเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เขากล่าวไว้ต้องตรงกันว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเสวยราชย์มาในสยาม ส่วนสูงของพระองค์นั้นน้อยกว่าขนาดกลางอยู่บ้าง แต่ลำพระกายตรง[4] และรูปทรงดี พระองค์ทรงมีอากัปกิริยาน่าต้องตาต้องใจ ทรงมีท่าทีอ่อนหวานและพร้อมเอื้อเฟื้อ โดยเฉพาะต่อชาวต่างชาติ[5] พระองค์ทรงกระฉับกระเฉงและปราดเปรียว จึงทรงอยู่คนละขั้วกับความเหลวไหลและเกียจคร้านที่ดูจะเป็นลักษณะตามธรรมชาติแท้ ๆ ของเจ้าชายชาวตะวันออกทั้งหลาย และเขาพรรณนาไว้ว่า ทรงเป็นผู้สูงส่งสุดประเสริฐในวงศ์กษัตริย์ของเขาเหล่านั้น ในอีกแง่หนึ่ง เจ้าชายพระองค์นี้

หาก
  1. อันที่จริง คำว่า "brother" จะแปลว่า พี่ชายหรือน้องชายก็ได้ และไม่มีข้อมูลว่า บุคคลผู้นี้ (ซึ่งคงจะได้แก่ พระปีย์) เป็นพี่ชายหรือน้องชาย แต่ในที่นี้แปลเป็นพระอนุชา (น้องชาย) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. ในภาษาเก่า คำว่า "knock" แปลว่า ตี ฟาด ฟัน ฯลฯ ดังที่ Bailey (1730, น. 434) นิยามว่า "to beat, to hit, to ſtrike upon" ในภาษาปัจจุบัน "knock" แปลว่า เคาะ หรือตอก และกริยาวลี "knock out" แปลว่า ทำให้หมดสติ ทำให้เหนื่อย หรือทำลาย ดังระบุใน Dictionary.com (2022c) ส่วนกฎมนเทียรบาลของอยุธยา (กำธร เลี้ยงสัจธรรม 2548, น. 114) ใช้คำว่า "ตี" โดยกล่าวว่า "ตีด้วยท่อนจันท์ แล้วเอาลงขุม" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. คำว่า "มัตถลุงค์" ที่แปลว่า สมอง นี้ เป็นการแปลตรงตัวตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่ที่จริงอาจเป็นการเปรียบเปรยถึงศีรษะหรือกระโหลกศีรษะก็ได้ ส่วนกฎมนเทียรบาลของอยุธยา (กำธร เลี้ยงสัจธรรม 2548, น. 114) ไม่ระบุว่า ให้ตีที่ใด เพียงกล่าวว่า "ตีด้วยท่อนจันท์ แล้วเอาลงขุม" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. คำว่า "strait" ในภาษาปัจจุบันแปลว่า แคบ หรือเข้มงวด ตามความใน Dictionary.com (2022d) ส่วนในภาษาเก่าแปลว่า ตรง ไม่คด ไม่โค้ง ดังที่ Bailey (1730, น. 701) นิยามว่า "direct, without Bendings or Turnings" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. คำว่า "stranger" ในภาษาปัจจุบันแปลว่า คนแปลกหน้า บุคคลภายนอก ผู้ที่มิใช่สมาชิก ฯลฯ ตามความใน Dictionary.com (2022e) ส่วนในภาษาเก่านั้น นอกจากแปลว่า คนแปลกหน้า ยังแปลว่า คนต่างชาติ ดังที่ Kersey (1708, น. 614–615) นิยามว่า "a Man born out of the Realm, a Perſon with whom we have no Acquaintance" และ Bailey (1730, น. 701) นิยามว่า "an unknown Perſon, one with whom a Perſon has no Acquaintance, or one of another Nation, Country, &c." (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)