ตราของยุวพุทธิกสมาคม
ตราของยุวพุทธิกสมาคม
องคุลิมาล
จาก
เรื่องใต้ร่มกาสาวพัสตร์
ของ ส.ช.
เหม เวชกร สร้างภาพ
มณฑา แสงสมบูรณ์ จัดทำคำบรรยาย
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
จัดพิมพ์
๕/-

สถิติการจัดพิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ พ.ศ. ๒๕๐๒ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม
พิมพ์ครั้งที่ พ.ศ. ๒๕๐๔ จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม
พิมพ์ครั้งที่ พ.ศ. ๒๕๐๕ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม

คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๒

หนังสือเรื่อง "องคุลิมาล" เป็นหนังสือภาพธรรมะเรื่องที่ ๒ ที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำขึ้นต่อจากหนังสือพุทธประวัติประกอบภาพ นับเป็นที่น่ายินดีที่หนังสือเรื่อง "องุคลิมาล" ได้รับการต้อนรับจากนักเรียน ครูอาจารย์ และประชาชน อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง บางโรงเรียน เช่น โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม และผู้มีจิตศรัทธาบางท่าน เช่น คุณโนรี ลวะเปารยะ แห่งยุวพุทธิกสมาคมอุบลราชธานี ได้ช่วยรับหนังสือนี้ไปจำหน่ายโดยไม่คิดส่วนลดแต่ประการใด ภายในเวลาเพียงปีกว่า หนังสือจำนวน ๓,๐๐๐ เล่มที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรกก็จำหน่ายหมด ได้มีผู้มาติดต่อขอซื้อหนังสือนี้อยู่เสมอ ทางสมาคมจึงได้จัดพิมพ์หนังสือนี้อีกเป็นครั้งที่ ๒ ด้วยความหวังว่า หนังสือนี้จะแพร่หลายไปตามบ้านและโรงเรียนต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น และทำหน้าที่เป็นมิตรที่ดีแก่เยาวชนจำนวนมากยิ่งขึ้น

ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อทุกท่านที่ได้มีส่วนช่วยในการจำหน่ายและช่วยในการซื้อหนังสือเรื่อง "องคุลิมาล" ที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรก ความกรุณาของท่านทั้งหลายเป็นเสมือนหนึ่งน้ำทิพย์ที่ช่วยทำให้ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยมีกำลังใจและความอุตสาหะที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและเยาวชนของเรายิ่งขึ้น แม้สมาคมจะไม่ได้รับผลกำไรที่เป็นวัตถุจากการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ทางสมาคมก็ได้รับผลกำไรทางจิตใจซึ่งมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ๆ สมาคมหวังว่า หนังสือเรื่อง "องคุลิมาล" ที่จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ นี้คงจะได้รับความกรุณาจากเยาวชน ครูอาจารย์ และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายไม่น้อยกว่าการจัดพิมพ์ครั้งแรก สมาคมขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงต่อความกรุณาใด ๆ ที่จะได้รับไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

หนังสือเรื่อง "องคุลิมาล" จัดทำให้สำเร็จก็เพราะคุณมณฑา แสงสมบูรณ์ ผู้จัดทำคำบรรยาย คุณเหม เวชกร ผู้เขียนภาพ และอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง "ใต้ร่มกาสาวพัสตร์" ขอให้หนังสือเรื่อง "องคุลิมาล" นี้จงเป็นเสมือนแผ่นจารึกความขอบคุณของสมาคมที่จะมีต่อท่านทั้งสามตลอดไป

ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๔

ในสมัยพุทธกาล นครสาวัตถี เป็นราชธานีของแคว้นโกศล มีพระราชานามว่า "พระเจ้าปเสนทิโกศล" เป็นผู้ปกครอง พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระโอรสผู้เฉลียวฉลาดของพระเจ้ามหาโกศล พระองค์ได้ทรงรับการศึกษาอย่างดียิ่งจากเมืองตักกศิลา

ดังนั้น เมื่อพระองค์ได้ทรงครอบครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา พระองค์จึงทรงสามารถปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงเป็นที่รักของประชาชนตลอดจนอำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลาย ในบรรดาอำมาตย์ผู้ใหญ่ของพระองค์นั้น มีปุโรหิตผู้หนึ่งนามว่า "คัคคะพราหมณ์" เป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูฤกษ์ยามและถวายคำทำนายแก่พระราชา

คัคคะพราหมณ์ปุโรหิตมีภรรยานามว่า "มันตานีพราหมณี" นางตั้งครรภ์ได้ถ้วนทศมาสแล้วก็คลอดบุตรในราตรีกาล ในเวลาที่ทารกนั้นคลอด ดวงจันทร์กำลังโคจรผ่านกลุ่มดาวโจรไปตามจักรราศี อาวุธต่าง ๆ ในพระนครมีประกายแสงโพลงขึ้น แม้มงคลกุนตาวุธ พระแสงหอก และพระแสงดาบของพระราชาซึ่งวางอยู่ใกล้ที่บรรทมก็เป็นประกายแสงขึ้นเช่นเดียวกัน

