การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม

การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์
ในกรุงสยาม
นายดิเรก ชัยนาม
พิมพ์แจกในการฌาปนกิจศพนายเสียง พนมยงค์
ณวัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙
พิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง พระนคร

การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์
ในกรุงสยาม
โดย
ดิเรก ชัยนาม

จั่วหน้าเรื่องในบทที่ ๑ ที่ว่า “มูลแห่งการมีสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม” ขอแก้เป็น “มูลแห่งการมีสภาพนอกอาณาเขตต์ในต่างประเทศ

เนื่องด้วยคุณหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อาจาริย์ที่เคารพของข้าพเจ้า จะทำการฌาปนกิจศพนายเสียง พนมยงค์ บิดาของท่าน ข้าพเจ้าจึงมาคิดดูว่า ข้าพเจ้าควรจะได้มีส่วนช่วยเหลือในงานนี้ด้วยตามกำลังและความสามารถเท่าที่จะทำได้ โดยที่งานฌาปนกิจศพนี้ที่นิยมกันว่าควรแจกหนังสือ แต่เวลาที่ข้าพเจ้าได้ทราบนั้นกระชั้นมาก ไม่มีโอกาศที่จะเขียนเรื่องใหม่ได้ ข้าพเจ้าจึงนึกถึงเรื่องที่ข้าพเจ้าเคยเขียนว่าด้วย “การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม” และได้ลงพิมพ์ในหนังสือ “ประมวลคดี” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถ้านำบทประพันธ์นั้นมาพิมพ์แจกในงานนี้อีกคงจะเหมาะด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ๑–บทประพันธ์นี้เกี่ยวกับอำนาจศาลของชาวต่างประเทศในกรุงสยามตามสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งอยู่ในวงหน้าที่ราชการของท่านเจ้าของงาน ๒–ประเทศสยามเพิ่งจะได้อำนาจศาลโดยบริบูรณ์มาเมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงควรเผยแพร่ประวัติอันเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ทั่วไป

ในการนี้ ข้าพเจ้าได้ดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมอีกบ้างเล็กน้อย เพราะปรากฏว่าตั้งแต่ได้เขียนไว้ในครั้งนั้น บัดนี้พฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงได้บ้าง เช่น ประมวลกฎหมายก็ได้ออกใช้ครบถ้วนแล้ว เป็นต้น โดยที่เวลาเรียบเรียงแก้ไขใหม่นี้ได้มีอยู่น้อยมาก การผิดพลาดบกพร่องจึงอาจมีได้เป็นของธรรมดา หากเป็นเช่นนั้น ขอท่านผู้มีความรู้ทั้งหลายได้โปรดให้อภัยด้วย

ขอกุศลบุญราศีอันเกิดแต่การพิมพ์หนังสือนี้จงมีแด่ท่านผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้วด้วย

ดิเรก ชัยนาม
วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙


กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป สภาพนอกอาณาเขตต์ (Extra-territoriality หรือ Extrality) หมายความว่า การได้รับความยกเว้นพิเศษที่จะไม่ต้องใช้หลักในเรื่องที่บุคคลต้องประพฤติและอยู่ใต้บังคับของกฎหมายแห่งท้องที่ซึ่งตนอาศัยอยู่[1] สภาพนอกอาณาเขตต์มีอยู่สองชะนิด คือ (๑) การให้สิทธิพิเศษแก่ประมุขของต่างประเทศ หรือทูตานุทูต หรือผู้แทน และบริวาร ที่จะไม่ต้องอยู่ภายในใต้บังคับของกฎหมายแห่งประเทศที่ตนเข้าไปประจำอยู่

(๒) การให้เอกสิทธิหรือสิทธิพิเศษแก่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายในอันที่จะชำระคดีเกี่ยวกับคนของเขาในประเทศบูรพทิศหรือประเทศซึ่งยังไม่มีความเจริญ[2]

ความประสงค์ที่กล่าวในที่นี้ก็คือสภาพนอกอาณาเขตต์จำพวกที่สอง สภาพนอกอาณาเขตต์ประเภทนี้มักมีอยู่ในประเทศแถบบูรพทิศ กล่าวคือ ประเทศเหล่านี้ยอมให้ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายเข้ามาตั้งศาลกงสุลขึ้นในดินแดนของตนสำหรับชำระคดีซึ่งเกิดพิพาทขึ้นระวางคนของเขา หรือในเมื่อคนของเขาถูกกล่าวหาหรือเป็นจำเลย ประเทศสยามเป็นประเทศหนึ่งในจำนวนประเทศตะวันออกทั้งหลายที่ถูกร้องขอสิทธิชะนิดนี้ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการเริ่มมีสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรงสยาม ควรทราบเสียก่อนว่า ลักษณการมีสภาพนอกอาณาเขตต์ หรืออีกนัยหนึ่ง การให้สิทธิพิเศษชะนิดที่กล่าวมานี้ มีที่มาอย่างใด ใครเป็นผู้ริแนะขึ้น เป็นต้น

ศาลกงสุลเริ่มมีขึ้นในยุโรปและประเทศแถบเลอวังต์ (Levant คือประเทศแถบฝั่งทะเลเมดิเตอร์ราเนียน) ประมาณสามพันปีกว่ามานี้ พวกอิยิปต์ยอมให้พวกพระที่วิหารแห่งเมมฟิซ[3] เป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในทางทะเล และต่อมาอีก ๕๐๐ ปีก่อนคริศตศักราช พวกกรีกได้ตั้งศาลสำหรับพิจารณาคดีทางทะเลขึ้นอีกหลายศาล นอกจากนี้ยังมีศาลพิเศษสำหรับพิจารณาคดีอีกโดยให้คนกรีกเป็นผู้พิพากษาในคดีระวางนายพาณิชย์ต่างประเทศ และในสตพรรษที่ ๑๐ ริปุบลิคแห่งปีซาได้ตั้งกงสุลขึ้นพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทกันระวางพ่อค้า แต่ต่อมาในรัชสมัยเอมเปอรเรอยัซตีเนียนได้เลิกล้มตำแหน่งนี้เสีย อย่างไรก็ดี การที่ชาวเมืองปีซาตั้งนามกงสุลนี้โดยเขาเห็นว่าเป็นชื่อที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีทางทะเลของเขา ต่อมาประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่เจริญแล้วในพาณิชย์การและเรือเดินสมุทอยู่มากต่างก็พากันตั้งกงสุลขึ้นบ้าง แต่กงสุลเหล่านี้มิใช่เป็นชาวต่างประเทศ เป็นเจ้าพนักงานของประเทศแห่งท้องที่ และประจำอยู่ตามเมืองท่าต่าง ๆ ภายในประเทศของตน และมิได้ออกไปอยู่หรือมีอำนาจในการพิจารณาคดีในต่างประเทศเลย[4] แต่ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า สภาพนอกอาณาเขตต์มีอยู่แล้วก่อนฆริศตศักราชย้อนขึ้นไป ๕๒๖ ปี ดังได้กล่าวแล้วว่า ในอิยิปต์มีคนกรีกเข้าไปตั้งศาลสำหรับตัดสินคดีระวางคนของเขา และกฎหมายที่ใช้ปรับแก่คดีเป็นกฎหมายกรีกด้วย ทั้งนี้เพราะพระเจ้าแผ่นดินแห่งอิยิปต์ทรงเห็นว่า ชาวกรีกมีธรรมเนียมประเพณีและหลักกฎหมายแตกต่างจากชาวพื้นเมืองอยู่มาก

ในมัชฌิมสมัย พวกตุลาการที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับพิจารณาพวกของตนในอีกประเทศหนึ่งเรียกกันว่า Magistrate แต่พอถึงสตพรรษที่ ๑๑ แห่งฆริศตศักราช ได้เปลี่ยนชื่อเรียกกันว่า “กงสุล” น่าที่กงสุลจำพวกนี้ นอกจากในทางตุลาการแล้ว ยังมีหน้าที่ในทางพาณิชย์การอีกด้วย กล่าวคือ เป็นผู้วินิจฉัยข้อกฎหมายระวางชนชาติของตน แลคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ในการค้าขายของประเทศตนในประเทศซึ่งตนเข้าไปประจำอยู่ ขอให้ระลึกด้วยว่า เดิม Magistrate หามีอำนาจเช่นนี้ไม่ ประเทศเยนัว, ปีซา, เวนิซ, แลฟลอเรนซ เป็นประเทศแรกที่เริ่มตั้งกงสุลให้มีอำนาจพร้อมบูรณ์ดังกล่าวมาแล้ว โดยให้เข้าประจำอยู่ในคอนสแตนติโนเปอล, ปาเลซไตน, ซีเรีย, และอิยิปต์

ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๑๕๔ รัฐบาลปีซาได้ทำสัญญาพิเศษกับอิยิปต์ โดยอิยิปต์สัญญาจะไม่จับกุมคนของปีซาหรือยึดเรือปีซาเพื่อเป็นการชำระหนี้[5] กรีกกับเวนิซก็ได้ทำสัญญากันโดยกรีกยอมให้สิทธิพิเศษแก่เวนิซเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดี ใน ค.ศ. ๑๒๕๑ อิยิปต์ได้ยอมให้ฝรั่งเศสเข้าไปตั้งศาลกงสุล และใน ค.ศ. ๑๒๗๐ ฝรั่งเศสได้ทำสัญญากับติวนิซโดยมีข้อความทำนองเดียวกัน

ในมหาอาณาจักรออตมัน (ตุรกี) ปรากฏว่า ได้ทำสัญญายอมให้สิทธิเช่นว่านี้แก่ประเทศต่าง ๆ มีลำดับก่อนและหลังดังต่อไปนี้ เมืองต่าง ๆ ในอิตาลี (ค.ศ. ๑๔๕๔, ๑๗๔๐)., ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๕๓๕, ๑๗๔๐)., ออซเตรีย (๑๖๑๕)., อังกฤษ (ค.ศ. ๑๖๗๕, ๑๘๐๙)., เนเดรลันด์ (๑๖๘๐)., สเวเดน (๑๗๓๗)., เดนมาร์ก (๑๗๔๖)., ปรุสเซีย (๑๗๖๑)., สเปญ (๑๗๘๒)., รุซเซีย (๑๗๘๓)., สหปาลีรัฐอเมริกา (๑๘๓๐)., เบลเยี่ยม (๑๘๓๘)., โปรตุเกส (ค.ศ. ๑๘๔๓)., กริซ (ค.ศ. ๑๘๕๕)., บลาซิล (๑๘๕๘)., และบาวาเวีย (๑๘๗๐).[6]

ประเทศจีนเป็นประเทศซึ่งใคร ๆ ก็ทราบกันดีแล้วว่าเป็นตลาดของการค้าและรุ่งเรืองในพาณิชย์การยิ่งกว่าในประเทศอื่น ๆ ในบูรพทิศ เพราะฉะนั้น มหาประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงเรียกร้องให้จีนทำสัญญายอมให้สภาพนอกอาณาเขตต์หรือสิทธิพิเศษในการที่จะตั้งศาลกงสุลแก่ประเทศตน โดยยกเอาเหตุว่า เพื่อป้องกันคุ้มครองทรัพย์สิน ผลประโยชน์ และชีวิตของพลเมืองแห่งตน ประเทศเหล่านั้นคือรุซเซีย (ค.ศ. ๑๖๘๙, ๑๘๕๘, ๑๘๖๐)., เยอรมัน (ค.ศ. ๑๘๖๑)., เกรตบริเตน (ค.ศ. ๑๘๔๓, ๑๘๕๘, ๑๘๗๖); สหปาลีรัฐอเมริกา (ค.ศ. ๑๘๔๔, ๑๘๕๘, ๑๘๘๐);[7] ฝรั่งเศษ (ค.ศ. ๑๘๔๔, ๑๘๕๘)., สเวเดน และนอร์เวย์ (ค.ศ. ๑๘๔๗)., ดันมาร์ก (ค.ศ. ๑๘๖๓)., เนเดลแลนด์ (ค.ศ. ๑๘๖๖.) สเปญ (ค.ศ. ๑๘๖๔)., เบลเยี่ยม (ค.ศ. ๑๘๖๕)., อิตาลี (ค.ศ. ๑๘๖๖.) ออสเตรียฮุงการี (ค.ศ. ๑๘๖๙)., เปรู (ค.ศ. ๑๘๗๔)., บราซิล (ค.ศ. ๑๘๘๑)., โปรตุเกส (ค.ศ. ๑๘๘๗)., ยี่ปุ่น (ค.ศ. ๑๘๙๖)., เม็กซิโก (ค.ศ. ๑๘๙๙) และสวิตเซอร์แลนด์ (ค.ศ. ๑๙๑๘)[8]

แต่ภายหลังมหาสงคราม เยอรมันนีและออซเตรียฮุงการีได้ยอมสละสิทธิพิเศษนี้เสียแล้ว[9] ประเทศรุซเซียก็ยอมสละสิทธิที่มีอยู่เดิมเช่นเดียวกันโดยสัญญาลงวันที่ ๓๑ พฤศภาคม ค.ศ. ๑๙๒๔[10]

ประเทศญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบันนี้จะมีฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจแล้วก็ตาม ก็หาได้รอดพ้นจากการต้องให้สภาพนอกอาณาเขตต์ที่กล่าวมาแล้วแก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปไม่ ในโบราณสมัยญี่ปุ่นไม่ชอบทำการค้าขายกับคนต่างด้าว ๆ ที่เข้าไปในประเทศย่อมถูกกดขี่หรือขับไล่ ความสัมพันธ์ของยี่ปุ่นกับชาวต่างประเทศเท่าที่พอจะทราบได้ คือ ใน ค.ศ. ๑๕๔๒ มีฝรั่งชาวโปรตุเกตเข้าไปค้าขาย และใน ค.ศ. ๑๕๔๙ มิชชันนารีเยซวิตนิกายคนหนึ่งชื่อฟรันซิซซาเวียได้เข้าไปเริ่มสอนสาสนาคริสเตียน ต่อมาเกิดวิวาทกันขึ้นระวางชาวญี่ปุ่นกับคนต่างประเทศ ญี่ปุ่นเลยห้ามขาดมิให้ชาวต่างประเทศไปมาค้าขายอีกต่อไป แม้ชาวญี่ปุ่นเองจะออกไปนอกประเทศก็ไม่ได้ จนถึงปีคริศตศักราช ๑๘๕๓ นายเรือเปรีชาติอเมริกันจึงเข้าไปเจรจาขอทำการค้าขายด้วย ในปีรุ่งขึ้นญี่ปุ่นก็เริ่มทำสัญญาให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและอเมริกาในอันที่จะตั้งศาลกงสุลสำหรับชำระคดีชนชาติแห่งตนได้ แต่ประเทศญี่ปุ่นได้พยายามบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญยิ่งขึ้น ฉะเพาะอย่างยิ่งในการศาลยุตติธรรม จนเท่าเทียมอาระยะประเทศทั้งหลายในยุโรป ในปีคริศตศักราช ๑๘๙๗ ประเทศญี่ปุ่นจึงได้เซ็นสัญญากับประเทศในยุโรปต่าง ๆ โดยประเทศเหล่านั้นยอมยกเลิกศาลกงสุลเสียสิ้น[11]


