หน้า:Prachum Chotmaihet Samai Ayutthaya 2510.djvu/48

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๐
จดหมายเหตุ สมัยกรุงศรีอยุธยา

ซึ่งจะออกไปกรุงฝรั่งเศสด้วย จึงช้าอยู่หลายเวลา เพราะฉะนั้น ราชทูตฝรั่งเศสจึงป่วยไม่สู้สบาย จึงได้ไปขอลาต่อท่านเสนาบดีสยามว่า ขอให้กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยจะรีบกลับไปกรุงฝรั่งเศสโดยเร็ว เสนาบดีสยามได้ขึ้นไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายน์ที่ทะเลชุบศร กรุงลพบุรี ขณะนั้น สมเด็จพระนารายน์ก็ไม่สู้จะทรงสบายพระองค์ แต่ทรงทราบว่า ราชทูตฝรั่งเศสจะทูลลา จึงเสด็จเข้ามาทรงรับลาราชทูตฝรั่งเศสที่ในพระราชวังกรุงลพบุรี แล้วทรงฝากทูตานุทูตสยามสำรับใหม่ให้เชิญพระราชสาส์น ๒ ฉบับ กับเครื่องมงคลราชบรรณาการ ๒ สำรับ แลบาดหลวงล่ามผู้หนึ่ง ออกไปกับราชทูตฝรั่งเศสในครั้งนี้ด้วย เครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปกรุงฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นของวิเศษต่าง ๆ มีลูกช้างอย่างย่อม ๓ ช้าง พระราชทานไปเป็นพาหนะพระที่นั่งสำหรับพระราชโอรสพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทั้ง ๓ พระองค์ กับแรด ๒ แรด เป็นต้น พระราชสาส์นถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนั้นดำเนินความต้นว่า พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพทวาราวดีมหานครมหิศราธิปไตยในสยามประเทศเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งกาแลเนาวะรามหาราชาธิราชในประเทศฝรั่งเศส ความในสุดท้ายมีว่า เราผู้เป็นมิตรสหายอันสุจริตแลเป็นที่รักที่สุดของพระองค์ท่าน แล้วทรงประทับพระราชลัญจกรสำหรับราชการแผ่นดินเป็นรูปพระมหาอุนาโลมสถิตย์อยู่ในบุศบกมีฉัตรตั้งเคียงข้างละ ๒ คัน พระราชสาส์นส่งไปแต่พระราชวังกรุงลพบุรีลงณวันเดือนอ้าย ขึ้นสามค่ำ ปีเถาะ นพศก พุทธศักราช ๒๒๓๐[1] ตรงกับจุลศักราช ๑๐๔๙ ปี ในที่สุดท้ายในพระราชสาส์นนั้นลงชื่อว่า "โฟกอง" คือ (เจ้าพระยาวิชาเยนทร)

พระราชสาส์นอีกฉบับหนึ่งส่งไปถวายโปปณกรุงโรม ดำเนินความต้นและลงท้ายคล้าย ๆ กันกับฉบับถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส

สำเนาพระราชสาส์นทั้ง ๒ ฉบับนั้น เจ้าพระยาวิชาเยนทรได้แปลเป็นภาษาโปรตุเกศ แลประทับพระราชลัญจกรแลลงชื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทรเหมือนต้นพระราชสาส์น

ครั้นณวันเดือนอ้าย ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราช ๑๐๔๙ ปีเถาะ นพศกนั้น ทูตานุทูตสยาม พร้อมด้วยราชทูตฝรั่งเศสที่รออยู่ ลงกำปั่นรบฝรั่งเศสที่คุณปานกลับมานั้นใช้ใบออกไปจากปากอ่าวสยาม ทูตานุทูตสยามสำรับใหม่นี้สามนาย มีออกขุนชำนาญ[2] เป็นต้น มีบาดหลวงล่ามคน ๑ ชื่อ ตาชารด์ มีบุตรขุนนาง ๕ นายซึ่งพระเจ้ากรุงสยามทรงฝากออกไปเรียนหนังสือฝรั่งแลวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนหลวงสำหรับบุตรขุนนางแลบุตรผู้มีตระกูลสูงซึ่งตั้งอยู่ในกรุงฝรั่งเศส ชื่อ โรงเรียนพระเจ้าลูอิศมหาราช นั้น เดิมพระเจ้ากรุงสยามทรงพระราชดำริไว้ว่า จะส่งบุตรขุนนางออกไปเป็นนักเรียนณกรุงฝรั่งเศส ๑๒ นาย แต่เลือกคัดจัดส่งไปไม่ทัน ๗ นาย คงส่งไปแต่ ๕ นาย พระราชดำริเดิมจะส่งนักเรียนชาวสยามออกไปคราวละ ๑๒ นาย ผลัดเปลี่ยนเวียนกันส่งไป แลกลับเข้ามาเสมอทุกคราวที่ควรจะไปมาได้ ทั้งหวังพระราชหฤทัยว่า ถ้านักเรียนครั้งแรกกลับเข้ามาเล่าการดีให้บิดามารดา


  1. ควรจะเป็น พ.ศ. ๒๒๓๑ เพราะขณะนั้นนิยมนับพุทธศักราชตามแบบลังกาสีหล
  2. ออกขุนชำนาญคงเคยเดินทางร่วมไปกับคณะทูตครั้งแรกที่มีออกญาพิพัฒน์ราชไมตรีเป็นราชทูตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ แต่ไปเรือแตกที่กลางทะเลมาดากาสกา ขุนชำนาญคงจะรอดกลับมากรุงศรีอยุธยาได้ และครั้งหลังนี้จึงได้แต่งตั้งให้เป็นทูตไปกรุงฝรั่งเศษเป็นครั้งที่ ๔ เมื่อไปเห็นที่ซึ่งเคยประสบภัย จึงระลึกถึงความเก่าที่ตนได้มามีความลำบากดังปรากฏนี้