อธิบายเรื่องสำเภาวัดยานนาวา

ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
อธิบายเรื่องสำเภาวัดยานนาวา
พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์
พระครูพรหมจริยาจารย์ เจ้าอาวาส
พิมพ์ถวายสนองพระเดชพระคุณ
ในงานเสด็จพระราชทานพระกฐิน
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

มาตราของสำเภา

ส่วนยาวของสำเภาวัดด แต่หงอนข้างบนถึงท้ายบาหลี ๒๑ วา ๒ ศอก ส่วนยาว วัดแต่พื้นดินตลอดลำ ๑๘ วา ๑ ศอกเศษ ส่วนกว้างตอนกลางลำ ๔ วา ๓ ศอก ส่วนสูงตอนกลางลำ ๒ วา ๓ ศอก มีพระเจดีย์อยู่ในลำสำเภา ๒ องค์ ๆ ใหญ่ ฐานล่าง กว้าง ๓ วา ๑ ศอกเศษ สูงจากพื้นบนถึงยอด ๘ วา ๒ ศอก องค์เล็ก ฐานล่าง กว้าง ๗ ศอกเศษ สูงจากพื้นบนถึงยอด ๖ วาถ้วน

ประวัติวัดยานนาวา

วัดยานนาวานี้เปนวัดโบราณ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี เรียกกันว่า วัดคอกควาย ครั้นถึงสมัยตั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี นับเปนพระอารามหลวงที่สถิตของพระราชาคณะแห่งหนึ่ง เรียกนามในทางราชการว่า วัดคอกกระบือ ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรในรัชชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชศรัทธาสร้างพระอุโบสถซึ่งยังปรากฎอยู่เดี๋ยวนี้ นอกจากพระอุโบสถเมื่อรัชชกาลที่ ๑ จะสร้างสิ่งใดอีกบ้างหาทราบไม่ สำเภาที่หลังพระอุโบสถนั้นมาสร้างต่อในรัชชกาลที่ ๓

อันมูลเหตุที่จะสร้างสำเภาที่วัดยานนาวานั้น เล่ากันมาว่า เมื่อในรัชชกาลที่ ๓ พระอุโบสถวัดคอกกระบือทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแล้วใคร่จะทรงสร้างพระเจดีย์เพิ่มขึ้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า จะสร้างเปนพระสถูปหรือพระปรางค์ก็มีอยู่ที่อื่นมากแล้ว ทรงปรารภว่า แต่ก่อนมา เรือที่ใช้ไปมาค้าขายกับต่างประเทศใช้เรือสำเภาเปนพื้น ในเวลานั้น เกิดต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งใช้กันขึ้น ด้วยเห็นว่า ดีกว่าเรือสำเภาจีน ต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งใช้กันมากขึ้นทุกที พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ว่า เรือสำเภาคงจะสูญไป อาศัยเหตุนี้ เมื่อทรงพระราชดำริหาแบบอย่างพระเจดีย์ที่จะสร้างที่วัดคอกกระบือ ทรงระลึกขึ้นถึงธรรมะทั้งหลายซึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตวอุประมาเหมือนสำเภายานนาวาในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมาร จึงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์มีฐานเปนสำเภาเท่าขนาดเรือสำเภาจริงขึ้นไว้ที่วัดคอกกระบือ มีพระราชดำรัสว่า "คนภายหน้าอยากจะเห็นว่า เรือสำเภาเปนอย่างไร จะได้มาดู" ดังนี้ เมื่อสร้างสำเภาพระเจดีย์แล้ว จึงโปรดฯ ให้ขนานนามพระอารามเปลี่ยนใหม่เรียกว่า วัดยานนาวา ซึ่งเรียกกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

สิ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ในวัดยานนาวาซึ่งควรชมแลควรรักษาไว้ให้มั่นคงยังมีอยู่หลายอย่าง คือ

ที่ในพระอุโบสถ หลังบานประตูเขียนรูปกะทงใหญ่ตามแบบซึ่งทำในพระราชพิธีลอยพระประทีปเมื่อรัชชกาลที่ ๓ หลังบานหน้าต่างเขียนรูปโถยาคูตามแบบอย่างซึ่งทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสราทครั้งรัชชกาลที่ ๓

