ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๔๖)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ปัจจุบันได้คลี่คลายและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จากการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลงเป็นลำดับจนสามารถผ่อนปรนบรรดามาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ ให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศจากเดิมที่เคยกำหนดเป็นมาตรการสกัดกั้นเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน โดยปรับให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อรับผู้เดินทางจากทั่วโลก การดำเนินการตามแผนและมาตรการจัดการด้านสาธารณสุขทั้งหลายนี้เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic ที่จะประกาศให้เป็นโรคติดต่อทั่วไป ในการนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นสมควรพิจารณาปรับลดระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กับการคงดำเนินมาตรการที่จำเป็นสำหรับป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

ให้ยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ ๑๐/๒๕๖๕ เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ และข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

ข้อ ๒ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๔) ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะการปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการและการปรับปรุงการกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๕) ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะมาตรการควบคุมและป้องกันโรคสำหรับสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว ยังคงมีผลใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

ข้อ ๓ การผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติยิ่งขึ้น จึงสมควรผ่อนคลายข้อจำกัดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยยกเลิกความในข้อ ๑ แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ โดยขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ ตามข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่าการสวมหน้ากากอย่างถูกวิธีเป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อ ทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) จึงมีข้อแนะนำให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ

กรณีเป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อโควิด - 19 จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต (กลุ่ม ๖๐๘) หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ และกรณีเป็นผู้ติดเชื้อโควิด - 19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากเชื้อโควิด - 19 จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่โรค

ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งชี้แจง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนทราบถึงแนวการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรการสังคม ชุมชน และองค์กร เปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic เฝ้าระวังและกำกับติดตามสถานการณ์ รวมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

ข้อ ๔ การผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเคลื่อนย้ายและการเดินทางของแรงงานต่างด้าวทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติมากยิ่งขึ้น ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ตามความในข้อ ๘ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยให้การเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดและการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานภายในเขตจังหวัดสามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการได้ตามปกติ

ข้อ ๕ แนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ปรับปรุงแนวปฏิบัติการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อรองรับกับมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ ที่ได้ประกาศไว้ โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ ศบค. ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว

ข้อ ๖ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวัง ให้พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่จำแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๓ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๔) ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ และข้อ ๓ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๕) ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยให้ปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ดังนี้

(๑) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ และคำแนะนำของทางราชการ

(๒) สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบ และระบบต่าง ๆ และคำแนะนำของทางราชการ

ข้อ ๗ มาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่เฝ้าระวัง การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กรณีการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่าสองพันคนให้ผู้รับผิดชอบแจ้งการจัดกิจกรรมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวังและกำกับติดตามมิให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน (Cluster)

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"