เมื่อพิจารณาตามพระราชพงษาวดารแล้ว จะเห็นได้ว่า ประเทศสยามได้ทำการค้าขายเกี่ยวข้องกับต่างประเทศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยเมื่อครั้งกรุงเก่าเป็นราชธานี ได้มีทางพระราชไมตรีกับฝรั่งโปรตุเกสตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๐๖๐ (คริศตศักราช ๑๕๑๗) ชาวโปรตุเกสจึงเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับไทย อังกฤษเริ่มเข้ามาในต้นรัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรฐ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๑ (ค.ศ. ๑๕๙๘)[12] ต่อมาก็มีชาววิลันดาเข้ามาทำกาาค้าขาย, ในราวปีคริศตศักราชเดียวกันนี้ ยังมีชนชาติเชื้อชาวเอเชีย มีอาทิพวกชาวอามีเนียน, อิหร่าน (เปอร์เซียน), แขกมลายู แลอื่น ๆ พากันเข้ามาอีก ส่วนจีนนั้นปรากฎว่าเข้ามาก่อนนานแล้ว อนึ่ง ชาวญี่ปุ่นที่นับถือสาสนาคริสเตียนในสมัยนั้นก็พลอยอพยบเข้ามาเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะในยุคนั้นประเทศญี่ปุ่นยังมีการรังเกียจแลกดขี่ข่มเหงผู้ถือสาสนาอื่นนอกจากสาสนาของพวกชาวพื้นเมืองอยู่[13] เวลาล่วงมา คนต่างประเทศในกรุงสยามก็มีจำนวนมากขึ้นทุกที เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศต่าง ๆ ก็พยายามที่จะเจรจาขอทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามเพื่อคุ้มครองการค้าขายแลความปกติสุขของพลเมืองของตน

แต่สัญญาทางพระราชไมตรีของกรุงสยามฉะบับแรก เท่าที่สามารถทราบได้ คือสัญญากับบริษัทดัชยูในเตดอิสตอินเดียในความควบคุมของสะเตตเยเนราลแห่งประเทศยูในเตดเนเดร์แลนด์ ลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม คริศตศักราช ๑๖๖๔ ที่กรุงศรีอยุทธยา โดยสัญญาฉะบับนี้กรุงสยามยอมให้บริษัทผูกขาดการค้าบางประเภทได้โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าคนของบริษัทกระทำผิดอาญาชะนิดอุกฉกรรจ์ขึ้นในกรุงสยาม พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามไม่มีพระราชอำนาจที่จะเอาตัวไปพิจารณาพิพากษาได้ แต่ต้องส่งตัวให้กับผู้เป็นประมุขของบริษัทเพื่อจะได้ลงโทษตามกฎหมายวิลันดา ถ้าผู้เป็นประมุขแห่งบริษัทกระทำผิดเอง พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามจะทรงกักขังตัวไว้จนกว่าได้ส่งคำบอกกล่าวไปยังผู้สำเร็จราชการแห่งรัฐบาลเนเดรแลนด์[14] ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงฝรั่งเศสสองฉะบับ (สัญญาลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม และวันที่ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๕) ที่เมืองลพบุรี สัญญาฉะบับแรก กรุงสยามยอมให้ชนชาติฝรั่งเศสที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพระราชอาณาจักร์มีสิทธิเที่ยวสอนสาสนาคริสเตียนได้ ส่วนสัญญาฉะบับที่สองนั้น กรุงสยามยอมให้สิทธิในการที่ฝรั่งเศสจะชำระคดีพิพาทในระวางคนของเขาเองดังต่อไปนี้ได้ คือ

(๑)ผู้นั้นเป็นชนชาติฝรั่งเศส ทำการอยู่ในบริษัท Compagnie des Indes Orientales (คือบริษัทฝรั่งเศสทำการค้าขายในตะวันออก)

(๒)คนฝรั่งเศสแม้จะไม่ได้ทำการอยู่กับบริษัทกล่าวนามมาแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้รับราชการในรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม

(๓)คนฝรั่งเศสที่ไปลักทรัพย์ของผู้อื่น

ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไม่พอใจในคำตัดสินของหัวหน้าทางฝรั่งเศสให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาไว้ก่อน จนกว่าจะได้กราบทูลไปยังพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและพระองค์มีพระราชโองการอย่างหนึ่งอย่างใดมาเสียก่อน ถ้าคนของบริษัททำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ฝรั่งเศสอันควรจะต้องพิจารณาถึงบทกฎหมายแล้ว จะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม ผู้พิพากษาไทยจะเป็นผู้พิจารณา แต่หัวหน้าฝ่ายฝรั่งเศสจะเข้ามานั่งร่วมพิจารณาด้วย และกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้นก็ต้องเป็นกฎหมายไทย สิทธิพิเศษซึ่งกรุงสยามให้แก่วิลันดาและฝรั่งเศษนี้มีอายุต่อมาไม่สู้นานนัก ได้ถึงที่สุดลงเมื่อต้นสตพรรษที่ ๑๘ แห่งคริสตศักราช[15]

ลุคริสตศักราช ๑๖๘๗ กรุงสยามได้เซ็นสัญญากับฝรั่งเศสอีกเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม สัญญาฉะบับนี้เปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาฉะบับเดิมบ้าง คือ กรุงสยามยอมให้บริษัทฝรั่งเศษมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและอาชญาทุกประเภทในระวางคนของบริษัทด้วยกัน จะเป็นคนของฝรั่งเศษหรือไม่ก็ตาม ถ้าคู่ความฝ่ายหนึ่งไม่ใช่คนของบริษัท ฝ่ายฝรั่งเศสไม่มีอำนาจที่จะพิจารณา แต่หัวหน้าฝ่ายบริษัทมีสิทธิที่จะเข้ามานั่งในศาลสยาม และมีเสียงเด็ดขาดในคดีนั้น เมื่อสาบาลตัวแล้ว[16]

ในปลายรัชชกาลของสมเด็จพระนารายน์ เกิดบาดหมางกันขึ้นในเรื่องสาสนา ครั้นสมเด็จพระนารายน์สวรรคต จึงเกิดจลาจลขึ้นในเมือง ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังได้เลิกการอย่างฝรั่งเสียมาก[17] ทางไมตรีกับฝรั่งเศสจึงหยุดชะงักตั้งแต่นั้นมา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ (ค.ศ. ๑๗๖๗) กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก ไทยต้องทำสงครามกู้อิสสระภาพอยู่ในแผ่นดินพระเจ้าตากสิน ๑๕ ปี และต้องรบพุ่งกับพม่ารักษาอิสสระภาพ มาในรัชชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อีก ๒๘ ปี ในสมัยนี้ประจวบกับเกิดการจลาจลในประเทศฝรั่งเศสแล้วเกิดมหาสงครามของพระเจ้านะโปเลียน การคมนาคมในระวางไทยกับชาวยุโรปจึงเป็นอันหยุดไปคราวหนึ่งประมาณ ๔๐ ปี มีแต่การค้าขายกับจีนเป็นสำคัญ[18]

ต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๘๒๖ ตรงกับจุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก วันที่ ๒๐ มิถุนายน กรุงสยามจึงได้เริ่มเซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ ตามสัญญาฉะบับนี้อัครภาคีแห่งสัญญาต่างได้สิทธิและมีหน้าที่เสมอกัน ปรากฎในข้อ ๕ แห่งสัญญาดังนี้ “. . . . . . . . . .ไทยจะไปเมืองอังกฤษ ๆ จะไปเมืองไทย ให้ทำตามอย่างธรรมเนียมบ้านเมืองทั้งสองฝ่าย ถ้าไม่รู้อย่างธรรมเนียม ให้ขุนนางไทยขุนนางอังกฤษบอกอย่างธรรมเนียมให้พวกไทยที่ไปเมืองอังกฤษต้องทำตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมเมืองอังกฤษทุกสิ่ง”[19]

ข้อ (๖) “. . . . . . . . . .ถ้าลูกค้าไทยลูกค้าอังกฤษจะมีคดีข้อความสิ่งใดก็ดี ให้ฟ้องร้องต่อขุนนางเจ้าเมืองกรมการฝ่ายไทยฝ่ายอังกฤษ ขุนนางเจ้าเมืองจะชำระตัดสินให้ตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมบ้านเมืองทั้งสองฝ่าย[20]

วันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๓ ตรงกับจุลศักราช ๑๑๙๔ ปีมะโรง กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศสหะปาลีรัฐอเมริกาหนึ่งฉะบับ โดยมีลักษณะทำนองเดียวกับสัญญาอังกฤษฉะบับ ค.ศ. ๑๘๒๖ ดังจะเห็นได้จากข้อความในสัญญา ข้อที่ ๙ กล่าวว่า “ฯลฯ ชาติอเมริกันจะเข้ามาค้าขายณกรุงเทพฯ จะทำตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯ ทุกสิ่ง[21]

สัญญาอเมริกันฉะบับนี้เป็นสัญญาฉะบับสุดท้ายซึ่งประเทศสยามมีอำนาจเด็ดขาดในทางพิจารณาคดี จริงอยู่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เดิมประเทศสยามได้ทำสัญญากับประเทศฝรั่งเศสไว้ครั้งหนึ่งในสตพรรษาที่ ๑๗ โดยยอมให้ฝรั่งเศสชำระคดีบางประเภทได้ แต่สัญญาเหล่านี้ได้ถูกยกเลิกเสียและไม่มีผลอย่างใดแล้ว[22] ฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า ก่อนคริสตศักราช ๑๘๕๕[23] ประเทศสยามมีสิทธิอย่างบริบูรณ์ในการพิจารณาคดีทุกชนิด


การมีสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยามอาจแบ่งออกได้เป็นหกยุค คือ

ยุคที่ ๑ เริ่มมีสภาพนอกอาณาเขตต์

ยุคที่ ๒ คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖ ถึง ๒๔๔๙ (คริศตศักราช ๑๘๓๔ จนถึงคริศตศักราช ๑๙๐๗)

ยุคที่ ๓ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙ ถึง ๒๔๖๓ (คริศตศักราช ๑๙๐๗ ถึงคริศตศักราช ๑๙๓๙)

ยุคที่ ๔ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ (ค.ศ. ๑๙๑๙ ถึง ๑๙๒๖)

ยุคที่ ๕ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ถึง ๒๔๗๗

ยุคที่ ๖ คือ สมัยปัจจุบัน

ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า สภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยามมีขึ้นภายหลังประเทศอื่น ๆ ในบูรพทิศ อาทิจีน, ญี่ปุ่น, และตุรกี ปัญหาจึงมีว่า ก็เหตุอันใดเล่าที่ทำให้กรุงสยามต้องยอมให้สภาพนอกอาณาเขตต์หรือสิทธิในการตั้งศาลกงสุลแก่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ในสมัยนั้นพ่อค้ายไทยก็ดี เทศก็ดี ที่มีสำนักอาศัยอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ย่อมได้รับผลปฏิบัติเสมอทั่วกันหมด กล่าวคือ คนไทยมีสิทธิ์หรือน่าที่อย่างใด คนต่างด้าวก็มีเช่นเดียวกัน ทั้งหลักกฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในเวลานั้นก็ดำเนินตามหลักความยุตติธรรมทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่อังกฤษและอเมริกันย่อมอนุญาตให้คนของเขาขึ้นศาลสยามตามสัญญาปี ค.ศ. ๑๘๒๖ และ ๑๘๓๓ ที่กล่าวมาแล้ว ตรงกันข้ามกับปรากฎจนทุกวันนี้ว่า เราเอาใจใส่กับเขาเพราะเห็นว่าเขามีฐานะเป็น guest ยิ่งกว่าคนไทยเสียอีก แต่ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้เมื่อได้รับผลปฏิบัติในประเทศต่าง ๆ มีจีนเป็นต้นเป็นพิเศษออกไปอีก ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องการสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพิ่มขึ้นบ้าง

ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ตั้งให้เซอร์ยอนโบวริงเป็นราชทูตเข้ามาเจรจาทางพระราชไมตรี ในที่สุดได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๕ โดยสัญญาฉะบับนี้ประเทศอังกฤษเริ่มมีอำนาจและได้สิทธิพิเศษอย่างเต็มเปี่ยม สัญญาอังกฤษได้จูงเอาประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำสัญญาด้วยอีกหลายประเทศ โดยดำเนินแบบเดียวกับสัญญาอังกฤษแทบทั้งสิ้น มีลำดับก่อนและหลังต่อไปนี้ สหปาลีรัฐอเมริกา (วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๖) ฝรั่งเศษ (วันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๖) ดันมาร์ค (วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๘) ประเทศแฮนซิเอติกริปุปบลิก (วันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๗) โปรตุเกศ (วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๙) เยอรมันนี (วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๖๒) เนเดรลันด์ (วันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๖๐) สเวเดนและนอรเวย์ (วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๘) สเปญ (วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๐)[24] ตามสัญญาเหล่านี้ประเทศสยามยอมให้ประเทศซึ่งเป็นอัครภาคีทั้งหลายมีสิทธิตั้งศาลกงสุลสำหรับชำระคดีคนของเขาได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา

การที่กรุงสยามยอมให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศทั้งหลายในยุคที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้าจะไตร่ตรองให้ดี ก็เห็นได้ว่าสมควรอยู่ คือ ฝ่ายเขาพอจะพูดได้ว่าประเทศเรายังไม่รู้จักเข้าใจบทกฎหมายและนิติประเพณีของชาวตะวันตกดี และก็ดูเหมือนจะจำเป็นอยู่ที่ชาวต่างประเทศเหล่านี้จะต้องขึ้นศาลกงสุล ประกอบทั้งกรุงสยามในสมัยนั้นรู้สึกว่าไม่สู้จะได้รับความยุ่งยากอย่างไรนัก ตรงกันข้ามดูก็ทำความสดวกให้ไม่น้อยในการที่ไม่ต้องกังวลกับคนของเขา แต่สภาพของประเทศสยามในยุคนั้นกับยุคที่ ๒ คือระวาง ค.ศ. ๑๘๔๗ ถึง ๑๙๐๗ นั้นต่างกันมาก หลักมีอยู่ว่าสิ่งใดเหมาะสำหรับสมัยหนึ่งอาจไม่เหมาะสำหรับอีกสมัยหนึ่งก็ได้ อีกประการหนึ่งสัญญาเดิมทำกันไว้มุ่งหมายฉะเพาะชนผิวขาวเท่านั้น โดยต่างฝ่ายมิได้คิดว่าจะให้ใช้ถึงคนในบังคับเลย[25] แต่ต่อมาประเทศทั้งหลายต่างถือว่าใช้ถึงบุคคลเชื้อชาติเอเซียในบังคับของตนทั้งสิ้น ผลก็คือชนชาติเขมร ญวน ลาว ที่มาจากอินโดจีน ชะวา พม่า จีนที่เกิดที่หมาเก๊า ซึ่งเข้ามาพึ่งแผ่นดินสยาม ย่อมพลอยหลุดพ้นจากอำนาจศาลสยามไปด้วย กล่าวคือ แม้คนเหล่านี้จะทำผิดกฎหมายสยามให้ร้ายแรงปานใด ประเทศสยามก็ไม่มีอำนาจเข้าเกี่ยวข้องด้วยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนี้เป็นการปลุกส่งเสริมชนชาวเอเซียทั้งหลายที่มีภูมิลำเนาในสยามให้เห็นลู่ทางที่จะหลีกเลี่ยงอาญาเป็นอันมาก พระยากัลยาณไมตรี (ดอกเตอร์แฟรนซิสบีแซยร์) กล่าวว่า “มีคนเชื้อชาวเอเซียเป็นอันมากถึงกับอาศัยแอบแฝงการเป็นคนในบังคับต่างประเทศเพื่อหากินในทางทุจริต”[26]

กรุงสยามได้รู้สึกในภัยทั้งหลายเหล่านี้ดี จึงได้พยายามบำรุงบ้านเมืองให้ดำเนินเจริญรอยตามประเทศต่าง ๆ ในตวันตก ผลก็คืออังกฤษยอมสละสิทธิบางอย่างให้แก่กรุงสยามตามสัญญาลงวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๔ ตรงกับปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ ข้อ ๒ ความว่า . . . . . . . . . .ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมีหนังสือเดิรทางตามในสัญญาข้อ ๔ หรือไม่มีหนังสือเดิรทาง เป็นโจรผู้ร้ายในเขตต์แดนอังกฤษเขตต์สยาม ถ้าจับตัวผู้ร้ายได้ ไม่ต้องถามว่าเป็นชาติของผู้ใด ต้องชำระตัดสินตามกฎหมายบ้านเมืองนั้น. . . . . . . . . .[27]

ข้อ ๗ “คนเกิดในฝ่ายอินเดียซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษมาแต่พม่าฝ่ายอังกฤษเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ที่ไม่มีหนังสือเดิรทางสำหรับตัวตามหนังสือสัญญาข้อ ๔ ถ้าทำความผิดในเขตต์แดนสยาม ต้องชำระตามศาลแลกฎหมายเมืองนั้น. . . . . . . . . .[28]

ส่วนในคดีแพ่งนั้น ถ้าเป็นคดีเกิดขึ้นระวางคนในบังคับอังกฤษกับคนในบังคับสยามที่อยู่ที่เชียงใหม่ นครลำปาง ลำพูน สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามจะตั้งผู้สมควรให้เป็นตระลาการที่เมืองเชียงใหม่ แลตระลาการนั้นมีอำนาจได้ชำระตัดสินความของคนในบังคับอังกฤษฟ้องคนในบังคับสยามที่เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ถ้าคนในบังคับสยามฟ้องคนในบังคับอังกฤษซึ่งมาแต่พม่า อังกฤษที่เข้าไปในเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ลำพูน ซึ่งมีหนังสือเดิรทางสำหรับตัวตามหนังสือสัญญา ข้อ ๔ ถ้าคนในบังคับอังกฤษยอมให้ชำระที่ศาลนั้น จึงจะชำระได้ ถ้าไม่ยอมให้ตระลาการที่เมืองเชียงใหม่ชำระตัดสิน ให้กงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ หรือขุนนางอังกฤษที่ตั้งอยู่เขตต์แดนยองสลิน (Yoonzaleen) ชำระตัดสิน ถ้าคนในบังคับสยามฟ้องคนในบังคับอังกฤษเข้าไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ถ้าไม่มีหนังสือสำหรับตัวตามสัญญา ข้อ ๔ ความนั้นต้องชำระตามกฎหมายบ้านเมืองนั้น[29]

อย่างไรก็ดี สัญญาอังกฤษฉะบับนี้มีอายุอยู่ไม่กี่ปีก็ได้แก้ไขทำกันขึ้นใหม่อีกเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๘๓ โดยอัครภาคีแห่งสัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีศาลกงสุลอังกฤษขึ้นที่เชียงใหม่ แลเป็นครั้งแรกที่เริ่มให้มีระเบียบศาลเป็นพิเศษสำหรับคนในบังคับอังกฤษทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ นครลำปาง แลลำพุน ตามสัญญาฉะบับใหม่นี้ยังมีข้อตกลงเก่าบังคับใช้อยู่บ้าง แต่ข้อตกลงใหม่นั้นมีอาทิคือขยายอำนาจศาลซึ่งตั้งขึ้นตามสัญญาฉะบับ ค.ศ. ๑๘๗๔ ให้มีอำนาจรับพิจารณาคดีคนในบังคับอังกฤษทุกคนทั้งแพ่งแลอาญาซึ่งอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ นครลำปาง แลลำพูน โดยไม่คำนึงถึงชาติ สถานที่เกิด หรือจะมีหนังสือเดิรทางหรือไม่ก็ตาม ศาลที่ตั้งขึ้นนี้เป็นศาลไทย ผู้พิพากษาเป็นไทย แต่ต่อมาใช้ชื่อว่าศาลต่างประเทศ อนึ่ง กฎหมายที่จะนำมาปรับแก่คดีนั้นก็เป็นกฎหมายไทย แต่กงสุลอังกฤษหรือรองกงสุลมีอำนาจที่เข้าไปอยู่ในเวลาพิจาณราได้ แลมีเอกสิทธิที่จะถอนคดีใดคดีหนึ่งซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่าย หรือจำเลย หรือผู้ต้องหา เป็นคนในบังคับอังกฤษ เอาไปพิจารณาเสียเอง[30] สัญญาฉะบับนั้อัครภาคีแห่งสัญญาเห็นว่ามีผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึ่งตกลงขยายอำนาจศาลชนิดนี้ออกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ในทางเหนืออีก ๘ หัวเมือง คือ เมืองน่าน, แพร่, เถิน, ระแหง, สวรรคโลก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ แลพิไชย กล่าวโดยย่อ ตามสัญญาฉะบับนี้ ฝ่ายอังกฤษยอมสละสิทธิในการที่จะพิจารณาคดีระวางคนของเขาแลคดีผสมซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา โดยฝ่ายรัฐบาลสยามตกลงให้มีศาลอุทธรณ์สำหรับพิจารณาคดีเหล่านี้ แลยอมให้กงสุลอังกฤษเข้าทำการพิจารณาคดีอุทธรณ์ร่วมกับผู้พิพากษาฝ่ายสยาม ความสามารถของผู้พิพากษาฝ่ายสยามมีเพียงใด ย่อมวัดได้จากจำนวนคดีที่ฝ่ายกงสุลอังกฤษได้ถอนไป ปรากฎว่ามีน้อยที่สุด

ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๓ จนถึง ค.ศ. ๑๘๙๘ ฝ่ายเราไม่ได้ทำสัญญากับประเทศใดอีกเลยในเรื่องอำนาจศาลพิเสษ ลุวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๘ กรุงสยามได้เซ็นสัญญากับประเทศญี่ปุ่นฉะบับหนึ่ง ตามสัญญา กรุงสยามยอมให้เจ้าพนักงานกงสุลญี่ปุ่นทำการมีอำนาจศาลเหนือคนในบังคับญี่ปุ่นในกรุงสยามไปจนกว่าจะได้จัดธรรมเนียมใหม่ในตระลาการให้บริบูรณ์แล้ว คือว่า จนถึงเวลาที่ได้ใช้กฎหมายพระธรรมศาสตร์อาชญาโทษ ๑ (ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา) พระธรรมศาสตร์แพ่งพลเรือน (ประมวลกฎหมายแพ่ง) เว้นไว้แต่ลักษณะสามีภริยาและลักษณมฤดก ๑ พระธรรมศาสตร์กระบวนชำระความแพ่ง ๑ (ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง) กับพระธรรมนูญศาลยุตติธรรมทั้งหลาย[31] ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ญี่ปุ่นเพิ่งจะได้สิทธิบริบูรณ์ที่จะพิจารณาคดีคนต่างประเทศทั้งหลายเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๙ ฉะนั้น ตามสัญญาฉะบับนี้จึงเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นในขณะที่ทำสัญญากับประเทศสยามได้สิทธิตั้งศาลกงสุลชำระคดีคนของเขานั้น ญี่ปุ่นเองยังหาได้เลิกสภาพนอกอาณาเขตต์ของตนไม่

ต่อมากรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ มีลำดับต่อไปนี้ คือ เนเดรลันด์ (วันที่ ๑ พฤศภาคม ค.ศ. ๑๙๐๑) ฝรั่งเศส (วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔) ดันมาร์ก (วันที่ ๒๔ มินาคม ค.ศ. ๑๙๐๕) แลอิตาเลีย (วันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๕) สัญญาเหล่านี้เดินทำนองเดียวสัญญากับอังกฤษปี ค.ศ. ๑๘๘๓ คือ ให้มีศาลต่างประเทศสำหรับพิจารณาคดีคนในบังคับบังคับประเทศนั้น เช่น สัญญากับฝรั่งเศสมีความว่า คดีเกี่ยวกับคนในบังคับฝรั่งเศส (รวมทั้งพลเมืองฝรั่งเศส) ในเชียงใหม่ นครลำปาง ลำพูน น่าน จะต้องพิจารณากันในศาลต่างประเทศของสยาม กงสุลมีอำนาจที่จะเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุตติธรรม นอกจากนี้ ถ้าจำเลยเป็นคนฝรั่งเศสหรือในอารักขาฝรั่งเศส กงสุลอาจถอนคดีไปพิจารณาที่ศาลกงสุลได้ ส่วนในมณฑลอื่นนอกจากนี้แล้ว การพิจารณาก็ดำเนินตามเดิม (คือตามสัญญาเก่า) คือ ในคดีแพ่งหรืออาชญาทั้งหลายซึ่งฝ่ายเขาเป็นจำเลยแล้ว ศาลกงสุลเป็นผู้พิจารณา แต่สำหรับคดีแพ่ง ถ้าจำเลยเป็นคนไทย โจทก์ต้องไปฟ้องที่ศาลคดีต่างประเทศ (ซึ่งเป็นศาลไทย) การอุทธรณ์คดีจากศาลต่างประเทศหรือศาลคดีต่างประเทศ ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ของสยามซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ[32]

ในยุคต่อมา คือ ระวาง ค.ศ. ๑๙๐๗ ถึง ๑๙๑๙ ความเจริญของกรุงสยามได้ดำเนินขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาทิ การคมนาคมกับต่างประเทศ การชลประทาน การศึกษา การปกครอง และฉะเพาะอย่างยิ่ง ในการศาลยุตติธรรม โดยรัฐบาลสยามได้ลงมือเปลี่ยนแปลงแก้ไขการศาลยุตติธรรมมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) โดยได้ตั้งกระทรวงยุตติธรรมขึ้น จัดวางระเบียบศาลใหม่ หาผู้รู้กฎหมายชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม และญี่ปุ่น มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายประจำศาลต่าง ๆ กระทรวงยุตติธรรมที่ดัดแปลงแก้ไขวิธีพิจารณาของศาลยุตติธรรมให้ดีขึ้นและที่จัดการศาลยุตติธรรมให้เจริญเป็นลำดับมาดั่งนี้ นับว่าเป็นกิจการอันสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ[33]

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสอีกฉะบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม โดยฝ่ายฝรั่งเศสยอมขยายอำนาจศาลสยามออกไปอีก คือ ให้ศาลสยามธรรมดา (ไม่ใช่ศาลต่างประเทศ) มีอำนาจพิจารณาคดีบุคคลในบังคับหรืออารักขาฝรั่งเศสทั้งหมดในกรุงสยามซึ่งได้จดทะเบียนที่สถานทูตฝรั่งเศสภายหลังสัญญาฉะบับนี้ เว้นไว้แต่ผู้ที่จดทะเบียนก่อนสัญญา หรือบุคคลที่อยู่ในมณฑลอุดรและอิสาณ จะจดทะเบียนก่อนหรือหลังสัญญาก็ตาม ต้องขึ้นศาลต่างประเทศ โดยกงสุลมีสิทธิดำเนินการถอนคดีนั้น ๆ ได้ตามสัญญาเดิมปี ค.ศ. ๑๙๐๔ แต่สิทธิเช่นว่านี้หามีไม่ ถ้าในคดีนั้นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายซึ่งประเทศสยามได้ประกาศใช้และได้แจ้งให้สถานทูตฝรั่งเศสทราบแล้ว ศาลต่างประเทศนี้จะเลิกต่อเมื่อได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว การอุทธรณ์คดี ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ที่ศาลกรุงเทพฯ ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะต้องมีผู้พิพากษาชาวยุโรปลงนามสองนาย.

ตามสัญญากับฝรั่งเศสฉะบับนี้ จึงเห็นได้ว่า กรุงสยามเริ่มได้สิทธิในการพิจารณาคดีคนในบังคับต่างประเทศคีนมาบ้างแล้ว คือ คนในอารักขาหรือบังคับฝรั่งเศส แต่กรุงสยามก็ได้ให้สิ่งตอบแทนบ้าง คือ ยกเมืองพระตะบอง, เสียมราษฎร์, และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี สำหรับคนในบังคับหรืออารักขาที่เป็นชาวยุโรปแล้ว สยามยังไม่มีอำนาจเลย.