พราหมณ์ปุโรหิตออกไปยืนอยู่กลางแจ้ง มองดูดาวฤกษ์ ทราบว่า บุตรของตนเกิดฤกษ์โจร จึงไปเฝ้าพระราชาในวันรุ่งขึ้น กราบทูลถามว่า "เทวะ เมื่อคืนนี้ พระองค์บรรทมเป็นสุขดีดอกหรือพะย่ะค่ะ?" พระราชาตรัสตอบว่า "ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะนอนเป็นสุขได้อย่างไร ในเมื่อมังคลาวุธเป็นประกายแสงขึ้น อันตรายแห่งราชสมบัติ หรือไม่ก็ชีวิต อย่างใดอย่างหนึ่ง คงจะมีเป็นแน่"

พราหมณ์ปุโรหิตทูลตอบว่า "อย่ากลัวเลยพะย่ะค่ะ อาวุธที่โพลงแสงขึ้นนั้นเป็นด้วยอานุภาพแห่งบุตรที่เกิดใหม่ของข้าพระองค์เท่านั้น หามีเหตุอื่นไม่" พระราชาตรัสถามว่า "เด็กนั้นจะเป็นอะไรในอนาคต ทราบไหม ท่านอาจารย์"

"เป็นโจรพะย่ะค่ะ"

"โจรธรรมดาหรือโจรราชสมบัติ?"

เมื่อปุโรหิตกราบทูลว่า เป็นเพียงโจรธรรมดา และหวังจะรักษาพระหฤทัยของพระราชา จึงกราบทูลต่อไปว่า "เทวะ พระองค์จะทรงโปรดให้ฆ่าเด็กนั้นเสียก็ได้" พระราชารับสั่งว่า "ท่านอาจารย์ เพียงโจรธรรมดาจะเป็นไรไป มันก็ไม่ผิดอะไรกับรวงข้าวสาลีเพียงรวงเดียวในนาตั้งพันกรีส เลี้ยงมันไว้เถิด"

เมื่อถึงคราวตั้งชื่อบุตร ปุโรหิตปรารภความที่อาวุธโพลงแสงขึ้นเวลาเด็กนั้นเกิดแต่มิได้ทำอันตรายผู้ใด จึงให้ชื่อว่า "อหิงสกะ" แปลว่า "ผู้ไม่เบียดเบียน" และได้เลี้ยงดูบุตรน้อยของตนเป็นอันดี จนกระทั่งอหิงสกะเติบโตขึ้นถึงวัยอันควรได้รับการศึกษา บิดาจึงส่งไปศึกษายังเมือง "ตักกศิลา"

เมืองตักกศิลาตั้งอยู่ทิศเหนือสุดแห่งดินแดนภารตวรรษ เป็นเมืองชุมนุมนักปราชญ์ชั้นผู้ใหญ่ เป็นเมืองแห่งวิชาความรู้ในสมัยนั้น ใครจะต้องการศึกษาศิลปศาสตร์ชนิดใดก็เลือกได้ตามประสงค์ พระราชา และอำมาตย์ราชปุโรหิต เศรษฐี คฤหบดี ในแคว้นต่าง ๆ แม้ไกลเท่าไกล ได้ส่งบุตรของตนมาศึกษาที่เมืองนี้โดยมาก

วิธีเข้าศึกษานั้นมีสองอย่าง คือ เสียค่าธรรมเนียมแก่อาจารย์ อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ต้องทำงานให้ตามแต่อาจารย์จะใช้ มีหุงหาอาหาร ตักน้ำ ตัดฟืน และนวดเฟ้น เป็นต้น อหิงสกะได้เข้าศึกษาในสำนักท่านทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่งด้วยวิธีหลัง คือ ทำงานให้แทนเสียค่าธรรมเนียม

อหิงสกะได้ตั้งใจปฏิบัติอาจารย์เป็นอย่างดียิ่งในทางการงาน การศึกษาเล่าเรียนก็ขยันขันแข็ง และคอยหมั่นรับใช้ ในทางความประพฤติก็เรียบร้อย เจรจาก็อ่อนหวาน นับว่า เด่นกว่ามาณพอื่น ๆ จึงเป็นที่รักของอาจารย์มาก ศิษย์ทั้งหลายเห็นว่า ตั้งแต่อหิงสกมาณพมาอยู่ ทำให้พวกตนด้อยลงไป ก็ปรึกษากันหาวิธีกำจัด

