แถลงการณ์ เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476

แถลงการณ์
เรื่อง
การเลือกตั้งสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎร
พุทธศักราช ๒๔๗๖

การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

กองการโฆษณาได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การเลือกตั้งผู้แทนตำบล แล้ว และได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า บัดนี้ ประเทศสยามได้ดำเนินการปกครองตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ คือ ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า อำนาจสูงสุดเนื่องมาจากราษฎรทั้งปวง และการปกครองตามระบอบใหม่นี้เรียกว่า “ราชาธิปไตยอำนาจจำกัด”

อันว่าอำนาจสูงสุดเนื่องมาจากราษฎรทั้งปวงนั้น มิได้หมายความว่า ราษฎรคนหนึ่งคนใดมีอำนาจสูงสุดเป็นรายบุคคล แต่หมายความว่า อำนาจสูงสุดเกิดขึ้นในเมื่อราษฎรส่วนรวมทั้งหมดได้ตกลงกันจะออกบทบัญญัติหรือออกกฎหมายใด ๆ ในการที่จะปกครองประเทศสยาม เมื่อราษฎรเป็นผูออกกฎหมายและควบคุมราชการแผ่นดิน ฉะเพาะอย่างยิ่ง การเงินแผ่นดิน เช่นนี้แล้วจึงเรียกว่า ราษฎรปกครองตนเองตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

แต่การที่จะให้ราษฎรทั้งประเทศสยามรวมจำนวนกว่า ๑๒ ล้านคนมาประชุมพร้อมกันเพื่อปรึกษาออกพระราชบัญญัติและกฎหมายนั้น ย่อมทำไม่ได้ เพราะไม่มีสถานที่ใดพอจะบรรจุได้หมด นอกจากนั้น ถ้าประชาชนต่างเข้าประชุมหมดทั้งแผ่นดิน การงานอื่นอันเป็นอาชีพที่ต้องทำมาหากินก็ไม่ได้ทำกัน โดยเหตุฉะนี้ จึงต้องกำหนดให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนของตนมาเป็นปากเสียงของตนจังหวัดละ ๑ คน ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่าสองแสน ก็ให้เลือกตั้งผู้แทนเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งทุก ๆ สองแสน ผู้แทนที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมาดั่งกล่าวนี้เรียกว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และที่ประชุมสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมารวมกันประชุมตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “สภาผู้แทนราษฎร” สภาผู้แทนราษฎร คือ ชุมนุมผู้แทนของราษฎรทั่วทุกจังหวัดเข้ามานั่งร่วมหารือกันเรื่องราชการแผ่นดิน สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรสูงสุดที่ปรึกษาพิจารณาเพื่อออกพระราชบัญญัติและกฎหมายวางระเบียบการปกครองบ้านเมือง มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของชาติ ทรงใช้พระราชอำนาจออกกฎหมายฉะเพาะแต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานี้.

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนี้เป็นบุคคลที่สำคัญมาก ที่ว่า สำคัญมาก ก็เพราะเป็นผู้แทนของราษฎรทั้งจังหวัด หรือผู้แทนของราษฎรตั้งแต่สองแสนขึ้นไป ในนานาประเทศที่เจริญรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความยอกย่องนับถือเป็นอันมาก โดยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยหนึ่งในการปกครองประเทศ สยามจะเจริญรุ่งเรืองต่อไปให้ทันเทียมชาติและประเทศทั้งหลายในโลกนี้ก็เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเหตุนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึ่งเป็นสิทธิของราษฎรที่จะต้องใช้ และต้องกระทำด้วยวิจารณญาณอันดีที่สุดเพื่อให้ได้ตัวผู้แทนของตนให้ดีจริง ๆ สำหรับควบคุมราชการแผ่นดินให้ดำเนินไปในลู่ทางที่จะเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป.

ผู้แทนราษฎรต้องมีคุณสมบัติ คือ:–

๑. มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย แต่ถ้าบิดาเปนชาวต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนหนังสือไทยจนได้ประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปีที่ ๓ หรือได้รับราชการประจำการตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้ว หรือได้รับราชการประจำแผนกอื่น ๆ ในตำแหน่งตั้งแต่เสมียนพนักงานขึ้นไป โดยมีเงินเดือนประจำแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี หรือถ้าเป็นคนที่แปลงชาติมาเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวแล้วแต่ต้น หรือได้อยู่ในพระราชอาณาจักรสยามเป็นเวลาติดต่อกันนับแต่เมื่อได้แปลงชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี

๒. มีอายุ ๒๓ ปีบริบูรณ์แล้ว

๓. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

๔. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในขณะมีการเลือกตั้ง

๕. ไม่เป็นภิกษุสามเณร, นักพรตหรือนักบวช ในขณะมีการเลือกตั้ง

๖. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิออกเสียง

๗. ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสเพลเป็นอาจิณหรือติดยาเสพติดให้โทษ

๘. มีความรู้เทียบชั้นประถมสามัญ กล่าวคือ ต้องเป็นผู้สอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๓ หรือสอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๔ ตามแผนการศึกษาของชาติ

๙. ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑ ซึ่งหมายความถึง พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป

ผู้แทนราษฎรของจังหวัดใด ต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือมีอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดนั้น.

