หน้า:Phra Ratcha Lanchakon 2493.djvu/30

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗

ย่อมุมไม้สิบสอง มีลายเบญจราชกกุธภัณฑ์อยู่ภายใน ตอนบนนพปฎลเศวตฉัตร ตอนล่างเปลี่ยนคำว่า "พระบรมราชโองการ" จากอักษรขอมเป็นอักษรไทย ใช้แทนองค์เดิมซึ่งยกเลิก อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เหตุที่ตราพระบรมราชโองการแต่เดิมใช้ตัวอักษรขอมนั้น ตัวอักษรที่ใช้ในพื้นเมืองเมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๒๘ ใช้แต่อักษรขอมอย่างเดียว พระเจ้ารามกำแหงมหาราชกรุงสุโขทัยทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๘ แต่นั้นมา หนังสือที่เขียนเป็นภาษาไทยจึงเขียนด้วยอักษรไทย แต่นอกจากนั้น พระไตรปิฎกก็ดี และบรรดาคาถาอาคมเวทมนตร์ทั้งปวงซึ่งเป็นภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตยังใช้เขียนตัวอักษรขอมต่อมาทั้งสมัยกรุงสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนในกรุงรัตนโกสินทรนี้ตอนก่อนรัชกาลที่ ๔ เพราฉะนั้น แม้เรียกว่าอักษรขอมก็จริง แต่ไทยเราไม่ได้ใช้เพราะนับถือเขมร ถือแต่ว่า เป็นตัวอักษรซึ่งเคยใช้มาแต่ดั้งเดิมสำหรับเขียนหนังสืออันเป็นที่นับถือในทางศาสนา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่า เช่น หนังสือมหาชาติคำหลวงแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยาก็ดี หนังสือที่แต่งชั้นหลัง เช่น หนังสือมงคลทีปนีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้แปลก็ดี ในสมุดเล่มเดียวกันที่ตรงอรรถภาษามคธเขียนเป็นตัวอักษรขอม ที่ตรงแปลเขียนเป็นตัวอักษรไทย ลางทีหนังสือเทศน์ที่จารในใบลาน เช่น หนังสือเทศน์มหาชาติความภาษาไทย ก็จารเป็น