ด้วยอำนาจความอิจฉาริษยาที่เผาลนจิตใจของมาณพเหล่านั้นไม่เสื่อมคลาย เขาจึงช่วยกันตรองหาวิธีเป็นอันมากที่จะกำจัดอหิงสกะให้จงได้ ต่อมา คิดอุบายได้อย่างหนึ่ง จึงแบ่งกันเป็นสามพวก พวกแรกไปบอกอาจารย์ว่า อหิงสกมาณพคิดการจะประทุษร้ายอาจารย์ ครั้นถูกอาจารย์ดุตะเพิด ก็หลีกไป

พวกที่สองไปกล่าวเช่นนั้นอีก อาจารย์ก็ยังไม่เชื่อ จนกระทั่งพวกที่สามมากล่าวเช่นนั้นอีก แล้วพูดเสริมต่อไปว่า ท่านอาจารย์ไม่เชื่อพวกผม ก็จงพิจารณารู้เอาเองเถิด อาจารย์มีความระแวงและเชื่อว่า เป็นความจริง เพราะศิษย์ที่มาบอกหลายพวกด้วยกัน คงไม่ใช่บอกด้วยประสงค์ร้ายเป็นแน่ จึงตกลงใจจะฆ่าอหิงสกมาณพเสีย

ต่อมา อาจารย์ฉุกคิดขึ้นว่า "ถ้าเราฆ่าเอง ใคร ๆ ก็จะเล่าลือว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์โกรธมาณพที่มาเรียนศิลปะในสำนักของตนก็ฆ่าเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่อไปคงไม่มีใครประสงค์จะมาเรียน ลาภสักการะของเราก็จะเสื่อมไป อย่าเลย เราจะวานมือคนอื่นเถิด จะลวงว่า ก่อนที่วิชาจะสำเร็จ เจ้าจะต้องฆ่าคนให้ได้พันคนเพื่อเป็นเครื่องประกอบวิชา เมื่ออหิงสกมาณพเที่ยวฆ่าใครต่อใครจนกว่าจะครบพันเช่นนี้ คงมีสักคนหนึ่งที่ลุกขึ้นต่อสู้และฆ่าอหิงสกมาณพเสียได้"

ครั้นอาจารย์คิดเช่นนั้นแล้ว ก็บอกกับอหิงสกมาณพตามอุบายของตน อหิงสกะตอบว่า "ท่านอาจารย์ ตระกูลของกระผมถือไม่เบียดเบียนผู้อื่น กระผมจะทำได้อย่างไร" อาจารย์กล่าวยืนยันว่า "เจ้าไม่ทำแล้ว ไฉนศิลปะของเจ้าจักให้ผลเล่า ศิลปะที่ปราศจากเครื่องประกอบนั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย"

เมื่อได้ฟังดังนั้น อหิงสกมาณพผู้เชื่อมั่นในคำอาจารย์ก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่า จะต้องออกเที่ยวฆ่ามนุษย์ได้ครบพันคน จึงเตรียมแต่งตัวรัดกุม รวบรวมอาวุธได้ ๕ ชนิด ผูกสอดบ้าง ถือด้วยมือบ้าง มากราบอาจารย์ แล้วเข้าสู่ดง คอยอยู่ปากทางที่จะเข้าไปในดงบ้าง กลางดงบ้าง ปากทางที่จะออกจากดงบ้าง เมื่อพบใครก็ฆ่าไม่มีเว้น ครั้นฆ่าแล้วก็หายึดผ้านุ่ง ผ้าห่ม หรือผ้าโพกไว้เป็นเครื่องนับจำนวนไม่ คงนับแต่ในใจว่า หนึ่ง สอง ดังนี้เป็นต้น

แม้อหิงสกมาณพจะเป็นคนมีสติปัญญาและความจำดีโดยปรกติ แต่เมื่อฆ่ามนุษย์มาก ๆ เข้า ก็ทำให้ฟั่นเฟือนเลือนหลงไป ในที่สุด ก็ลืมจำนวนผู้ถูกฆ่าที่ตนนับไว้ในใจ จึงต้องตัดนิ้วของผู้ถูกฆ่าไว้สำหรับนับ รวมกองไว้ในที่แห่งหนึ่ง นิ้วเหล่านั้นก็เผอิญหายเสีย ในที่สุด ต้องร้อยนิ้วไว้เป็นพวงอย่างพวงมาลัยนำติดตัวไปด้วย เพราะเหตุนี้ ตั้งแต่วันนั้นมา อหิงสกมาณพก็มีชื่อใหม่ว่า "องคุลิมาล" ผู้มีนิ้วเป็นพวงมาลัย