ที่สำเภายานนาวา มีรูปพระเวสสันดรโพธิสัตว์กับรูปกัณหาชาลีหล่อประดิษฐานไว้ที่ห้องท้ายบาหลี และมีศิลาจารึกภาษาไทยแผ่น ๑ ภาษาจีนแผ่น ๑ ได้คัดสำเนาจารึกภาษาไทยมาพิมพ์ไว้ด้วยในหนังสือนี้

ข้าพเจ้าผู้แต่งหนังสือนี้มีความยินดีอนุโมทนาในการที่สมเด็จพระสังฆราชาเจ้าฯ ทรงอุดหนุน และสัปรุษทั้งหลายได้ช่วยพระครูพรหมจริยาจารย์ เจ้าอาวาส ให้ทำการปฏิสังขรณ์สำเภายานนาวาสำเร็จเรียบร้อย จึงรับแต่งหนังสือนี้ถวายเปนส่วนตัวข้าพเจ้าช่วย โดยหวังใจว่า ท่านทั้งหลายผู้ที่ได้รับหนังสือนี้ไปอ่านคงจะยินดีอนุโมทนาในกุศลเจตนาและอุตสาหะของท่านพระครูพรหมจริยาจารย์ แล้วช่วยอุดหนุนการบำรุงรักษาวัดยานนาวาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไป

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • วังวรดิศ
  • วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

รูปพระเวสสันดรโพธิสัตวกับกัณหาชาลี
หล่อในรัชชกาลที่ ๓ สำหรับตั้งในสำเภาวัดยานนาวา

