อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC)

รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้
  • พิจารณา ว่า ตามหลักการที่ประกาศในกฎบัตรสหประชาชาตินั้น การยอมรับในศักดิ์ศรีแต่กำเนิดและสิทธิที่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่อาจเพิกถอนได้ของสมาชิกทั้งปวงของมวลมนุษยชาตินั้น เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก
  • คำนึงถึง ว่า บรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ ได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึง ความศรัทธาต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ และได้ตั้งเจตจำนงที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานแห่งชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้เสรีภาพที่กว้างขวางขึ้น
  • ยอมรับ ว่า สหประชาชาติได้ประกาศ และตกลงในปฎิญญาและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทั้งปวงที่กำหนดไว้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใดๆ อาทิเช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานะอื่น
  • ระลึก ว่า สหประชาชาติได้ประกาศในปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแล และการช่วยเหลือเป็นพิเศษ
  • เชื่อ ว่า ครอบครัวในฐานะเป็นกลุ่มพื้นฐานของสังคมและเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติสำหรับการเจริญเติบโตและการอยู่ดีกินดีของสมาชิกทุกคนโดยเฉพาะเด็ก ควรจะได้รับการคุ้มครองและการช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อที่จะความสามารถมีความรับผิดชอบในชุมชนของตนได้อย่างเต็มที่
  • ยอมรับ ว่า เพื่อให้เด็กพัฒนาบุคลิกภาพได้อย่างกลมกลืนและเต็มที่ เด็กควรเติบโตในสิ่งแวดล้อมของครอบครัว ในบรรยากาศแห่งความผาสุก ความรัก และความเข้าใจ
  • พิจารณา ว่า ควรเตรียมให้เด็กพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะดำรงชีวิตเป็นของตัวของตัวเองในสังคม และควรเลี้ยงดูเด็กตามเจตนารมณ์แห่งอุดมคติที่ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะตามเจตนารมณ์แห่งสันติภาพ ศักดิ์ศรี ความอดกลั้น เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นเอกภาพ
  • คำนึงถึง ว่า ได้มีการระบุความจำเป็นที่จะขยายการดูแลโดยเฉพาะแก่เด็กในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๒๔ และในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งสมัชชาได้รับเอาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๙ และได้มีการยอมรับในปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (โดยเฉพาะข้อ ๒๓ และ ๒๔) ในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (โดยเฉพาะข้อ ๑๐) และในรัฐธรรมนูญและตราสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องของทบวงการชำนัญพิเศษ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของเด็ก
  • คำนึงถึง ว่า ตามที่ได้ระบุในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น เด็กโดยเหตุที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ทั้งร่างกายและจิต จึงต้องการการพิทักษ์และดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงต้องการการคุ้มครองตามกฎหมายที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการเกิด
  • ระลึก ว่า บทบัญญัติของปฎิญญาว่าด้วยหลักกฎหมายและสังคม อันเกี่ยวกับการคุ้มครองและสวัสดิภาพเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการอุปการะและการรับเป็นบุตรบุญธรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กฎระเบียบมาตรฐานขั้นต่ำสุดของสหประชาชาติสำหรับการบริหารงานยุติธรรมแก่ผู้เยาว์ (กฎปักกิ่ง) และปฎิญญาว่าด้วยการคุ้มครองสตรีและเด็กในภาวะฉุกเฉิน และกรณีพิพาทกันด้วยอาวุธ
  • ยอมรับ ว่า ประเทศทั้งปวงในโลกมีเด็กที่ดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และเขาเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ

พิจารณาตามสมควร ถึงความสำคัญของประเพณี และค่านิยมทางวัฒนธรรมของชนแต่ละกลุ่ม ที่มีต่อการคุ้มครองและพัฒนาการอย่างกลมกลืนของเด็ก

  • ยอมรับ ว่า ความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของเด็กในทุกๆประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา
ได้ตกลงกัน ดังนี้