องคุลิมาลยึดป่าเป็นบ้าน จากที่นี้ไปที่นั้นจนทั่วป่า คนที่เคยตัดฟืนพากันเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าป่า เมื่อองคุลิมาลไม่ค่อยพบใครในป่า เวลากลางคืน จึงออกจากป่าเข้าสู่หมู่บ้าน ใช้เท้ากระแทกใช้อาวุธทำลายประตูให้พังแล้วเข้าไล่ฆ่ามนุษย์ซึ่งกำลังนอนอยู่ตัดเอานิ้วมือไป จนกระทั่งชาวบ้านส่วนมากต้องพากันอพยพเข้าสู่นิคม จากนิคมอพยพหนีเข้าสู่นคร มนุษย์ทั้งหลายพากันละทิ้งบ้านช่องอุ้มจูงลูกหลานมาพำนักอยู่รอบ ๆ เมืองสาวัตถี แล้วรวมเป็นพวกไปที่พระลานหลวงร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนธิโกศล

พราหมณ์ปุโรหิตทราบข่าวโจรองคุลิมาลและความเดือดร้อนของมนุษย์ทั้งหลายแล้วก็หยั่งทราบได้ทันทีว่า ต้องเกี่ยวกับบุตรของตน จึงกล่าวกะนางมันตานีพราหมณีว่า "เกิดโจรชื่อ องคุลิมาล ขึ้นแล้ว เจ้านี่คงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากอหิงสกะลูกเรา คราวนี้ พระราชาออกจับมันแน่ เราจะทำอย่างไร?" พราหมณีตอบว่า "มีอยู่อย่างหนึ่ง คือ ท่านไปพาอหิงสกะนั้นมาอยู่เสียกับเราไม่ให้ใครรู้และจับได้" พราหมณ์ปุโรหิตกล่าวปฏิเสธด้วยเกรงว่า บุตรจะจำตนไม่ได้แล้วฆ่าเสีย

เป็นธรรมดาอยู่เองที่มารดาจะต้องมีใจอ่อนด้วยความรักบุตรและแข็งกล้าอย่างยิ่งในเมื่อรู้สึกว่า ตนจะต้องช่วยเหลือให้บุตรนั้นพ้นภัย แม้ท่านปุโรหิดจะปฏิเสธไม่ยอมไปตามหาองคุลิมาล นางมันตานีพราหมณีก็คงกล่าวว่า "เมื่อท่านไม่ไป ข้าพเจ้าจะไปเอง" แล้วก็เที่ยวระหกระเหินตามหาบุตรของตนไปในที่ต่าง ๆ ทั้งที่ตนอยู่ในวัยชราเช่นนั้น

เวลานี้ องคุลิมาลยังอยู่ในป่าบ้าง จากป่าสู่หมู่บ้านและนิคมนอก ๆ ไปบ้าง แต่ก็คงเที่ยววนเวียนในแคว้นโกศลนั้น ร่างลายขององคุลิมาลตรากตรำดำคล้ำและมีเลือดติดเกรอะกรัง เผ้าผมและหนวดเครายาวรุงรัง สมที่เป็นโจรป่า องคุลิมาลไม่ต้องการความสวยงามหรือความสุขอื่น ๆ ต้องการแต่อย่างเดียว คือ ฆ่าคนให้ครบจำนวนพันตามที่อาจารย์สั่ง และบัดนี้ เขากำลังเสาะแสวงหาบุคคลที่ครบพันอันตนจะพึงฆ่า

ครั้งนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่ "เชตวนาราม" ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายใกล้นครสาวัตถี ในวันที่มารดาขององคุลิมาลออกตามหาบุตรซึ่งเป็นวันเดียวกับที่องคุลิมาลกำลังแสวงหาบุคคลผู้ครบจำนวนพันอันตนจะพึงฆ่านั้น เวลาใกล้รุ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ในพระคันธกุฎีตรวจดูสัตว์โลกที่พระองค์พึงเสด็จไปโปรด ก็ทราบด้วยพระญาณว่า

โจรองคุลิมาลกำลังแสวงหาบุคคลที่ครบพันเพื่อฆ่าแล้วตัดนิ้วมือไป หาเรารีบไปให้ทัน ความสวัสดีก็จะมีแก่องคุลิมาลนั้น เขายืนฟังคำสั่งสอนของเราในป่านั้น แล้วจะกลับใจรู้สึกผิดชอบและขอบวช เมื่อบวชแล้วไม่นานก็จะทำให้แจ้งซึ่งอภิญญา ๖ แต่ถ้าเราไม่ไป องคุลิมาลพบมารดาของตนซึ่งกำลังตามหา และจำไม่ได้เพราะมีหัวใจฟั่นเฟือนไปอันเนื่องจากลำบากตรากตรำในการนอนการกินในป่ามาเป็นเวลานาน ถ้าประทุษร้ายมารดาถึงแก่ชีวิต ก็จะเป็นผู้ที่กลับตัวมิได้อีกต่อไป แม้ไฉนเราพึงสงเคราะห์องคุลิมาลให้เป็นผู้มีความสวัสดี

ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือบาตรครองจีวรเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตกลับมาเสวย เสร็จแล้ว ทรงแจ้งให้ภิกษุทั้งหลายทราบความที่พระองค์จะเสด็จจาริกไปสู่ชนบทชั่วคราวเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ และในการเสด็จครั้งนี้ มิได้นำพระภิกษุอื่นไปด้วย เสด็จพระพุทธดำเนินแต่ลำพังพระองค์เดียวตรงไปยังทิศที่องคุลิมาลกำลังเดินมา

ตลอดทางที่ผ่านไป พระองค์ทรงพบคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงแกะ และชาวนา มีท่าทางตื่นเต้นรีบเดินเข้ามา บ้างก็กระซิบกระซาบ บ้างก็ละล่ำละลัก บอกว่า "ท่านสมณะ ท่านอย่าเพิ่งไป โจรองคุลิมาลมันอยู่ทางนั้น มันเป็นคนดุร้ายมาก มีมือชุ่มด้วยโลหิต มันฆ่าฟันคน แล้วตัดนิ้วมือร้อยเป็นพวง ใครเดินผ่านทางมัน เป็นถูกฆ่าตายสิ้น จงหลีกไปเสียทางอื่นเถิด"

พระผู้มีพระภาคแสดงพระอาการขอบใจต่อผู้หวังดีเหล่านั้น แต่มิได้ตรัสคัดค้านหรือเห็นดีด้วยประการใด คงเสด็จไปข้างหน้าตามปรกติ และได้พบชาวนาบ้าง คนเลี้ยงแกะบ้าง คนเลี้ยงโคบ้าง ในระหว่างทางอีก ก็ได้รับคำห้ามปรามแนะนำมิให้เสด็จไปดังกล่าวแล้วข้างต้น แม้จะหลายครั้งหลายคน ก็หาทำให้พระองค์เสด็จเลี่ยงไปทางอื่นไม่

จนกระทั่งองคุลิมาลซึ่งอยู่ริมทางแลเห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล ก็นึกประหลาดใจว่า อัศจรรย์จริง ทางนี้อย่าว่าแต่คน ๆ เดียวเลย ตั้ง ๓๐ หรือ ๔๐ คนก็ไม่มีใครเดินมาเพราะกลัวจะถูกเราฆ่า แต่พระรูปนี้เดินมาผู้เดียวแท้ ๆ ไม่มีเพื่อนเลย หรือจะมาข่มเหงเรา ถ้าเช่นนั้น เราก็จะต้องฆ่าเสียก่อน คิดเช่นนั้นแล้ว องคุลิมาลก็เตรียมตัวคว้าดาบสะพายธนูคอยให้พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านไป แล้วจึงสะกดรอยตามไปเงียบ ๆ ข้างหลัง

ครั้นเห็นว่า จะไปไม่ทัน จึงเร่งฝีเท้าหนักขึ้น ในที่สุด ถึงกับวิ่ง ก็ไม่สามารถตามให้ทันพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จดำเนินไปตามปรกติได้ องคุลิมาลรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง วิ่งพลางคิดไปพลางว่า "แปลกจริง แต่ก่อนมา เราเคยมีฝีเท้าเร็วยิ่งนัก สามารถวิ่งขับช้างม้าหรือรถให้ทันได้ดังประสงค์ พระรูปนี้ก็เดินเรื่อยไปตามปรกติ ทำไมเราถึงกับวิ่งขับแล้วก็ยังไม่ทัน ถ้าเราเรียกให้หยุดแล้วถามดู บางทีจะทราบเรื่องอะไรได้บ้าง"

คิดแล้วองคุลิมาลก็หยุดวิ่ง ตะโกนไปว่า "หยุดก่อนพระ!" มีเสียงตอบมาว่า "เราน่ะหยุดแล้ว องคุลิมาล! ท่านต่างหากยังไม่หยุด ท่านจงหยุดซิ" องคุลิมาลคิดในใจว่า "พระพวกศากยบุตรเหล่านี้เป็นคนพูดจริงปฏิญญาจริง แต่ทำไมเดินไปเรื่อย ๆ จึงกล่าวว่า "เราน่ะหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านต่างหากยังไม่หยุด ท่านจงหยุดซิ" เราจะต้องถามความข้อนี้ดู" แล้วจึงกล่าวถามขึ้นว่า