จารึกสำเภาวัดยานนาวา
จารึกผนังข้างขวารูปพระเวสสันดร

รูปขัติยดาบศพระองค์นี้ทรงพระนาม พระเวสสันดร เปนพระบรมโพธิสัตวอันประเสริฐ ยังชาติเดียวจะได้ตรัสเปนสมเด็จพระพุทธิเจ้า พระราชบิดาทรงพระนาม พระจ้าวสญไชยราช ครองกรุงเชตุอุดร พระผุศดีเปนพระราชมารดา เมื่อพระมหาสัตวประสูตจากครรภ์พระราชมารดานั้น ออกพระวาจาขอทรัพย์พันกะหาปะณะให้ทาน แล้วได้เปลื้องเครื่องประดับพระกายประทานให้พระนามถึง ๙ ครั้ง เมื่อทรงคิดจะบำเพ็ญอัชฌัติกทานพายในอันยิ่งภริยาแลมังษโลหิตชีวิตร์ของพระองค์เปนทาน แผ่นดินไหวถึงพรหมโลกย์ ครั้นทรงพระเจริญ ได้นางกระษัตริเมืองมัทราสฐ ทรงนาม พระมัทรี เปนอรรคมะเหษี มีพระราชโอรสชื่อ พระชาลี พระราชบุตรีชื่อ พระกัณหา แล้วพระองค์ให้ตั้งโรงทาน ๖ ตำบล ทรงบริจารพระราชทรัพย์วันละ ๖ แสนกะหาปะระ จนได้พระราชทานพญาช้างเผือกผู้ ชื่อ ปัจจัยนาค แก่พรรหมณ์ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้น ชาวเมืองเชตุดรร้องอุปะกาษกล่าวโทษพระโพธิสัตวว่า ให้ทานพญาช้างของคู่พระนคร ผิดเยี่ยงอย่างกระษัตรแต่ก่อน พระเจ้าสญไชยราชบิดาก็บัพพาชนิยกำม์พระองค์เสียจากพระนคร พระโพธิสัตวก็ให้สัตะสดกะมหาทาน คือ ให้สิ่งละเจดร้อย ๆ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง ให้ทานเสร็จแล้ว พระองค์ก็พาพระมัทร กับพระชาลี พระกัณหา ทรงรถเทียมด้วยม้าทั้ง ๔ จะออกจากพระนคร พระองค์กลับพระภักตร์มาทอดพระเนตรพระราชนิเวศ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง เพลานั้น มีพราหมณ์ ๔ คนตามไปขอม้าเทียมรถ พระองค์ก็ประทานให้ ยังมีเทพยดาทั้ง ๔ จำแลงกายเปนละมั่งเข้ารับแอกรถพาไป มีพราหมณ์อีกผู้หนึ่งมาขอรถพระองค์ก็ประทานให้ ละมั่งทั้ง ๔ ก็อันตรธานหาย สี่กระษัตรก็เสด็จด้วยพระบาทไปในระหว่างทาง ขณะนั้น มีพรานป่านำเนื้อย่างกับน้ำผึ้งมาถวาย พระองค์ก็ให้ปิ่นทองแก่พรานนั้น จึงเสด็จล่วงแดนเจตราษฐไปสู่เขาวงกฎ อยู่ในอาศรมพระอินท์นิมิตถวาย ทรงเพศเปนดาบศทั้ง ๔ พระองค์ กาละวันหนึ่ง ชูชก พราหมณ์ชาวเมืองกะลิงคราษฐ ตามไปขอพระชาลี พระกัณหา พระองค์ก็ยกพระชาลี พระกัณหา ให้แก่พราหมณ์ชูชก สองกุมารรู้ก็แล่นหนีลงสู่สระ พระโพธิสัตวก็ตามเรียกพระราชบุตรทั้งสอง กล่าวเปนคาถา ยกพระบารมีทานเปรียบยานนาวา คือ อุปมาความด้วยสำเภาอันจะพึงขนข้ามซึ่งพานิช คือ สัตวโลกกับทั้งเทวโลกย์ ให้พ้นสาคร คือ โอฆสงสาร ส่ฝั่งพระนิพพาน เมื่อพระองค์ตรัสเรียกดังนี้แล้ว สองกุมารก็ขึ้นจากสระ พามาให้แก่ชูชกพราหมณ์ ทรงหลั่งลงซึ่งทักษิโณทก ปราถนาพระโพธิญาณ ก็บังเกิดมะหัศจรรย์ แผ่นดินไหวอีกครั้นหนึ่ง ครั้นวันรุ่งขึ้น พระอินท์แปลงเพศเปนพราหมณ์มาขอมัทรีอันเปนพระมเหษี พระองค์ก็ประทานให้ แผ่นดินก็ไหวถึงพรหมโลกย์อีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์ชูชกที่พาสองกุมารไปถึงทางแยก เทพยดาดลใจให้ไปทางกรุงเชตุอุดร ถึงสำนักนิพระจ้าวกรุงสญไชยราช ผู้เปนพระบรมไอยกา พระองค์ทรงเห็นพระหลานไต่ถามทราบความแล้ว ไถ่พระชาลีด้วยทองพันกะหาปะณะ ไถ่พระกัณหาด้วยเงินทองแลสรรพสิ่งทั้งปวงสิ่งละร้อย ๆ ให้แก่พรหามณชูชก แล้วพระจ้าวสญไชยราช กับพระผุศดีอรรคมะเหษี แลพระชาลี พระกัณหา เสด็จด้วยพล ๑๒ อะโขภิณีไปรับพระเวสสันดรถึงเขาวงกฎ เมื่อพร้อมหกกระษัตร บังเกิดอัศจรรย์ ห่าฝนโบกขรพัษก็ตกลงในที่ประชุมชน แผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่ง จึงราชาภิเบกษพระเวสสันดรกับพระมัทรีให้เสวยศิริราชสมบัติในกรุงศีวิราษฐณะที่นั้น แล้วก็รับพระโพธิสัตวคืนเข้าพระนคร ห่าฝนแก้วเจ็ดประการตกลงทั่วทั้งเมือง พระเวสสันดรก็ทรงบำเพญทานสืบมาเปนอันมาก เสด็จเสวยถวัลราชสมบัติเปนบรมศุขตราบเท้าถึงสิ้นพระชนม์ ขึ้นไปบังเกิดในดุสิตสวรรค์ ทรงพระนาม สันดุสิตเทวราช เมื่อพระบารมีบริบูรณครบ ๔ อสงไขยแสนกัลป์แล้ว พระอินท์กับเทพยดาทั้งหมิ่นจักระวาฬไปทูลอาราธนา พระมหาสัตวก็จุติจากเทวพิภพลงมาปัติสนธิในพระครรภ์พระศิริมะหามายา อรรคมะเหษีแห่งพระเจ้าศิริสุโทธนอันครองกรุงกระบิลพัดถุ์ เมื่อประสูตินั้น ก็ออกพระวาจาเปนปถมสีหนาทว่า หาผู้จะเลิศเสมอพระองค์หามิได้ พระราชบิดาถวายพระนามชื่อ พระสิธัดถราชกุมาร ครั้นทรงพระเจริญ ได้นางสากยราชชื่อ พระพิมพา มาเปนพระมเหษี มีพระราชโอรสชื่อ พระราหุลกุมาร เมื่อพระมหาสัตวมีพระชนมายุศได้ ๒๙ พรรษา ได้ทอดพระเนตรเหนนิมิตทั้ง ๔ คือ ชนชราพยาธิคนตายแลเพศบรรพชิต มีพระไทยหน่ายในฆราวาศ เสด็จออกบรรพชา กระทำทุกรกิริยาอยู่หกพรรษา ครั้นถึงบุณมี วันพุฒ เพญ เดือนหก ปีวอก เสด็จทรงนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ใต้ไม้พระมหาโพธิ ทรมานเสียซึ่งพญาวัศวดีมารกับพลมารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ แล้วพระองค์ได้ตรัสเปนพระพุทธิจ้าวเที่ยวโปรดเทพยดาอินท์พรหมแลมนุษย์ทุก ๆ ประเทศทั่วชมพูทวีปได้มรรคและผลสำเร็จธิแก่พระนิพพานแลสวรรค์สมบัติมนุษสมบัติเปนอันมากเหลือจะนับจะประมาณ จึ่งพวกมหาชนที่เปนสำมาทฤฐิได้กระทำสักการบูชาคารวะนับถือพระเวศสันดร และพระชาลี พระกัณหา สืบ ๆ มาจนตราบเท้าทุกวันนี้ ๚

ที่ผนังหลังรูปพระเวสสันดรมีศิลาจารึกคำแปลคาถาพระเวสสันดรเรียกพระชาลีกัณหา แต่ศิลาจารึกนั้นแผ่นที่ ๑ หายไปเสีย ได้แปลขึ้นใหม่สำหรับพิมพ์ในหนังสือนี้ ส่วนแผ่นที่ ๒ เปนของเดิม

ตาต ดูกรพ่อ ปิยปุตฺต เปนบุตรเปนที่รัก ตุวํ อันว่าท่าน เอหิ จงมา ตุมฺเห อันว่าท่าน บารมี ยังบารมี มม แห่งเรา ปูเรถ จงให้เต็ม ตุมเห อันว่าท่าน อภิสิญฺเจล จงโสรจสรง หทยํ ซึ่งหทัย เม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน กโรถ จงกระทำตาม วจนํ ซึ่งถ้อยคำ มม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน ยานนาวาว ดุจดังว่าสำเภาอันเปนยาน อจลา มิได้หวั่นไหว โหถ จงมี เม แห่เรา อหํ อันว่าเรา ภวสาครา ตริสฺสามิ จักออกจากสาครคือภพแล้วข้ามโพ้น ชาติปารํ ซึ่งฝั่งคือชาติ อหํ อันว่าเรา โลกํ ยังสัตวโลก สเทวกํ กับทั้งเทวโลก สนฺตาเรสฺสํ จักให้ข้ามโพ้น ๚

อมฺม ดูกรแม่ ปิยา ธีดา เปนธิดาเปนที่รัก ตฺวํ อันว่าท่าน เอหิ จงมา ทานปารมี อันว่าทานบารมี ปิยา เปนที่รัก เม แห่งเรา ตุมเห อันว่าท่าน กโรถ จงกระทำตาม วจนํ ซึ่งถ้อยคำ มม แห่งเรา ตุมฺเห อันว่าท่าน ยานนาวาว ดุจดังว่าสำเภาอันเปนยาน อจลา มิได้หวั่นไหว โหถ จงมี เม แก่เรา อหํ อันว่าเรา ภวสาครา ตริสฺสามิ จักออกจากสาครคือภภพแล้วข้ามโพ้น ชาติปารํ ซึ่งฝั่งคือชาติ อหํ อันว่าเรา อุทฺธิสฺสามิ จักรื้อขึ้น โลกํ ซึ่งสัตวโลก สเทวกํ กับทั้งเทวโลก ๚

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก