หน้า:Prachum Chotmaihet Samai Ayutthaya 2510.djvu/28

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๘
ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ

ด้วยเรื่องที่ว่า ไทยได้ทำหนังสือสัญญากับเดนมารคแต่ครั้งกรุงเก่านั้น ได้สืบหาต้นหนังสือสัญญาที่ว่า มีอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเคน มิสเตอร์แฮนเดอร์ซัน กุงสุลสยามที่เมืองโคเปนเฮเคน ได้เอาใจใส่ช่วยเปนธุระค้นต้นหนังสือนี้ได้ และได้ถ่ายรูปจำลองส่งมาเป็นหนังสือ ๓ ฉบับ คือ

ฉบับที่ ๑ ศุภอักษรออกยาไชยาธิบดีศรีณรงคฤๅไชยอภัยพิริยบรากรมพาหุ ออกยาตนาวศรีมหานคร ถึงเรธอธิลมาศ ฉบับที่ ๒ หนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษา ออกหลวงจินดาราช ยกกระบัตร ถึงเรธอธิลมาศ ฉบับที่ ๓ หนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษาถึงเรธอธิลมาศ

หนังสือทั้ง ๓ ฉบับนี้เขียนปีระกา ตรีนิศก ไม่มีศักราช แต่จุลศักราชคงเป็นปี ๙๘๓ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

ใจความในหนังสือเรื่องนี้ว่า กัปตันกรเบศ เมืองอธิลมาศ นำกำปั่นมายังเมืองตะนาวศรี พระยาตะนาวศรีได้รับรองเลี้ยงดูและลดหย่อนจังกรอบฤๅชาให้ และบอกว่า ได้มีพระราชกำหนดยอมให้เรือลูกค้าต่างประเทศไปมาค้าขายได้

ศัพท์ภาษาฝรั่งที่ใช้ในหนังสือเรื่องนี้ ที่จะต้องสันนิษฐานมีอยู่ ๓ ศัพท์ คือ

๑.เรธ จะแปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน จากคำแลติน Rix คือจะแปลว่า ประเทศ จากคำเดนมารค Rig

๒.อธิลมาศ คำนี้จะต้องเป็น เดนมารค แต่จะเรียกอย่างสำเนียงใด หมอแฟรงค์[1] ก็ลา[2]

๓.กัปตันกรเบศ นี้ ได้ชื่อตามจดหมายเหตุเดนมารค คือ กัปตัน Roland Grappe

ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งใบจำลองหนังสือไทยทูลเกล้าฯ ถวายมาสำรับหนึ่ง ยังมีที่หอพระสมุดอีกหลายสำรับ

  • ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
  • ข้าพระพุทธเจ้า
  • ขอเดชะ

  1. บรรณารักษ์หอพระสมุดสำหรับพระนคร
  2. ลา ในที่นี้หมายถึง หมดทางรู้ หรือแปลไม่ออก เป็นสำนวนที่พูดกันในสมัยรัชกาลที่ ๕