"พระ ท่านเดินไปอยู่ แต่กล่าวว่า เราหยุดแล้ว และกล่าวถึงข้าพเจ้าผู้หยุดแล้วว่า ไม่หยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ท่านว่า ท่านหยุด และว่า ข้าพเจ้าไม่หยุด นั้น จะหมายความว่าอย่างไร?" พระองค์ตรัสตอบว่า "ดูก่อน องคุลิมาล เราเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายแล้วและวางศัสตราวุธแล้วตลอดไป ส่วนท่านสิ ไม่สำรวมในสัตว์ เที่ยวเบียดเบียนล้างผลาญชีวิตผู้อื่นไม่วางมือ เราจึงชื่อว่า หยุดแล้ว และท่านชื่อว่า ยังไม่หยุด"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้ องคุลิมาลก็ได้สติ ตามธรรมดา องคุลิมาลเป็นคนเฉลียวฉลาดและรู้สึกผิดชอบดียิ่งคนหนึ่ง แต่ที่กลายเป็นคนโหดร้ายและฟั่นเฟือนไปในทางชั่ว ก็เพราะกังวลอยู่กับการประหัตประหารผู้อื่น ต้องตรากตรำลำบากในการบุกป่าฝ่าดง การกินการนอนที่กันดาร หาความสุขกายสุขใจมิได้ องคุลิมาลเหินห่างจากศีลธรรมตลอดกาลช้านาน เมื่อมาได้ฟังพระวาจาอันหลักแหลมนำให้นิยมในสันติสุขของพระผู้มีพระภาค จึงรู้สึกชุ่มชื่นใจเหมือนคนเดินทางที่เหนื่อยอ่อน ได้พักผ่อนที่ร่มเงา และลงสนานกายในสระน้ำใสสะอาด

ขณะที่องคุลิมาลยืนตัวเบาด้วยความเลื่อมใสซาบซ่านในพระพุทธภาษิตอันสั้นแต่ดื่มซึ้งถึงใจอยู่นั้น เหตุผลทั้งหลายที่นำให้เกิดความรู้สึกผิดชอบและความตระหนักในศีลธรรมก็มาปรากฏอย่างมากมาย ในที่สุด ก็เฉลียวใจคิดว่า หรือท่านผู้นี้จะเป็นพระสมณโคดมเจ้าชายสิทธัตถะผู้โอรสของพระนางมหามายา ครั้งได้พินิจพระพุทธลักษณะอันงดงามมีสง่า ได้เห็นแววพระเนตรอันสำแดงพระมหากรุณาของพระองค์ จึงแน่ในว่า "บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดเราแล้ว" เมื่อแน่ใจเช่นนั้น องคุลิมาลก็โยนอาวุธทิ้ง ยอบกายลงถวายบังคม แล้วกราบทูลว่า

"เป็นเวลานานเหลือเกินพระเจ้าข้ากว่าจะได้เสด็จมาโปรด ข้าพระองค์ได้สดับธรรมภาษิตของพระองคืแล้วจักละเลิกบาปกรรมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" แล้วองคุลิมาลก็เข้าไปจนใกล้ ถวายบังคมแทบพระบาท ทูลขอบรรพชาในพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พระองคุลิมาล แล้วเสด็จนำไปสู่เชตวนารามเมืองสาวัตถี

ใกล้ ๆ กับเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จนำพระองคุลิมาลมาถึงเมืองสาวัตถีนั้น ภายในพระราชวังแห่งนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาผู้ครองพระนคร กำลังทรงหมกมุ่นครุ่นพระทัยในข่าวลือเรื่องคราวโหดร้ายทารุณของโจรองคุลิมาล พระองค์ทรงได้รับคำร้องทุกข์จากชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนเพราะองคุลิมาลแล้ว ก็ทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปปราบด้วยพระองค์เอง เพราะในสมัยนั้น ผู้ที่เป็นประมุขจะต้องออกต่อสู้ด้วยตนเองพร้อมกับไพร่พลของตน ไม่ว่าในการรบและแม้ในการปราบโจรคนสำคัญ

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีความเคารพเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ก่อนที่พระองค์จะเสด็จนำไพร่พลไปปราบองคุลิมาล พระองค์ได้เสด็จตรงไปยังเชตวนารามเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทรงพระดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้สงเคราะห์เราด้วยประโยชน์ภายหน้าเท่านั้น ย่อมสงเคราะห์แม้ด้วยประโยชน์ปัจจุบัน เราไปครั้งนี้ ถ้าไปดี พระผู้มีพระภาคคงจะแสดงพระอาการดุษณี ถ้าจะไปถูกฆ่าตาย เราคงได้สดับคำท้วงด้วยอริยโวหาร

เมื่อใกล้เชตวนาราม และสิ้นระยะทางที่ยานจะพึงไปได้แล้ว พระราชาก็เสด็จลงจากรถศึก ดำเนินด้วยพระบาทไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคม แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ส่วนพวกพลประจำม้าที่ตามเสด็จก็ถวายบังคมนั่งลดหลั่นถัดออกไป ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางภิกษุบริษัท ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเครื่องรบมาถวายบังคมและประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเช่นนั้น จึงตรัสปราศรัยว่า

"มหาบพิตร พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนาแคว้นมคธ เจ้าลิจฉวีแห่งเมืองไพศาลี หรือพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์อื่น ๆ ทำให้พระองค์ทรงพิโรธหรืออย่างไร?" พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลตอบว่า "ไม่มีพระราชาใดกำเริบดอกพระเจ้าข้า แต่มีโจรเกิดขึ้นในแคว้นของข้าพระองค์ชื่อ องคุลิมาล เป็นคนโหดร้าย มีมือชุ่มด้วยโลหิต พอใจในการฆ่าการประหาร หาความปรานีในผู้ใดมิได้ มันทำหมู่บ้านมิให้เป็นหมู่บ้าน ทำนิคมชนบทมิให้เป็นนิคมชนบท มันฆ่ามนุษย์แล้วตัดนิ้วมือไว้ทำเป็นพวงมาลัยคล้องร่าง ข้าพระองค์จักปราบมัน"

"มหาบพิตร ก็ถ้าพระองค์พบองคุลิมาลนั้นปลงผมและหนวด แล้วนุ่งผ้าห่อมผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวช ไม่มีเรือน เว้นจากลักฉ้อ เว้นจากพูดเท็จ ฉันมื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ดังนี้ พระองค์จะทำอย่างไรกับองคุลิมาลนั้น" พระราชาทูลตอบว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พึงอภิวาท พึงลุกขึ้นต้อนรับ หรือพึงนิมนต์ด้วยอาสนะ พึงถวายปัจจัย ๔ หรือพึงให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่องคุลิมาลนั้น ก็แต่ว่า คนทุศีลมีธรรมอันลามกอย่างองคุลิมาลนั้นจักมีศีลสังวรเห็นปานนี้มาแต่ไหน?"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ข้างขวาขึ้นชี้ไปทางภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่นั่งอยู่ไม่ไกลนัก ด้วยพระดำรัสว่า "มหาบพิตร นี่คือองคุลิมาล" ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ พวกไพร่พลที่ตามเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลและนั่งอย่ถัด ๆ ไปแลดูตามพระหัตถ์ เห็นเป็นองคุลิมาลแน่ ก็พากันเผ่นกระโจนอย่างไม่คิดชีวิต เพราะความตกใจกลัวด้วยคิดว่า องคุลิมาลคงรู้ว่า พวกตนจะออกกำจัด จึงมาคอยดักจะทำร้ายที่เชตวนารามเสียก่อน เลยพากันหนีไป ทิ้งให้พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่งตะลึงเต็มไปด้วยความสะดุ้งหวาดกลัวอยู่แต่พระองค์เดียว

พระผู้มีพระภาคทรงทราบความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลตกพระหฤทัยกลัว จึงตรัสว่า "อย่ากลัวเลย มหาบพิตร อย่ากลัวเลย มหาบพิตร บัดนี้ ภัยซึ่งจะเกิดแต่องคุลิมาลไม่มีอีกแล้ว" เมื่อได้ทรงสดับดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็คลายความสะดุ้งตกพระหฤทัย จึงเข้าไปหาพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้าองคุลิมาลของข้าพเจ้าหรือนี่?" มีเสียงตอบอันชัดเจนค่อนข้างดังและห้าวหาญแต่เต็มไปด้วยความสุภาพมาจากภิกษุรูปนั้นว่า "ขอถวายพระพร อาตมภาพนี้แหละคือองคุลิมาล"

พระราชาตรัสถามต่อไปว่า "ประทานโทษเถิด โยมทั้งสองของพระผู้เป็นเจ้านั้นสกุลว่ากระไร?" "ขอถวายพระพร โยมชายของอาตมภาพตระกูลคัคคะ และโยมหญิงตระกลมันตานี" เมื่อทรงทราบดังนั้น พระราชาได้ทรงรับจะเป็นผู้ถวายปัจจัย ๔ แก่พระองคุลิมาล แต่พระองคุลิมาลถือการอยู่ป่า เที่ยวบิณฑบาต ทรงผ้าบังสุกุล และทรงผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร จึงถวายพระพรว่า "มหาบพิตร ไตรจีวรของอาตมภาพบริบูรณ์อยู่แล้ว ขอพระองค์อย่าได้ทรงเป็นกังวลเลย"

ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคัม ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลว่า "อัศจรรย์ยิ่งนักพระเจ้าข้า เรื่องไม่เคยมีมามีขึ้น คือ ข้อที่พระองค์ฝึกผู้ที่ใคร ๆ ฝึกไม่ได้ สงบผู้ที่ใคร ๆ ให้สงบไม่ได้ ระงับผู้ที่ใคร ๆ ให้ระงับไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า องคุลิมาลนี้ ข้าพระองค์ไม่อาจจะฝึลได้แม้ด้วยอาชญา แม้ด้วยศัสตรา แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงฝึกแล้วโดยมิต้องใช้อาชญาและศัสดรา ข้าพระองค์มีกิจธุระมาก บัดนี้ จักทูลลากลับไปก่อน" เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ารับลาแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม ทำประทักษิณ แล้วหลีกไป

