แม่แบบ:พระมาลัยคำหลวง/(๕)
คุณยายรอด จันทนะตระกูล ถึงแก่กรรมเมื่อวันพุธที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๙๑ เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา ไม่มีใครทราบเวลาที่ท่านสิ้นลมโดยแน่นอน ไม่มีลูกหลานคนใดได้เห็นใจท่าน เพราะท่านนอนหลับแล้วสิ้นลมไปด้วยความสงบ อายุของท่านล่วงเข้าแปดสิบปี
คุณยายเป็นเด็กเกิดในบ้านพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์) ท่านเคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า บิดามารดาของท่านมีลูกหญิงไม่ได้ เป็นต้องตายเสียแต่ยังเยาว์หมด ฉะนั้น เมื่อท่านเกิด จึงให้ท่านไว้ผมแกละเพื่อจะให้ผีเกลียด และตั้งชื่อท่านว่า “รอด” เพื่อจะให้ท่านมีชีวิตรอดอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ตายเสียตั้งแต่เด็กเหมือนอย่างพี่ ๆ
ในครั้งนั้น มีเด็กรุ่นคุณยายอีกหลายคนเกิดและอาศัยอยู่ในบ้านพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์) เพราะท่านเจ้าของบ้านเป็นผู้ตั้งอยู่ในเมตตาจิต โอบเอื้ออุปถัมภ์ผู้พึ่งใบบุญโดยทั่วหน้า ทั้งบ้านที่อยู่ก็เป็นย่าน[1] ใหญ่ มีบริเวณกว้างขวาง เด็ก ๆ รุ่นคุณยายอยู่ในความปกครองของท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งชื่อ คุณเอม คุณยายเล่าว่า คุณยายมีวาสนาที่คุณเอกรักมากกว่าเพื่อน ข้าวของเงินทองอันใด ถ้าคุณเอมจะแบ่งให้เด็กรุ่นนั้นทีไร คุณยายเป็นต้องได้มากกว่าเพื่อน
การที่ได้เกิดและอยู่มาในบ้านพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์) นี้ นับว่าเป็นโชคของคุณยายที่จะได้ตั้งตนต่อมาโดยแท้ เพราะบ้านนั้นเป็นบ้านของปราชญ์ เป็นเหตุให้คุณยายได้พลอยประสบพบเห็นสิ่งแวดล้อมชีวิตที่ดีงามมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ได้พบเห็นและเกลือกกลั้วอยู่กับขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่ดีงามของไทยมานาน คุณยายได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกหลานในเครือตระกูลของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์) หลายท่าน เช่น พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ์) ผู้เป็นบุตรพระยาศรีสุนทรโวหาร, คุณหญิงเพ็ง ภริยาพระยาศรีภูริปรีชา, พระยาคชนันทน์นิพัทธพงศ์[2] น้องของคุณหญิงพึ่ง, พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) และท่านผู้หญิงถวิล ธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นบุตรธิดาของพระยาศรีภูริปรีชาอันเกิดแต่คุณหญิงพึ่ง, คุณหญิงชื่น วรฤทธิ์ฦๅชัย เป็นต้น สิ่งแวดล้อมชีวิตดังกล่าวนี้เองได้สร้างสมเป็นนิสัยประจำตัวคุณยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ลูกหลานในชั้นหลัง ๆ ว่า คุณยายเป็นผู้กว้างขวาง มีความเข้าใจในการสมาคมในยุคของท่านอย่างชำนิชำนาญ มีความจัดเจนต่อขนบประเพณีไทย และมั่นคงในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างดีเลิศ เป็นผู้มีนิสัยใจคอหนักแน่น เที่ยงธรรม มีเหตุผล รอบคอบ มีน้ำใจกว้างขวางโอบเอื้ออารีเผื่อแผ่ไปทั่ว มีความเฉลียวฉลาด เข้าสมาคมกับคนได้ทุกชั้น ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อคุณยายได้สมรสกับขุนสุภาทิพ (คุณตาโหมด จันทนะตระกูล) ผู้เป็นทนายความชั้นครูในยุคของท่านนั้น คุณยายจึงเป็นคู่สร้างที่คอยเสริมประโยชน์ให้แก่ทุกด้านทุกทาง ก่อร่างสร้างตัวกันมาจนเป็นฝั่งฝา เป็นที่รู้จักรักใคร่ในบรรดาเจ้านายและข้าราชการยุคนั้นเป็นอย่างดี
เมื่อสิ้นบุญคุณตา คุณยายก็ได้ใช้ความสามารถของท่านปกครองทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน และลูกหลานให้ได้รับความสุขสืบต่อมา และได้รักษาน้ำใจอันกว้างขวางโอบอ้อมอารีไว้เสมอไม่เสื่อมคลาย ขณะใดมีงานมงคลหรืองานศพในรั้ววังบ้านเรือนใดที่คุณยายสนิทชิดเชื้อ คุณยายมักจะได้รับเชิญให้เป็นแม่งานทางด้านการต้อนรับเลี้ยงดูแขกเหรื่ออยู่เสมอ แม้จนการทำบุญสุนทานในวัดวาอาราม คุณยายก็มักจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินงาน คุณยายเป็นผู้ใฝ่ใจมั่นคงในพระบวรพุทธศาสนาอยู่แล้ว เมื่อมีการทำบุญในวัดคราวไร เป้นต้องลงทุนลงแรงอย่างไม่คิดถึงความเหนื่อยยาก ในชีวิตของคุณยายได้เป็นเจ้าภาพงานบวชนาค ทอดกฐิน ทอดผ้าป่าหลายครั้ง ได้รับเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์มหาชาติหลายสิบครั้ง ได้จัดสร้างและบูรณะถาวรวัตถุ เช่น หอไตร กุฏิพระ ไว้ในอารามต่าง ๆ หลายแห่งด้วยกัน ยิ่งในบั้นปลายชีวิตของท่านแล้ว คุณยายยิ่งใช้ชีวิตใกล้ชิดกับวัดมากที่สุด เคยไปจำศีลภาวนาอยู่ตามวัดครั้งหนึ่ง ๆ ร่วมสิบกว่าวัน ในวันสุดท้ายก่อนที่คุณยายจะล้มเจ็บ ดูเหมือนจะเป็นวันออกพรรษา คุณยายก็ไปอยู่ที่วัดรักษาอุโบสถศีล พอตกเย็น รู้สึกไม่สบาย ฝืนกำลังกายไม่ไหวแล้ว จึงได้กลับบ้าน นับแต่วันนั้น คุณยายก็ล้มเจ็บและลุกไม่ขึ้นเรื่อยมาจนถึงวันมรณะ
เพราะเหตุที่คุณยายเป็นผู้มีความรอบคอบในการเป็นแม่บ้านและแม่งานดังกล่าวแล้ว แทนที่ผู้รู้จักมักคุ้นคุณยายจะเรียกชื่อคุณยายว่า “รอด” ตามชื่อที่แท้จริง กลับมากันเรียกเป็น “รอบ” ไปหมด ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยปรารภถึงคุณยายว่า “ช่างรอบคอบสมชื่อเสียจริง ๆ”
