ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 29 เมษายน 2564

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๒๒)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในเดือนเมษายน ๒๕๖๔ อันเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล โดยในรอบนี้ผู้ติดโรคจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อยมากในระยะแรก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลายกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้น ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้โรคแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อมิให้เหตุการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทวีความร้ายแรงมากขึ้น และให้สามารถยุติลงได้โดยเร็ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการแพร่โรคเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเพื่อจำกัดวงในการระบาดของโรค เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และต้องสวมให้ถูกวิธีตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

ข้อ ๒ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ดังนี้

(๑)พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม ๖ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งเพื่อให้การสกัดและยับยั้งการระบาดของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด

(๒)พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่จังหวัด รวม ๔๕ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(๓)พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัด รวม ๒๖ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม จังหวัดในเขตพื้นที่สถานการณ์ตาม (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายข้อกำหนดนี้

ข้อ ๓ การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มสาหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคนในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเหตุยกเว้น วิธีการ และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน (๒) ของข้อ ๑ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๐) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๔ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสาหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดยกระดับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการขึ้นเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

(๑)ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา

(๒)สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งสามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม สำหรับการแข่งขันกีฬาที่เคยได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีให้จัดการแข่งขันได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดแล้วให้สามารถจัดการแข่งขันได้ต่อไป

(๓)สำหรับการเปิดดำเนินการของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน หรือสถานประกอบการอื่นในลักษณะคล้ายกัน ให้ดำเนินการได้ตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคเช่นเดียวกับมาตรการแบบควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๐) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

(๔)การงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค

ข้อ ๕ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๐) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

ข้อ ๖ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อมุ่งลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบในการป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบจะติดเชื้อ เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน ซึ่งอาจสั่งการให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การลดจำนวนบุคคลที่ประจำอยู่ในสถานที่ตั้ง การสลับวันเวลาทำงานหรือวิธีการอื่นใดตามความเหมาะสมโดยพิจารณาให้เพียงพอต่อภารกิจในการให้บริการประชาชน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

  • บัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ
  • แนบท้ายข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๒) ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔

พื้นที่ควบคุมสูงสุด
๑. จังหวัดกาญจนบุรี
๒. จังหวัดกำแพงเพชร
๓. จังหวัดขอนแก่น
๔. จังหวัดจันทบุรี
๕. จังหวัดฉะเชิงเทรา
๖. จังหวัดชัยภูมิ
๗. จังหวัดเชียงราย
๘. จังหวัดตรัง
๙. จังหวัดตาก
๑๐. จังหวัดนครปฐม
๑๑. จังหวัดนครราชสีมา
๑๒. จังหวัดนครศรีธรรมราช
๑๓. จังหวัดนครสวรรค์
๑๔. จังหวัดนราธิวาส
๑๕. จังหวัดน่าน
๑๖. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๑๗. จังหวัดปราจีนบุรี
๑๘. จังหวัดปัตตานี
๑๙. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒๐. จังหวัดพัทลุง
๒๑. จังหวัดพิจิตร
๒๒. จังหวัดพิษณุโลก
๒๓. จังหวัดเพชรบุรี
๒๔. จังหวัดเพชรบูรณ์
๒๕. จังหวัดภูเก็ต
๒๖. จังหวัดมหาสารคาม
๒๗. จังหวัดยะลา
๒๘. จังหวัดร้อยเอ็ด
๒๙. จังหวัดระนอง
๓๐. จังหวัดระยอง
๓๑. จังหวัดราชบุรี
๓๒. จังหวัดลพบุรี
๓๓. จังหวัดลำปาง
๓๔. จังหวัดลำพูน
๓๕. จังหวัดศรีสะเกษ
๓๖. จังหวัดสงขลา
๓๗. จังหวัดสมุทรสาคร
๓๘. จังหวัดสระแก้ว
๓๙. จังหวัดสระบุรี
๔๐. จังหวัดสุโขทัย
๔๑. จังหวัดสุพรรณบุรี
๔๒. จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๔๓. จังหวัดอ่างทอง
๔๔. จังหวัดอุดรธานี
๔๕. จังหวัดอุบลราชธานี
รวมทั้งสิ้น ๔๕ จังหวัด
พื้นที่ควบคุม
๑. จังหวัดกระบี่
๒. จังหวัดกาฬสินธุ์
๓. จังหวัดชัยนาท
๔. จังหวัดชุมพร
๕. จังหวัดตราด
๖. จังหวัดนครนายก
๗. จังหวัดนครพนม
๘. จังหวัดบึงกาฬ
๙. จังหวัดบุรีรัมย์
๑๐. จังหวัดพังงา
๑๑. จังหวัดแพร่
๑๒. จังหวัดพะเยา
๑๓. จังหวัดมุกดาหาร
๑๔. จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๑๕. จังหวัดยโสธร
๑๖. จังหวัดเลย
๑๗. จังหวัดสกลนคร
๑๘. จังหวัดสตูล
๑๙. จังหวัดสมุทรสงคราม
๒๐. จังหวัดสิงห์บุรี
๒๑. จังหวัดสุรินทร์
๒๒. จังหวัดหนองคาย
๒๓. จังหวัดหนองบัวลำภู
๒๔. จังหวัดอุทัยธานี
๒๕. จังหวัดอุตรดิตถ์
๒๖. จังหวัดอำนาจเจริญ
รวมทั้งสิ้น ๒๖ จังหวัด

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"