หน้า:Siam (IA siampeepsatmany00youn).pdf/58

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
สอดส่องหลายท้องถิ่น
บทที่ 8
ภิกษุ

สยามได้รับการเรียกขานว่า "ราชอาณาจักรแห่งผ้ากาสาวพัสตร์" ด้วยเหตุที่มีภิกษุจำนวนมากอยู่ทุกหนแห่ง และทุกรูปล้วนห่มผ้าเหลือง ชายทุกคนในสยามจะออกบวชไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิต และจะดำรงชีพเป็นภิกษุเป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งแตกต่างกันไปตั้งแต่ไม่กี่เดือนไปจนหลายปี หรือแม้กระทั่งไปจนชั่วชีวิต ช่วงวัยตามปรกติสำหรับการเข้าสู่วงการนักบวชนั้น คือ ราว 19 ปี และตามความเหมาะสมแล้ว ระยะเวลาสั้นที่สุดที่สามารถอยู่ในภิกษุภาวะได้ คือ 2 เดือน ผู้ประสงค์จะได้รับการยอมรับเข้าสู่ภิกษุภาวะจะไปยังวัด สวมเสื้อผ้าที่ดีที่สุดของตน และมีเหล่าญาติมิตรติดตามไปพร้อมนำของขวัญมาถวายนักบวช ของขวัญเหล่านี้รวมถึงข้าว ปลา ไม้ขีดไฟ ผลไม้ ยาสูบ หมาก นาฬิกาปลุก แจกันดอกไม้ ธูป และของน่าพิศวงอย่างอื่นอีกหลายสิบอย่าง สิ่งของเหล่านี้จะกระจายไว้รอบพื้นวัดจนอาคารศักดิ์สิทธิ์นั้นดูประหนึ่งจะกลายเป็นฉาก "การขายของเลหลัง" อันน่าดูชม

บางทีก็มีเด็กเข้าสู่การรับใช้พระศาสนาและได้ครองผ้าเหลือง มักปรากฏว่า เมื่อฌาปนกิจบิดามารดาคนใดคนหนึ่งของเด็กผู้ชายแล้ว เด็กชายผู้นั้นก็จะกลายเป็น "ภิกษุน้อย" เพราะเขาหวังว่า วิธีนี้จะช่วยสงเคราะห์บิดาในปรโลกที่ซึ่งคนผู้นั้นถูกเรียกตัวไปสู่ และก็เป็นธรรมดาเช่นกันที่ภิกษุแต่ละรูปจะมีข้ารับใช้หรือลูกศิษย์เป็นเด็กชายไว้คอยทำความสะอาดกุฏิหรือทำงานลักษณะต่ำต้อยอย่างอื่น

34