คุณยายเป็นผู้มีเมตตาคุณอย่างประเสริฐ เป็นเมตตาคุณที่บริสุทธิ์ผุดผ่องจากน้ำจิตทีเดียว ที่กล่าวนี้มิใช่จะยกยอ เป็นความจริงที่บรรดาท่านที่มีน้ำใจสูงสะอาดได้เห็นพ้องและยกย่องทั่วกันแล้ว เมตตาคุณอันนี้ได้ผูกจิตใจลูกหลานและผู้ที่ได้ใกล้ชิดคุณยายไว้อย่างกระชับมั่น ท่านได้ให้ความอุปการะช่วยเหลือลูกหลานและผู้พึ่งพาอาศัยท่านด้วยเมตตาจิตอันแท้จริง นอกจากจะอำนวยความสุขสบายในการพักพิงแล้ว ยังคอยปลอบทุกข์ปลอบสุจปลุกใจให้มีมานะสร้างคุณงามความดีให้เป็นศรีแก่ตนอีกด้วย พูดได้ว่า ใครมีทุกข์ ถ้าได้อยู่ใกล้คุณยาย ทุกข์นั้นจะบรรเทา ใครหมดกำลังใจ ก็จะก่อเกิดพลังใจขึ้นใหม่ คุณยายมีวิธีพูดปลอบประโลมด้วยเหตุและผลที่น่าฟัง มีตัวอย่างดี ๆ มาสอนใจ ชวนให้คนเชื่อถือ และช่วยให้เกิดความสบายใจได้เป็นอย่างดียิ่ง คุณยายพยายามนำอุทาหรณ์ต่าง ๆ มาสั่งสอนลูกหลานอยู่เสมอ ให้เป็นคนมีสัตย์ธรรม ให้เป็นสุภาพชน ไม่เอาเปรียบใคร ให้ตั้งอยู่ในความกตัญญูกตเวที ให้มีความรักชาติบ้านเมือง ทุกคนที่รู้จักคุณยายจะเห็นแปลกทุกคนที่แม้คุณยายจะชราล่วงปูนเจ็ดสิบกว่าในตอนนั้นแล้ว ทั้งยังเป็นสตรีเพศอีกด้วย แต่กำลังของคุณยายเข้มแข็ง มั่นคงด้วยเหตุและผล มีความคิดทันสมัยอยู่เสมอ ในสมัยที่รัฐบาลไทยปลุกใจคนให้สร้างชาติสร้างวัฒนธรรม คุณยายเข้าใจและสนับสนุนเรื่องนี้เป็นอย่างดีที่สุด ได้ปฏิบัติตนส่งเสริมนโยบายนั้น และได้สั่งสอนลูกหลานให้เข้าใจและปฏิบัติตามโดยเต็มที่ คุณยายมักจะนำขนบธรรมเนียมประเพณีเก่า ๆ ของไทยมาเล่าให้ลูกหลานฟัง และสามารถจดจำบทกลอนในวรรณคดีไทยเก่า ๆ มาเล่าเป็นอุทาหรณ์ประกอบได้อย่างสนุกสนาน คุณยายชอบให้เด็กอ่านหนังสือวรรณคดีให้ฟังมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว หนังสืออย่างรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี สามก๊ก และเรื่องพงศาวดารจีนเกือบทุกเรื่อง ท่านฟังเสียจนจดจำได้ขึ้นใจ นำมาเล่าให้ลูกหลานฟังได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ รู้สึกว่า คุณยายค่อนข้างจะมีนิสัยชอบในทางวรรณคดีอยู่มาก เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ท่านเคยตั้งความปรารถนาจะฝากฟังหลานชายซึ่งมีอายุได้ประมาณสักห้าถึงหกขวบให้เป็นศิษย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) แต่ต่อจากนั้นเพียงเล็กน้อย พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) มาถึงแก่กรรมลงกะทันหัน คุณยายทราบข่าวนี้ในตอนเช้าตื่นนอน รู้สึกว่า ท่านมีความเสียใจจนเห็นได้ชัด
เนื่องด้วยคุณงามความดีของคุณยายดังกล่าวมาตลอดนี้ ประกอบด้วยกุศลเจตนาที่คุณยายมีต่อบุคคลทุกคน เมื่อคุณยายล่วงลับไป ทั้ง ๆ ที่ล้มเจ็บมาแรมปีถึงอายุขัยแล้ว บรรดาญาติและมิตรโดยทั่วไปก็ยากที่จะหักห้ามความเศร้าโศกเสียดายลงได้ คุณยายล้มเจ็บเป็นโรคหัวใจมาแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ มาถึงแก่กรรมในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ รวมเวลาที่ล้มเจ็บตราบจนกระทั่งถึงแก่กรรมเป็นเวลาได้ห้าปี ระหว่างเวลาที่ล้มเจ็บได้อยู่ในความประคับประคองของลูกหลานและนายแพทย์เป็นอย่างดีตลอดมา
ในการปลงศพสนองคุณคุณยายครั้งนี้ บรรดาท่านที่ได้ประจักษ์ในคุณงามความดีของคุณยาย ตลอดจนมิตรสหายของลูกหลาน ได้พร้อมใจกันช่วยเหลือในงานเป็นอย่างดียิ่ง นับแต่วันตั้งศพที่บ้าน ซึ่งจะละเว้นความขอบคุณเสียมิได้ โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง “พระมาลัยคำหลวง” ที่ตีพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกเล่มนี้ ก็ได้รับความกรุณาจากท่านที่เคารพและมิตรสหายของลูกหลายคุณยายหลายท่าน ดังเช่น ท่านอาจารย์พระยาอนุมานราชธน[3] อธิบดีกรมศิลปากร ได้เมตตาคัดตอน[4] ข้อความเกี่ยวกับเรื่องพระมาลัยซึ่งท่านได้เขียนไว้ในเรื่อง “เมืองสวรรค์” อันเป็นนิพนธ์เรื่องใหม่ของท่านส่งมาตีพิมพ์ประกอบ ช่วยให้หนังสือ “พระมาลัยคำหลวง” เล่มนี้ดีงามสมบูรณ์ขึ้นอีก ท่านอาจารย์พระพรหมพิจิตร[5] อาจารย์เอกในวิชาหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ได้กรุณาออกแบบและเขียนตัวหนังสือหน้าปกให้อย่างประณีตงดงาม คุณเหม เวชกร ซึ่งเป็นเสมือนหลานแท้ของคุณยาย ได้กรุณาเขียนภาพวิจิตรประกอบเรื่อง และรับทำแม่พิมพ์ทั้งภาพปกภาพแทรกให้โดยตลอด คุณอุดมและคุณประหยัด ชาตบุตร กรุณาให้ความช่วยเหลือเป็นหลักในการตีพิมพ์หนังสือนี้ คุณประยูร หอมวิไล เจ้าของโรงพิมพ์ไทยพานิชสาขา ได้กรุณาช่วยตีพิมพ์ภาพแทรกให้อย่างประณีต คุณสด กูรมะโรหิต และคุณนิยม โรหิตเสถียร ได้กรุณาจัดหากระดาษสำหรับทำปกและภาพแทรกส่งมาช่วย ส่วนกระดาษทองสำหรับใช้ทำปกบางเล่มก็ได้รับความเมตตาจากคุณชลอ รังควร ช่วยจัดหาให้ พระคุณของทุกท่านที่ได้เกื้อกูลตลอดมา ทั้งที่เอ่ยนามไว้ในที่นี้ หรือที่มิได้เอ่ยก็ตาม ล้วนเป็นพระคุณที่บริสุทธิ์สะอาด ยังความปลาบปลื้มปีติให้บังเกิดแก่ลูกหลานคุณยายยากที่จะเปรียบได้
- ↑ ต้นฉบับไม่ชัด อาจเป็น “บ้าน” — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
- ↑ คือ พระยาคชนันทน์นิพัทธพงศ์ (ล้วน คชนันทน์) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
- ↑ คือ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
- ↑ ต้นฉบับเห็นไม่ชัด อาจเป็น “คัดตอน”, “ตัดตอน”, “คัดทอน” หรือ “ตัดทอน” ก็ได้ — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
- ↑ คือ พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].