หน้า:Siam (IA siampeepsatmany00youn).pdf/114

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
สอดส่องหลายท้องถิ่น

ในการทรมานด้วยการดำน้ำ จะใช้งานสระน้ำหรือตัวแม่น้ำเอง โดยจะปักเสาสองเสาลงห่างกันสัก 10 ฟุต คู่ความจะเริ่มด้วยการกล่าวคำอธิษฐาน และจากนั้นจะเข้าสู่ท้องน้ำโดยมีเชือกกันภัยมัดไว้รอบเอว คู่ความจะเดินลงไปในน้ำจนกระทั่งสูงเท่าคอ แต่ละคนจะเกาะไม้ค้ำของตนไว้ ก่อนจะมีการวางเสาขนาดยาวลงไปไว้ให้คู่ต่อสู้ทั้งสองใช้พาดบ่า แล้วจะตีฆ้องเป็นสัญญาณ และเจ้าพนักงานจะเอนเสานั้นลงด้วยน้ำหนักอันมาก และกดศีรษะคู่ความลงไปใต้น้ำ ฝ่ายใดอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าอีกฝ่าย ย่อมเป็นผู้ชนะ ถ้าทั้งสองฝ่ายอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าเวลาที่กำหนดไว้ จะมีการฉุดชักพวกเขาขึ้นด้วยเชือกกันภัย และจะยกฟ้องคดีเสีย[1] ถ้าผู้วิวาทกันนั้นมีทรัพย์มาก จะจ้างผู้อื่นไปดำน้ำให้ตน แทนที่จะไปทนเปียกปอนและเหนื่อยหอบด้วยตนเองก็ได้ มีเรื่องเล่ากันถึงชายผู้ซึ่งครั้งหนึ่งวานนักงมไข่มุกมาทำหน้าที่แทนตน ก็เลยชนะคดีได้โดยง่าย การพิจารณาเช่นนี้เพิ่งจะมีล่าสุดที่เชียงใหม่เมืองเหนือเมื่อเดือนมกราคม 1882 นี้เอง

พญาตาก บุรุษซึ่งเราได้กล่าวถึงมาแล้วในบทแรกแห่งหนังสือนี้ ครั้งหนึ่งเคยปราบทัพกบฏที่เป็นนักบวช[2] เมื่อกบฏถูกจับได้ เหล่าภราดรผ้าเหลืองของเขาก็ถูกกุมตัวมาพร้อมกับเขาเป็นอันมาก พญาเบิกตัวคนเหล่านั้นมาพร้อมกัน และเนื่องจากพญาแยกคนบริสุทธิ์กับคนผิดไม่ออก จึงตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า "คนใดในหมู่พวกเจ้าที่ยอมสารภาพผิด จะต้องสละสมณเพศ แต่เราจะประทานเครื่องนุ่งห่มอย่างอื่นให้ และปล่อยตัวเป็นไทโดยไม่เอาผิด คนใดที่ว่า ตนไม่ผิด จะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

  1. พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 7 (แลงกาต์, 2481, น. 365) ว่า "เมื่อจะลงดำน้ำกันนั้น ให้ปักหลักห่างกัน 6 สอก แล้วให้ตระลาการเอาเชือกผูกบั้นเอวทัง โจท/จำเลย ยึดหลัก เอาไม้พาดบ่าไว้ ตีฆ้อง 3 ที ข่มฅอหย่อนเชือกลงไป ให้ดำลงไปให้พร้อมถึงต้นหลัก ตั้งนาลิกาให้พร้อมกัน ขณะเมื่อดำลงไปนั้น ถ้าผู้ใดผุดก่อน ให้เอากลังสวมฅอ แล้วจึ่งให้ชักเชือกลงไปเอาผู้มิได้ผุดขึ้นมา ถ้าได้ 6 บาดแล้ว โจท/จำเลย มิได้ผุดขึ้นมา ให้ชักเชือกลงไปเอาตัวขึ้นมา"
  2. หมายถึง เจ้าพระฝาง ในสมัยกรุงธนบุรี
80