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๙ (ร.ศ. ๑๒๗) กรุงสยามได้เซ็นสัญญากับประเทศอังกฤษฉะบับหนึ่ง มีข้อความกล่าวถึงอำนาจศาลต่างประเทศ การถอนคดีซึ่งได้ใช้อยู่แล้วในมณฑลฝ่ายเหนือโดยสัญญาปี ค.ศ. ๑๘๘๓ นั้น ให้ขยายออกใช้ถึงคนในบังคับอังกฤษทุกคนที่ได้จดทะเบียนไว้ที่สถานกงสุลอังกฤษก่อนวันที่ ๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ (คือวันลงนามในสัญญานั้น) ส่วนคนอังกฤษทุกคนที่จดทะเบียนภายหลังสัญญา จะต้องขึ้นศาลไทยธรรดา และสิทธิถอนคดีนั้นยังคงมีอยู่จนกว่ากรุงสยามจะได้ใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว[34] อนึ่ง ตามมาตรา ๔ แห่งโปรโตคลท้ายสัญญาฉะบับนี้ ได้ตกลงกันว่า แต่ในคดีทุกคดี จะเป็นในศาลต่างประเทศก็ดี หรือศาลไทยธรรมดาก็ดี ซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาแล้ว จะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหนึ่งนาย ในคดีที่ชนชาติอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษที่ไม่ใช่เชื้อสายชาวเอเซียเป็นคู่ความ จะต้องมีที่ปรึกษาชาวยุโรปนั่งในฐานะเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นหนึ่งนาย และถ้าคนในบังคับประเภทนี้เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาแล้ว คำพิพากษานั้นต้องเป็นไปตามความเห็นของที่ปรึกษาผู้นั้น ที่ปรึกษาชาวยุโรปเหล่านี้เป็นข้าราชการของสยาม ซึ่งแปลว่า อยู่ในความบังคับบัญชาของรัฐบาลสยามทุกสิ่งทุกประการ สัญญาฉะบับนี้เรียกได้ว่า อังกฤษยอมสละสิทธิพิเศษให้แก่กรุงสยามบ้าง แต่ประเทศสยามก็ได้สละสิทธิบางอย่างเช่นเดียวกับสัญญาฝรั่งเศส คือ ๑–ตั้งแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ประทเศสยามต้องจ้างที่ปรึกษาชาวยุโรป (โดยมากเป็นชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ) เข้ามานั่งประจำในศาลไทย ในกรณีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยหรือคนในบังคับอังกฤษที่ไม่ใช่เชื้อสายเอเซียเป็นคู่ความ ๒–คนในบังคับอังกฤษจะต้องเริ่มมีเอกสิทธิทั่วไปในพระราชอาณาจักร์สยามเช่นเดียวกับคนพื้นเมือง มีอาทิ สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการอาศัยและเดินทาง[35] ๓–“รัฐบาลสยามยอมโอนให้แก่รัฐบาลอังกฤษ บันดาอำนาจชอบธรรมฐานที่เป็นเจ้าใหญ่ปกครองป้องกันและบังคับบัญชา อันมีอยู่เหนือเมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองไทรบุรี เมืองปริศ และเกาะที่ใกล้เคียงเมืองเหล่านั้น”[36]

สรุปความตามสัญญาฉะบับนี้ อังกฤษยอมให้ประเทศสยามมีสิทธิ

๑–พิจารณาคดีคนในบังคับอังกฤษทุกคน โดยให้เป็นหน้าที่ของศาลต่างประเทศ

๒–คดีทุกคดี ถ้าคนในบังคับเป็นจำเลย ทางแพ่งหรืออาชญาก็ดี ต้องมีที่ปรึกษาชาวยุโรปนั่งในศาลชั้นต้น แต่ถ้าคนในบังคับอังกฤษนอกจากชาวเอเซียเป็นคู่ความ ที่ปรึกษาต้องนั่งในฐานเป็นผู้พิพากษาและมีเสียงมากกว่าผู้พิพากษาอื่น

ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า กรุงสยามได้พยามทำนุบำรุงบ้านเมืองเพื่อให้ทัดเทียมอารยะประเทศทั้งหลาย มีการศาลเป็นอาทิ โดยได้เห็นแล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้วิธีจัดการศาลจนเรียบร้อยภายในเวลา ๔๐ ปี ญี่ปุ่นก็เลิกล้มศาลกงสุลเสียได้ ดั่งจะเห็นได้จากพระราชปรารภในประมวลกฎหมายอาชญาปี ร.ศ. ๑๒๗ ความว่า “. . . . . . . . . .ความลำบากด้วยเรื่องอำนาจศาลกงสุลเช่นว่ามานี้ย่อมมีทุกประเทศที่ได้ทำสัญญาโดยแบบอย่างอันเดียวกัน และต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันที่จะหาอุบายเลิกล้างวิธีศาลกงสุลต่างประเทศ ให้คนทั้งหลายไม่ว่าชาติใด ๆ บรรดาอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้รับประโยชน์อยู่ในอำนาจกฎหมายและอำนาจศาลสำหรับบ้านเมืองแต่อย่างเดียวทั่วกัน ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มริคิดอ่านจัดการเรื่องนี้ก่อนประเทศอื่นโดยวิธีเลือกหาเนติบัณฑิตต่างประเทศที่ชำนาญระเบียบบทกฎหมายฝรั่งมารับราชการเป็นที่ปรึกษาทำการพร้อมด้วยข้าราชการญี่ปุ่น ช่วยกันตรวจชำระกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นจัดเข้าระเบียบเรียงเรียงให้เป็นแบบแผนวิธีทำนองเดียวกับกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศฝรั่งโดยมาก ทั้งจัดการศาลยุตติธรรมให้เป็นไปตามสมควรแก่ปัจยุบันสมัยทั่วไปในประเทศยี่ปุ่น เมื่อประเทศทั้งปวงแลเห็นว่า กฎหมายและศาลของญี่ปุ่นเป็นระเบียบแบบแผนเรียบร้อยดีแล้ว ก็ยอมแก้สัญญายกเลิกอำนาจศาลกงสุลให้คนในบังคับต่างประเทศอยู่ในอำนาจกฎหมายและศาลญี่ปุ่นแต่นั้นมา มีประเทศญี่ปุ่นที่เลิกอำนาจศาลกงสุลต่างประเทศได้ด้วยอุบายที่จัดการดังกล่าวมานี้เป็นปฐม และเป็นทางที่ประเทศอื่น ๆ อันได้รับความลำบากอยู่ด้วยวิธีศาลกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งในบ้านเมืองจะดำเนินตามให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันได้ ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงได้โปรดให้หาเนติบัณฑิตผู้ชำนาญกฎหมายต่างประเทศเข้ามารับราชการหลายนาย. . . . . . . . . .[37] มีอาทิ ท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ม. โรงแลงยัคคมินซ์) นักปราชญ์กฎหมายชาวเบลเยียม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ม. ริชาด์เกอกแปตริก เนติบัณฑิตเบลเยียม, พระยามหิธร (หมอโตกิจีมาเซา) เนติบัณฑิตญี่ปุ่น, มองซิเออร์ยอชปาดู และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชาวยุโรปอื่น ๆ อีกหลายนาย เข้ามาช่วยเหลือร่วมมือกับข้าราชการไทยในแผนกกฎหมาย มีอาทิ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์[38] และจำนวนนักเรียนไทยซึ่งรัฐบาลสยามส่งออกไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ในต่างประเทศมีจำนวนไม่น้อย ท่านเหล่านี้ได้กลับเข้ามารับราชการฉลองพระเดชพระคุณดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ นับว่าเป็นหลักและกำลังของราชการศาลยุตติธรรมอย่างยิ่ง ในส่วนประมวลกฎหมายที่ประกาศใช้แล้วในยุคนี้ คือ ประมวลกฎหมายลักษณอาชญา ร.ศ. ๑๒๗ (ค.ศ. ๑๙๐๘) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑–๒ (ว่าด้วยลักษณหนี้และบุคคลเป็นต้น) เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ประมวลแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ (ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ฯลฯ) ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ประมวลแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ (ว่าด้วยลักษณทรัพย์) ซึ่งได้ประกาศแล้วและให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป บรรพอื่น ๆ ยังร่างอยู่ ในการตรวจและชำระร่างกฎหมายเหล่านี้ กรรมการได้ศึกษาหลักกฎหมายไทยในส่วนที่เป็นตัวบทและที่ปรากฏจากคำพิพากษาของศาล เทียบเคียงกับหลักกฎหมายต่างประเทศ มีอาทิ กฎหมายฝรั่งเศส อังกฤษ หลักกฎหมายใหม่ในประมวลกฎหมายสวิสส์และญี่ปุ่น ทั้งข้อบัญญัติในประมวลกฎหมายเยอรมัน อิตาเลีย เนเดรลันด์ อเมริกา ฯลฯ เหล่านี้ก็ได้นำมาพิจารณาประกอบด้วย เลือกสรรเอาแต่ที่เห็นว่าจะใช้การได้สดวกและเหมาะกับความต้องการของประเทศ ครั้นได้ยกร่างสำเร็จขึ้นเป็นรูป ก็ตีพิมพ์ร่างนั้นแจกแก่กรรมการไปศึกษาทั่วกันก่อน ภายหลังได้นัดประชุมตรวจพิจารณาปรึกษาร่างทบทวนอีกหลายหน จนเป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว จึงนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย[39] นอกจากการร่างประมวลกฎหมายแล้ว กรมร่างกฎหมาย (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา) นี้ยังมีหน้าที่ตรวจพิจารณาบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ซึ่งจะได้ออกไปภายหน้าด้วย ตามกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ มีใจความว่า เพื่อให้ถูกต้องด้วยวิธีเรียบเรียง บันดาพระราชบัยญัติหรือกฎกระทรวงซึ่งเจ้ากระทรวงทะบวงการจะเรียบเรียงขึ้นนั้นให้ส่งยังกรมร่างกฎหมายเพื่อตรวจแก้หรือยกร่างขึ้นใหม่ให้เป็นการแน่นอนว่าถูกต้องด้วยหลักทางการและเป็นการสม่ำเสมอแล้ว จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้มีกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ความว่า ถ้ากระทรวงทะบวงการใดประสงค์จะคิดการใหม่หรือเป็นการเปลี่ยนรัฐประศาสโนบายเดิมแล้ว ให้ทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นเสียก่อนชั้นหนึ่งเพื่อปรึกษาในเสนาบดีสภาหรืออภิรัฐมนตรีสภา เมื่อความเห็นนั้นได้รับอนุมัติแล้ว จึงคิดร่างกฎหมายโดยละเอียดต่อไป ฯลฯ[40] กรมร่างกฎหมายนี้มีเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง กับมีกรรมการทั้งไทยและชาวต่างประเทศอีกหลายท่าน[41]

เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗) กรุงสยามได้เข้าร่วมในงานมหายุทธสงคราม เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับประเทศเยอรมันนี ครั้นเมื่อเลิกสงครามแล้วตามสัญญาสันติภาพที่แวรซาย ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ระวางสัมพันธมิตรแลสหิตประเทศทั้งหลายในเยอรมันนี ในหมวด ๓ มาตรา ๑๓๕ มีความว่า เยอรมันนียอมรับแลนับถือว่า สัญญา อนุสัญญา แลข้อตกลงทั้งหมดกับประเทศสยาม แลสิทธิ อำนาจและเอกสิทธิทั้งหมดซึ่งมีอยู่เนื่องจากข้อตกลงนั้น ๆ แลรวมทั้งสิทธิในการตั้งศาลกงสุลนี้ เป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ส่วนข้อความในสัญญากับออซเตรียแลฮุงการีก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

ครั้งนี้เรียกได้ว่า กรุงสยามเริ่มได้สิทธิบริบูรณ์แล้วในเรื่องอำนาจศาลเกี่ยวกับคนในบังคับเยอรมันนี, ออซเตรียและฮุงการี กล่าวคือ คนในบังคับประเทศเหล่านี้ต้องขึ้นศาลไทยธรรมดาทุกประการ

สัญญาใหม่กับสหปาลีรัฐอเมริกา รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือ เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐) กรุงสยามจึงได้ทำสัญญาใหม่กับประเทศสหปาลรัฐอเมริกาฉะบับหนึ่ง ตามสัญญาฉะบับนี้ นอกจากมีข้อความอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปในทางให้กรุงสยามได้รับความเสมอภาคแล้ว ยังมีข้อตกลงกันถึงเรื่องอำนาจศาลด้วย ดังปรากฎในข้อความต่อท้ายสัญญาโปรโตโคลว่าด้วยอำนาจศาลสำหรับใช้แก่คนอเมริกันแลคนอื่น ๆ ที่สมัครอยู่ในป้องกันอเมริกันในกรุงสยาม ข้อ ๑ “วิธีอำนาจศาลซึ่งได้ตั้งไว้ในกรุงสยามแต่ก่อนมาจนบัดนี้สำหรับใช้ต่อคนชาวพื้นเมืองสหปาลีรัฐอเมริกาก็ดี กับทั้งอำนาจแลความยกเว้นซึ่งคนชาวเมืองสหปาลีรัฐอเมริกาเคยได้มีอยู่บัดนี้ว่าเป็นส่วนหรือเป็นของสำหรับกับวิธีอำนาจศาลที่กล่าวนั้น ต้องเป็นอันเลิกขาดแลสิ้นสุดลงณวันที่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันสัญญาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว (แลกเปลี่ยนสัตยาบันเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔) ตั้งแต่บัดนี้สืบไปบรรดาคนชาวเมืองสหปาลีรัฐอเมริกาก็ดี บริษัทหรือพวกหุ้นส่วนหรือสมาคมทั้งหลายก็ดี ซึ่งสมควรอยู่ในความป้องกันของอเมริกาในกรุงสยามนั้น ต้องอยู่ในอำนาจศาลสยาม” แล “ข้อ ๒ ตั้งแต่นี้ต่อไปจนเวลาที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายฝ่ายสยามทั้งหลาย กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาชญา ประมวลกฎหมายแพ่งกับการค้าขาย ประมวลกฎหมายกระบวนพิจารณา กับพระธรรมนูญศาลนี้ กับมีกำหนดไม่เกินกว่า ๕ ปีภายหลังประกาศนั้น ฝ่ายสหปาลีรัฐอเมริกาถ้าคิดเห็นสมควรที่จะกระทำเพื่อประโยชน์ในการยุตติธรรมเมื่อใด ก็ให้ทูตหรือกงสุลเขียนเป็นหนังสือถึงผู้พิพากษาแห่งศาลซึ่งพิจารณาความค้างอยู่ยังไม่แล้ว ในคดีที่คนชาวอเมริกัน หรือบริษัท หรือพวกหุ้นส่วนหรือสมาคม ที่สมควรอยู่ในป้องกันของอเมริกัน เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหานั้น ถอนคดีที่ชำระค้างอยู่ในศาลสยามใด ๆ ก็ได้ ยกเว้นแต่ศาลฎีกาจึงถอนไม่ได้ ฯลฯ[42] นอกจากนี้ คดีที่ได้ถอนไปพิจารณากันที่ศาลกงสุลนั้น จะต้องใช้กฎหมายสยามที่ได้ประกาศใช้แล้วขึ้นบังคับ รวมความตามสัญญาอเมริกันฉะบับนี้ ประเทศสยามได้เลิกอำนาจศาลกงสุลอเมริกันซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเก่าปี ค.ศ. ๑๘๕๖ เสีย โดยคนอเมริกันทุกคนต้องอยู่ใต้อำนาจศาลสยามธรรมดา แต่เพื่อเป็นหลักประกันความยุตติธรรมอย่างดีที่สุด กรุงสยามยอมให้ฝ่ายเขามีสิทธิถอนคดีไปพิจารณาที่ศาลกงสุลได้ แต่ต้องเป็นคดีภายในชั้นศาลอุทธรณืได้ แลมีกำหนดเวลานับตั้งแต่ประเทศสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบแล้วอีก ๕ ปี และฉะเพาะในคดีที่คนอเมริกันเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา

สัญญาฉะบับใหม่กับประเทศญี่ปุ่น

ลุพุทธศักราช ๒๔๖๖ กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นอีกเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม (แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗) สัญญาฉะบับนี้ยกเลิกสัยญาเก่าปี ค.ศ. ๑๘๙๘ โดยญี่ปุ่นยอมให้คนของเขาอยู่ใต้อำนาจศาลไทยธรรมดา แลการถอนคดีก็ดำเนินตามแบบสัญญาอเมริกันทุกประการ แต่มีข้อที่ควรสังเกต คือ สัญญาฉะบับนี้ต่างกับสัญญาเก่าอยู่หน่อย ตามสัญญาเก่า สิทธิต่าง ๆ เกี่ยวกับศาลพิเศษนี้เป็นอันสิ้นสุดลงเด็จขาดเมื่อกรุงสยามได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว แต่สัญญาฉะบับใหม่นี้ให้สิทธิถอนคดีมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบบริบูรณ์แล้วและต่อจากนั้นไปอีก ๕ ปี

สัญญาฉะบับใหม่กับประเทศฝรั่งเศส

ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕ กรุงสยามได้ทำสัญญาใหม่กับประเทศรีปับลิกฝรั่งเศสโดยมีข้อความทำนองเดียวกับสัญญาอเมริกัน ค.ศ. ๑๙๒๐ แต่มีความต่างกันในเรื่องอำนาจศาลอยู่บ้าง คือ ตามข้อ ๑ แห่งโปรโตโคล จนกระทั่งถึงเวลาที่ประเทศสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว พลเมืองฝรั่งเศสตลอดทั่วพระราชอาณาจักรสยามจะต้องขึ้นศาลพิเศษชื่อว่าศาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลของสยาม แลพนักงานทูตหรือกงสุลฝรั่งเศสมีสิทธิถอนคดีได้ชั่วเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่ว่านั้นเป็นต้นไป[43] ส่วนชาวเอเชียในบังคับแลในอารักขาของฝรั่งเศสซึ่งสำนักอาศัยอยู่ในมณฑลอุดรแลอิสาณ แม้จะได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงสยามเมื่อวันเดือนปีใด ๆ ก็ดี กับทั้งชาวเอเชียในบังคับแลในอารักขาฝรั่งเศสที่สำนักอาศัยอยู่นอกมณฑลที่ว่านั้น แลได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงสยามก่อนวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ อันเป็นวันที่ได้ตกลงลงนามกันในหนังสือสัญญาฉะบับที่ได้ทำกันในระวางสยามกับฝรั่งเศสมาแล้วนั้น จะต้องอยู่ใต้อำนาจศาลต่างประเทศ ภายในบังคับแห่งข้อไขซึ่งมีกำหนดไว้ในข้อ ๔ แห่งโปรโตโคลฉะบับนี้ ภายหลังวันที่กล่าวข้างต้นนี้ คนเหล่านี้จะต้องอยู่ในบังคับศาลสยามธรรมดา[44]

ชาวเอเชียในบังคับแลในอารักขาฝรั่งเศสที่สำนักอาศัยอยู่นอกมณฑลอุดรแลอิสาณ แลได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสภายหลังวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ กับคนในบังคับแลในอารักขาฝรั่งเศสที่ไม่ใช่ชาวเอเชียนั้น จะต้องอยู่ใต้อำนาจศาลธรรมดา แลไม่มีสิทธิพิเศษอย่างไร[45]

สัญญาฉะบับใหม่กับประเทศอังกฤษ

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ มีลักษณแบบเดียวกับสัญญาอเมริกัน ในโปรโตโคลว่าด้วยอำนาจศาลติดท้ายสัญญามีความดั่งนี้

ข้อ๑)วิธีอำนาจศาลซึ่งได้ตั้งไว้ในกรุงสยามแต่ก่อนมาจนบัดนี้สำหรับใช้ต่อคนในบังคับอังกฤษ กับทั้งเอกสิทธิ และความยกเว้น และความคุ้มกันต่าง ๆ ซึ่งคนในบังคับอังกฤษในกรุงสยามมีอยู่บัดนี้ เป็นส่วนหรือเป็นของสำหรับกับวิธีอำนาจศาลที่กล่าวนั้น ต้องเป็นอันเลิกขาดและสิ้นสุดลงในวันที่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันของสัญญาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘) และตั้งแต่นั้นสืบไป บันดาคนในบังคับอังกฤษ และองค์คณะ และบริษัท และบุคคลทั้งหลายในอารักขาของอังกฤษในกรุงสยามนั้น จะต้องขึ้นอยู่ในอำนาจศาลฝ่ายสยาม[46]

ข้อ๒)จนกระทั่งถึงเวลาที่จะได้ประกาศและเป็นอันเริ่มใช้ประมวลกฎหมายสยามทั้งหมด . . . . . . . . . . ฯลฯ . . . . . . . . . . กับมีกำหนดต่อนั้นไปอีก ๕ ปี แต่ไม่เกินกว่า ๕ ปี ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษ ถ้าเห็นสมควรที่จะกระทำเพื่อประโยชน์แห่งความยุตติธรรมเมื่อใด จะให้พนักงานทูตแลกงสุลของพระองค์ในกรุงสยามทำคำขอเป็นหนังสือถึงผู้พิพากษาแห่งศาลซึ่งพิจารณาความค้างอยู่ยังไม่แล้ว ในคดีคนในบังคับอังกฤษ หรือองค์คณะ หรือบริษัท หรือสมาคมอังกฤษ หรือบุคคลในอารักขาของอังกฤษ เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหานั้น เพื่อถอนคดีที่ชำระค้างอยู่ในศาลสยามใด ๆ ก็ได้ เว้นแต่ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกา ถอนไม่ได้

คดีเช่นนี้ เมื่อถอนแล้ว จะต้องโอนมาให้พนักงานทูตหรือกงสุลนั้นพิจารณาตัดสิน และอำนาจศาลสยามในคดีเช่นว่านี้จะไม่มีแต่ขณะนั้นไป คดีใด ๆ ที่ได้ถอนแล้วดังนี้ พนักงานทูตหรือกงสุลนั้นจะได้ว่ากล่าวให้สำเร็จไปตามกฎหมายของอังกฤษ ยกไว้แต่คดีความนั้นจะมีข้อบังคับไว้ในประมวลกฎหมายหรือกฎหมายทั้งหลายของกรุงสยาม ซึ่งได้ประกาศและใช้ตามระเบียบ และเนื้อความในบทกฎหมายนั้น ๆ ได้แจ้งความให้สถานทูตอังกฤษณกรุงเทพฯ ทราบแล้ว ฉะนั้น อำนาจหรือกรรมสิทธิที่คู่ความจะได้หรือจะเสียนั้น จะต้องเป็นไปตามกฎหมายสยาม. . . . . . . . . .[47]

ข้อ)คดีอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ในบันดาคดีที่คนในบังคับอังกฤษ หรือองค์คณะ หรือบริษัท หรือสมาคมอังกฤษ หรือบุคคลในอารักขาของอังกฤษ เป็นคู่ความนั้น ศาลอุทธรณ์ในกรุงเทพฯ จะต้องพิจารณาพิพากษา

การอุทธณ์ปัญหากฎหมายนั้น จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ ได้ต่อศาลสูงสุดหรือศาลฎีกา

คนในบังคับอังกฤษ หรือองค์คณะ หรือบริษัท หรือสมาคมอังกฤษ หรือบุคคลในอารักขาของอังกฤษ ที่เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีใด ๆ ที่เกิดขึ้นในมณฑลชนบทนั้น จะร้องขอย้ายศาลก็ได้ และถ้าศาลเห็นว่าควรย้ายแล้ว การพิจารณาคดีนั้นต้องพิจารณาณกรุงเทพฯ หรือต่อหน้าผู้พิพากษาแห่งศาลซึ่งหากจัดพิจารณาคดีนั้นในกรุงเทพฯ บทบัญญัติในข้อนี้นั้นจะต้องเป็นอันใช้ได้ตลอดเวลาที่สิทธิสำหรับถอนคดีจะยังคงมีอยู่ตามความในข้อ ๒[48]

สัญญากับประเทศอื่น ๆ

เวลาล่วงมา กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศมีลำดับก่อนและหลังดังต่อไปนี้[49] สเปญ (ลงนามวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ค.ศ. ๑๙๒๕ แลกเปลี่ยนสัตยาวันวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙) โปรตุเกศ[50] (ลงนามวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ค.ศ. ๑๙๒๖ แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙) เนรเดรลันด์[51] (ลงนามวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ค.ศ. ๑๙๒๕ แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙) ดันมาร์ค[52] (ลงนามวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ค.ศ. ๑๙๒๕ แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๑๑ มินาคม พ.ศ. ๒๔๖๘) สเวเดน[53] (ลงนามวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ค.ศ. ๑๙๒๕ แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙) อิตาเลีย[54] (ลงนามวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ค.ศ. ๑๙๒๖ แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๒๘ มินาคม พ.ศ. ๒๔๖๙) สหปาลีรัฐ เศรษกิจเบลเยียม และลุกซัมบุร์ก[55] (ลงนามวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ค.ศ. ๑๙๒๖ แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๒๕ มินาคม พ.ศ. ๒๔๖๙) นอร์เวอย์[56] (ลงนามวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ค.ศ. ๑๙๒๖ แลกเปลี่ยนสัตยาบันวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙)

สัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศเหล่านี้เดิรแนวเดียวกับสัญญาฉะบับที่สหปาลีรัฐอเมริกาทำให้แก่กรุงสยาม และเลิกกลับอำนาจศาลกงสุลเสียโดยเหตุผลที่ได้บรรยายมาแล้วในเบื้องต้น

ได้กล่าวแล้วว่า ระวาง พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ (ค.ศ. ๑๙๑๙ ถึง ค.ศ. ๑๙๒๖) เป็นสมัยที่กรุงสยามกำลังเปลี่ยนแปลงสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศจนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว โดยประเทศนั้น ๆ ยอมยกเลิกศาลกงสุลเสีย แต่ยังคงสงวนสิทธิบางอย่างไว้บ้าง ฉะนั้น ในยุคนี้ อำนาจศาลสยามที่จะพิจารณาคดีคนต่างประเทศจึงมีดังต่อไปนี้

ประเภทที่ ๑ คนในบังคับเยอรมันนี ออสเตรีย สวิสส์[57] พลเมืองของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งคนในบังคับประเทศนั้น ๆ ด้วย ที่ไม่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยาม และชาวเอเซียในบังคับและอารักขาฝรั่งเศสที่สำนักอาศัยอยู่นอกมณฑลอุดรและอิสาณ แลได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสภายหลังวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ กับทั้งคนในอารักขาฝรั่งเศสที่ไม่ใช่ชาวเอเซีย จะต้องอยู่ใต้อำนาจศาลสยามธรรมดา เช่น ศาลโปริสภา, ศาลแพ่ง หรือศาลอาญา ฯลฯ อีกนัยหนึ่ง มีฐานะอย่างคนไทยทุกประการ

ประเภทที่ ๒ ชนชาติหรือในบังคับประเทศเหล่านี้ คือ อิตาเลีย, ญี่ปุ่น, ดันมาร์ก, โปรตุเกส, สเปญ, นอร์เวย์, สเวเดน, สหปาลีรัฐอเมริกา, สหาปาลิเศรษกิจเบลเยี่ยมและลูกซัมบูร์ก, เนเดรลันด์ ต้องอยู่ใต้อำนาจศาลสยามธรรมดาเหมือนคนไทยทุกประการ แต่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ฉะเพาะในปัญหาข้อกฎหมาย และประเทศเหล่านี้ยังคงมีสิทธิถอนคดีไปพิจารณาที่ศาลกงสุลได้ จนกว่าประเทศสยามจะได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายทุกลักษณะครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว และต่อนั้นไปอีก ๕ ปี อนึ่ง คดีที่ถอนไปพิจารณาที่สถานกงสุลนั้น จะต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายสยามซึ่งได้ประกาศและใช้แล้วตามระเบียบ และเนื้อความในบทกฎหมายนั้น ๆ ได้แจ้งความให้สถานทูตทราบแล้ว แต่สำหรับคนในบังคับประเทศดันมาร์ก นอร์เวอร์ และเนเดร์ลันด์ มีสัญญาพิเศษออกไปอีกว่า ถ้าลักษณะของคดีที่ถอนไปนั้นตกอยู่ในวิสัยบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาชญาของประเทศเขาแล้ว ก็ต้องใช้ประมวลกฎหมายอาชญาของเขาบังคับแก่คดี

ประเภทที่ ๓ กล่าวตามข้อความในสัญญาทางพระราชไมตรี คนในบังคับอังกฤษหรือในอารักขาของอังกฤษต้องอยู่ใต้ศาลสยามแผนกธรรมดา แต่ประเทศอังกฤษมีผลประโยชน์ส่วนได้เสียในกรุงสยามอยู่เป็นอันมาก กระทรวงยุตติธรรมจึงได้ทำความตกลงกับอังกฤษจัดให้คดีที่เกี่ยวกับคนในบังคับอังกฤษ องค์คณะ บริษัท และสมาคม และบุคคลทั้งปวงที่อยู่ในอารักขาของอังกฤษ ได้รับความสดวกเป็นพิเศษในทางอรรถคดี เพื่อป้องกันการถอนคดี และเป็นการให้หลักประกันในความสามารถเที่ยงตรงแห่งศาลยุติธรรมของเราด้วยในตัว โดยให้มีเจ้าหน้าที่สำหรับชำระความเหล่านี้ (กล่าวคือ ศาลไทยแผนกเจ้าหน้าที่คดีคนในบังคับอังกฤษ) ให้มีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปนั่งฟังคดี และเมื่อเกิดคดีขึ้น ให้แจ้งให้เจ้าพนักงานกงสลทราบด้วย

ศาลแผนกเจ้าหน้าที่คดีคนในบังคับอังกฤษ ไดแก่ ศาลดังต่อไปนี้

ก)ในกรุงเทพฯ ๑) ศาลคดีต่างประเทศ (ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตต์มณฑลกรุงเทพฯ นครไชยศรี ราชบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิศณุโลก นครราชสิมา อุดร ปราจีน และจันทบุรี

๒)ศาลโปริสภาที่ ๑ (แผนกอังกฤษ) ภายในขอบอำนาจของศาลนั้น และมีอำนาจครอบงำตลอดมาอาณาเขตต์ของศาลโปริสภาทั้งสามศาล

ข)ในหัวเมืองต่าง ๆ

๑)ศาลมณฑพายัพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีอำนาจตลอดเขตต์มณฑลพายัพ

๒)ศาลมณฑลนครศรีธรรมราชที่สงขลา มีอำนาจตลอดเขตต์มณฑลนครศรีธรรมราชและปัตตานี

๓)ศาลมณฑลภูเก็ต มีอำนาจตลอดเขตต์มณฑลภูเก็ต

ถ้าคดีเกิดขึ้นในศาลซึ่งไม่มีอำนาจรับพิจารณา ศาลที่รับฟ้องจะต้องรายงานขอคำสั่งต่อศาลเจ้าหน้าที่ ๆ จะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

๑)ให้ส่งคดีมาพิจารณาและพิพากษาที่ศาลเจ้าหน้าที่ที่ได้รับรายงานนั้นเอง

๒)ให้ศาลจังหวัดที่รับฟ้องไว้พิจารณาและพิพากษาคดีเรื่องนั้นไป แต่เมื่อเป็นคดีซึ่งคนในบังคับอังกฤษซึ่งมิใช่เชื้อสายชาวเอเชีย หรือองค์คณะ หรือบริษัท หรือสมาคมอังกฤษ อันได้รวบรวมจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอังกฤษ เป็นคู่ความ หรือคดีที่คนเอเชียในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา ก็ให้มีที่ปรึกษากฎหมายนั่งฟังการพิจารณาด้วย

๓)ให้ศาลจังหวัดที่รับฟ้องคดีไว้นั้นดำเนินการพิจารณาคดี และให้ทำความเห็นปิดสำนวนเสนอส่งมายังศาลเจ้าหน้าที่ จะได้ทำการพิพากษาต่อไป

๔)ส่งที่ปรึกษากฎหมายออกไปนั่งฟังการพิจารณาคดี และสั่งไปให้ศาลจังหวัดที่ได้รับฟ้องทำความเห็นเสนอมายังศาลเจ้าหน้าที่ (คือศาลที่ได้สั่งไป) ศาลเจ้าหน้าที่จะได้พิพากษาพร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมายนั้น

ในคดีที่คนในบังคับอังกฤษมิใช่เชื้อสายชาวเอเซีย หรือองค์คณะ หรือบริษัทสมาคมอังกฤษเป็นคู่ความ หรือคนเอเซียในบังคับอังกฤษ เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาแล้ว ในศาลชั้นต้นต้องมีที่ปรึกษาชาวยุโรปนั่งพิจารณาและบันทึกความเห็นไว้นายหนึ่ง ในชั้นศาลอุทธรณ์สองนาย ชั้นศาลฎีกาสองนาย

แต่อำนาจศาลสยามเกี่ยวกับการรับฟ้องในคดีแพ่งนั้นมีแตกต่างออกไป คือ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มฤดกของคนในบังคับอังกฤษซึ่งจดทะเบียนก่อนสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๙ ซึ่งกงสุลอังกฤษยังมิได้จัดตั้งผู้จัดการทรัพย์มฤดกให้จัดการทรัพย์นั้น และทั้งข้อพิพาทที่นำมาฟ้องร้องนั้นก็มิได้เกิดจากการจัดการทรัพย์มฤดกรายนั้นเองแล้ว ศาลไทยไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาพิพากษา โดยกงสุลอังกฤษแต่ผู้เดียวมีอำนาจที่จะจัดตั้งผู้จัดการทรัพย์มฤดกของบุคคลเหล่านี้

อำนาจของศาลกงสุลอังกฤษเกี่ยวเรื่องทรัพย์มฤดกมีอยู่บ้างดังนี้

ในเรื่องมฤดก คนในบังคับอังกฤษจดทะเบียนก่อนสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๙ กงสุลมีอำนาจตั้งผู้จัดการมฤดก โดยปิดประกาศแจ้งความตามธรรมเนียมก่อน ถ้ามีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านกงสุล ต้องสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านไปฟ้องยังศาลไทยภายในเวลากำหนดได้ เมื่อฟ้องแล้ว ศาลไทยมีอำนาจสั่งตั้งผู้จัดการมฤดกได้ และมีอำนาจที่จะสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องที่เกี่ยวกับมฤดกนั้น และฝ่ายกงสุลก็มีอำนาจแต่เพียงรวบรวมทรัพย์มฤดกนั้น ๆ ในฐานเป็นตัวแทนของผู้ที่คอยรับทรัพย์นั้นเท่านั้น

อำนาจกงสุลอังกฤษในเรื่องมฤดกเหล่านี้นั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อมีประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องสืบมฤดกและพินัยกรรม์แล้ว

ประเภทที่ ๔ พลเมืองฝรั่งเศสตลอดทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม และชาวเอเซียในบังคับและอารักขาฝรั่งเศสที่จดทะเบียนก่อนวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ หรือพวกที่อาศัยอยู่ในมณฑลอุดรและอิสาณ แม้จะได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงสยามเมื่อวันเดือนปีใด ๆ ก็ดี ต้องอยู่ใต้อำนาจศาลสยาม แต่เรียกชื่อพิเศษว่า “ศาลต่างประเทศ”

ศาลเหล่านี้เป็นศาลต่างประเทศ

ตามข้อบังคับสำหรับศาลต่างประเทศซึ่งตั้งขึ้นตามสัญญาทางพระราชไมตรีระวางกรุงสยามกับประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕[58] ข้อ ๑๑ กล่าวว่า ศาลซึ่งมีนามต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นศาลต่างประเทศ คือ

(๑)ในมณฑลกรุงเทพฯ นั้น คือ ศาลคดีต่างประเทศ ให้เรียกว่าศาลต่างประเทศในกรุงเทพฯ กับศาลโปริสภาที่ ๑ นับว่าเป็นสาขาของศาลต่างประเทศกรุงเทพฯ ด้วย

(๒)ในมณฑลจันทบุรี นครราชสิมา อิสาณ และพายัพ ให้ถือศาลมณฑลเป็นศาลต่างประเทศ

(๓)ให้ถือศาลจังหวัดที่จังหวัดน่านเป็นศาลต่างประเทศ

แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงยุบมณฑลลงบ้าง ศาลต่างประเทศซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีเหล่านี้จึงได้แก่ศาลดังต่อไปนี้

(๑)ศาลต่างประเทศกรุงเทพฯ มีอำนาจครอบงำทั่วไป เว้นแต่มณฑลที่มีศาลต่างประเทศประจำอยู่

(๒)ศาลโปริสภาแผนกต่างประเทศ มีอำนาจครอบงำตลอดเขตต์ของศาลโปรีสภาทั้งสามศาล

(๓)ศาลต่างประเทศมณฑลจันทบุรี มีอำนาจครอบงำตลอดเขตต์มณฑลนั้น

(๔)ศาลต่างประเทศมณฑลนครราชสิมา มีอำนาจครอบงำตลอดเขตต์มณฑลนั้น

(๕)ศาลต่างประเทศมณฑอุบล มีอำนาจครอบงำตลอดเขตต์มณฑลนั้น รวมทั้งมณฑลอุดรและร้อยเอ็จ

(๖)ศาลต่างประเทศมณฑลพายีพ ครอบงำพายัพและมหาราษฎร์ เว้นจังหวัดน่าน แพร่

(๗)ศาลต่างประเทศจังหวัดน่าน, แพร่

สำหรับศาลมณฑลอุบล ต่อมาได้มีการตกลงระวางกระทรวงยุตติธรรมกับสถานทูตฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ให้ยกเลิกหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายประจำศาลนั้น และคดีที่เกิดขึ้นในเขตต์ของศาลนั้นให้ศาลที่คดีเกิดขึ้นนั้นพิจารณาแล้วส่งสำนวนมาให้ศาลต่างประเทศกรุงเทพฯ พิจารณาพิพากษาพร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมาย แต่ถ้าเป็นคดีสำคัญหรือลักษณะอุกฉกรรจ์ กระทรวงยุตติธรรมจะได้มีการตกลงเช่นเดียวกัน ต่อมาให้ยุบมณฑลอุบลเป็นจังหวัดอุบล โดยให้ขึ้นต่อมณฑลนครราชสิมา แต่ยังคงมีฐานะเป็นศาลต่างประเทศดุจเดิม ศาลจังหวัดน่านนี้ได้ยกไปรวมกับศาลต่างประเทศมณฑลพายัพแล้ว ศาลมณฑลจันทบุรีก็ได้ยุบลงเป็นศาลจังหวัดเสียแล้ว โดยให้ขึ้นต่อศาลมณฑลปราจิณ แต่ศาลจังหวัดยังคงมีฐานะเป็นศาลต่างประเทศดุจเดิมเหมือนกัน

คดีเกี่ยวกับพลเมืองฝรั่งเศสชั้นรับฟ้องในคดีอาชญา

ถ้าเป็นคดีที่พลเมืองฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องในคดี โดยเป็นโจทก์หรือเจ้าทุกข์ (ไม่ใช่จำเลยหรือผู้ต้องหา) และคดีนั้นเกิดที่ศาลหัวเมืองซึ่งไม่ใช่เป็นศาลต่างประเทศแล้ว ศาลที่รับฟ้องคดีนั้นต้องรายงานส่งฟ้องมายังศาลต่างประเทศที่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้นโดยทันที เมื่อได้รับรายงานแล้ว ศาลต่างประเทศที่กรุงเทพฯ จะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑)ถ้าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ศาลต่างประเทศจะมีรายงานไปยังกระทรวงยุตติธรรมขอให้ตกลงกับสถานทูตฝรั่งเศสในการที่จะมอบหมายให้ศาลที่รับฟ้องไว้ หรือศาลหนึ่งศาลใด จัดการไต่สวนฟังคำพะยานในคดีพร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปซึ่งทางกระทรวงยุตติธรรมจะได้ส่งไปนั่งพิจารณาคดีนั้น และให้ศาลนั้นส่งสำนวนมาให้ศาลต่างประเทศทำคำพิพากษาพร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปนั้น เมื่อการพิจารณาเสร็จสำนวนแล้ว

(๒)ถ้าไม่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ ก็จะให้ศาลที่รับฟ้องพิจารณาแล้วส่งสำนวนมาให้ศาลต่างประเทศพิจารณาพร้อมด้วยที่ปรึกษาชาวยุโรปซึ่งจะนั่งในตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่ง

ถ้าพลเมืองฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา ศาลพึงปฏิบัติอย่างเดียวกับชั้นรับฟ้อง

ชั้นพิจารณา

(๑)ในศาลชั้นต้น ถ้าพลเมืองฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปนั่งในตำแหน่งผู้พิพากษาหนึ่งนาย เว้นแต่ในคดีที่ศาลชั้นต้นนั้นได้รับอำนาจจากศาลต่างประเทศให้ทำการพิจารณา และฟังคำพะยานแล้ว ก็ส่งสำนวนไปศาลต่างประเทศ โดยศาลต่างประเทศจะได้ทำคำพิพากษาพร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปนายหนึ่ง ดังนี้ ชั้นไต่สวนในศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องมีที่ปรึกษากฎหมาย

(๒)ศาลจะแจ้งวันนัดพิจารณาคดีทุกนัดไปให้กงสุลหรือไวซกงสุลฝรั่งเศสประจำท้องถิ่นทราบล่วงหน้า

(๓)ในศาลชั้นต้นในคดีที่คนในสังกัดชาติฝรั่งเศสเป็นคู่ความ กงสุลหรือไวซกงสุลมีสิทธิจะเข้าไปอยู่ด้วยในเวลาพิจารณาคดีได้ หรือแต่งให้ผู้แทนเข้ามานั่งฟังการพิจารณาก็ได้[59]

(๔)ในศาลชั้นต้น คดีที่จำเลยหรือผู้ต้องหาเป็นคนสังกัดชาติฝรั่งเศสนั้น พนักงานทูตและพนักงานกงสุลฝรั่งเศสพึงดำเนินสิทธิถอนคดีไปพิจารณาเสียเองได้ จนกว่าจะได้ออกใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้วและ ๕ ปีต่อไป[60]

(๕)คนสังกัดชาติฝรั่งเศสใด ๆ ที่เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา มีสิทธิขอให้ย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลณะกรุงเทพฯ ได้ หรือให้ส่งผู้พิพากษาที่มีอำนาจจะพิจารณาในศาลที่กรุงเทพฯ นี้ออกไปในศาลประจำท้องถิ่นนั้นก็ได้[61]

ชั้นมีคำพิพากษาและอุทธรณ์ฎีกา

(๑)คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปลงนามเป็นผู้พิพากษาน้อยหนึ่งนาย

(๒)กงสุลหรือไวซกงสุลฝรั่งเศสมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นทุกประการติดไว้ในสำนวนที่อุทธรณ์นั้นด้วยได้[62]

(๓)คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต้องมีที่ปรึกษาชาวยุโรปลงนามในคำพิพากษาสองนาย

(๔)คู่ความจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้แต่ฉะเพาะคดีที่มีปัญหาข้อกฎหมาย ผู้พิพากษาที่จะลงนามในคำพิพากษาศาลฎีกาต้องมีผู้พิพากษาชาวยุโรปสองนาย

ในคดีแพ่ง

คดีเกี่ยวกับพลเมืองฝรั่งเศส ศาลย่อมปฏิบัติอย่างเดียวกับคดีอาชญาดั่งกล่าวมาแล้ว แต่ต่างกันบ้าง คือ ในคดีแพ่งที่สำคัญอันเกิดในศาลหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ ศาลต่างประเทศจึงจะส่งที่ปรึกษากฎหมายไปนั่งในชั้นพิจารณาฟังคำพะยาน

สำหรับคดีเกี่ยวกับชาวเอเซียคนในบังคับและอารักขาฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในมณฑลอุดรและอิสาณ หรือนอกมณฎลเหล่านี้ แต่ได้จดทะเบียนก่อนวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๑๙๐๗ แล้วก็ปฏิบัติการดำเนินคดีอย่างพลเมืองฝรั่งเศสทุกประการ เว้นไว้แต่ในเรื่องการถอนคดี จะถอนได้เพียงเวลาที่กรุงสยามยังไม่ประกาศและใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศสยามได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญ รัฐบาลรัฐธรรมนูญได้พยายามอย่างยิ่งในการที่จะเร่งให้ประมวลกฎหมายที่ร่างค้างอยู่ออกประกาศใช้โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ในการที่จะได้อำนาจศาลโดยเด็ดขาดังกล่าวแล้วในบทก่อน ในที่สุดด้วยความพากเพียรและอุสาหะของรัฐบาลพร้อมทั้งการร่วมมือของสภาผู้แทนราษฎร ประมวลกฎหมาย บรรพ ๕–๖ ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และพระธรรมนูญศาลยุตติธรรมฉะบับใหม่ ก็ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๗๗

โดยเหตุที่ประเทศสยามได้มีประมวลกฎหมายออกใช้ครบถ้วนตามสัญญาทางพระราชไมตรีแล้ว ศาลคดีต่างประเทศและศาลต่างประเทศซึ่งมีอยู่โดยสัญญานับว่าเป็นอันสิ้นสุดลง แต่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในบทก่อนนี้ยังคงมีสิทธิครบถ้วนได้ต่อจากวันใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนนี้อีก ๕ ปี

อย่างไรก็ดี เป็นที่ยินดีที่ได้ทราบว่า รัฐบาลปัจจุบันนี้ได้เริ่มที่จะเจรจาสัญญาใหม่กับนานาประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิบริบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไปในเร็ว ๆ นี้ ดังปรากฏอยู่แล้วในนโยบายซึ่งแถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร


การที่กรุงสยามจำต้องให้สภาพนอกอาณาเขตต์หรือสิทธิในการตั้งศาลกงสุลแก่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายนั้น กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป ผลร้ายหรือทางเสียมีมากยิ่งกว่าทางได้ ซึ่งจะได้กล่าวในภายหลัง แต่ทางฝ่ายที่เห็นว่าควรให้คงมีสภาพนอกอาณาเขตต์อยู่นั้นพอประมวลเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

(๑)กรุงสยามยังไม่มีบทกฎหมายครบถ้วนบริบูรณ์

(๒)กรุงสยามยังไม่มีความเจริญทัดเทียมประเทศทั้งหลายในตะวันตก

(๓)ความชำนิชำนาญของข้าราชการแผนกกฎหมายยังไม่เพียงพอ

ตามข้อหาเหล่านี้ เห็นได้ว่ายังคลาดเคลื่อนจากความจริงอยู่มาก คือ ตามข้อหนึ่ง จริงอยู่แม้กรุงสยามในขณะนั้นยังมิได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนก็ดี แต่เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นเหตุพอถึงกับจะไม่ให้กรุงสยามมีอำนาจชำระคดีทั้งหลายได้ เรามีหลักดำเนินแนวเดียวกับหลักกฎหมายในอารยะประเทศทั้งสิ้น และถ้าไม่มีหลักกฎหมายที่จะเทียบเคียงได้แล้ว ศาลก็เคยนำหลักกฎหมายในต่างประเทศมาใช้โดยเทียบเคียงเหมือนกัน และระเบียบเช่นนี้ได้ปฏิบัติมานานแล้ว ดังจะเห็นได้มีอาทิจากคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๙/๑๒๙ (ฎีกาบางเรื่อง เล่ม ๕ น่า ๓๔๖) ซึ่งมีความว่า เมื่อในข้อใดกฎหมายไทยยังไม่มีโดยตรง ศาลจำต้องอาศัยวิชชากฎหมายต่างประเทศและความยุตติธรรมขึ้นเป็นเครื่องชักนำในการวินิจฉัยความข้อนั้น ยิ่งในปัจจุบันสมัยนี้แล้ว ก็จะเห็นความข้อนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยนัยคำพิพากษาฎีกา ๔๖๗/๒๔๖๘ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ มาตรา ๔ ก็ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้นำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้ปรับแก่คดี ในเมื่อไม่มีตัวบทกฎหมายโดยตรง หรือจารีตประเพณี หรือบทกฎหมายที่ใกล้เคียง

ที่กล่าวมานี้จึงเห็นได้ว่า ข้อหาในข้อที่ ๑ จึงเป็นอันตกไป

ในข้อที่ ๒ เห็นจะไม่จำเป็นต้องบรรยายก็ได้ว่า ความเจริญของเรามีอยู่เพียงใด โดยขอให้นึกถอยหลังขึ้นไปเพียง ๑๕ ปี ก็จะเห็นได้ว่า ฐานะและความเป็นไปของกรุงสยามในยุคนั้นผิดกับในปัจจุบันหรือไม่ ทั้งบัดนี้การปกครองของประเทศก็ได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญซึ่งแบ่งอำนาจศาลไว้เด็ดขาดแล้ว

ในข้อที่ ๓ ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า หากข้าราชการฝ่ายเราไม่มีความรู้ความชำนาญในการศาลดีแล้ว ก็คงจะมีคดีต่างประเทศอันมากถูกถอนไปพิจารณาที่ศาลกงสุล แต่เท่าที่ทราบ ดูเหมือนไม่เกินกว่าหนึ่งในหมื่นเรื่องที่ถูกถอนไปในระวางเวลา ๓๐ กว่าปี ทั้งนี้ก็ย่อมเป็นพะยานอย่างดีที่สุดแล้วว่า ความสามารถของข้าราชการแผนกตุลาการฝ่ายสยามมีอย่างไร โดยไม่จำต้องเตือนให้ระลึกว่า ท่านเหล่านี้ล้วนแต่ได้ปริญญากฎหมายจากประเทศในยุโรปและอเมริกามาแล้ว หรือไม่ก็ได้เป็นเนติบัณฑิตย์สำเร็จวิชาจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุตติธรรม

อย่างไรก็ดี เรายังมีเหตุผลอีกหลายประการซึ่งข้าพเจ้าได้พยายามค้นได้จากที่ต่าง ๆ บ้าง นึกขึ้นได้บ้าง ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เห็นว่า สภาพนอกอาณาเขตต์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกรุงสยาม คือ

(๑)ตามกฎหมายระวางประเทศ บุคคลทุกคนซึ่งอาศัยอยู่ในอาณาเขตต์ของประเทศหนึ่ง ย่อมตกอยู่ใต้อำนาจศาลของประเทศนั้น ฉะนั้น การที่คนต่างด้าวเข้าไปในประเทศหนึ่ง คนต่างด้าวนั้น ๆ ย่อมต้องยอมตนให้ตกอยู่ใต้อำนาจของประเทศนั้นโดยทันที กล่าวคือ ต้องอยู่ใต้อำนาจศาลของประเทศซึ่งตนเข้าไปอาศัยอยู่ และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหมดของตนในอาณาเขตต์นั้น[63]

(๒)มีชนชาติเชื้อชาวเอเซียเป็นจำนวนมากเห็นเป็นโอกาศอันดีที่จะหลีกหนีกฎหมายของกรุงสยามและการรับโทษ โดยต่างพากันไปขอหนังสือกงสุลทำตนเป็นคนในบังคับของชาติต่าง ๆ ที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามท[64] และด้วยเหตุนี้จึงได้มีประกาศรัชชกาลที่ ๕ ร.ศ. ๑๒๕ คือ พระราชบัญญัติสำหรับป้องกันการทุจริตว่าด้วยหนังสือสำคัญที่จดทะเบียนชื่อสำหรับตัว เนติบัณฑิตย์อเมริกันคนหนึ่งชื่อกุสตาวัสโอลิงเยอร์ได้กล่าวถึงการพลิกแพลงของคนพวกนี้ที่เซี่ยงไฮ้ว่า “ในเมืองจีนเราจะหลุดพ้นจากการลงโทษได้โดยเพียงอย่าเผยสัญชาติ มีเรื่องที่ขบขันเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในเซี่ยงไฮ้ คือ จำเลยเป็นนายบ่อนการพนันโรงใหญ่แห่งหนึ่งที่ตำรวจพยายามจับกุมมาเป็นเวลาช้านาน แต่จำเลยผู้นี้ฉลาดมาก โดยไม่ยอมเผยให้ใครทราบเลยว่าเขาเป็นคนชาติใด ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เชื่อแน่ว่าเป็นชาติอเมริกัน จึงนำตัวไปฟ้องที่ศาลกงสุลอเมริกัน จำเลยก็เริ่มต่อสู้ว่า ความจริงเขาเป็นคนในบังคับเยอรมัน โจทก์ต้องถอนฟ้องและไปฟ้องใหม่ที่ศาลเยอรมัน ไปถึงศาลเยอรมัน จำเลยกลับให้การว่า เขาเป็นพลเมืองอเมริกัน ศาลเยอรมันต้องบังคับให้โจทก์ถอนฟ้อง คราวนี้โจทก์กลับนำตัวมาศาลอเมริกันอีก แต่จำเลยต่อสู้ใหม่ว่าเป็นชนชาติอเยนไตน “ในอารักขาของสเปญ เรื่องนี้เห็นได้ว่า จำเลยได้เล่นซ่อนหากับเจ้าหน้าที่เสียแล้ว[65]

(๔)ตามสัญญาทางพระราชไมตรีเดิม ยอมให้ศาลกงสุลมีอำนาจแต่เพียงชำระคนของเขาที่ถูกกล่าวหาหรือเป็นจำเลยเท่านั้น เรื่องยุ่ง ๆ อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โจทก์ผู้นำคดีไปฟ้องร้องในศาลกงสุลนั้นหมิ่นประมาทศาลหรือเบิกความเท็จต่อศาล ศาลกงสุลนั้นจะทำอะไรโจทก์ไม่ได้เลย เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นคนในบังคับของศาลนั้น ถ้าโจทก์เป็นคนในบังคับของประเทศอื่น ศาลกงสุลก็ต้องตั้งผู้แทนไปฟ้องในศาลกงสุลซึ่งโจทก์ผู้นั้นมีสัญชาติอยู่ หรือถ้าโจทก์เป็นคนไทย ก็ต้องมาฟ้องในศาลไทยอีก ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ประกอบไปด้วยความลำบากยุ่งยากเป็นเอนกประการ ซึ่งในเมื่อโจทก์จำเลยต้องขึ้นศาลสยามอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แล้ว ถ้าโจทก์หรือจำเลยขืนหมิ่นประมาทศาลหรือเบิกความเท็จ ศาลย่อมมีอำนาจตัดสินลงโทษได้ทีเดียว และเป็นการรักษาความยุตติธรรมอยู่ด้วยในตัว

(๕)การมีศาลกงสุลทำความลำบากให้แก่คนไทยซึ่งจะนำคดีไปฟ้องร้องในศาลกงสุลมาก (ก) เช่น คนต่างประเทศสามคนมีสัญชาติต่างกัน คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาเลียน ทำผิดสัญญาต่อคนไทย ก่อนที่คนไทยจะฟ้อง ต้องเทีย่วพลิกตำรากฎหมายของประเทศทั้งสามเสียก่อนว่า หลักกฎหมายของประเทศนั้น ๆ มีอยู่อย่างไร เพราะถ้าฟ้องโดยไม่ได้ตรวจตราเสียก่อนแล้ว และปรากฏว่าตามหลักกฎหมายของเขาไม่เป็นผิดแล้ว ก็ต้องถูกยกฟ้อง เรื่องยิ่งจะแปลกมากขึ้น ถ้าฟ้องจำเลยคนหนึ่ง ศาลของจำเลยผู้นั้นตัดสินให้โจทก์ชนะ แต่อีกศาลหนึ่งกลับตัดสินแพ้ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า คดีชนิดนี้จะเคยเกิดขึ้นในประเทศเราหรือไม่ แต่ทราบจากหนังสือจดหมายเหตุชาวต่างประเทศว่า มีคดีชนิดนี้เกิดขึ้นที่เมืองจีน

ข)ศาลกงสุลโดยมากมักจะตั้งอยู่ในพระนครหรือเมืองที่เจริญ มีการคมนาคมสดวก สมมุติว่า คดีเกิดขึ้นในท้องที่ไกลจากศาลซึ่งกอนเวลาหลายวันกว่าจะเดินทางมาถึง โจทก์ที่เปนคนยากจนก็คงจะไม่ฟ้อง เพราะจะต้องออกค่าพาหนะต่าง ๆ เช่น นำพะยานหลักฐานมา เป็นต้น และฉวยแพ้ความเข้า ก็จะสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว ข้อนี้ก็เห็นได้ว่า ความยุตติธรรมเสียไปไม่น้อย

ค)ตามธรรมดาโจทก์ที่ฟ้องจำเลยก็หมายจะให้ศาลทำโทษเพื่อชดใช้การกระทำผิด และจะได้เป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไปด้วย แต่ศาลกงสุลบางศาลได้กำหนดความผิดบางประเภทไว้สำหรับผู้ถูกกล่าวหาว่าจะต้องถูกส่งไปพิจารณากันในประเทศหรือเมืองขึ้นของประเทศแห่งตน เช่นนี้ โจทก์หรือประชาชนทั่วไปทราบไม่ได้ว่า จำเลยผู้นั้นได้รับโทษแล้วหรือเปล่า ซึ่งผิดหลักในในการลงโทษผู้ร้าย โดยจะต้องลงโทษในท้องถิ่นที่ผู้นั้นกระทำผิด

ง)คนไทยที่เข้าไปเป็นความในศาลกงสุลนั้น โดยปกติไม่รู้ภาษาต่างประเทศ จึงเป็นการลำบากไม่น้อย

(๖)การมีศาลกงสุล ใช่ว่าจะทำความลำบากและเดือดร้อนแก่ฝ่ายไทยฝ้ายเดียวก็หาไม่ แม้ชาวต่างประเทศเองก็ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน เช่น คนฝรั่งเศสกับอังกฤษพิพาทกัน ฝ่ายฝรั่งเศสก็ไม่อยากจะไปฟ้องในศาลอังกฤษ ฝ่ายอังกฤษก็ไม่อยากจะไปฟ้องในศาลฝรั่งเศศ โดยต่างก็เกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความยุตติธรรม เคยมีคดีเกิดขึ้นซึ่งคู่ความต้องตกลงตั้งนายยอชปาดูซ์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ปรึกษาในการร่างกฎหมายของรัฐบาลสยาม ให้เป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาด (คดีระหว่างบริษัทสแตนตาดออยล์ (บังคับอเมริกัน) กับบริษัทวินด์เซอร์ บังคับเยอรมัน)[66]

(๗)ในคดีแพ่ง โจทก์ที่เข้าไปฟ้องจำเลยในศาลกงสุล ถ้าจำเลยฟ้องแย้งขึ้นมา ศาลกงสุลจะพิจารณาคดีที่ฟ้องแย้งนั้นไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของศาลนั้น

(๘)กงสุลเหล่านี้ แม้จะมีความรู้ในวิชชากฎหมายมาบ้างก็ดี แต่ก็น่าจะไม่สดวกอย่างผู้ที่ได้รับการศึกษามาโดยฉะเพาะสำหรับหน้าที่ตุลาการ เพราะโดยมากกงสุลมีหน้าที่ในทางดูแลผลประโยชน์อันเกี่ยวกับการพาณิชย์ของชนชาติแห่งตนยิ่งกว่า เช่น รับพิจารณาคำคัดค้านหรือรายงานของนายเรือของชาติที่ตั้งตนเข้ามา ซึ่งเกี่ยวกับการเสียหายทางทะเล รับประทับตราหนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับบคนสัญชาติตน รับจดทะเบียนคนเกิดคนตายของชาติเขา รับจัดการทรัพย์มฤดก รับจดทะเบียนสมรส รับเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคนของเขา ฯลฯ[67] เมื่อหน้าที่ของกงสุลมีอยู่มากมายเช่นนี้แล้ว การงานแผนกตุลาการอันเป็นกิจสำคัญก็ไม่ควรให้กงสุลมีหน้าที่เลย อีกประการหนึ่ง เมื่อกงสุลมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของชนชาติแห่งตนอยู่แล้วก็ดี ดูจะขัดกันอยู่บ้างในการที่กงสุลกลับจะมีหน้าที่ต้องพิจารณาคดีคนสัญชาติเดียวกับตน[68]

(๙)การค้าขายระวางกรุงสยามกับต่างประเทศจะเจริญขึ้นไม่ได้เลยตราบใดที่มีศาลกงสุลตั้งอยู่ เพราะพ่อค้าทั้งหลายต่างก็หวาดเกรงในการที่จะไม่ได้รับความยุตติธรรมเต็มภูมิตามสิทธิของตนในเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ซึ่งในบัดนี้ย่อมเห็นได้ว่า การค้าขายกับต่างประเทศนับวันมีแต่จะรุ่งเรืองเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที ตั้งแต่ได้เลิกศาลกงสุลเสีย

(๑๐)นักนิติศาสตร์โดยมากไม่เห็นพ้องด้วยในการที่มีศาลกงสุลในประเทศที่เจริญแล้ว[69]

จบ
ศรีบัญชา ผู้พิมพ์โฆษณา พิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง พระนคร
๑/๘/๗๙

  1. ดูเอนไซโคลปิเดียบริแตนนิคา และหนังสือ Extraterritoriality ของเซอร์แฟนซิซปิกกอตต์ น่า ๒
  2. ดูหนังสือ Extra-terrirorality in Siam โดยหลวงนาถบัญชา (ในเวลานี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิทุรธรรมพิเนศ) (น่า ๗ พิมพ์เมื่อ ฆ.ศ. ๑๙๒๔) และหนังสือว่าด้วยอำนาจศาลเหนือคนในบังคับต่างประเทศ ของพระพินัยศาสตร์ราชสภาบดี (ในเวลานี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีธรรมราช) หมวดที่ ๑ น่า ๑–๒
  3. ราชธานีของโบราณอิยิปต์
  4. ดูหนังสือ Extra-territoriality in Siam โดยพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ หน้า ๑๐–๑๒.
  5. ดูหนังสือ Extra-territoriality in Siam หน้า ๑๔ ของพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ The law affecting foreigner in Egypt ของเยมส ฮารีสกอต น่า ๒๓ กับหนังสือรวบรวมเอกสารระวางปีซาหรือฟลอเรนซกับผู้คอรงประเทศมหะหมัดต่าง ๆ ซึ่งมีเชลอมารีชาวอีตาเลียนรวบรวม ค.ศ. ๑๘๖๒ หน้า ๒๔๑
  6. ดู American Journal of International Law เล่ม ๑๗ ฉะบับที่ ๒ หน้า ๒๑๑–๒๑๒
  7. ดู History of Tde Early Relations between the United States and China, 1784–1844 ใน Transection of Connecticut Academy of Arts and Sciences เล่ม ๒๒ New Haven, 1917 โดย K. C. Latourette
  8. ดู American Journal od International Law เล่ม ๒๐ ฉะบับที่ ๑ น่า ๕๑ และ Custaf, C, History of China, New Yovk, 1834 เล่ม ๒ หน้า ๒๔๘
  9. ดู China Year Book คริศตศักราช ๑๙๒๕ น่า ๗๓๓
  10. ดู China Year Book คริศตศักราช ๑๙๒๔ น่า ๑๑๙๔
  11. ดูคำอธิบายกฎหมายระวางประเทศของออปเป็นไฮม เล่ม ๑ หน้า ๖๐๕ พิมพ์ครั้งที่ ๓ (ค.ศ. ๑๙๒) Outline of History ของ เอส ยี เวลช น่า ๙๙๑–๙๙๓ และ Early Diplomatic Relations of U.S.A. and Japan, 1853–1865 โดย P.J. Treat
  12. ดูพระคำนำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๒๗ น่า ๕ กับพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชชกาลที่ ๒ ฉะบับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ น่า ๒๖๑
  13. Jurisdiction over Foreigners in Siam ของดอกเตอร์ อี. อาร์. เยมส์ ในหนังสือ The American Journal of International Law เล่ม ๑๖ ฉะบับที่ ๔ น่า ๕๘๖
  14. ดูหนังสือ Extra Territoriality in Siam ของพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ หน้า ๒๙ และเรื่อง Jurisdiction over Foreigners in Siam ของดอกเตอร์เยมส์ที่อ้างข้างต้น หน้า ๕๗๗
  15. ดูประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๔ ว่าด้วยหนังสือสัญญาค้าขายระวางประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช หน้า ๗ กับหนังสือราชการของอาณาจักร์สยาม (State Paper of the Kingdom of Siam) คริสตศักราช ๑๖๖๔–๑๘๘๖ หน้า ๒๓๙ หนังสือของพระยาวิทุร ฯลฯ ที่อ้างข้างต้นหน้า ๓๐–๓๑ ดอกเตอร์เยมส์ หน้า ๕๘๘
  16. ดูหนังสือ Journal of the Siam Society เล่ม ๑๔ ตอน ๒ หน้า ๒๓, ๓๐
  17. ดูคำแปลพระปาฐกถาเรื่องคติของฝรั่งเข้ามาเมืองไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงที่โรตารี่คลับเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ หน้า ๑๒
  18. ดูคำแปลพระปาฐกถา หน้า ๑๔
  19. สัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๒๖ ข้อ ๕
  20. สัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๒๖ ข้อ ๖
  21. สัญญาทางพระราชไมตรีกับอเมริกัน ค.ศ. ๑๘๓๓
  22. ดอกเตอร์เอลเดอนเยมส์ หน้า ๕๘๙
  23. ในปีนี้ประเทศสยามยอมให้อังกฤษตั้งศาลกงสุลได้เป็นประเทศแรก
  24. ดูหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศนั้น ๆ กับหนังสือบริติชแนด์ฟอเรนสเตตเปเปอรส์ เล่ม ๔๖, ๔๗, ๕๐, ๗๒, ๕๘, ๕๓, ๖๙, และ ๕๙,
  25. ดูหนังสือ Extra-territorialty in Siam ของพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ น่า ๒๔๘
  26. ดูหนังสือ American Journal of International Law เล่ม ๒๒ ฉะบับที่ ๑ น่า ๗๓
  27. ดูหนังสือสัญญาระวางสยามกับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๔๗ ข้อ ๒
  28. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
  29. ดูหนังสือสัญญาระวางกรุงสยามกับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๗๔ ข้อ ๕
  30. สัญญากับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๘๓ ข้อ ๘
  31. ดูบันทึกสัญญาโปรโตโคลระวางประเทศสยามกับญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๘๙๘ (ร.ศ. ๑๑๖)
  32. ดูสัญญาฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ ข้อ ๑๒
  33. ดูหนังสือว่าด้วยการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม น่า ๑–๒ แจกในคราวมหาอำมาตย์ตรี พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุตติธรรม เป็นพระยายืนชิงช้าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
  34. ดูสัญญาอังกฤษ คริศตศักราช ๑๙๐๙ ข้อ ๕–๖
  35. โปรโตโคล ข้อ ๖
  36. ดูสัญญาอังกฤษ ค.ศ. ๑๙๐๙ ข้อ ๑
  37. ดูกฎหมายรัชกาลที่ ๕ ร.ศ. ๑๒๗ หน้า ๑๑๖–๑๑๗
  38. ดูหนังสือบทบัณฑิต เล่ม ๕ ตอนที่ ๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ หน้า ๕๔๗
  39. ดูหนังสือว่าด้วยการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม หน้า๒๔–๒๕ ซึ่งแจกเมื่อคราวมหาอำมาตย์ตรี พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรม เป็นพระยายืนชิงช้าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
  40. ดูหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า ๒๑–๒๒
  41. ดูหนังสือว่าด้วยการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม หน้า ๒๑–๒๒
  42. ดูราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๘ หน้า ๒๓๕–๒๓๖
  43. ดูโปรโตโคลแนบท้ายสัญญาระวางกรุงสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๒๕ (พ.ศ. ๒๔๖๗) ข้อ ๑ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๒ หน้า ๓๒๒–๓๒๓
  44. ดูโปรโตโคล ข้อ ๒
  45. . . . . . . . . . . .
  46. ดูโปรโตโคลติดท้ายสัญญาอังกฤษ ปี พ.ศ. ๑๙๒๕ ข้อ ๑
  47. ดูโปรโตคลติดท้ายสัญญาอังกฤษปี ค.ศ. ๑๙๒๕ ข้อ ๒
  48. ดูโปรโตคลติดท้ายสัญญาอังกฤษ ช้อ ๓
  49. ดูหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๑ หน้า ๓๕๘ ถึงหน้า ๓๘๕
  50. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ๓๘๖ . . . . . ๔๑๔
  51. ดูหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๓ หน้า ๔๓๖ ถึงหน้า ๔๖๓
  52. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ๑๒ . . . . . . . ๔๔
  53. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ๕๔๗ . . . . . ๕๗๓
  54. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ๗๕๖ . . . . . ๗๙๐
  55. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ๗๙๑ . . . . . ๘๒๓
  56. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ๖๖๖ . . . . . ๗๐๑
  57. ดูสัญญาทางพระราชไมตรีกับสหรัฐสวิสส์ ซึ่งได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ และแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ตามสัญญาฉะบับนี้มิได้กล่าวถึงเรื่องอำนาจศาล จึงเข้าใจว่า ชนชาติหรือในบังคับสหรัฐสวิสส์ต้องขึ้นศาลสยามธรรมดาเหมือนคนไทย
  58. ดูกฎหมายรัชชกาลที่ ๕ ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๖๖, ๖๗
  59. ดูโปรโตโคลว่าด้วยอำนาจศาลกับประเทศฝรั่งเศส ข้อ ๔ วรรค ๒
  60. ดูโปรโตโคลว่าด้วยอำนาจศาลกับประเทศฝรั่งเศส ข้อ ๔ วรรค ๕
  61. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
  62. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .๔ ตอน ๒ และคำสั่งกระทรวงยุตติธรรม ข้อ ๑๖
  63. ดูคำอธิบายกฎหมายระวางประเทศ ของออปเปนไฮม์ เล่ม ๑ หน้า ๒๓๘ ข้อ ๑๔๔ และหน้า ๔๙๒ หน้า ๓๑๗
  64. ดู American Journal of International Law เล่ม ๒๒ ฉะบับที่ ๑ หน้า ๗๓
  65. ดูเรื่องอำนาจศาลกงสุลในประเทศจีน โดยจีโอลินเยอร์ ในหนังสือมิชิแกนลอริวิว เล่ม ๔ หน้า ๓๔๘
  66. ดู Extra-territoriality in Siam ของพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ หน้า ๓๑๒
  67. ดูคำอธิบายกฎหมายระวางประเทศ โดยฮอล หน้า ๓๓๐–๓๓๑ และของออปเปนไฮม์ หน้า ๕๗๙–๕๙๙ แลหนังสือนิติสาสน์ ปีที่ ๔ เล่ม ๑ หน้า ๗๐
  68. ดูความเห็นของกุซตาวัซ ไอลินเยอร์ ข้างต้น หน้า ๓๔๕–๓๔๖
  69. ดู Willoughby “Foreign Rights and Interest in China หน้า ๗๒ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ เอช เอช ควิกิ์เล แห่งมหาวิทยาลัยมิเนซโซตา ยังได้อ้างไว้อีก คือ Hart, Sir Robert, “Proposals for the better Regulations of Commercial Relations”, found as Appendix D in Morse, International Relations, หน้า ๔๕๖, ๔๖๑; Tan S. H. “Extraterritoriality in China” ในหนังสือ Chinese Studies รายเดือน ๆ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๕; British Year Book of International Law ค.ศ. ๑๙๒๑–๒๓ หน้า ๑๓๓–๑๔๙

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก