พรหมรูป

แก้ไข

        อันว่าพรหมทั้งหลายอันเกิดในรูปพรหมรูปทั้ง ๑๖ ชั้นนั้นย่อมเกิดด้วยอุปปาติกโยนิสิ่งเดียวไส้ เอาปฏิสนธิ ๖ จำพวกมีอาทิ คือว่าวิตกวิจารอันกล่าวก่อนโพ้นแลฯ แต่ชั้นฟ้าอันชื่อประนิมมิตรสวัตติสวรรค์นั้นขึ้นไปเถิงพรหมโลกย์จะนั้บจะคณนาด้วยโยชน์ก็ดีด้วยวาก็ดีบมิได้เลย เพราะว่าไกลนัก แต่พรหมชั้นต่ำทั้งหลายอันชื่อว่าพรหมปาริสัชชาภูมินั้นลงมาเถิงแผ่นดินนี้โดยไกลยิ่งนัก แม้ว่ามีศิลาก้อน ๑ เท่าปราสาทเหล็กอันชื่อโลหปราสาทนั้น อันที่มีอยู่ในลังกาทวีปโพ้น แลว่าเอาทอดลงมาแต่ชั้นพรหมปาริสัชชานี้นั้น แลบมิได้ข้องขัดสักแหงเลยแม้ว่าดังนั้นก็ดีได้ ๔ เดือนจึงเถิงแผ่นดินเรานี้ไส้ อันนี้กล่าวแต่พรหมชั้นต่ำไส้ แลยังมีชั้นพรหมทั้งหลายได้ ๒๐ ชั้นบนขึ้นไปเหนือกันขึ้นไปเถิงชั้น ๆ แลโดยกว้างโดยแดนปริมณฑลเถิงเขากำแพงจักรวาลอันเราอยู่นี้ แลเทียรย่อมมีปราสาทแก้ว แลเครื่องประดับนิ์สำหรับทั้งหลาย งามนักหนายิ่งปราสาทเทพยดาทั้งหลาย อันอยู่ภายต่ำใต้ได้ประมาณพันเท่าแลฯ พรหมชั้น ๑ ชื่อว่าพรหมปาริสัชชาภูมิฯ ชั้น ๑ ชื่อว่าพรหมปโรหิตา" ชั้น ๑ ชื่อว่ามหาพรหมาภูมิ" พราหมณ์ก็ดี ฤๅษีก็ดี อันท่านได้ภาวนาได้ฌานอัน ๑ ชื่อว่า ปฐมฌานได้น้อยทุกเมื่อรอดชั่วสัตว์ ครั้นว่าตายได้เกิดเป็นพรหมในชั้นอันชื่อพรหมปาริสัชชาภูมิ อยู่หึงนานนักแลได้อสงไขยกัลปหนึ่งแลแบ่งเป็น ๓ ภาค แลเอาแต่ภาค ๑ เป็นอายุพรหมทั้งหลายในชั้นนั้นแลฯ ผู้ใดแลได้ปฐมฌานรอดสุดชั่วตนครั้นว่าตายได้ไปเกิดในพรหมอันชื่อว่าพรหมปโรหิตาภูมินั้นเสวยสุขโดยนาน ผิว่าจะคณนาได้อสงไชย ๑ แบ่งเป็น ๒ ภาค เอาแต่ภาค ๑ เป็นอายุแห่งพรหมทั้งหลายในนั้นแลฯ ผู้ใดแลได้ปฐมฌานอันอุดมนักหนาทุกเมื่อชั่วตัวตน ครั้นว่าตายไปเกิดในพรหมนั้นอันชื่อว่ามหาพรหมภูมิ แลมหาพรหมชั้นนั้นอยู่เสวยสุขอายุยืนได้มหากัลปนั้น อายุพรหมนั้นบมิได้นับด้วยอสงไขยเลย เทียรย่อมนับด้วยกัลปแลฯ เมื่อแลไฟไหม้กัลปไส้ไหม้ทั้งพรหม ๓ ชั้นนั้นด้วยแลฯ แต่นั้นขึ้นไปเบื้องบนไกลนักหนาแลจึงเถิงพรหม ๓ ชั้น พรหมชั้น ๑ ชื่อปริตตาภูมิ ชั้นหนึ่งชื่ออัปปมาณาภูมิ พรหมชั้นหนึ่งชื่ออภัสสราภูมิ เทียรย่อมเป็นชั้นขึ้นเหนือกันไปพรหม ๓ ชั้นนั้นชื่อทุติยฌานภูมิ ฝูงเทพยดาแลคนทั้งหลายผู้ใดเถิงทุติยฌานได้น้อยทุกเมื่อรอดชั่วสุดชั่วตน ครั้นตายไปได้เกิดในพรหมชั้นชื่อปริตตาภาภูมิ ยืนได้ ๒ มหากัลปฯ ผู้ใดได้ทุติยฌานแต่มัธยมทุกเมื่อรอดชั่วตน ครั้นตายไปเกิดในพรหมชั้นอันชื่ออัปปมาณาภูมิ ยืนได้ ๔ มหากัลปฯ เทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลายผู้ใดได้เถิงแก่ทติยฌานอันประณีตด้วยนักหนาทุกเมื่อรอดชั่วตน ครั้นตายได้ไปเกิดในชั้นพรหมอันชื่ออาภัสสราภูมิยืนได้ ๘ มหากัลปฯ เมื่อไฟไหม้กัลปแล้วน้ำท่วมอาภัสสราพรหมภูมินั้นแล แต่นั้นขึ้นไปเบื้องบนไกลนักหนาแล้วจึงเถิงพรหมชั้นโสดพรหมชั้น ๑ ชื่อปริตตาสุภาภูมิพรหม ชั้น ๑ ชื่ออัปมาณสุภาภูมิ พรหมชั้น ๑ ชื่อสุภกิณหาภูมิ ย่อมเป็นชั้นเหนือกันไปไกลนักหนา แลพรหม ๓ ชั้นนั้นชื่อตติยฌานภูมิ เทพยดาแลคนทั้งหลายผู้ใดได้เถิงตติยฌานน้อยทุกเมื่อรอดสุดชั่วตน ครั้นตายได้ไปเกิดในพรหมชั้นอันชื่อปริตตาสุภาภูมิยืนได้ ๑๖ มหากัลปฯ ผิแลผู้ใดเถิงตติยฌานแต่มัชฌมิปานกลางทุกเมื่อ ครั้นตายไปเกิดในชั้นพรหมอันชื่ออัปปมาณสุภาภูมิยืนได้ ๓๒ มหากัลปฯ ผู้ใดได้เถิงตติยฌานอันเป็นประณีตด้ยวยนักหนาทุกเมื่อรอดสุดชั่วตน ครั้นตายไปเกิดในพรหมอันชื่อสุภกิณหายืนได้ ๖๔ มหากัลปฯ เมื่อน้ำท่วมแล้วแลลม ๔ อันพัด พรหม ๓ ชั้นนี้เพื่อสิ้นแล้ววายลมแต่นั้นฯ แต่นั้นขึ้นไปเถิงบนไกลนักหนาแลจึงเถิงพรหมสองชั้นโสดฯ พรหมชั้น ๑ ชื่อเวหับผลาภูมิ พรหมชั้น ๑ ชื่ออสัญญีภูมิ แลบพรหมสองชั้นนั้นชื่อจตุตุถฌานภูมิ ฝูงเทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลายอันเถิงแก่จตุตถฌานอันประณีตนักหนาทุกเมื่อรอดสุดชั่วตน ครั้นตายไปเกิดในพรหมชั้นอันชื่อเวหัปผลาภูมิยืนได้ ๔๐๐ มหากัลปฯ ผู้ใดได้เถิงแก่จตุตถฌานด้วยนักด้วยหนาแลเขาบมิได้มีลูกมีเมียแลเขาเทียรย่อมรำพึงในใจเขาฉันนี้ อันว่าสัตว์ทั้งหลายอันไปทนทุกขเวทนาในจตุราบายในโยนิ ๑๐ อัน ก็โ ๕ อัน อัญญาณ ๗ อัน แลอยู่ในสัตว์พาสา ๙ อัน เพื่อมีใจแลรู้รำพึงมากนักหนาแลรู้มีใจรักแลมีใจชัง ผิเมื่อใดแลให้ใจนี้หายจากตนแลบมิรู้รำพึงอันใดสักสิ่งทุกปีจะแลฯ เขารำพึงดังนั้นแล้วเขาจึงปรารถนาดังนี้ จงกูอย่ามีลูกอย่ามีเมียอย่ามีใจเลย เขาจึงภาวนาดังนี้ อสัญญีปิ เขาย่อมปรารถนาดังนั้นแล ภาวนานั้นทุกเมื่อรอดชั่วตนเขา ครั้นว่าเขาตายได้ไปเกิดในชั้นพรหม อันชื่ออสัญญีพรหมนั้นแลฯ ฝูงพรหมทั้งหลายอันอยู่ในชั้นนั้นตนสูงได้ ๙๖,๐๐๐ วา แม้นว่าใจน้อยหนึ่งก็บมีเลยฯ หน้าตาเนื้อตัวพรหมนั้นดังรูปพระปฏิมาทองอันช่างหากขัดใหม่แลงามนักหนานั้น ผิผู้ใดนั่งอยู่แลตายในเมื่อคำนึงไปเป็นพรหมในชั้นนั้นนั่งอยู่ต่อสุดอายุ ผู้ใดยืนอยู่จึงตายในมนุษยโลกย์นี้ก็ดี แลไปเป็นพรหมยืนอยู่ในเมืองพรหมโลกย์นั้นบมิกระเหม่นบมิตกบมิติงสักแห่ง ทั้งตาก็บมิพริบดูชั่วสุดพรหมนั้นแลมิรู้สักสิ่งเลย แลว่าในปราสาทแก้วพระพรหมนั้นกว้างขวางนักหนาแล มีดอกไม้คันธรสของหอมทั้งหลายประเสริบดีนักหนาอยู่ทุกเมื่อดูสุดชั่วครหมทั้งหลายนั้น แลดอกไม้นั้นบห่อนรู้เหี่ยวบห่อนรู้แห้งแลโรย แลคันธรสของหอมนั้นบห่อนรูเผือดหายกลิ่นเลย ดอกไม้นั้นดังว่าแสร้งเรียงแลเรียบระเบียบงามนักหนาอยู่รอบพรหมนั้นทุกทิศ แลพรหมทั้งหลายอยู่ในชั้นนั้นมากนักหนาบมิรู้กี่ล้านกี่โกฏิเลย อายุเขายืนได้แล ๕๐๐ มหากัลป ผิแลเมื่อใดสิ้นอายุแลจะจากเมืองพรหมแลพรหมนั้นมีบุญอันได้กระทำแต่ก่อน แลสิ้นใจนั้นก็คืนมาเป็นปรกติดังคนทั้งหลาย แลไปเกิดโดยอำเภอบุญแลบาป เพราะว่าบมิได้เถิงนิพพานฯ แต่นั้นขึ้นไปเถิงชั้นบนไกลนักหนา แลจึงเถิงเมืองพรหม ๕ ชั้น พระพรหมชั้นหนึ่งชื่ออวิหาภูมิ ชนหนึ่งชื่ออตัปปาภูมิ ชั้นหนึ่งชื่อสุทัสสีภูมิ ชั้นหนึ่งชื่ออกนิฏฐาภูมิ พรหมทั้งหลาน ๕ ชั้นนี้ชื่อปัญจสุทธาวาสเป็นจตุตถฌานภูมิโสดแต่ฝูงใดได้อนาคามิผลแลได้จตุตถฌานก็โ เถิงแก่ปัญจฌานก็ดีรอดสุดชั่วตน ครั้นตายได้ไปเกิดในพรหม ๕ ชั้น อันชื่อปัญจพิธสุทธาวาสนั้นเลยแลบมิคืนมาเกิดในเมืองมนุษย์นี้เลยฯ ผิว่าสิ้นอายุในเมืองพรหมนั้นก็เสร็จเข้าสู่นิพพาน แลอายุพรหมในอวิหายืนนับด้วยมหากัลปได้ ๑,๐๐๐ มหากัลป แลอายุพรหมในอตัปปายืนได้ ๒,๐๐๐ มหากัลป อายุพรหมในสุทัสสายืนได้ ๔,๐๐๐ มหากัลป อายุพรหมในชั้นสุทัสสียืนได้ ๘,๐๐๐ มหากัลป อายุพรหมในชั้นอกนิฏฐายืนได้ ๑๖,๐๐ มหากัลป แต่พรหม ๑๖ ชั้นนั้นชื่อโสฬสรูปพรหม แลเป็นที่อยู่แพรหมทั้งหลายอันมีรูปแลฯ แลพรหมทั้งหลายแต่ล้วนผู้ชาย แลจะมีพรหมผู้หญิงดังเทพยดาทังหลายอันอยู่ในชั้นต่ำไส้หาบมิได้ แต่เท่าว่าพรหมอันอยู่ในชั้นอสัญญีนั้น แต่เป็นรูปอยู่ดังนั้นแลบมิรู้ไหวรู้ติงแต่ชั้นเดียวนั้นฯ แลพรหมทั้ง ๑๕ ชั้นนั้นย่อมรู้ไหรู้ติง แลมีจักษุก็รู้ดู แลมีโสตก็รู้ฟัง แลมีฆานก็รู้หายใจเข้าออก แลเท่าว่าบมิได้รู้ว่ารสหอมแลเหม็นแลมีชิวหารู้เจรจาพาที เท่าว่าบมิรู้จักรสส้มแลรสหวานแลเผ็ดแลจืดเค็ม แลเนื้อหนังพรหมนั้นแม้นว่ามือต้องก็บมิรู้สึกเจ็บโสด พรหมทั้งกลายนั้นบห่อนรู้กินข้าวกินน้ำสักคาบเท่าแต่ฌานสมาบัติด้วยตนเอง อันว่าจะยินดีด้วยถูกต้องผู้อื่นดังนั้นบมีแลหน้าตาเนื้อตัวพระพรหมทั้งหลายนั้นเกลาเกลี้ยงงามนัก แลว่ารุ่งเรืองกว่าพระจันทร์พระอาทิตย์พันเท่าไส้ แต่มือพรหมแต่มือหนึ่งก็ดีจะให้เรืองไปทั่วทั้งจักรวาลทั้งหลายได้หมื่นจักรวาลดังกล่าวถ้วนทุกแห่ง พระพรหมทั้งหลายนั้นเทียรย่อมมีปราสาทแก้วทองแลย่อมปูด้วยอาสน์ทิพย์ทุกแห่งทั้งม่านแลวิดานเทียรย่อมทิพย์แล แลประดับนิ์ด้วยแก้ว ๗ ประการดูงามยิ่งกว่าเทพยดาทั้งหลายอันอยู่ชั้นต่ำได้ละพันเท่าไส้ แลมีเกศเกล้าดูงามนักหนาแลหัวเป็นชฎาทุกองค์ ๆ ดูเรืองงามต่าง ๆ แลตนพรหมนั้นงามนักหนาหัวเข่าก็ดีแขนก็ดีที่ต่อกันก็ดี กลมงามนักบมิได้เห็นที่ต่อกัน พรหมทั้งหลายนั่นบห่อนรู้มีองค์อันใดในตนน้อยหนึ่ง แลจะมีลามกอาจมไส้หาบมิได้โสด พรหมทั้งหลาย ๒๐ ชั้นนั้นแม้นว่าผู้หญิงตนหนึ่งก็บมิ แม้นว่าพรหมผู้หนึ่งก็ดีแลจะเหมือนกังนั้นก็ดีก็บมีโสดแล พรหมทั้งหลายนั้นจะมีใจกำหนัดกระศัลย์ยินดีแก่ผู้หญิงน้อยหนึ่งก็ดีก็บมี พรหมทั้งหลายนั้นแลจะรู้ขับรำกระทำการดุริยดนตรีทั้งหลายสิ่งใด ๆ ก็บห่อนรู้โสด ลางจำพวกอยู่ด้วยฌานอันชื่อว่าอริยวิหาร ลางจำพวกอยู่ด้วยฌานอันชื่อทิพยวิหาร ลางจำพวกอยู่ด้วยฌานอันชื่อพรหมวิหาร พรหมทั้งหลายอันอยู่ในอกนิฏฐพรหมนั้น ผิแลเมื่อพระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าไส้ในเมื่อวันพระโพธิสัตว์ เจ้าจะเสด็จออกทรงผนวชไส้ พรหมนั้นเอาผ้าไตรจีวรแลเครื่องบริขารลงมาแต่พรหมโลกย์โพ้น แลมาถวายแด่พระโพธิสัตว์เจ้า ๆ รับเอาไตรจีวรแต่พระพรหมแล้ว พระเจ้าจึงทรงไตรจีวรนั้น พระเจ้าจึงถอดผ้าขาวอันพระองค์ทรงนั้นออกจากพระกายพระเจ้าจึงยื่นให้แก่พรหมนั้น ๆ จึงรับเอาขึ้นไปไว้เถิงอกนิฏฐพรหม แล้วจึงนฤมิตเป็นพระเจดีย์แก้วกรวมประอบแก้วอันใสงามนั้น โดยสูงพระเจดีย์นั้นได้ ๙๖,๐๐๐ วา แลมีพระนามชื่อว่าทุศเจดีย์แล พรหมทั้งหลายนั้นย่อมไปอุปฐากบูชาแลวันจะ ๗ แสนบมิขาดฯ พรหมชั้นนั้นเพื่อไฟไหม้แผ่นดินนี้แล้วแลแผ่นดินนั้นไส้เมื่ออาทิพรหมชั้นนั้นลงมาดูดอกบัวอันเกิดในแผ่นดินนี้ พรหมนั้นจึงเอาบาตรจีวรแลเครื่องบริขารนับทั้งบาตรแลจีวรด้วยเป็น ๘ สิ่ง ชื่ออัฏฐบริขารอยู่ในดอกบัวนั้นแลฯ คือว่ผ้าสบง ๑ ผ้าจีวร ๑ ผ้าสังฆาฏิ ๑ บาตร ๑ ผ้าประคด ๑ มีดโกณ ๑ เข็มเย็บผ้า ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑ อันว่าเครื่อง ๘ สิ่งนี้ชื่ออัฏฐบริขารแลพรหมเอาอัฏฐบริขารนี้ขึ้นไปไว้เถิงพรหมโลกย์ ชั้นอันชื่ออกนิฏฐพรหมนั้นแลฯ เถิงเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าออกทรงผนวชไส้พรหมเอาลงมาถวายฯ แลกัลปอันใดจะมีพระพุทธเจ้าแต่องค์ ๑ ไส้ จึงดอกบัวเกิดขึ้นดอก ๑ แลกลปนั้นชื่อว่าสารกัลปแลฯ กัลปได้จักเกิดมีพระพุทธเจ้า ๒ องค์ไส้ดอกบัวเกิด ๒ ดวงแลกัลปนั้นชื่อปลากัลปแลฯ กัลปอันใดแลจะมีพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ไส้ดอกบัวเกิดขึ้น ๓ ดอก กัลปนั้นชื่อว่าวรกัลปแลฯ กัลปใดแลมีพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ได้ดอกบัวเกิด ๔ ดอกกัลปนั้นชื่อว่าสารปัณฑกัลปแลฯ กัลปใดจะมีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ไส้ดอกบัวเกิดขึ้น ๕ ดอกแล กัลปนั้นชื่อภัททกัลปแลฯ กัลปใดอันหาพระพุทธเจ้าเกิดบมิได้ไส้ กัลปนั้นชื่อสุญญูกัลปแลฯ แต่กัลปละอันละอันจะเกิดมีพระพุทธเจ้าไส้แต่เต็ม ๕ องค์ไส้บห่อนมี อันว่าอัฐฏบริขารอันเกิดมีในดอกบัวดังนี้ ย่อมเกิดเป็นธรรมดาโดยสมภารพระเจ้าแลฯ ฝูงอันไปเกิดในพรหมโลกนั้นกระทำบุญธรรมดังฤๅ แลจึงได้ไปเกิดสิ้นฯ ผู้ใดก็ดีแม้นว่าได้ทำบุญธรรมบวชเป็นสมณะ แม้นว่ามีศีลเท่าใดก็ดีแลบมิได้ฌานว่าจะไปโดยอากาศดำดินไปดังนั้นบห่อนไปเกิดในพรหมโลกย์สักคาบ ผู้ใดกอปร์ด้วยฌานรอดชั่วตนแลมิได้ถอยฌานจึงได้ไปเกิดในพรหมโลกย์ไส้ฯ เมื่อจะภาวนาให้ได้ฌานนั้นย่อมกระทำดังนี้ ชาวภิกษุอันเป็นศิษย์แห่งพระพุทธเจ้าก็ดีฤๅษีผู้มีศีลก็ดี นั่งสมาธิภาทวนาจำเริญกรรมฐานว่าปฐวิกสิณํ กลางวันกลางคืนบำบัดปัญจนิวรณ์ คือพยาบาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจนิวรณ์ ๑ กุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ จึงจะกอปร์ด้วยองค์ ๕ อัน อันชื่อว่าวิตก ๑ วิจาร ๑ ปิติ ๑ สุข ๑ เอกกัคคตา ๑ จึงจะกอปร์ด้วยญาณ ๕ อัน ๆ หนึ่งคืออิทธิวิธิญาณ ๑ ทิพยโสตญาณ ๑ ทิพยจักษุญาณ ๑ ปรจิตตวิชชาญาณ ๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๑ อันเป็นสุภาวบุญ อันกระทำแลได้ไปเกิดในโลกย์นี้แล้วเมื่อใดไปเกิดในรูปพรหม ๑๕ ชั้นอันเว้นแต่อสัญญีพรหมนั้น เมื่อเกิดนั้นพุพพะ ๒๓ ขึ้นทีเดียวบมิได้เกิดรูป ๒๘ ทีเดียว ดุจเทพยดาอันเกิดในกามภูมินั้น พรหมเกิดนั้นแต่รูป ๒๓ แลรูป ๕ บมิเกิดนั้นรูป ๕ อันนั้นอันใดสี้นฯ อันหนึ่งชื่อว่าฆานรูป คือรูปอันรู้จักอันหอมอันเหม็นฯ อนึ่งชื่อชิวหารูป คืออันรู้จักรสอันกินแลรู้จักรสฯ อนึ่งชื่อกายรูป คือรู้สึกอันเจ็บอันปวดแต่ตนฯ อนึ่งชื่อปุริสภาวรูป คืออันรู้กระกัติกามตัณหาดังผู้ชายฯ เกิดชีวิต ๔ อันด้วยทรงรูปพระพรหมนั้นโสดฯ ชีวิตอันอยู่ในรูปนั้นอันใดสิ้นฯ ชีวิตหนึ่งอันอยู่ในจักษุรูป คือแต่งรักษาตาฯ ชีวิตหนึ่งอันอยู่ในโสตรูปแต่งรักษาหูฯ อนึ่งอยู่ในมนรูปแต่งรักษาใจฯ อนึ่งอยู่สัททัฏฐกรูปอันแต่งรูปรักษาเสียงฯ พรหมอันเกิดในชั้นอสัญญีนั้นก็ย่อมพลเกิดดังฝูงพรหมทั้งหลายอันกล่าวก่อน แต่รูปทั้งหลายอันเกิดด้วยอสัญญีพรหมนั้นได้ ๑๗ จำพวกอันใดบ้างสิ้นฯ สัททัฏฐรูปมี ๘ อันชีวิตรูป ๑ อากาศรูป วิการรูป ๒ สชนรูป ๔ ผสมได้ ๑๗ เกิดเป็นชีวิตอันเดียวไส้ ชีวิตอยู่ในสัททัฏฐกรูปฝูงพรหมอันมีจิตแลอยู่ภาวนาจำเริญฌานนั้น ยังมีเจตสิกอันเป็นเพื่อนจิตแต่งมาจำเริญใจพรหมนั้นได้เท่าใดสิ้นฯ ในกุศลนั้นมีเจตสิกอันเป็นเพือ่นจิตได้ ๒๒ จำพวกอันใดสิ้นฯ อนึ่งชื่อสัทธาย่อมสัทธาเถิงบุญธรรมทุกเมื่อ อนึ่งชื่อสติบมิรู้สมฤดีบมิรู้ลืมบุญธรรมสักเมื่อ อนึ่งชื่อหิริรู้ละอายบมิอาจประมาทสักอันฯ อนึ่งชื่อโอตัปป รู้กลัวสภาวอันจะเป็นบาปฯ อนึ่งชื่ออโลโภบมิโลภ อนึ่งชื่ออโทโสบมิรู้เคียดบมิรู้หิงษาบมิรู้คุมนุมโทษฯ อนึ่งชื่อตัตรมัชฌัตตา คือกระทำอันใดด้วยใจบกลายฯ อนึ่งชื่อกายปัสสัทธิ กระทำอันใดในสภาวธรรมฯ อนึ่งชื่อกายลหุตา มีตนอันพลันธรรมฯ อนึ่งชื่อจิตตลหุตา มีใจอันพลันแก่ธรรมฯ อนึ่งชื่อกายมุทุตา มีตนอันก่อนแก่ธรรมแลสภาวทั้งหลายฯ อนึ่งชื่อจิตตมุทุตา มีใจอันอ่อนแก่ธรรมแลสภาวทั้งหลายฯ อนึ่งชื่อกายกัมมัญญตา มีตนอันควรแก่สภาวแลธรรมทั้งหลายฯ อนึ่งชื่อจิตตกัมมัญญตา มีใจอันควรแก่สภาวธรรมทั้งหลายฯ อนึ่งชื่อกายปาคุญญตา มีตนอันลำอุดแก่ธรรมฯ อนึ่งชื่อจิตตปาคุญญตามีใจอันลำอุดแก่ธรรมฯ อนึ่งชื่อกายุชุตตา มีตนซื่อแก่ธรรมฯ อนึ่งชื่อจิตตุชุตตา มีใจซื่อแก่ธรรมฯ อนึ่งชื่อกรุณา แลมีใจอันกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลายฯ อนึ่งชื่อมุทุตา มีใจอันอ่อนแก่สัตว์ทั้งหลายฯ อนึ่งชื่อปัญจินทรีย ว่าปัญญาอันเป็นใหญ่แก่อินทรีย์ทั้งหลายฯ ผสมได้ ๒๒ จำพวกนี้ แลเป็นเพื่อนใจเป็นต่างอาหารแก่ฝูงพรหมทั้งหลายแลฯ กล่างเถิงพรหมทั้งหลายอันมีรูปชื่อว่ารูปาวจรภูมิเป็นสัตตกัณฑ์ด้วยสังเขปแล้วแต่เท่านี้แลฯ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไตรภูมิพระร่วง_-_คลังปัญญาไทย