* * *

มาตรา ๒ แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ดังนี้ “อำนาจอธิปไตยย่อมาจากปวงชนชาวสยาม. . .” การใช้อำนาจนี้ ราษฎรใช้ในทางแต่งตั้งผู้แทน กล่าวคือ คัดเลือกผู้แทนเข้ามาประชุมในสภาผู้แทนราษฎรดั่งได้กล่าวแล้วแต่ต้น จึ่งเป็นการสำคัญยิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเลือกตั้งผู้แทนของท่านให้มีคุณวุฒิและคุณสมบัติอันดีงามด้วยประการทั้งปวง และเป็นผู้ที่ตั้งใจศึกษา ทั้งสนใจที่จะทราบซึ้งถึงภูมิประเทศและท้องที่ของจังหวัดที่จะต้องเป็นผู้แทนว่า ตั้งอยู่อย่างไร มีอาณาเขตต์ใหญ่เล็กเพียงใด ติดต่อกับจังหวัดที่ใกล้เคียงอย่างไร มีประวัติการณ์ พงศาวดาร และโบราณสถานหรือโบราณวัตถุอย่างใด มีสำมะโนครัวพลเมืองรวมเท่าใด เป็นชาย, หญิง, เด็ก, ชาวต่างประเทศ แบ่งออกเป็นชาติละเท่าใด มีวัดหลวงและวัดราษฎรเท่าใด ตั้งอยูอย่างไร มีพระสงฆ์ สามเณร และศิษย์เท่าใด การพระศาสนาเจริญรุ่งเรืองหรือไม่ ภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรตามสมควรหรือประการใด ราษฎรมีความเลื่อมใสทำบุญกุศลเป็นปกติอยู่หรือยิ่งหย่อนประการใด การศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาลและประชาบาลเจริญดีหรืออย่างไร เจ้าหน้าที่และครูอาจารย์ตั้งใจสั่งสอนให้ดำเนินก้าวหน้าหรือเสื่อมถอยประการใด การสุขาภิบาลและอนามัยของราษฎรเป็นอย่างไร มีโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่เอาใจใส่ต่อความทุกข์สุขของราษฎรดีอยู่หรืออย่างไร การคมนาคม ทางบกและทางน้ำสะดวกดีหรือติดขัดประการใด การพาณิชย์หรือการค้าขายเขริญดีหรือเสื่อมทรามประการใด มีสินค้าชะนิดไร มากน้อยเพียงไร การกสิกรรม การหัตถกรรม และการอุตสาหกรรม มีฐานะอย่างใด ผลประโยชน์รายได้รายจ่ายของจังหวัดเพิ่มขึ้นหรือลดลงประการใด ราษฎรพลเมืองได้ทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นปกติสุขหรือมีโจรผูร้ายชุกชุมรบกวนประการใด สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ที่จะได้เป็นผู้แทนของท่านมีความสามารถดำริหาช่องทางที่จะบำรุงส่งเสริมหรือกำจัดแก้ไขสิ่งที่ขัดต่อความสุขความเจริญของจังหวัดและของราษฎรในจังหวัดของท่านได้มากน้อยเพียงใด ท่านผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจักต้องพิจารณาใช้ความพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดรอบคอบและคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความดำริและสนใจในสิ่งทกล่าวแล้วข้างต้นจริง ๆ หาไม่ ท่านจะได้แต่ผู้แทนราษฎรไม่สมควรเป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริง นอกจากนี้, ผู้ที่จะเป็นผู้แทนของท่านควรจะต้องเป็นผู้ที่สนใจในทางการเมืองทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ใกล้เคียงและที่ห่างไกล ฉะเพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองซึ่งได้ชื่อว่า อารยะประเทศ นั้น

การจะเลือกบุคคลให้เข้าลักษณะที่ดีนี้แหละเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ฉะนั้น จึ่งเป็นการสมควรที่ท่านผู้แทนตำบลทั้งหลายผู้ซึ่งได้รับอนุมัติของประชาชนทั้งปวงมาเลือกตั้งผู้แทนราษฎรพึงสำเหนียกและระลึกไว้ให้จงหนัก.

บุคคลที่จะเป็นผู้แทนราษฎรนั้น นอกจากต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดั่งกล่าวแล้ว ยังควรเป็นผู้มีคุณภาพดั่งต่อไปนี้:

๑. มีวาจาสัตย์ คือ ไม่พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง การที่ได้คนมีวาจาสัตย์เข้าเป็นผู้แทนของท่าน ท่านย่อมไว้วางใจในผู้แทนนั้นและมอบความเป็นอยู่ของพวกท่านให้แก่เขาได้อย่างมั่นคง.

๒. มีความสุจริต คือ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี มีวินัย เป็นผูที่มีหิริโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวและความละอายต่อบาปและอกุศลทั้งปวง เป็นผู้ที่จะมีคารวะและซื่อตรงต่อผู้ที่คัดเลือกเขาโดยน้ำใสใจจริง มิใช่ผู้ที่เห็นแก่ตำแหน่งหรือสินจ้างในตำแหน่งนั้นแล้ว และกลับเอาเกียรติยศและชื่อเสียงของตำแหน่งที่จะได้รับไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อท่านทั้งหลาย.

๓. มีความสันโดษ คือ พึงพอใจในทรัพย์สินที่มีอยู่ ไม่เห็นแก่ความโลภหลง เช่น บุคคลซึ่งถึงแม้จะไม่ได้รับคัดเลือก ก็มีทรัพย์พอเพียงที่จะเลี้ยงครอบครัว บุคคลเช่นนี้ย่อมเป็นคนตรงข้ามกับผู้ที่มีความโลภหลงเป็นอารมณ์ เพราะผู้มีสันโดษย่อมจะไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินงามหรือเห็นแก่สินจ้างลาภสักการและเกียรติยศโดยมิเป็นธรรม.

๔. ไม่เคยมีชื่อเสียงเสื่อมเสียด้วยประการใด ๆ เช่น ต้องคำพิพากษาที่มิใช่คดีการเมืองในศาลสถิตยุตติธรรม หรือถูกตำหนิโทษ ถูกถอด ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าทใด ๆ อันจะส่อให้เห็นว่า ผู้นั้นทุจริตและไม่ตั้งตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรมจนไม่สมควรจะเป็นผู้แทน.

๕. เป็นผู้ที่ยกย่องส่งเสริมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์จริง การที่ท่านต้องเลือกตั้งบุคคลชะนิดนี้ ก็ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญสยามเป็นกฎหมายอันสูงสุดของชาติและประเทศ ซึ่งบุคคลทุกชั้นทุกเหล่าจะต้องเคารพสักการะ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ให้กำเนิดแก่กฎหมายทั้งปวง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิคู่กับความเป็นอยู่ของชาติและประเทศ ถ้าท่านไม่ได้บุคคลที่ส่งเสริมกฎหมายแห่งชาติและบ้านเมืองของท่านแล้ว ความเสื่อมโทรมของกฎหมายทั้งหลาย ตลอดจนความเสื่อมโทรมของชาติและประเทศก็จะบังเกิดขึ้น ซึ่งจะนำภัยอันใหญ่หลวงมาสู่ชาติและประเทศของท่าน ครอบครัวของท่าน และตัวท่านเอง คนเราจะอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยครอบครัวเป็นประถม และครอบครัวจะอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยชาติและประเทศ ก็เมื่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายในอันที่จะดำเนินการปกครองให้ชาติและประเทศไปในแนวและทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขดุจอารยะประเทศทั้งหลาย ถ้าหากถูกงดใช้และทำลายความศักดิ์สิทธิ ชาติของเราจะเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้อย่างไร? และครอบครัวซึ่งเป็นส่วนอุปกรณ์ของชาติและประเทศจะเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้อย่างไร? ตลอดถึงตัวท่านก็จะได้รับความเจริญและความสุขสมบูรณ์ได้อย่างไร? ทั้งนี้ ด้วยเหตุว่า ชาติและประเทศก็ดี รัฐธรรมนูญก็ดี ครอบครัวของท่านก็ดี และตัวของท่านเองก็ดี จะแยกกันออกหาได้ไม่ จึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่เราชาวสยามจะต้องส่งเสริมรัฐธรรมนูญของเราให้มั่นคงถาวร เพราะฉะนั้น จึ่งขอเชิญให้ผู้แทนตำบลทั้งหลายพึงระลึกไว้ให้จงหนัก และใช้วิจารณญาณให้จงดี.

การที่ท่านจะเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนั้น ไม่บังควรไปฟังแต่คารมของเขาอย่างง่าย ๆ ผู้แทนตำบลทุกท่านควรจะสืบแสวงถึงอุปนิสสัยและความประพฤติของผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรนั้น ๆ ย้อนหลังขึ้นไป เพราะว่า การพูดนั้นเป็นเพียงแต่ลมปาก ซึ่งอาจจะกลับได้ทุกเวลา แต่อุปนิสสัยและความประพฤติของคนนั้นกลับได้ยาก อุปนิสสัยและความประพฤติของบุคคลเหล่านี้แหละจะทำให้ท่านทราบซึ้งถึงความมุ่งประสงค์ของผู้สมัครได้ว่า เขาจะทำคุณประโยชน์ให้แก่ท่าน จังหวัดที่ท่านตั้ง ภูมิลาเนา และชาติประเทศอันเป็นที่รักของท่านได้อย่างไร.

บุคคลจำพวกที่กล่าวนี้ แม้ท่านเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนของท่านแล้ว แทนที่จะทำผลดี อาจนำมาซึ่งผลร้ายได้ กล่าวคือ เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขามีเสียงในสภาการแผ่นดิน แต่แทนที่เขาจะเอาความคิดและเสียงของเขาทำประโยชน์ให้แก่ราษฎร อาจจะกลับเอาไปเป็นประโยชน์แก่ตัวของเขาเอง และเขามีโอกาสที่จะอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง ๔ ปี ถ้าท่านไม่ค้นคว้าหาคนที่ดีแล้ว ก็หมายความว่า ท่านเลือกตั้งคนผิด และไว้วางใจให้เขาเป็นผู้แทนราษฎรถึง ๔ ปีก็ได้

ตามลักษณะของประชาธิปไตยโดยแท้ รัฐบาลย่อมให้ความยุตติธรรมที่สุดแก่ราฎษรในการปกครองตนเอง รัฐบาลไม่มีประสงค์จะบังคับหรือฝ่าฝืนน้ำใจผู้ไม่สมัครด้วยประการใด ๆ เพราะฉะนั้น สิทธิในการที่จะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรก็ดี เป็นผู้แทนตำบลก็ดี ตลอดจนการเลือกตั้งผู้ใดเป็นผู้แทนราษฎรหรือผู้แทนตำบลก็ดี จึ่งตกเป็นสิทธิของประชาราษฎรโดยตรง.

ในสมัยก่อน การออกเสียงและเสนอความเห็นในการปกครองบ้านเมือง ย่อมไม่ใช่หน้าที่ของราษฎร และรัฐบาลไม่ใคร่เปิดโอกาส แต่ในสมัยนี้หาเป็นเช่นนนไม่ ราษฎรย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ เพราะรัฐบาลเปิดโอกาสแล้ว ก็เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสแล้วเช่นนี้ จึงมิบังควรที่ผู้มีความสามารถทั้งหลายจะทิ้งโอกาสนั้นเสีย และทั้งไม่บังควรที่จะคอยแต่ส่งเสียงและเสนอความเห็นอยู่ภายนอก ในเมื่อมีทางที่จะออกเสียงและเสนอความเห็นโดยตรงเป็นทางการในสภาผู้แทนราษฎรแล้วนี้.

อีกประการหนึ่ง ผู้บริหารราชการแผ่นดินที่เรียกว่า “คณะรัฐบาล” นั้น คือ รัฐมนตรีผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกตั้งขึ้นไปจากบรรดาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกในสภานี้เอง เมื่อเช่นนี้ การเป็นผู้แทนราษฎรนั้นก็ย่อมมีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินหรือปกครองประเทศโดยตรงด้วย เพราะเหตุนี้ จึ่งขอวิงวอนเชิญท่านใคร่ครวญให้จงหนักก่อนจะเลือกตั้งใครเป็นผู้แทนราษฎร คือ แทนจังหวัดที่ท่านตั้งภูมิลำเนาและมีอาชีพอยู่ในเขตต์นั้น.

ประเทศสยามเวลานี้อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ท่านทุกคนมีส่วนในความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมทรามของบ้านเมือง ฉะนั้น ถ้าท่านไม่ช่วยบ้านเมือง ก็เท่ากับท่านทิ้งบ้านของท่านและตัวท่าน และนั่นก็คือ ท่านขาดความรักและเคารพตัวท่านเอง เพราะความล่มจมของบ้านเมืองนั้น คือ ความล่มจมของตัวท่านโดยตรง และความเจริญของบ้านเมือง ก็เป็นความเจริญของตัวท่านเช่นเดียวกัน.

กองการโฆษณา
วันที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

บรรณานุกรม แก้ไข

  • กองการโฆษณา. (2476). แถลงการณ์ เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก