หน้า:Phra Ratcha Lanchakon 2493.djvu/44

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๑

การควรแก่ตำแหน่ง เมื่อเจ้าพระยาจักรีว่าที่สมุหนายกด้วย จึงถือตราสองดวง คือ จักร กับราชสีห์ ย่อมปรากฏเห็นได้โดยธรรมเนียมที่บังคับการธรรมดาใช้แต่ตราพระราชสีห์ ถ้าสั่งประหารชีวิตจึงจะประทับตราจักรด้วย สำแดงคำสั่งเจ้าพระยาจักรี เพราะอำนาจสมุหนายกประหารชีวิตคนไม่ได้ ตามความเห็นข้าพระพุทธเจ้า รักจะใคร่ให้เก็บตราจักราวุธเข้ามารักษาไว้ในออฟฟิศหลวงเป็นพระลัญจกร เพราะเป็นตราของปฐมบรมกษัตริย์ต้นราชวงศ์นี้ จนได้ใช้ลงในตราแผ่นดินและอะไร ๆ เป็นอันมาก (ตรีนั้นเกินไป ด้วยไม่รู้หนังสือกรีกับตรี เห็นผิดกันไม่ได้) ไม่สมควรจะให้ผู้หนึ่งผู้ใดถือต่อไป เวลาจะประหารชีวิตคนตามหัวเมือง ให้กระทรวงมหาดไทยนำท้องตรามาประทับพระราชลัญจกรจักราวุธที่ออฟฟิศหลวงเป็นอันสำเร็จกันเหมือนดั่งก่อน ตราเทวราชอีกดวงหนึ่ง ก็คือ นารายณ์เกษียษสมุทร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานกรมหลวงวงศาฯ ใช้ ไม่ทราบเกล้าฯ ว่า พระราชทานเมื่อใด แต่ได้เห็นใช้ประทับในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีต่างประเทศ บางทีจะพระราชทานสำหรับการนั้นเอง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นเป็นที่ทำการต่างพระองค์ ใช้ตราเทวราชควรอยู่ ตราเทวราชซึ่งผู้ใช้มิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นึกได้หรือได้ทราบเกล้าฯ แต่สามดวงเท่านี้" (ลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๙ กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ต่อมา ในรัชกาลที่ ๕ ทรงจัดระเบียบปกครองใหม่ แบ่งส่วนใหญ่ของราชการออกเป็นกระทรวง มีเสนาบดีบังคับบัญชา