การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคสอง/บทที่ 5

บทที่ ๕
ลักษณะการบริหารและกิจการบางอย่างในแคว้นเขมร

การบริหารและกิจการบางอย่างในแคว้นเขมร เช่น การคลัง การศุลกากร การสรรพากร การสาธารณสุข การสัตวแพทย์ การป่าไม้และที่ดิน การเหมืองแร่ การเกษตรและการประมง การจดทะเบียนบุริมสิทธิ์และทรัพยสิทธิ์ การไปรษณีย์โทรเลข การศึกษา ตลอดจนการสโมสร นับว่า ดำเนินไปในทำนองคล้ายคลึงกันกับในแคว้นลาวเป็นส่วนมาก ฉะนั้น ในที่นี้ จะได้กล่าวถึงแต่ฉะเพาะกิจการบางอย่างเท่านั้น

การทหาร

ในยามปกติ แคว้นเขมรมีทหารตั้งอยู่ที่พนมเป็ญ ๑ กองพัน มีนายพันโทเป็นผู้บังคับบัญชา พลทหารเป็นชาวเขมร แขก และญวน

การตำรวจ

การตำรวจจัดเช่นเดียวกับในแคว้นลาว แต่ไม่มีตำรวจอาสาสมัคร (Partisan)

การสาสนา

พระพุทธสาสนาเป็นสาสนาประจำชาติเขมรดั่งที่ทราบกันอยู่แล้ว ฝ่ายฝรั่งเศสได้พยายามนำสาสนาโรมันคาทอลิกมาเผยแพร่ แต่ได้ผลน้อย เพราะพลเมืองเลื่อมใสในพระพุทธสาสนามาแต่บรรพบุรุษจนติดเป็นนิสสัย วัดวาอารามและที่ปูชนียสถานต่าง ๆ ซึ่งมีไม่น้อยกว่าในประเทศไทย ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ตามควรแก่กรณี

การเกณฑ์แรงราษฎร

ไม่ปรากฏว่า ได้มีการเกณฑ์ประชากรใช้งานสาธารณประโยชน์เป็นประจำปีดั่งเช่นในแคว้นลาว แต่มีการเกณฑ์จ้างโดยบังคับให้ชายฉกรรจ์ต้องจำรับจ้างเพื่อประโยชน์แห่งรัฐการปีละ ๕ วันต่อคน ถ้าไม่รับจ้างก็ต้องเสียเงินแทนคนละ ๓ เหรียญ และถ้าผู้ใดมียานพาหนะประเภทต่าง ๆ ก็จำต้องส่งให้รัฐการใช้ปีละ ๕ วันด้วย ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์จ้าง ผู้เป็นเจ้าของจะต้องเสียเงินแทนตามประเภทของยานพาหนะ เช่น รถยนตร์ ต้องเสียถึงคันละ ๔๐ เหรียญต่อปี ดังนี้เป็นต้น

ทรัพย์ในดินสินในน้ำ

ทรัพย์ในดิน ได้แก่ พลอยบ่อไพลิน และสินในน้ำ ได้แก่ ปลานานาชะนิดในทะเลสาป การจับปลาในทะเลสาปกระทำกันปีละ ๙ เดือน ห้ามจับในฤดูปลาวางไข่ คือ ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม ปลาในทะเลสาปนับว่า อุดม เป็นสินค้าที่แพร่หลายอย่างออกหน้าออกตา รอบทะเลสาปมีการทำนาได้ผลดีมาก มีรถไฟทำการขนส่งข้าวปลาจากจังหวัดพระตะบองถึงมงคลบุรี มีกำไรปีละไม่น้อยกว่า ๒๐ ล้านบาท มีเมืองต่าง ๆ ซึ่งเจริญแล้วตั้งอยู่รอบทะเลสาป เมืองเหล่านี้ คือ เสียมราฐ, ศรีโสภณ, พระตะบอง, โพธิสัตว์, กำปงชนัง และพนมเป็ญ ถึงแม้ว่า ประชากรที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาปพากันร่ำรวยเพราะการจับปลาและทำนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องถูกรีดจากรัฐบาลในการภาษีอากร เช่น ค่าผูกขาดตัดตอนในการจับสัตว์น้ำ, ภาษีเรือ, อากรค่านา เหล่านี้เป็นต้น

ปูชนียสถาน

ปูชนียสถานที่สำคัญของเขมรมี ๒ แห่ง คือ นครวัดและนครธม นครวัด นครธม ฝ่ายฝรั่งเศสจัดการบูรณะให้เป็นที่เที่ยวที่ดู โดยเก็บค่าผ่านประตูเข้านครวัดคนละ ๑ เหรียญ และค่านำเที่ยววันละ ๕ เหรียญ ถ้าคนยากจนแล้ว ไม่มีโอกาสได้เข้าชม