พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เป็นพระราชพงศาวดารฉบับความพิสดาร เริ่มตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อศักราช ๗๑๒ ปีขาลโทศก (พ.ศ. ๑๘๙๓) มาสุดความลงในศักราช ๑๐๖๐ ปีเถาะเอกศก (พ.ศ. ๒๒๔๑) ในกลางแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ แล้วมีบานแผนกเพิ่มเติมไว้อีกว่า
“เพียงนี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้า กับพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป”
ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีนั้นเป็นอีกสำนวนหนึ่งต่างหาก ซึ่งยังไม่ทราบแน่ว่าผู้ใดเป็นผู้เขียน เพราะที่ขึ้นต้นพระราชพงศาวดารฉบับนี้รู้สึกว่าเป็นการสรรเสริญเยินยอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาก คือ เริ่มต้นด้วยข้อความว่า
“อนึ่งแต่ ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสี่ค่ำ ปีจออัฐศก ขณะเมื่อกรุงเทพมหานครยังมิได้เสียนั้น พระเจ้าอยู่หัวอันมีอภินิหารนับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้าตรัสทราบพระญาณว่า กรุงศรีอยุธยาจะเป็นอันตราย แต่เหตุที่อธิบดีเมืองและราษฎรมิเป็นธรรม จึ่งอุสาหด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์และบวรพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญ จึ่งชุมนุมพรรคพวกพลทหารจีนไทยประมาณพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องศัตราวุธ ประกอบด้วยทหารผู้ใหญ่นั้น. . .”
ข้อความตอนนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวินิจฉัยไว้ในตำนานหนังสือพระราชพงศาวดารแล้วว่า สมเด็จกรมพระปรมานุชิตซึ่งทรงเป็นเชื้อสายของราชวงศ์จักรีคงจะไม่ทรงเขียนอย่างนั้น และไม่มีเหตุผลอันใดที่พระองค์จะต้องเขียนเช่นนั้นด้วย แม้สมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพนก็ไม่น่าจะเขียนเช่นนั้น เพราะเมื่อเป็นพระพิมลธรรม เป็นผู้ไม่ยอมถวายบังคมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนถูกเฆี่ยนและถูกถอด เพิ่งได้ตำแหน่งกลับคืนเมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ผู้ที่ฝักใฝ่ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีอยู่องค์หนึ่ง คือ พระมหาธรรมธิรราชมุนี (ชื่น) วัดหงส์ ท่านองค์นี้เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมแตกฉาน