ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งรัฐบาลโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการเพิ่มศักยภาพด้านการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาล และการเร่งรัดการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประเมินสถานการณ์ภายหลังการมีผลใช้บังคับของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ปรากฏว่ายังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในครอบครัวและชุมชน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้นจากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ความมุ่งหมายของมาตรการ มาตรการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในข้อกำหนดฉบับนี้มุ่งหมายเพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลด้าที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ประจำในที่พำนัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อมักเกิดขึ้นในครอบครัว โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีการเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า การติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราเพิ่มจำนวนขึ้นสูงมากแม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตามแต่ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
ที่ไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็ว สิ่งที่ต้องร่วมมือกันในเวลานี้ คือ ชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโรค โดยต้องหยุดยั้งการกระทำใด ๆ ก็ตามที่เป็นความเสี่ยงหรือเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป
ข้อ ๒ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์เสียใหม่ และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๕) ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ และข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
ข้อ ๓ การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้มีคำสั่งตามข้อ ๒ เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น
สำหรับการเดินทางในบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ สามารถกระทำได้แต่ต้องพึงใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอาสาสมัครและจิตอาสา ในการให้ความช่วยเหลือและกระจายสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ข้อ ๔ กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วันนับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่และการกำหนดบุคคลที่ได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
ข้อ ๕ การกําหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามข้อกําหนดนี้ โดยเน้นการปฏิบัติเพื่อการคัดกรอง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) กําหนด เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อยสิบสี่วัน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น หรือแนวทางที่กําหนดไว้ในข้อกําหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อกําหนด (ฉบับที่ ๒๕) ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ทั้งนี้ ให้นํากรณีหรือบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามข้อ ๕ และข้อ ๕ ของข้อกําหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มาใช้โดยอนุโลม
ข้อ ๖ การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกํากับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กําหนด โดยจํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละห้าสิบของความจุผู้โดยสารสําหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาจัดการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อความจําเป็นและตามเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอํานวยความสะดวกการขนส่งประชาชนเพื่อรับบริการฉีดวัคซีนและบริการทางการแพทย์
ข้อ ๗ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคําสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยให้ดําเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสิบสี่วัน โดยสําหรับการให้บริการดังต่อไปนี้ ให้เปิดดําเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กําหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกําหนดไว้แล้ว
(๑)การจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดําเนินการได้จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้ดําเนินการเฉพาะการนํากลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
(๒)ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดําเนินการได้จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา
(๓)โรงแรม ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง
(๔)ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดดําเนินการได้จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา โดยจํากัดเวลาสําหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๕.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
(๕)โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
สําหรับการดําเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจําหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจําหน่ายเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจําหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจําเป็น สถานที่จําหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้้ามัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) ยังคงเปิดดําเนินการได้ตามความจําเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๘ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่าห้าคน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
กิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ตามข้อกําหนดที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดําเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กําหนด
ข้อ ๙ การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานขอรงรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบดําเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจํานวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจํานวนและจํากัดการเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคล รวมทั้งให้งดการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจํานวนมาก เช่น การจัดประชุม สัมมนา การจัดสอบ หรือจัดฝึกอบรม ทั้งนี้ ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐพิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งได้เฉพาะเท่าที่จําเป็นเท่านั้น
สำหรับการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ให้เปิดให้บริการเฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุข การควบคุมโรค กิจการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า และเป็นการปฏิบัติงานที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโดยให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสมที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชนในช่วงระยะเวลานี้ จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรปฏิบัติตามมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเช่นเดียวกัน เพื่อให้บรรดามาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนี้ โดยเฉพาะการลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลสามารถเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ ๑๐ การบูรณาการและประสานงาน เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ ศบค. พิจารณามาตรการและเร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็วและชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศปก.ศบค. ตามที่ได้รับการร้องขอหรือประสานงาน
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการของประชาชนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ ศบค. พิจารณากลั่นกรองและทำความเห็นเบื้องต้นก่อนหารือมายัง ศปก.ศบค. เพื่อพิจารณา เพื่อให้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพด้วย
ข้อ ๑๑ การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อยสิบสี่วัน (จนถึงวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔) โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลาเจ็ดวัน แต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเป็นการล่วงหน้าให้ทำได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะตามข้อ ๖ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564". (2564, 18 กรกฎาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138, ตอน พิเศษ 160 ง. หน้า 1–5.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"