กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาชญา ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน/ความนำ (1)

ความนำ

ผู้สนใจในวิชากฎหมาย เมื่อประสงค์จะทำการค้นคว้าในตำราภาษาไทย ย่อมรู้สึกสลดใจที่ประสบเหตุอันมิพึงคาดหมาย จำนวนตำราภาษาของเรามีน้อยแทบจะเก็บไว้ในความจำได้หมด และส่วนมากก็เป็นแต่เพียงหัวข้อย่อ ๆ ไม่ละเอียด เรียบเรียงขึ้นเพื่อสอนในโรงเรียนกฎหมาย การที่ขุนวรกิจโกศลได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาชญาซึ่งมีการสอนเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. นี้ณมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงนับเป็นสิ่งที่ควรชมเป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นปัญหาระหว่างประเทศอันสำคัญปัญหาหนึ่ง การปฏิบัติของรัฐหนึ่ง ๆ ไม่เหมือนกัน การศึกษาจำเป็นต้องอาศัยการเทียบเคียงบทบัญญัติและวิธีปฏิบัติของรัฐหนึ่ง ๆ โครงที่ผู้แต่งวางไว้ในหนังสือนี้จึงชอบด้วยเหตุและผล

การเทียบเคียงหลักต่าง ๆ ของต่างประเทศ และความเป็นมาของหลักนั้น ๆ แสดงให้เห็นความเจริญของกฎหมายในการปราบผู้กระทำผิดมิให้รอดพ้นอาชญา แม้ในปัจจุบัน บทบัญญัติและการปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ ยังไม่ลงรอยกัน เนื่องจากความรู้สึกนึกคิดของชนต่างชาติต่างภาษายังแตกต่างกันอยู่ แต่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามที่จะสมานความนึกคิดนั้นให้ลงรอยกันให้จงได้ งานนี้เป็นงานใหญ่ แต่เท่าที่ได้เป็นมาจนทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่า ความพยายามนี้จะต้องบรรลุผลในวันหนึ่งซึ่งไม่ห่างไกลนัก กฎหมายอาชญาจะมิใช่เป็นกฎหมายที่ใช้ฉะเพาะในรัฐหนึ่ง แต่จะใช้ได้ทั่วไป ผู้กระทำผิดจะปลีกตัวหลบหนีอาชญาแห่งใดก็จะไม่พ้น ความปลอดภัยสงบสุขก็จะมีทั่วถึงทุกส่วนในพื้นพิภพ

ผู้แต่งได้นำหลักของรัฐต่าง ๆ ที่สำคัญมาบรรยายไว้อย่างครบถ้วนเกินกว่าบันทึกความจำ นับได้ว่า เป็นตำราที่ดีเล่มหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงเชื่อมั่นว่า หนังสือนี้จะช่วยผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยฉะเพาะในการปฏิบัติงาน เป็นอย่างดี และจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอันมาก.

บ้านถนนนครชัยศรี พระนคร
วันที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
เดือน บุนนาค