กฎหมายไทยฯ/เล่ม 1/เรื่อง 11

ประกาศตราความชอบ

ศุภมัศดุ ลุศักราช ๑๒๓๕ กุกุฏสังวัจฉร สาวันมาศ ชุสณปักษ์ ฉัฐมีดิถี ครุวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพย์มหามกุฎ บุรุศย์รัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรติราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมหัยสวรริยพิมานโดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยพระบรมราชวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยลำดับ จึ่งมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งจำเภาะเจ้าพระยาธรรมาธิกรบดี ศรีสุวิรมหามัตยวงษ์ ราชพงษ์นิกรานุรักษ์ มหาสวามิภักดิ์บรมราโชปการาภิรมย์ สรรโพดมกิจวิจารณ์ มหามณเฑียรบาลบดินทรราชนิเวศนินทรามาตย์ อันเตปุริกนารถเสนาบดี อภัยพิริยปูรากรมพาหุ ให้ตั้งพระราชบัญญัติประกาศแก่พระบรมราชวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดีข้าราชการทั้งปวงฤๅผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะได้รับเครื่องราชอิศรียยศในแผ่นดินสยาม ให้ทราบทั่วกันว่า หมายประกาศที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศไป ลงวันพุฒ เดือนอ้าย แรมสิบเอ็จค่ำ ปีมเสง เอกศก ศักราช ๑๒๓๑ ข้อความยังบกพร่องแลยังหาได้เปนข้อพระราชบัญญัติไม่ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งข้อพระราชบัญญัติจัดเพิ่มเติมให้ประกาศไปให้ทราบทั่วกันว่า

เครื่องบรมราชอิศรียยศสำหรับราชตระกูล
ชื่อนพรัตนราชวราภรณ์

แต่เดิมมีมาแต่ครั้งกรุงทวารวดีศรีอยุทธยาเก่า เปนเปนสายสร้อยพระสังวาลประดับเนาวรัตน สายสร้อยอ่อนสายหนึ่ง เปนเครื่องสำหรับพิไชยสงคราม แลสำหรับพระมหากระษัตริย์ทรงเมื่อเวลาบรมราชาภิเศกเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งภัทธบิฐ พรามณ์ได้ทูลถวาย ทรงรับมาสรวมพระองค์ก่อน แล้วจึ่งได้รับเครื่องบรมราชอิศรียยศราชกกุธภัณฑ์ต่อไป เปนของสำหรับแผ่นดินสืบมาดังนี้ ไม่ทราชัดว่าผู้ใดเปนผู้สร้างแลเปนตั้งผู้พระราชประเภณีอันนี้ แต่ครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาโบราณดำรงอยู่นั้น ก็มีสืบมาจนถึงตั้งกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาณประเทศบางกอก

ในปีขาน จัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนปฐมพระบรมราชวงษ์ปัจจุบันนี้ ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศก ก็ได้ทรงรับเครื่องราชอิศรียยศวันนี้สืบมา แล้วจึ่งได้ทรงสร้างพระสังวาลนพรัตน เปนสังวาลแฝดประดับเนาวรัตนเปนดอก ๆ คือเพชร์ดอกหนึ่ง ทับทิมดอกหนึ่ง มรกฎดอกหนึ่ง บุศราคำดอกหนึ่ง โกเมนดอกหนึ่ง นิลดอกหนึ่ง มุกดาดอกหนึ่ง เพทายดอกหนึ่ง ไพฑูริยดอกหนึ่ง สลับกันดังนี้จนตลอดสาย เพิ่มขึ้นเปนสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์อีกสายหนึ่ง

