กับพระแท่นมนังศิลา แลศิลาจาฤกภาษาเขมรอิกหลัก ๑ เพียรทรงพิจารณาอักษรไทยนี้จนทรงทราบวิธีอ่านหนังสือของพระเจ้าขุนรามคำแหง จึงทราบเรื่องในศิลาจาฤกนี้
ศิลาจาฤกที่ ๒ เปนคำจาฤกของพระบาทกมรเดงอัด ศรีสุริยพงษรามมหาธรรมราชา คือ พระเจ้าลิไทย ไนยหนึ่งเรียกว่า พระมหาธรรมราชา ซึ่งครองนครศุโขไทยในรัชกาลที่ ๕ เปนราชนัดดาของพระเจ้าขุนรามคำแหง แสดงราชประวัติของพระองค์เอง มีเรื่องราวซึ่งเปนข้อสำคัญในความรู้พงษาวดารเหมือนกัน จาฤกที่ ๒ นี้ของเดิมสร้างเปน ๒ หลัก จาฤกด้วยอักษรขอมเปนภาษาเขมรหลัก ๑ จาฤกด้วยอักษรไทยในภาษาไทยหลัก ๑ ความต้องกัน หลักอักษรไทยเห็นจะมีผู้เอามาเสียจากเมืองศุโขไทยช้านานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพบ แลได้มาแต่หลักภาษาเขมร โปรดให้สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เปนหัวน่ากรรมการแปลเปนภาษาไทยได้ความตามที่ได้พิมพ์ไว้นี้ ส่วนหลักภาษาไทยนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชคุปต์) ไปพบอยู่ที่วัดใหม่ริมพระนครหลวงในแขวงกรุงเก่า จะมาอยู่ที่นั่นช้านานเท่าใดไม่ทราบ มีผู้ลับมีดเสียจนตัวอักษรลบเลือนไปมาก ส่งหลักจาฤกนี้มาไว้กับหลักคู่กันที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อ่านสอบตัวหนังสือเท่าที่มีอยู่ พอได้ความว่าเปนเนื้อความเดียวกับหลักภาษาเขมรนั้นเอง ตัวหลักศิลาทั้ง ๒ ก็มีรูปร่างอย่างเดียวแลเท่ากัน จึงรู้ได้เปนแน่ว่า เมื่อแรกสร้างหลักศิลาจาฤกคงจะสร้างขึ้น ๒ หลักพร้อมกัน ด้วยในเวลานั้นไพร่พลเมือง