หน้า:Prachum Chotmaihet Samai Ayutthaya 2510.djvu/31

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ทางพระราชไมตรีและค้าขาย
ที่ ๕/๑๓๙๐
วันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทร์ ๑๒๘
ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ

จดหมายลงวันที่ ๑๔ ส่งสำเนาหนังสือพระยาตะนาวศรีมีไปมากับพวกเดนมารค ซึ่งมิสเตอร์แฮนเดอซัน กงสุลสยามเมืองโคเปนเฮเกน จำลองส่งมานั้น ฉันมีความเห็นต่างแตกอยู่บางข้อ

หนังสือ ๓ ฉบับนั้น ฉบับหนึ่งเรียกว่า ศุภอักษร เห็นจะถูก หนังสือฉบับนี้เขียนออกไปจากในกรุง เป็นฝีมือเดียวกันกับที่เขียนวัดป่าโมกข์ อาลักษณ์เขียนที่ใช้ว่า อธิลมาศ จะเป็นการดัดถ้อยคำให้ครึคระขึ้นอย่างไรได้ฤๅไม่ เพราะเหตุด้วย

หนังสือพระจอมเมืองซึ่งเขียนลายมือธรรมดาแผ่นใหญ่นั้นเต็มฉบับ แผ่นเล็กเหลืออยู่เซี่ยวเดียว หายไปเสียสามเซี่ยว เนื้อความก็จะอย่างเดียวกัน ในหนังสือ ๒ ฉบับนี้เขียน ดิลมาค ทุกแห่ง เห็นว่า ในเรื่อง เดนมารค จะเรียก เดนมารค นั้นเอง เป็นแต่ในกรุงจะอวดดีครึคระไปเปล่า ๆ

เรธ ยังแลไม่เห็น เพราะเหตุที่ในหนังสือ ๒ ฉบับไม่มี

ข้อซึ่งสอบศักราชว่า เขียนปีระกา ตรีนิศก เดาว่า เปนศักราช ๙๘๓ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั้น ถ้าสอบด้วยพงศาวดารไทย ไม่มี ปีนั้นยังเป็นแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมอยู่ เว้นไว้แต่จะเอาศักราชฝรั่งสอบด้วยเรื่องที่ฝรั่งแต่ง เช่นนั้นอาจถูก แต่ฉันอยากจะเห็นอย่างหนึ่ง อยากจะเดาว่า ปีระกา ตรีนิศก จุลศักราช ๑๐๔๓ ปลายแผ่นดินพระนารายน์

การที่เดาเช่นนี้ เดาตามรูปลักษ์ณ์ของหนังสือ แต่ในการที่จะรู้แน่ ก็ไม่อยากอะไร เพราะหนังสือข้างเดนมารดเขาก็กล่าวว่า หนังสือทั้งนี้ได้มีไปเมื่อใด ศักราชฝรั่งเท่าใด จะสอบได้โดยง่าย

(พระปรมาภิไธย)