พระองคุลิมาลได้พำนักอยู่ ณ กุฎีน้อยในเชตวนารามนี้ ชีวิตใหม่ของท่านตรงกันข้ามกับที่เป็นมาแล้ว แทนการจับอาวุธประหัตประหารผู้อื่นอย่างเหี้ยมโหด ท่านกลับได้รับอบรมให้เอื้อเฟื้อ แม้ในชีวิตของสัตว์เล็ก ๆ ที่กวนกัดให้รำคาญ น้ำใช้น้ำฉันก็จะต้องตรวจตราและกรองเสียก่อนเพื่อความสวัสดีแห่งชีวิตของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำนั้น กิริยาอาการทั้งกายและวาจาก็อยู่ในระเบียบมรรยาทที่ดี มีแต่ความสุภาพ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น ในทางจิตใจนั้นเล่า พระตถาคตเจ้าก็ทรงสั่งสอนให้รู้จักคำว่า เมตตากรุณา อันเป็นคำไพเราะและอำนวยความร่มเย็นเป็นสุขแก่สัตว์โลก

ในการบิณฑบาต พระองคุลิมาลก็เป็นผู้สันโดษ ยินดีฉันเฉพาะอาหารเท่าที่ได้มาจากการบิณฑบาต แม้บางวันจะบิณฑบาตได้อาหารเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย ท่านก็มีความอดทน ไม่กระวนกระวาย มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง พระองคุลิมาลเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้พบสตรีมีครรภ์แก่จวนคลอดคนหนึ่ง นางมีศรัทธาจะถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่าน แต่พอเข้าใกล้ จำได้ว่า ท่านคือ "องคุลิมาล" นางก็ตกใจกลัวจนลืมตัววิ่งหนีไปติดรั้วและล้มลง

พระองคุลิมาลมีความสงสารสตรีนั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านไม่เห็นทางอื่นที่จะช่วยนางได้ จึงได้กระทำสัจจกิริยาโดยตั้งสัจจาธิษฐานดัง ๆ ให้ได้ยินว่า "ดูก่อน น้องหญิง เพราะเหตุที่เราผู้เกิดแล้วโดยอริยชาติมิได้แกล้งฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งที่รู้อยู่ ด้วยสัจจะนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ตัวท่านและบุตรในครรภ์ของท่าน" พอสิ้นเสียงสัจจาธิษฐาน สตรีนั้นก็กลับคืนสติเป็นปรกติและได้คลอดบุตรโดยสะดวกมีความสวัสดีทั้งมารดาและทารก

ต่อมา ท่านพระองคุลิมาลหลีกออกจากหมู่บ้านแต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญเพียรอยู่ ก็ได้บรรลุที่สุดแห่งพรหมจรรย์เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในโลก เมื่อได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ในเช้าวันรุ่งขึ้น พระองคุลิมาลได้น่งห่มตามสมณวัตต์ถือบาตรครองจีวรเข้าสู่เมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ก้อนดินท่อนไม้และก้อนหินก้อนกรวดอันใดที่คนทั้งหลายขว้างปาไปด้วยความประสงค์จะไล่กาบ้างสุนัขบ้าง ก็มีเหตุบังเอิญให้ก้อนดินก้อนหินเป็นต้นนั้นมาต้องกายของท่านจนกระทั่งศีรษะแตก มีโลหิตไหลโซมกาย มีบาตแตก มีสังฆาฏิวิ่น แต่ท่านองคุลิมาลก็คงเดินด้วยอาการสำรวม มีความอดทนต่อทุกขเวทนานั้น และได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งที่ยังมีโลหิตโซมกายอยู่

พระศาสดาผู้เป็นดวงตาของโลกมีพระหฤทัยกรุณาในหมู่สัตว์ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ก็ตรัสเรียกให้เข้ามาแล้วทรงปลอบโยนด้วยพระกระแสเสียงอันสำแดงพระเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้งว่า "ดูก่อน ผู้สืบวงศ์อันประเสริฐ ท่านจงอดทนเถิด ดูก่อน ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านจงอดทนเถิด ท่านได้ทำกรรมอันใดไว้ คือ การปลงชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย อันจักเป็นเหตุให้หมกไหม้ในนรกสิ้นร้อยปีพันปีเป็นอันมาก บัดนี้ ท่านได้รับผลกรรมนั้นในปัจจุบันแล้ว"[1]


  1. แสดงว่า กรรมที่ท่านพระองคุลิมาลกระทำไว้ให้ผลเป็นอโหสิกรรมแล้ว หมดโอกาสที่จะให้ผลในภพต่อ ๆ ไป เพราะท่านบรรลุอรหัตตผลในชาตินี้ เป็นผู้สิ้นชาติสิ้นภพ มีความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา

บรรณานุกรม แก้ไข

  • ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย. (2505). องคุลิมาล. (พิมพ์ครั้งที่ 3). พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช.
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก