เสด็จประพาสคลองแสนแสบ

ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
พระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง เสด็จประพาสคลองแสนแสบ
เจ้าจอมมารดาอ่อน รัชชกาลที่ ๕
พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพ
พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
ครบ ๕๐ วัน
ณวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร

ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
พระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง เสด็จประพาสคลองแสนแสบ
เจ้าจอมมารดาอ่อน รัชชกาลที่ ๕
พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพ
พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
ครบ ๕๐ วัน
ณวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร

พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
ถ่ายเมื่อพระชันษา ๖ ปี

พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

อธิบาย

เมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิดทางรถไฟสายเหนือตั้งแต่ปากน้ำโพธิ์ถึงเมืองพิษณุโลก สายตะวันออกถึงเมืองฉะเชิงเทรา ทำพิธีเปิดในบริเวณสถานีกรุงเทพฯ เสร็จแล้วเลยเสด็จไปประพาสเมืองฉะเชิงเทราโดยทางรถไฟ ในการเสด็จไปครั้งนี้ แต่เดิมกะว่า เมื่อประพาสเมืองฉะเชิงเทราแล้ว จะเสด็จกลับทางรถไฟเหมือนเมื่อขาไป แต่เมื่อเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา เกิดมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรทางคลองแสนแสบ จึงโปรดเปลี่ยนเป็นเสด็จกลับทางเรือ ให้จัดกระบวนเรือที่จะเสด็จกลับขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทราในครั้งนั้น รวบรวมเรือหลวงและเรือของผู้ไปโดยเสด็จบ้าง เรือของข้าราชการในพื้นเมืองบ้าง ทรงเรือมาด "ยอดไชยา" ของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นเรือพระที่นั่ง เสด็จกลับจากเมืองฉะเชิงเทรามาประทับแรมกลางทาง ๒ คืน เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ การเสด็จกลับครั้งนั้น เดิมทรงจำนงพระราชหฤทัยจะให้เป็นอย่าง "ประพาสต้น" คือ มิให้ผู้ใดรู้ว่า เป็นกระบวนหลวง เพื่อจะได้ทอดพระเนตรการในท้องที่ตามที่เป็นอยู่อย่างไร มิให้มีการตระเตรียม แต่เมื่อกำลังเตรียมกระบวนเรืออยู่นั้น ข่าวแพร่หลายไปได้บ้าง ปิดไม่ได้สนิทดีเหมือนเมื่อคราวเสด็จประพาสต้นในมณฑลอุยธยาและมณฑลราชบุรีเมื่อ ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) แต่ก็เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดการประพาสมาก

  • ราชบัณฑิตยสภา
  • วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖

โคลง ๔
 รถเร็วเรือว่องน้ำ เรือนสบาย
เมื่อซื่ออีกสหาย ร่วมไร้
ไปไหนฤจะวาย ความสุข
เรือยอดไชยาไซ้ ชอบต้องตามแผน
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ .. ๑๒๖

(โคลงบทนี้ ทรงพระราชนิพนธ์แล้วเขียนลายพระราชหัตถเลขาปิดไว้ที่ในเก๋งเรือยอดไชยาซึ่งทรงเป็นเรือพระที่นั่งเสด็จประพาสคราวนี้)

วันที่ ๓๐ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖

ออกเรือ ๒ โมงกับ ๑๙ นาฑี เข้าประตูน้ำไม่ช้า เหตุด้วยเป็นเวลาน้ำขึ้น เปิดน้ำไม่ถึงศอกได้ระดับ ตามทางแต่งเครื่องบูชาเสียแล้ว ข้อที่กรมมรุพงศ์[1] คิดจะปิดนั้นไม่มิด จนพลวกน้ำในคลองจับตลิ่งเป็นตะไคร่เหตุด้วยน้ำขัง มีเรือนฝากระดานราย ๆ ไปมาก ระยะต้นนี้ ที่มากที่สุด บ้านท่าไข่ หมู่ที่ ๙ พื้นเป็นท้องนา มีสะแกราย ๕ โมงเช้า หยุดวัดสงสาร ทำครัวที่ศาลาริมน้ำ[2] มูลเหตุแห่งชื่อวัดสงสารว่า มีกะฏิหลังเดียว ราษฎรศรัทธามาสร้างเพิ่มเติม สงสารจริง ๆ ปีติ ไม่ใช่สังสาเร กรมดำรงโจทย์ขึ้นว่า ถ้าจะเติมหน้าชื่อว่า วัดแสนสงสาร พระจะเอาหรือไม่ เราเป็นผู้ตอบแทนพระว่า ไม่เอา จะเอาสุดสงสาร เพราได้ทั้งสังสาเรด้วย ออกเรือบ่าย ๒ โมง อันที่จริง มีลม ไม่สู้ร้อน วัดสงสารนี้อยู่ตำบลเนื่องเขตต์ เห็นจะยืมมาจากท้ายชื่อคลองนคร (เนื่องเขตต์)

พ้นจากวัดสงสารมาไม่เท่าไร ถึงตำบลเรียกว่า สี่แยกท่าไข่ มีเรือนโรงปลูกติด ๆ กัน ตลอดจนมีตลาดขายเครื่องชำและของสด ที่ท้ายตลาด พบเรือขุดคลอง ได้หยุดเรือให้เขาเปิดเครื่องดู เครื่องนี้เป็นอย่างที่เรียกว่า เดรดยิง หรือที่กรมคลองเรียกว่า ชำระคลอง ไม่ใช่ขุด ถังตักอย่างเครื่องขุดธรรมดา แต่ข้างเทนั้นมีท่อเหล็กวางบนทุ่น เหล็ก ๒ ทุ่นเป็นท่อน ๆ ต่อกันไปขึ้นตลิ่ง เครื่องจักร์พ่นน้ำเลนขึ้นบนตลิ่ง มีไหลกลับลงมาที่ริมท่อนั้นเองเสมอ บางทีก็หักออกทางอื่น ต้องเอะอะเอากระดานกั้น ฝรั่งผู้เป็นนายงานแก้ว่า ที่แห่งนั้น ตลิ่งข้างในสูง โคลนจึงได้ไหลกลับออกมามาก ถ้าทำการอย่างดี ได้เป็น ๘๐ เมเตอร์ใน ๒๔ ชั่วโมง แต่เรือลำอื่นที่มีกำลังมากกว่านี้ทำได้มากกว่า ซึ่งจะได้เห็นต่อไปข้างหน้า เครื่องอันนี้ ถ้าตลิ่งสูง เป็นอันทำอะไรไม่ได้ แต่คลองที่ปิดแล้วเช่นนี้ ตลิ่งไม่สูงถึงศอกหนึ่ง ยังร้องว่า ลำบากเสียแล้ว

มาถึงน้ำเปรี้ยว พบเรือขุดอีกลำหนึ่งเหมือนลำก่อน แต่พื้นที่ ๆ ขุดผิดกัน คือ เป็นที่มีคันคลองสูงประมาณคืบเศษ ข้างในเป็นแอ่งน้ำขัง เครื่องตัก ๆ ขึ้นมาแต่โคลนเหลว ปลายท่อไปเทลงที่ในราง ไม่ไหลกลับลงในลำคลอง คลองตั้งแต่ตอนที่ขุดมาแล้วลึก แจวเต็มด้ามพาย ตอนนอกตื้น ถัดมาหน่อย มีวัดเบลเลวื[3] มีช่อฟ้าผอม ๆ ก้มชำเลืองกะฏิมาก

ออกจากวัดสงสารมาไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ถึงสามแยกคลองนครเนื่องเขตต์ ที่นี้พื้นต่ำ แลเห็นดินปริ่ม ๆ น้ำ เพราะเป็นหนองน้ำตื้นมาก ถัดมามีตลาดอีกตอนหนึ่งมาถึงวัดปากบึง ซึ่งท่านเล็ก[4] เลือกไว้สำหรับพัก บ่ายไม่ทันถึง ๔ โมง มาเร็วมาก เพราะเรือแจวเดิรนัก มาตามทาง ผ่านเรือขุดอีก ๒ ลำ รวมเป็น ๔ รวบรวมใจความว่า ไม่ชอบทำการช้าและดูจะเปลืองมาก ที่วัดนี้มีโบสถ์ฝาก่ออิฐ แต่อยู่ในกลางบึงซึ่งน้ำแห้ง ดินแตกระแหง แต่ยังแลเห็นบัวอยู่ มีสิ่งซึ่งเป็นที่สังเกต คือ หอจัตรุมุขซึ่งทีเหมือนหอไตรย แต่อาจจะเป็นพระบาทก็ได้ เพราะไม่มีหนังสือไว้เป็นอันขาด ไม่มีถนนเลย มีพระอยู่แค่ ๓ รูปครึ่ง คือ ตาบอดเสียองค์ ๑ ทำกับเข้าและกินเข้าบนการเปรียญ พระองค์สาย หมอใหญ่ พระยาสุขุม[5] มา แต่พระยาสุขุมรีบกลับไป เพราะเขาจัดรับไว้ที่วัดตึก ตกลงเป็นจะไปหยุดที่เมืองมีน จึงต้องไปคิดอ่านลากเรือน้ำจากวัดตึกมาเมืองมีน หมอสายมาอนุโมทนาว่า ผักตบหมดคลองไปแล้ว มาแถบนี้ยังมีที่ว่างมาก มีตัวแมลงมาก แต่ยุงน้อยกว่าบางกอก ความจริงยังไม่เคยกัด แต่เขาว่ามี ข้อกันดารของคลองนี้เรื่องน้ำจืด มีประตูเสียน้ำนอนคลอง แต่ใช้ไม่ได้ ด้วยขุ่นค่น ชาวบ้านเขาใช้น้ำบ่อ

ความจริง คลองท่าไข่เลี้ยวอ้อมไป คลองที่มาตั้งแต่สามแยกเป็นคลองนครเนื่องเขตต์ พระชลธาร[6] เป็นนายงาน เจ้าพระยาสุรวงศ์ (วอน) จัดการให้ขุด เรือเดิรทางนี้มากกว่าทางอื่น เพราะเป็นทางตรงไปฉะเชิงเทรา แต่คลองบางขนากก็แลเห็นไม่สู้ไกลนัก ปากคลองออกเหนือฉะเชิงเทรามากไป.

วันที่ ๓๑ มกราคม ๑๒๖

เมื่อคือนี้ หนาวลักลั่นพิลึก แรกห่มผ้า ๒ ชั้นไม่พอ ครั้นปิดม่าน กลับร้อน เลิกเสียชั้นหนึ่ง เหลือชั้นเดียว ห่มก็ร้อน ไม่ห่มก็หนาว เลยไม่เข้าทีตลอด เช้าได้ความนาฬิกาบอกว่า โมงกับ ๔๐ นาฑีเศษแล้ว ประเดี๋ยวก็จะ ๒ โมง จะนอนไปทำไม ตื่นทำสรีรกิจต่าง ๆ และเรียกผู้คนลงเรือ ออกเรือเวลา ๒ โมงครึ่ง ค่อนจะอยู่ข้างสายไปสักนิด เป็นนานจึงได้ ๆ ความว่า นาฬิกาเขาตั้งผิดชั่วโมง ๑ เวลาที่จดมาแล้ว หักเสียชั่วโมง ๑ เป็นได้ความจริง

พอออกจากวัดปากบึงประเดี๋ยว ก็เข้าแดนเมืองมีน คลองตอนนี้ หน้าตาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คือ รากไม้เกาะยึด และมีต้นไม้ริมคลองมากขึ้น มีบ้านเรือรายมาจนถึงหนองจอกเป็นหมู่ใหญ่ เรือนฝากระดานหลังโต ๆ หน้าตาบางกอกออกไปถึง มีหลังคามุงกระเบื้องเฟอแรนโด[7] เห็นวัดสักวัดเดียวเท่านั้น เพราะแถบนี้เป็นบ้านแขก คือ แขกพวกหลวงอุดมทีเดียว มิใช่อื่นไกลเลย[8] เห็นกองเข้าลานนวดเข้ากำลังนวดอยู่บ้าง ร่องรอยแห่งความบริบูรน์ปรากฏผิดกันกับข้างตอนฉะเชิงเทรามาก ผักตบชะวาได้สางแล้ว แต่ยังเหลือมาก ท่วงทีในทาง ถ้าจะเล่นนก เห็นจะสนุกแน่ ตามริมคลองเลี้ยงเป็ดไทย เป็ดเทศ ไก่ นกพิราบ ตลอด ทั้งนี้ คงเป็นวิสัยแขกเพื่อจะเชือดง่าย ในเรื่องเชือดคออย่างแขก มันก็มีดีที่ได้กินอาหารสด แต่ถ้าบทร้ายก็ร้ายมาก เล่ากันว่า เมื่อเวลาไปยุรปคราวนี้ พวกเมืองมีน เมืองธัญญ์ พากันเจ็บเป็นโรคคล้ายเปล๊ก ตายมาก แต่สังเกตว่า ฉะเพาะตายในพวกแขกมากกว่าไทย แต่เมื่อพิจารณาตรวจตรากันเข้า ได้ความว่า มิใช่โรคเปล๊ก เป็นโรคที่เกิดขึ้นในฝูงสัตว์โคกระบือ พอเจ้าของรู้ว่าเจ็บ ก็ขายให้แขก ๆ ก็มาเชือดกิน คนที่กินแรกนั้นไม่มีรอดเลยแต่สักคนเดียว ส่วนคนที่พยาบาลกันตอนต้น ตายบ้าง รอดมาก แต่พยาบาลชั้นที่ ๓ ไม่มีใครตายเลย เป็นด้วยพิษโรคที่เกิดจากสัตว์อย่างเดียว.

กินเข้าต้มกุ้งแล้ว ถึงตำบลคู้ มีสุเหร่าใหญ่ ดูเป็นกำลังบริบูรณ์ บ้านเรือนผู้คนเต็มตลอด แถบนี้ดูมีไทยมากขึ้น มีเจ๊กขายหมู ได้เรียกมาถาม ได้ความว่า เป็นเมืองมีน เจ๊กคนนี้รับวันละตัว ราคานั้น ๕๐ บาทขึ้นไป หา ๖๐ ว่าแพง เพราะไม่ใคร่มีหมู เป็นหมูโรงสี ขายชั่งละ ๒ สลึง ๒ ไฟ ประเดี๋ยวก็ถึงวัด พบกรมดำรงและพระยาสุขุมอยู่ที่นั่น ได้ความว่า อีกชั่วโมงเดียวจะถึงเมืองมีน เขากะอย่างโอ๊ะ ๆ ให้เดิรช้า ๆ ที่จริงจะตื่นสัก ๔ โมงแล้วจึงมาก็ทันไปนอนเมืองมีน แต่แกขึ้นไปดูวัด ขึ้นทางตะพานการเปรียญ แล้วไปโบสถ์ เป็นชิ้นใหม่อย่างเอก พึ่งแล้ว ๘ ปีเท่านั้น ได้ความว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจาริย์[9] ออกมาผูกสีมาตั้งชื่อว่า วัดทรัพย์สโมสรนิกรเกษม เพราะผู้ที่สร้างนั้นเป็นยายทรัพย์คนหนึ่ง ใบวิสุงคามปลวกกินยับเยิน ได้รับว่า จะทำให้ใหม่ ใบเดิมลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘ สมภารอยู่ข้างจะปากคอเราะราย และบอกว่า บริบูรณ์ดี ออกจากวัดนี้เวลา ๕ โมงหลวง ๔ โมงราษฎร์ ไม่ช้านัก ผ่านบ้านแขกและสุเหร่าแขกอีก ๒ แห่ง ถึงแสนแสบ ตอนนอกนี้ไม่สู้มีบ้าน แลเห็นที่ตั้งการปกครองแต่ไกล ต้นแถวโรงพลตระเวนทาดินแดงตามเคย ถัดไปตะราง ๆ ทำใหญ่โตแน่นหนาดีกว่าที่ไหน ๆ ในหัวเมืองเป็นอันมาก แต่ไม่มีคนโทษ มีแต่คนที่อยู่ในระวางพิจารณา ๗ คน เพราะไม่มีศาล ถัดไปเป็นที่ว่าการเมือง แล้วจึงบ้านเจ้าเมือง บ้านปลัดเมือง ออกจะตามเคยอย่างเมืองธัญญบุรี แต่ที่หน้าที่ว่าการเหล่านี้ยังไม่มีถมดิน มีถนนขึ้นจากน้ำสายหนึ่งตรงหน้าบ้านผู้ว่าราชการ ถนนขวางสายหนึ่ง ตั้งแต่ประตูบ้านผู้ว่าราชการเมืองไปถึงโรงพลตระเวน เพราะที่นี่ไม่มีศาลเมือง ไม่มีกำลังที่จะทำอะไรได้ เรือเข้าในคูตรงหน้าบ้านผู้ว่าราชการเมือง จอดที่หน้าเรือนเก่าของเจ้าชายงาม[10] เป็นเรือนเครื่องผูกเลว ๆ แต่สบายดีกว่าเรือฝากระดานอีก ทำกับเข้าที่แคร่ริมคูในเงาต้นไผ่ แต่มากินกลางวันบนเรือน เวลาเย็น ไปดูเรือนผู้ว่าราชการ แล้วลงเรือไปดูคลองสามวา คลองสามวานี้เป็นของกรมภูธเรศ[11] ขุด แต่เดี๋ยวนี้ ใหญ่กว่าสามวามาก ขุดก่อนบริษัทขุดคลองข้างเหนือขึ้นไปจดคลองหกวาสายใต้ ข้างใต้เรียกว่า คลองนุ่น ไปจดคลองสองที่พระยามหาโยธาขุด[12] คลองนี้ได้ร้างไป ๒ ปี เดี๋ยวนี้ มีคนทำนาตลอด มีเรือชะล่าบรรทุกเข้าเปลือกจอดหลายสิบลำ ว่า ลงตามคลองซอยของคลองสามวานี้เอง ที่สี่แยกนี้เป็นตลาด มีบ้านเรือนคนมาก นับว่า มากกว่าตำบลอื่นในเมืองนี้ ได้เห็นเจ๊กทำหมู ต้องไปหยุดดู กลับมาทำกับเข้าที่เก่า และมากินบนเรือนเหมือนกัน ในเรือออกร้อน เพราะเข้าไปจอดอยู่ในอู่.

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๑๒๖

ออกเรือ ๓ โมงเศษ บ้านเรือนตอนในนี้เข้ามาแปลกกว่าข้างนอก รู้สึกว่า บางกอกมากขึ้น มีเจ๊กและไทยมากขึ้น ผักตบชะวาแลเห็นกำลังออกดอกในทุ่งดาษไป มันก็งาม เขาว่า พึ่งมี ไม่ใช่เต็มคลองอย่างข้างแถบนครไชยศรี แต่เจ้าชายงามออกจะชอบ ๆ เห็นว่า เลี้ยงหมูได้ แต่ข้างฝ่ายนครไชยศรีนั้นกริ้วเหลือเกินว่า หมูก็ไม่กิน หรือที่สุด จนว่า กินเมา นั่นก็เป็นการเหลือเกินไป เป็นห่านกินเห็นแก่ตา จำต้องมีให้กิน คนก็กินได้ ข้อที่มันเกิดเร็ว ทำให้คลองตื้นนั้น ไม่ดีจริง แต่เห็นจะใส่ความมันบ้าง ระยะนี้ มาถึงคลองตัน มีวัดขึ้นใหม่ ๒ วัด อีกวัดหนึ่ง เจ้าชายงามสรรเสริญว่าดี ชื่อ วัดศรีบุญเรือง แต่โบสถ์ก็เป็นชิ้นใหม่ เห็นจะดีในฐานการเปรียญ ในเข้ามาอีกวัดหนึ่ง เป็นอย่างลักษณะตามเคย คือ ต้องเลียนวัดเทพศิรินทร์ตามฤดูกาล ก่อนเที้ยง ๑๕ มินิต ถึงวัดตึก อยู่ต่อแขวงคลองตันกับบางกะปิ ว่า เป็นวัดเจ้าพระยาบดินทรเดชา[13] สร้าง เห็นจะเป็นระยะกองทัพออกจากกรุงมานอนที่นี่คืนแรก อย่างวัดราชโอรส วัดเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้ชื่อว่า ตึก นั้น เพราะกุฎีเป็นตึก ลักษณะวัดปรินายก โบสถ์เล็ก ๆ อย่างเก่า แต่ปฏิสังขรณ์ ว่า มีพระลิลาถึง ๓ องค์ แต่ไม่งาม การสร้างวัดนี่ดูน่าเสียดาย เพราะพระแกไม่ทำจริง ๆ ต้นโพธิ์ขึ้นที่ฐานพระเจดีย์ก็ไม่ตัด วันนี้ ได้ทำบุญตัดต้นโพธิ์หน่อยหนึ่ง ชื่อ ตึก เป็นชื่อใหม่เมื่อทำกะฏิตึก แต่คงเป็นวัดเดิม ได้ชื่อว่า เทพาจรลิลาศ แต่ฟังดูเห็นจะไม่ใช่ชื่อเก่า จะทีหลังชื่อ ตึก เสียอีก กินเข้าที่นี่ พระองค์สายและพระยารองเมือง[14] มาอยู่ด้วย