ครั้นจุลศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญ ตรีศก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเศก แล้วทรงพระราชดำริห์ให้สร้างดวงตราประดับเนาวรัตนเปนแฉก ๘ แฉก มีเพชร์เล็ก ๆ ประดับ เพิ่มเข้าในเครื่องราชอิศริยยศนพรัตนราชวราภรณ์ซึ่งเปนของเดิมนั้น เปนเครื่องต้นสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงองค์หนึ่ง แล้วจึ่งทำพระราชทานพระบรมวงษ์ผู้ใหญ่ ๆ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ๑ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ๑ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ๑ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิจประชานารถ ซึ่งได้เสด็จถวัลยราชดำรงศริรัตนราไชยสวรรยในแผ่นดินปัจยุบันนี้ ๑ เปนพระเกริยติยศในแผ่นดินสืบมา ครั้นมาในแผ่นดินปัจยุบันนี้ ได้โปรดพระราชทานดวงตรานพรัตนราชวราภรณ์แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ๑ พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ ๑ แลท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ๑ แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า พระบรมวงษ์ผู้ซึ่งได้รับดวงตรานพรัตนราชวราภรณ์นั้นมีแต่ดวงตรา ไม่มีสายสังวาล เพราะสายสังวาลผู้อื่นจะมีไม่ได้ เฉภาะทรงได้แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว จึ่งได้ทรงสร้างดวงตราเล็กประดับเนาวรัตนเหมือนอย่างดอกประจำยามที่พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ ด้านข้างหลังลงยาราชาวดี มีอุนาโลมอยู่กลาง มีจุลมงกุฎข้างบนประดับเพชร์ ห้อยติดกับแพรแถบสะภายสีเหลืองขอบเขียวริ้วแดงริ้วน้ำเงิน สะภายบ่าขวามาซ้ายแทนสายพระสังวาล สำหรับพระราชทานพระบรมวงษ์ซึ่งเปนผู้ใหญ่ในราชตระกูล ถ้าผู้ซึ่งเนื่องในราชตระกูลมีความดีมีความชอบต่อแผ่นดินใหญ่ยิ่งจึ่งจะรับได้ แลผู้ที่มิได้เนื่องในราชตระกูลฤๅผู้ที่ไม่ได้ถือพระพุทธสาศนาอันนั้น จะรับเครื่องราชอิศริยยศนี้ไม่ได้ เครื่องราชอิศริยยศนี้มีสำหรับพระเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ สำหรับพระราชทาน ๘ ดวง รวมเปน ๙ ดวงเท่านั้น ไม่มียิ่งขึ้นไปกว่านี้ เมื่อผู้ที่ได้รับไปนั้นสิ้นชนม์ชีพแล้ว ต้องส่งเครื่องราชอิศริยยศนี้คืน คงได้ไว้แต่คำประกาศที่ประทับพระราชลัญจกรสำหรับดวงตรานั้น จะได้ไว้เปนที่ระฤกแก่บุตรหลานสืบไป

อนึ่ง ผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิศริยยศนพรัตนราชวราภรณ์ เมื่อจะลงชื่อตัว ให้มีที่หมายตัวอักษรบอกยศต่อข้างท้ายดังนี้ น.ร. แทนนพรัตนราชวราภรณ์ตามยศซึ่งได้รับนั้นเทอญ

เครื่องราชอิศริยยศความชอบอย่างสูงที่สุด
ชื่อช้างเผือกสยาม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเมื่อปีรกา ตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ เปนแผ่นทองคำสลักเปนรูปช้าง มีมงกุฎแลเครื่องสูงลงยาราชาวดีประดับเพชร์บ้าง เปนรูปช้างมีแต่มงกุฎไม่มีเครื่องสูงลงยาราชาวดีบ้าง เปนรูปช้างมีแต่ธงลงยาราชาวดีบ้าง แลไม่ได้ลงยาบ้าง แต่ไม่มีชื่อมีชั้น เปนแต่เรียกว่าดิกอเรแชน สำหรับพระราชทานพระบรมราชวงษานุวงษ์ แลข้าราชการที่ไปราชการต่างประเทศ แลราชทูตที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในกรุงเทพมหานคร แลคนชาวยุโหรปบ้าง เมื่อครั้งปีชวด ฉอศก ศักราช ๑๒๒๖ พระเจ้าแอมเปเรอราชาธิราชกรุงฝรั่งเสศส่งเครื่องราชอิศริยยศอย่างสูงเปนของทรงยินดีเข้ามา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ส่งดวงตราเครื่องราชอิศริยยศเช่นว่ามานี้ไปเปนของทรงยินดีตอบแทนสมเด็จพระเจ้าแอมเปเรอ

ภายหลังเมื่อปีมเสง เอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า ดวงตราที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถทรงสร้างขึ้นไว้นั้นเปนเครื่องราชอิศริยยศอย่างสูง แลมีรูปช้างเผือกสำแดงชื่อแผ่นดิน ด้วยคนชาวต่างประเทศได้รับพระราชทานไปได้ทราบด้วยกันมากแล้ว สมควรจะเปนเครื่องราชอิศริยยศอย่างสูงในสยาม สำหรับตอบแทนพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ แลพระราชทานแก่ผู้ที่มีความชอบยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน แต่ยังไม่มีชื่อมีชั้นเปนสำคัญเครื่องหมาย แลสายแพรแถบสะภายให้สมควร จึ่งทรงแก้ดวงตราเก่าแล้วจัดเพิ่มเติมเปน ๕ ชั้น มีชื่อสำหรับดวงตราทุก ๆ ชั้น

ชั้นที่ ๑ ชื่อมหาวราภรณ์ ดวงตราใหญ่กลาง ลงยาราชาวดี พื้นน้ำเงินแก่ มีรูปมหามงกุฎอยู่บนหลังช้าง มีเครื่องสูงสองข้าง สลักทับมีเนื่องเงินสลักเปนเพชร์โปร่ง ขอบนอกเปนกลีบบัว ลงยาราวดีสีแดง มีดอกแทรกตามกลีบบัวเปนระยะ ๆ ลงยาราชาวดีสีขาบดวงหนึ่ง แลมีดวงตราเล็กข้างน่าเปนแฉกกลีบบัวสามชั้น ลงยาราชาวดีสีแดงสีเขียว กลางดวงตรานั้นเปนรูปช้าง ลงยาราชาวดีสีขาว ด้านหลังมีอุนาโลมอยู่กลาง มีอักษร ส พ ป ม ม ๔ เปนอักษรพระนามย่อในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่รอบอุนาโลมบนกลีบบัว มีรูปมหามงกุฎห้อยแพรแถบสะภายสีแดงขอบเขียว มีริ้วน้ำเงิน ๑ ริ้วเหลือง ๑ กว้าง ๔ นิ้ว รวมทั้งสิ้นนี้เปนชั้นที่ ๑

ชั้นที่ ๒ ชื่อจุลวราภรณ์ มีดวงตราใหญ่เหมือนอย่างมหาวราภรณ์ แต่ย่อมหน่อยหนึ่ง แลมีดวงตราเล็ก ข้างน่ามีรูปช้างเผือกอยู่กลาง ขอบเปนแฉกกลีบบัว ๓ ชั้น ลงยาราชาวดีสีเขียวสีแดง มีมหามงกุฎอยู่บนกลีบบัว สองข้างมีใบไม้ทองติดกับห่วงห้อย ด้านหลังมีอุนาโลมอยู่กลาง มีอักษร ส พ ป ม ม ๔ รอบอุนาโลม ห้อยแพรแถบขนาดเล็ก มีดอกไม้ติดที่แพรแถบด้วย สำหรับติดแนบเสื้อชั้นนอกที่อกข้างขวา ดวงใหญ่ติดข้างซ้าย รวมทั้งสิ้นนี้เปนชั้นที่ ๒

ชั้นที่ ๓ ชื่อนิภาภรณ์ มีดวงตราเปนแฉกกลีบบัว ๓ ชั้นรอบ ลงยาราชาวดีสีแดง ด้านหลังมีอักษร ส พ ป ม ม ๔ อยู่รอบอุนาโลมบนกลีบบัว มีมหามงกุฎติดกับห่วงห้อยแพรแถบขนาดกลาง ร้อยสรวมฅอ เปนชั้นที่ ๓

ชั้นที่ ๓ ชื่อภูษนาภรณ์ มีดวงตราข้างน่าเปนรูปช้างเผือกอยู่กลาง ขอบเปนกลีบบัวสามชั้น ลงยาราชาวดีสีแดงสีเขียว มีมหามงกุฎทองอยู่บนกลีบบัว สองข้างมีใบไม้ทองติดกับห่วงห้อย ด้านหลังมีอักษร ส พ ป ม ม ๔ รอบอุนาโลม ห้อยแพรแถบขนาดเล็ก ผูกดอกไม้ติดข้างบน สำหรับติดแนบเสื้อชั้นนอกที่อกข้างซ้าย เปนชั้นที่ ๔

ชั้นที่ ๕ ชื่อทิพยาภรณ์ มีดวงตราเล็กรูปเหมือนดวงตราที่ ๔ มีสายแพรแถบเล็กติดข้างซ้าย แต่ไม่มีดอกไม้ เปนชั้นที่ ๕ ดวงตราเครื่องราชอิศริยยศชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ ชั้นที่ ๔ นี้ทำด้วยทองคำ แต่ชั้นที่ ๕ นั้นทำด้วยเงิน ดวงตรามหาวราภรณ์ ชั้นที่ ๑ นั้น มีกำหนดเพียง ๒๑ ดวง คือ เปนเครื่องต้นสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงองค์ ๑ ยังอิก ๒๐ ดวงนั้นสำหรับพระราชทานพระบรมราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งมีความชอบในราชการแผ่นดินเปนอย่างยิ่ง แลได้รับราชการในแผ่นดินมาช้านาน ไม่มีความผิดความเสีย เปนคุณต่อแผ่นดินมาก จึ่งจะควรรับเครื่องราชอิศริยยศนี้ได้ ชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ มี ๕๐ ดวง ชั้นที่ ๓ นิภาภรณ์ ๑๐๐ ดวง ชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์ ๒๐๐ ดวง ชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์ ไม่มีกำหนด สำหรับพระราชทานผู้มีความชอบในแผ่นดินแลทำราชการมาช้านานตามความชอบมากแลน้อย อนึ่ง ผู้ซึ่งได้รับตราเครื่องราชอิศริยยศช้างเผือกสยามนี้ให้ลงตัวอักษรที่ท้ายชื่อหมายบอกยศชื่ออักษรดังนี้ ที่ ๑ ม ช แทนมหาวราภรณ์ ที่ ๒ จ ช แทนจุลวราภรณ์ ที่ ๓ น ช แทนนิภาภรณ์ ที่ ๔ ภ ช แทนภูษนาภรณ์ ที่ ๕ ท ช แทนทิพยาภรณ์ ให้ผู้ซึ่งรับเครื่องราชอิศริยยศประพฤดิ์ตามประกาศแลพระราชบัญญัตินี้ต่อไปเทอญ

เครื่องราชอิศริยยศความชอบอย่างสูง
ชื่อมงกุฎสยาม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์จัดชื่อแลชั้นเปน ๕ ชั้นสำหรับดวงตราเครื่องราชอิศริยยศช้างเผือกซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างขึ้นไว้นั้น ทรงทำนุบำรุงเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ขึ้นดังที่ว่ามาแล้ว เปนการเชิดชูเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถให้เจริญรุ่งเรืองไปสิ้นกาลนาน จึ่งทรงพระราชดำริห์ว่า ในกาลทุกวันนี้ ไม่มีฆ่าศึกสัตรู กรุงสยามเปนพระนครเกษมศุขสมบูรณ์ เจริญขึ้นดีกว่าแต่ก่อนหลายประการ มีทางพระราชไมตรีติดเนื่องกับต่างประเทศที่เปนกรุงมหานครใหญ่ ๆ ควรจะมีเครื่องประดับสำหรับเชิดชูอิศริยยศแก่ผู้ซึ่งมีความชอบให้เจริญยิ่งขึ้นไป จะได้เปนที่เฉลิมพระเกียรติ์ยศ แลงามแก่บ้านเมือง จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างดวงตราเครื่องราชอิศริยยศขึ้นอิกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามงกุฎสยาม ในวันพุฒ เดือนอ้าย แรมสิบเอ็ดค่ำ ปีมเสง เอกศก ศักราช ๑๒๓๑ อนุวัติตามอย่างดวงตราเครื่องราชอิศริยยศช้างเผือก สำหรับพระราชทานผู้มีความชอบในราชการมากแลน้อยโดยสมควร แลดวงตราใหญ่พื้นกลางลงยาราชาวดีสีขาบ มีรูปจุลมงกุฎ มีพานรอง มีเครื่องสูง ๒ ข้างสลักโปร่งทับอิกชั้นหนึ่ง มีเนื่องเงินสลักเปนเพชร์โปร่งรอบ ขอบเปนกลีบบัวสีเขียวสีแดงสลับรอบดวงหนึ่ง มีแพรแถบสะภาย พื้นน้ำเงิน ขอบเขียว ริ้วแดง ๑ ริ้วเหลือง ๑ กว้าง ๔ นิ้ว แลมีดวงตราเล็ก ข้างน่าเปนแฉกกลีบบัว ๒ ชั้น ลงยาราชาวดีสีเขียวสีแดง กลางพื้นทอง ไม่ได้ลงยา มีรูปจุลมงกุฎ มีพานรอง มีเครื่องสูงสองข้างด้านหลัง ที่กลางดวงตรามีตัวอักษร จ ป ร ไคว่กัน เปนอักษรพระนามย่อในแผ่นดินปัจยุบันนี้ ขอบเปนกลีบบัวลงยาราชาวดีเหมือนกับด้านน่า ข้างบนกลีบบัวเปนกิ่งใบไม้ทองสามใบ ติดห่วงห้อยแพรแถบสะภาย รวมทั้งสิ้นนี้ชื่อมหาสุราภรณ์ เปนชั้นที่ ๑

ชั้นที่ ๒ ชื่อจุลสุราภรณ์ มีดวงตราใหญ่คล้ายกับมหาสุราภรณ์ดวงใหญ่ แต่ย่อมหน่อยหนึ่ง แลมีดวงตราเล็ก ด้านข้างน่าเปนแฉกกลีบบัว ๒ ชั้นลงยาราชาวดีสีแดงสีเขียว กลางพื้นทอง ไม่ได้ลงยา มีรูปจุลมงกุฎ มีพานรอง ด้านหลังมีอักษร จ ป ร ไคว่กันอยู่ที่กลางดวงตรา ขอบเปนกลีบบัว ลงยาราชาวดีเหมือนกับด้านน่า บนกลีบบัวเปนกิ่งไม้ทองสามใบติดกับห่วงห้อยแพรแถบขนาดเล็ก ผูกดอกไม้ข้างบน ดวงเล็กติดแนบกับเสื้อชั้นนอกที่อกข้างขวา ดวงใหญ่ติดแนบกับเสื้อชั้นนอกที่อกข้างซ้าย รวมทั้งสองดวงเปนชั้นที่ ๒

ชั้นที่ ๓ ชื่อมัณฑนาภรณ์ รูปดวงตราเหมือนอย่างดวงตราเล็ก ห้อยแพรแถบสะภายของมหาสุราภรณ์ มีห่วงห้อยแพรแถบขนาดกลางร้อยสรวมฅอ เปนชั้นที่ ๓

ชั้นที่ ๔ ชื่อภัทราภรณ์ มีดวงตราเหมือนอย่างดวงตราเล็กของจุลสุราภรณ์ มีสายแถบขนาดเล็กผูกดอกไม้ข้างบน ติดแนบกับเสื้อชั้นนอกที่อกข้างซ้าย เปนชั้นที่ ๔

ดวงตราเครื่องราชอิศริยยศชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ ชั้นที่ ๔ นี้ทำด้วยทองคำทั้งสิ้น แต่ชั้นที่ ๕ นั้นทำด้วยเงิน ดวงตรามหาสุราภรณ์ ชั้นที่ ๑ นั้น มีกำหนดเพียง ๔๑ ดวง คือ เปนเครื่องต้นสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงดวง ๑ อิก ๔๐ ดวงสำหรับพระราชทานพระบรมราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งมีความชอบยิ่งใหญ่ในราชการแผ่นดินแลได้ทำราชการมานานเรียบร้อยมีคุณต่อแผ่นดิน แลส่งไปนานาประเทศซึ่งเปนทางพระราชไมตรี ชั้นที่ ๒ จุลสุราภรณ์ มี ๑๐๐ ดวง ชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์ มี ๒๐๐ ดวง ชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์ มี ๔๐๐ ดวง ชั้นที่ ๕ วิจิตาภรณ์นั้น ไม่มีกำหนด สำหรับพระราชทานผู้มีความชอบในแผ่นดินแลทำราชการมาช้านานไม่มีความผิดไม่มีความร้าย ตามความชอบมากแลน้อย อนึ่ง ถ้าผู้ใดซึ่งได้รับตราเครื่องราชอิศริยยศทั้ง ๕ ชั้นนี้ ให้ใช้หมายตัวอักษรท้ายชื่อบอกยศแทนเครื่องราชอิศริยยศดังนี้ ที่ ๑ ม ส ม แทนมหาสุราภรณ์ ที่ ๒ จ ม แทนจุลสุราภรณ์ ที่ ๓ ม ม แทนมัณฑนาภรณ์ ที่ ๔ ภ ม แทนภัทราภรณ์ ที่ ๕ ว ม แทนวิจิตราภรณ์ ตามลำดับเครื่องราชอิศริยยศ ให้ผู้รับเครื่องราชอิศริยยศประพฤดิ์ตามประกาศแลพระราชบัญญัติต่อไปนี้เทอญ

ข้อพระราชบัญญัติหรำหรับเครื่องราชอิศริยยศ
ช้างเผือแลมงกุฎสยาม

ข้อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยยศที่กล่าวมานี้ไปแล้ว จงแต่งเมื่อการประชุมใหญ่ ๆ คือ เวลาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แลเวลาเสด็จออกแขกเมือง แลการพระราชพิธีโสกันต์ แลทรงผนวชซึ่งเปนการใหญ่ แลเสด็จพระราชดำเนิรพระราชทานพระกฐิน แลการอื่น ๆ คือ เวลาใด ๆ ต้องใช้สรวมเสื้อเยียรบับเข้มขาบ เปนคราวแต่งตัวเต็มตามยศก็ดี ฤๅเวลาสรวมเสื้อครึ่งยศ ฤๅเสื้ออิวนิงเกรศแต่งเวลาเยน แลเวลาอื่นซึ่งเปนการหลวงนั้น ๆ ก็ดี ก็ควรจะแต่งเครื่องราชอิศริยยศนั้นด้วยทุกครั้ง ฤๅเปนการพิเสศนอกจากการหลวง คือ การมงคลตัดจุก แลรดน้ำบ่าวสาว แลบวชนาค แลทำบุญเรือนตามปี แลการพิเสศมีขึ้นในเวลานั้น ๆ แลการรับแขกมีบันดาศักดิ์ในกรุงนี้ฤๅชาวต่างประเทศ แลเวลาประชุมเลี้ยงณที่ใด ๆ ก็ควรใช้แต่งให้เปนเกียรติยศไม่ห้าม ซึ่งโปรดพระราชทานมาแล้วนั้นมิใช่จะให้เก็บรักษาไว้ ฃอท่านทุกพระองค์ทุกท่านทุกนายจงทรงแลแต่งใช้ตามกาลเวลาที่ว่ามาแล้วนี้ อย่าให้มีความรังเกียจกระดากกระเดื่องอะไรเลย จะได้เปนอย่างธรรมเนียมอันงามดี เปนเกียรติยศในแผ่นดินสยามไปสิ้นกาลนาน

ข้อเครื่องราชอิศริยยศอย่างที่ว่ามานี้มีหนังสือคำประกาศสำหรับดวงตราทรงประทับพระราชลัญจกรเปนสำคัญด้วย ถ้ามีเหตุโจรลักไปฤๅหายเสีย จะทำขึ้นใช้แทนให้เท่ากับของเดิมก็ได้ แต่ห้ามมิให้ประดับเพชร์ประดับพลอย เว้นไว้แต่ได้กราบบังคมทูลฃอพระบรมราชานุญาต ทรงพระกรุณาโปรดให้ประดับ จึ่งประดับได้ แต่จะทำให้ใหญ่กว่าดวงตราเดิมนั้นไม่ได้ ฤๅประสงค์จะใคร่ทำเอาไว้ให้เปนที่รฦกแก่บุตรหลานสืบไป จะถ่ายรูปดวงตราเดิมทำขึ้นใหม่อิกให้เล็กกว่าดวงตราที่พระราชทานไปนั้น จะประดับเพชรประดับก็ได้ ไม่ห้าม แต่ลวดลายให้เหมือนคงที่อยู่ อย่าให้แปลกไป อนึ่ง เมื่อเวลาว่างไม่ได้ติดดวงตรา ก็ให้ใช้ผ้าแถบเล็กสีแลริ้วเหมือนผ้าแถบเครื่องราชอิศริยยศที่ตัวได้นั้น ถ้าได้ดวงตราชั้นที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ ให้ทำแพรแถบเล็กเปนรูปแมงปอ ถ้าได้ดวงตราชั้นที่ ๒ ที่ ๔ ให้ทำแพรแถบเปนรูปดอกไม้ ติดที่ดุมเสื้อบอกยศเปนสำดัญ ผู้ซึ่งได้รับเครื่องราชอิศริยยศนั้น ถ้าไม่เข้าใจในการที่จะแต่งให้ต้องตามแบบอย่าง ฤๅมีความสงไสยไม่รู้ความอธิบายในพระราชบัญญัติข้อใดข้อหนึ่ง ก็ให้มาไต่ถามต่อเจ้าพนักงาน

ข้อเครื่องพระราชอิศริยยศช้างเผือกแลมงกุฎสยาม อย่างละ ๕ ชั้น ทีพระราชทานไปนั้น ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้เปนสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้รับ ไม่ต้องคืน แลดวงตราช้างเผือกกับมงกุฎสยามนั้นมีกำหนดสูงแลต่ำกว่ากันตามลำดับดังนี้ ตราช้างเผือกชั้นที่หนึ่งสูงกว่าตรามงกุฎสยามชั้นที่สอง ตรามงกฎสยามชั้นที่หนึ่งสูงกว่าตราชั้นเผือกชั้นที่สอง ตราช้างเผือกชั้นที่สองสูงกว่าตรามงกุฎสยามชั้นที่สอง พึงให้รู้เทียบเคียงสูงต่ำตามลำดับดวงตราทั้งปวงดังที่ว่านี้ อนึ่ง ผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิศริยยศอย่างต่ำอยู่ก่อนแล้วภายหลังได้รับดวงตราราชอิศริยยศอย่างสูงขึ้นไป ให้งดดวงตราชั้นต่ำนั้นเสีย ให้ใช้ตราอย่างสูงดวงเดียว ซึ่งว่านี้ในดวงตราจำพวกเดียวกัน ถ้าเปนตราต่างพวก คือ ตราช้างเผือกกับตรามงกุฎสยาม ติดร่วมด้วยกันได้ ไม่ห้าม

ข้อผู้ที่ได้รับพระราชทานดวงตราสำหรับติดเสื้อเปนเครื่องราชอิศริยยศมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ไม่เลิกถอน ให้คงใช้ได้ตามเดิม ไว้เปนที่ระฤกถึงพระเดชพระคุณต่อไป ถ้าผู้ที่ได้ดวงตรามาแต่เดิมนั้นจะใคร่เปลี่ยนดวงตราราชอิศริยยศช้างเผืองอย่างที่ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดขึ้นใหมในประจุบันนี้ ก็ให้มาแจ้งความต่อเจ้าพนักงานให้กราบบังคมทูลพระกรุณา จะเปลี่ยนพระราชทานให้ตามยศตราเดิม ถ้าดวงตราเดิมเปนแผ่นทองสลักเปนรูปช้างมีมงกฎแลเครื่องสูงลงยาราชาวดีประดับเพชร ก็จะโปรดพระราชทานดวงตราช้างเผือกสยามชั้นที่ ๒ พร้อมทั้งคำประกาศประทับพระราชลัญจกรด้วย ถ้าดวงตราเดิมเปนแผ่นทองสลักรูปช้างมีมงกุฎลงยาราวชดี ไม่มีเครื่องสูง ไม่ได้ประดับเพชร ก็จะโปรดพระราชทานตราช้างเผือกชั้นที่ ๓ เปลี่ยนให้ ถ้าตราเดิมเปนรูปช้างเผือกไม่มีมงกุฎ มีแต่ลงยาราชวดี ก็จะโปรดพระราชทานตราช้างเผือกชั้นที่ ๔ ถ้าตราเดิมเปนรูปช้างมีมงกุฎ ไม่ได้ลงยาราชวดี ก็จะโปรดพระราชทานดวงตราช้างเผือกชั้นที่ ๕

ข้อผู้ซึ่งได้รับเครื่องราชอิศริยยศเชนว่ามานี้มีพิเสศแปลกกว่าข้าราชการตามปรกติหลายประการ คือ เมื่อเวลาแต่งตัวเด็มยศ ติดดวงตราช้างเผือก ดวงตรามงกุฎสยาม ชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มาแล้ว ทหารซึ่งรักษายามประจำอยู่ในที่ต่าง ๆ ต้องคำนับ (วันทิยาวุธ) ถ้าแต่งตัวเต็มยศติดดวงตราช้างเผือก ดวงตรามงกุฎสยาม ชั้นที่ ๔ ที่ ๕ ทหารต้องคำนับ (อังศิเนวุธ) ยกไว้แต่ทหารเข้าแถวใหญ่หรือประจำอยู่ ฤๅมีผู้บันดาศักดิ์ใหญ่กว่าผู้ที่แต่งมานั้นอยู่ที่นั้นด้วย แลผู้ซึ่งมีความชอบได้รับตราเครื่องราชอิศริยยศทั้งปวงนี้ ถ้ามีคดีเกี่ยวข้องในตัวเองประการใด ๆ ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จะทรงพระกรุณาโปรดให้มีตระลาการชำระเปนความรับสั่ง เมื่อพิจารณาชณะได้ปรับไหม จะโปรดยกพินัยหลวงพระราชทานให้ด้วย ถ้าแพ้ลงก็ต้องเสียเบี้ยปรับคงเดิมศักดิ์นา แต่ส่วนพินัยหลวง ก็โปรดยกพระราชทานให้

ข้อผู้ซึ่งได้รับตราเครื่องราชอิศริยยศทั้งปวงนี้ ให้คงแต่งตามที่ได้รับพระราชทาน ถ้าผู้ใดทำดวงตราชั้นสูงกว่ายศดวงตราที่ตัวได้ปรอมไซ้ ก็จะให้ปรับไหมเปนข้อเลมิดตามศักดิ์นาให้แก่โจทย์ฤๅผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเครื่องราชอิศริยยศนั้น ห้ามมิให้ทำดวงตาเทียมปลอมแต่งเปนอันขาดทีเดียว ถ้าผูัใดทำดวงตราเทียมปลอมแต่งใช้ จับได้จะให้มีโทษจนหนัก

ข้อจะทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าพนักงานให้เปนผู้จัดการกำกับตรวจตราจัดการในเครื่องราชอิศรยยศทั้งปวงนี้เจ้าพนักงานนั้นต้องเอาใจใส่จดหมายรายชื่อแลความชอบของผู้ที่ได้รับดวงตราไว้ให้ถี่ถ้วน ให้จดชื่อเดิม ชื่อตั้ง ตำแหน่งศ แลอายุ สำหรับชั้นดวงตราแลวันที่ได้รับดวงตราไปให้ถี่ถ้วน ไว้เปนคำญัญหอหลวง แล้วให้สั่งให้กรมวังมาคัดไปประบาทให้รูทั่วรุกกระทรวง

เหรียญสำหรับทหาร
ชื่อจักรมาลา

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า ทหารทั้งปวงผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งรับราชการมานาน ไม่มีความผิดความร้าย มีความภักดีต่อราชการโดยสุจริตเรียบร้อย ก็ควรจะได้รับพระราชทานเครื่องแต่งเปนของสำแดงความชอบแต่ในพวกทหาร จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องแต่งบอกสำคัญความชอบในพวกทหารเปนเหรียญเงิน ข้างน่าหนึ่งมีรูปจุลมงกุฎ มีพานรอง มีเครื่องสูงสองข้าง ด้านหลังมีรูปช้าง มีอักษรอยู่ข้างบนว่า ส พ ป ม จ ๕ ขอบเปนจักร ชื่อจักรมาลา ห้อยผ้าสีแดงขอบเขียวริ้วน้ำเงิน ๑ เหลือง ๑ แลมีเขมเงินสำหรับกลัดติดแนบกับเสื้อชั้นนอกที่อกข้างซ้าย สำหรับพระราชทานทหารซึ่งได้รับราชการมานานถึง ๑๕ ปีไม่มีความผิด แลทหารซึ่งได้รับราชการแขงแรงในการช่วยดับเพลิงเปนต้น เหรียญที่พระราชทานนั้นมีหนังสือคำประกาศประทับพระราชลัญจกรสำหรับด้วย

เหรียญสำหรับผู้มีวิชาการช่างต่าง ๆ
แลความชอบในพระองค์

อนึ่ง ทรงพระราชดำริห์ให้สร้างดวงตราสำหรับพระราชทานผู้มีความชอบในพระองค์แลทำการช่างต่าง ๆ ฝีมือดีอิก ๒ อย่าง ที่ ๑ ชื่อรัตนาภรณ์ ดวงตรามีรูปจุลมงกุฎ มีเครื่องสูง ๒ ข้าง ขอบเปนรัศมี สลักเปนเพชร์โปร่งลงยาราชาวดีสีแดง ข้างด้านหลังมีอุนาโลมอยู่กลางอักษร ส ป พ ม จ ๕ ล้อมรอบผ้าห้อยสีเขียว ขอบน้ำเงิน ริ้วแดง ๑ เหลือง ๑ มีเขมทองกลัดติดแนบกับเสือชั้นนอกที่อกข้างซ้าย ที่ ๒ ชื่อบุษมาลา เปนเหรียญทองคำ น่าหนึ่งมีรูปจุลมงกุฎ มีเครื่องสูง ๒ ข้าง น่าหนึ่งมีอุนาโลมอยู่กลาง มีอักษร ส พ ป ม จ ๕ ล้อมรอบ ห้อยผ้าสีแดง ขอบเขียว ริ้วเหลือง ริ้วน้ำเงิน มีเขมทองคำกลัดติดเหน็บกับเสื้อที่อกข้างซ้าย

เหรียญตราทั้ง ๓ อย่างนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เปนสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้รับ ไม่ต้องคืน ให้ผู้ซึ่งได้รับเหรียญตราทั้ง ๓ อย่างนี้จงติดเสื้อแลใช้ตามประกาศนี้เทอญ ๚ะ

ประกาศมาณวันศุกร เดือนสิบ แรมสิบสามค่ำ ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