แม่แบบ:ลักษณพยาน/หมวด ๒

หมวดที่ ๒


ว่าด้วยคนจำพวกใดควรอ้างเปนพยานได้


__________________

(สารบัญ)


มาตรา ๔
คนชนิดใดเปนพยานได้แลไม่ได้


บรรดาชนใด ๆ ชายก็ดีหญิงก็ดี ซึ่งมีสติดีรู้จักผิดแลชอบเข้าใจความ จะให้การเปนพยานฝ่ายโจทย์ฤๅฝ่ายจำเลยคู่ความโดยอ้างก็ได้ เว้นไว้แต่ชนที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ ฤๅชนซึ่งศาลพิเคราะห์เห็นว่า เปนผู้ไม่สามารถจะเข้าใจข้อถาม ฤๅไม่สามารถจะให้การตอบข้อถามได้ เพราะเหตุว่าเปนคนมีอายุยังเยาว์อ่อนนัก ฤๅเปนคนมีอายุสูงแก่ชรามาก ฤๅเปนคนมีโรคภายในกายฦาภายนอกกายเจ็บปวดถึงสาหัศจนสิ้นสติไม่อาจจำเหตุการณ์สิ่งใดได้ เท่านั้น

(สารบัญ)


มาตรา ๕
อ้างคนใบ้เปนพยาน


ชายก็ดีหญิงก็ดี ซึ่งเปนใบ้พูดภาษามนุษย์ไม่ได้ ก็ให้อ้างเปนพยานได้ เมื่อศาลชี้แจงอธิบายมูลคดีวิวาทในระหว่างโจทย์จำเลยให้คนใบ้เข้าใจดีแล้ว ก็ให้คนใบ้เขียนตัวอักษรฤๅรูปภาพ ฤๅแสดงกิริยาท่าทาง แทนคำให้การ ให้เปนที่เข้าใจได้ แต่การที่จะเขียนตัวอักษรฤๅรูปภาพ ฤๅแสดงกิริยาท่าทางนี้ ต้องให้คนใบ้ซึ่งเปนพยานมาทำในศาลต่อหน้าคนทั้งปวง คำพยานของคนใบ้เช่นนี้ ก็ให้ถือว่าดุจให้การด้วยปากเหมือนกัน แลการที่จะบังคับถามคนใบ้เปนพยานนี้ ให้ศาลชี้แจงข้อสาบาลแลพิฆาฏโทษกำชับให้คนใบ้เข้าใจรู้ความว่าตนจะต้องกล่าวแต่ที่อันจริง เมื่อคนใบ้รับแล้ว ก็ให้ถือว่าเปนอันได้กระทำสัตย์อธิฐานตามบทกฎหมาย แลในการที่จะอ้างคนใบ้เปนพยานนี้ ถ้ามีพยานอื่นแล้ว อย่าให้ต้องสืบคนใบ้เปนพยานอิกเลย

(สารบัญ)


มาตรา ๖
โจทย์จำเลยอ้างกันเปนพยานได้ ฤๅอ้างบิดามารดาสามีภรรยาบุตรญาติ แลคนอื่น ๆ เปนพยานได้


ในสรรพความแพ่งทั้งปวง โจทย์จะอ้างจำเลยเปนพยาน ฤๅจำเลยจะอ้างโจทย์เปนพยานก็ดี ฤๅตัวความจะอ้างตัวของตัวเองเปนพยานฝ่ายตัวก็ดี ฤๅโจทย์จำเลยจะอ้างบิดามารดา ญาติ บุตร สามีภรรยา ข้าทาษของตนเองก็ดี ฤๅคนใดคนหนึ่งนอกจากที่กล่าวมานี้ก็ดี ก็ให้อ้างเปนพยานได้ ไม่ห้ามปราม ยกเสียแต่คนซึ่งไม่สามารถจะให้การเปนพยานได้ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ในความอาญาซึ่งมีโทษหลวง คือ โทษประหารชีวิตร ริบราชบาทว์ จำคุก เช่นนี้ ตัวผู้ร้ายฤๅจำเลยจะอ้างตัวของตัวเองเปนพยาน ฤๅจะอ้างบิดามารดา สามีภรรยา แลบุตรของตนเปนพยานไม่ได้เปนอันขาด แลความอาญาอื่น ๆ ซึ่งไม่มีโทษหลวงดังว่ามานี้ มีแต่เบี้ยปรับเพียงสินไหมพินัย ก็ให้โจทย์จำเลยอ้างพยานได้เหมือนในความแพ่งทุกประการ

(สารบัญ)


มาตรา ๗
ผู้พิพากษาฤๅตระลาการไม่จำเปนต้องให้การเปนพยานในบางเรื่อง


ถ้าโจทย์ฤๅจำเลยอ้างผู้พิพากษาฤๅตระลาการศาลใดเปนพยานในคดีแพ่งอาญาทั้งปวง ผู้พิพากษาฤๅตระลาการซึ่งถูกอ้างนั้นไม่จำเปนจะต้องให้การตอบข้อถามข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งถามถึงอาการกิริยาแลความประพฤติตัวของผู้พิพากษาฤๅตระลาการผู้นั้นเองในศาลในระหว่างเวลาซึ่งตนนั่งกระทำการตามน่าที่ผู้พิพากษาฤๅตระลาการอยู่ แลไม่จำเปนจะต้องให้การตอบข้อถามข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งถามถึงเหตุการณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งตนได้รู้ในส่วนน่าที่ของตนซึ่งเปนผู้พิพากษาฤๅตระลาการ เว้นไว้แต่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ฤๅศาลใหญ่ศาลใดศาลหนึ่ง ฤๅผู้พิพากษาฤๅอธิบดีคนใดคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาตัวได้ในทางราชการ จะมีคำสั่งให้ตนยอมให้การ จึ่งต้องให้การตอบข้อถามนั้น ๆ

(สารบัญ)


มาตรา ๘
ห้ามมิให้พยานให้การเกี่ยวข้องด้วยข้อราชการแผ่นดินซึ่งยังไม่ได้เปิดเผย


ถ้าโจทย์จำเลยอ้างคนใดคนหนึ่งเปนพยาน ห้ามมิให้คนนั้นให้การกล่าวด้วยข้อความซึ่งตนได้รู้จากหนังสือราชการซึ่งยังมิได้เปิดเผยให้ชนทั้งปวงรู้ อันเปนเนื้อความเกี่ยวข้องด้วยราชการแผ่นดินเปนอันขาด เว้นไว้แต่ตนได้อนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้เปนอธิบดีในกรมฤๅกระทรวงนั้น ๆ ก่อน จึ่งให้การได้

(สารบัญ)


มาตรา ๙
โจทย์จำเลยจะอ้างพยานฝ่ายละมากน้อยเท่าใดได้ ไม่มีกำหนดห้าม


โจทย์จำเลยจะอ้างพยานสืบตามประเด็นข้อหาซึ่งมิได้รับกันในสำนวน จะต้องสืบมากหลายคนก็ได้ ไม่มีกำหนด แต่เมื่อศาลพิเคราะห์เห็นว่า ข้อใดได้สืบพยานสมควรพออยู่แล้ว ควรฟังเอาข้อนั้นเปนเท็จฤๅเปนจริงได้ ศาลก็มีอำนาจไม่ให้สืบพยานในข้อนั้นต่อไปได้

(สารบัญ)