การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคหนึ่ง/บทที่ 1

ภาคหนึ่ง
การปกครองแคว้นลาว
บทที่ ๑
การปกครองส่วนกลางของแคว้นลาว

ฝรั่งเศสได้แคว้นลาวไปเป็นรัฐอารักขาโดยสนธิสัญญากับไทย ไม่ได้ทำสนธิสัญญากับเจ้าพื้นเมือง เพราะครั้งนั้น ลาวก็คือส่วนหนึ่งของประเทศไทยแท้ ๆ เพราะฉะนั้น แม้ลาวจะมีสภาพเป็นรัฐอารักขาก็จริง แต่ก็มีฐานะต่ำต้อยกว่าเขมร ซึ่งเป็นรัฐอารักขาโดยสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับเจ้าพื้นเมืองซึ่งยังปกครองประเทศอยูโดยนิตินัย ลาวจึงเป็นรัฐอารักขาแต่ในนาม เพราะความจริงได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันอาณานิคมแท้ ๆ

ประมุขแห่งแคว้นลาว คือ Résident Supérieur ชาวฝรั่งเศส เรสิดังต์สุเปริเออร์ หรือผู้สำเร็จราชการแคว้นนี้ เป็นประมุขแห่งแคว้นทั้งโดยนิตินัยและโดยพฤตตินัย เพราะแคว้นลาวไม่มีกษัตริย์พื้นเมืองดังเช่นในญวนกลางและเขมร มีแต่เจ้าผู้ครองนครหลวงพระบางซึ่งฝรั่งเศสยกย่องให้เป็นกษัตริย์แห่งนครหลวงพระบาง (Roi de Luang Prabang) โดยฉะเพาะ เรสิดังต์สุเปริเออร์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในทางปกครอง บังคับบัญชาข้ารัฐการทุกตำแหน่งหน้าที่ รับผิดชอบในความปลอดภัย ทุกข์สุขของราษฎร การภาษีอากร และในทางเศรษฐกิจ ต่อผู้สำเร็จราชการอินโดจีน

เรสิดังต์สุเปริเออร์มีสภาที่ปรึกษารัฐการแห่งแคว้นสภาเดียว คือ Assemblée Consultative Indigene (สภาที่ปรึกษาชาวพื้นเมือง) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์ตามแต่เรสิดังต์สุเปริเออร์จะส่งเรื่องไปให้พิจารณา และในแคว้นลาวนี้มีองค์การ เช่น Chambre de Commerce (หอการค้า) และ Chambre d'Agriculture (หอการเกษตรกรรม) ซึ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของหอนั้น ๆ เช่นเดียวกับแคว้นอื่น ๆ แต่เพื่อการประหยัด จึงได้รวมหอทั้ง ๒ เป็นหอเดียวกัน นอกจากนี้ ก็มีคณะกรรมการเทฆนิค (Conseils techniques) ดังเช่นในแคว้นอื่น ๆ เหมือนกัน

ตำแหน่งรัฐการในแคว้นลาวถัดจากเรสิดังต์สุเปริเออร์ลงไปมี

๑. จเรการปกครองและการเมือง

๒. รอง (ปลัด) เรสิดังต์สุเปริเออร์

๓. ผู้อำนวยการไปรษณีย์โทรเลข

๔. ผู้บังคับการตำรวจ

๕. หัวหน้ากองคลัง

๖. หัวหน้ากองศุลกากรและสรรพากร

๗. หัวหน้ากองสาธารณสุข

๘. หัวหน้ากองสัตวแพทย์

๙. หัวหน้ากองป่าไม้และที่ดิน

๑๐. หัวหน้ากองโลหกิจ

๑๑. หัวหน้ากองเกษตร์

๑๒. หัวหน้ากองโยธาเทศบาล

๑๓. หัวหน้ากองธรรมการ

๑๔. หัวหน้ากองทะเบียนบุริมสิทธิ์และทรัพยสิทธิ์

๑๕. หัวหน้าแผนกกลาง ซึ่งตามปกติมี ๓ ตำแหน่ง

นอกจากนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่รองลงมาตามสมควร

เจ้าหน้าที่กองต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้ารัฐการผู้ใหญ่นั้น ถ้าจะเทียบตำแหน่งกับฝ่ายไทยแล้ว ก็เท่ากับข้าหลวงภาคหรือหัวหน้ากอง กิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานเหล่านี้จะได้มีอธิบายไว้ในบทว่าด้วยลักษณะการบริหารและกิจการบางอย่างในแคว้นลาว สำนักงานของเรสิดังต์สุเปริเออร์และของหัวหน้ากองต่าง ๆ ตั้งอยู่ณเมืองเวียงจันทน์

แคว้นลาวมีงบประมาณโดยฉะเพาะ และการทำงบประมาณนี้อยู่ในอำนาจของเรสิดังต์สุเปริเออร์ งบประมาณรายได้ได้จากภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรงมีดังนี้:―

๑. ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวยุโรปและคนต่างด้าว

๒. ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวพื้นเมือง

๓. ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวญวน

๔. ภาษีรัชชูปการสำหรับคนต่างด้าวชาวเอเซีย

๕. ภาษีถ่ายแรงแทนเกณฑ์จ้าง

๖. ภาษีถ่ายแรงแทนทำงานสาธารณประโยชน์สำหรับชาวญวน

๗. ภาษีโรงค้า

๘. ภาษีโรงต้มกลั่นสุราและการจำหน่ายสุรา

๙. ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้มีและใช้อาวุธปืน ค่าทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์พาหนะ ฯลฯ

๑๐. ภาษีที่ดิน

๑๑. ภาษีรถจักรยานและเกวียน

๑๒. ค่าภาคหลวงในการตัดฟันชักลากไม้

ฯลฯ ฯลฯ

ภาษีทางอ้อมซึ่งเก็บทุก ๆ แคว้นมิดังนี้:―

๑. ภาษีศุลกากร

๒. ภาษีการจดทะเบียนบุริมสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ และนิติกรรม

๓. อากรแสตมป์

๔. ภาษีฝิ่น

๕. ภาษีสุราพื้นเมือง

๖. ภาษีเกลือ

๗. ภาษีสุราต่างประเทศ

๘. ภาษียาสูบ

๙. ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง

๑๐. ภาษีไม้ขีดไฟ

๑๑. ภาษีอาวุธปืนและเครื่องกะสุนปืน

๑๒. ภาษีไพ่

ฯลฯ ฯลฯ