บ่าย ๒ โมงครึ่ง ออกเรือ แต่นี้ เข้ามาเป็นสวน บ้านเรือนเป็นบางกอก มีนาคั่นเป็นตอน ๆ เหมือนคลองสามเสน ตอนนอกก็คือลำคลองเดียวกันนี่เอง.

วินิจฉัยกันด้วยเรื่องยักษ์มักกะสัน ได้กล่าวไว้ว่า เป็นชาวเมืองปามะกะซันที่เกาะมะธุระในยะวา คำที่ใช้ว่า บางกะสัน พึ่งแก้ครั้งกรมหลวงนเรศร์[15] เดี๋ยวนี้ คงยังใช้อยู่ว่า มักกะสัน ด้วยใส่ใจว่า คำ มัก นั้นหยาบ ได้ให้กรมสมมตจดหมายไว้.

วัดหนึ่งต่อวัดตึกมา เรียกว่า วัดกลิ่นวิลัยธาราม

ยังไม่ถึง ๔ โมง ก็ถึงคลองราชดำริห์ ซึ่งรถโมเตอร์คาร์มาคอยรับ ผ่านบ้านเจ้าใหญ่[16] ลงมานั่งอยู่หน้าบ้าน ให้เขาไปดูว่า น้ำนอกล๊อกมาหรือน้อย แวะขึ้นไปหาเจ้าใหญ่ ที่แกยาว ปลูกโรงเรือนให้เช่า แต่ที่เรือนอยู่เล็กและร้อน แล้วลงมาเข้าล๊อก น้ำยังมาก ล๊อกนี้ดูว่องไวกว่าฉะเชิงเทรา ออกจะเป็นธรรมดา เพราะใกล้ตา.


  1. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ เป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจิน
  2. เวลาเสด็จประพาสต้น ทรงทำครัวเครื่องเสวยเอง
  3. Belle Vue
  4. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช
  5. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กับหม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ ผู้บุตร และพระยาสุขุมนัยวินิต (ซึ่งภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราช) เสนาบดีกระทรวงนครบาล
  6. พระชลธารวินิจฉัย (ฉุน) เจ้ากรมคลอง
  7. กระเบื้องสิเมนต์ที่ชอบใช้กันเดี๋ยวนี้ ผู้คิดทำขึ้นขายเป็นฝรั่งอิตาเลียนชื่อ ฟารันโด เมื่อแรกมี จึงเรียกกันว่า กระเบื้องฟารันโด
  8. แขกมะลายูเข้ามาเมื่อคราวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ เป็นแม่ทัพยกออกไปปราบกบฏเมืองไทรในรัชชกาลที่ ๓ มีเรื่องปรากฏอยู่ในรายงานหลวงอุดมสมบัติซึ่งได้พิมพ์แล้ว ตรัสอ้างถึงรายงานนั้น
  9. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ริด) วัดอรุณ
  10. หม่อมเจ้าชายสง่างาม สุประดิษฐ
  11. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งได้ทรงบัญชาการกระทรวงนครบาลอยู่ครั้ง ๑
  12. พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) ขุดคลองเมื่อยังเป็นที่พระยาดำรงราชพลขันธ์ ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขัณฑ์
  13. เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
  14. พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน) ปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาล ภายหลังเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา
  15. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลเมื่อก่อนพระยาสุขุมนัยวินิต
  16. พระวงศเธอ พระองค์เจ้าวัฒนา

บรรณานุกรม แก้ไข

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2476). พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง เสด็จประพาสคลองแสนแสบ. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. (เจ้าจอมมารดาอ่อน รัชชกาลที่ 5 พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ ครบ 50 วัน ณวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2476).
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก