ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องแบบฯ ของนิสิต พ.ศ. ๒๕๕๓
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/052/25.PDF |
สารบัญ ลง
- ข้อบังคับ
- อารัมภบท
- ๑ นามข้อบังคับ
- ๒ วันเริ่มใช้ข้อบังคับ
- ๓ การยกเลิกกฎอื่น
- ๔ บทอธิบายศัพท์
- ๕ ผู้ใช้เครื่องแบบ
- ๖ เครื่องแบบปกติ นิสิตชาย
- ๗ เครื่องแบบปกติ นิสิตหญิง
- ๘ เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี นิสิตชาย
- ๙ เครื่องแบบพระราชพิธีหรือรัฐพิธี นิสิตหญิง
- ๑๐ เครื่องแบบงานพิธีการ นิสิตชาย
- ๑๑ เครื่องแบบงานพิธีการ นิสิตหญิง
- ๑๒ ชุดสุภาพ
- ๑๓ โอกาสที่ใช้เครื่องแบบ
- ๑๔ อำนาจอธิการบดีในการออกประกาศ
- ๑๕ ผู้รักษาการตามข้อบังคับ
- ลงวันที่
ข้อบังคับ ขึ้น
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๒) และมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๗๒๐ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ จึงมีมติให้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อบังคับนี้ให้เรียกว่า "ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต พ.ศ. ๒๕๕๓"
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในข้อบังคับนี้ หรือที่ขัดหรือแย้งต่อข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ในข้อบังคับนี้
"นิสิต" หมายความว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"คณะ" ให้หมายความรวมถึง สำนักวิชา วิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีนิสิตในสังกัด
เครื่องแบบปกติ เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี และเครื่องแบบงานพิธีการ ให้ใช้กับนิสิตระดับชั้นปริญญาตรี
เครื่องแบบปกติสำหรับนิสิตชาย
(๑) เสื้อเชิ้ตสีขาว ไม่มีลวดลาย ไม่รัดรูป กระดุมสีขาว ความยาวของเสื้อให้เลยเอว ให้ใส่ชายเสื้อไว้ในกางเกงตลอดเวลา
(๒) กางเกงขายาวแบบสากล ทำด้วยผ้าสีกรมท่าหรือสีดำ ไม่มันแวววาว ไม่มีลวดลาย ห้ามใช้ผ้ายีน ผ้าสักหลาด ผ้าลูกฟูก
(๓) ถุงเท้าสีดำ สีน้ำตาลเข้ม หรือสีกรมท่า
(๔) รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำ ไม่เปิดหัวรองเท้า
(๕) เข็มขัดหนังสีดำ ขนาดกว้างสามเซนติเมตร หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีเงินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างสามจุดห้าเซนติเมตร ยาวห้าเซนติเมตร ดุนเป็นตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย
(๖) อาจผูกเน็กไทมีตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย
เครื่องแบบปกติสำหรับนิสิตหญิง
(๑) เสื้อทำด้วยผ้าสีขาว ไม่มีลวดลาย เนื้อผ้ามีความหนาพอสมควร ตัวเสื้อหลวมขนาดพองาม ไม่รัดรูป ปกเสื้อแบบปกเชิ้ต ปลายแหลมยาวพอสมควร เดินตะเข็บตามขอบปกให้ปรากฏตะเข็บด้านนอกด้วย ความยาวของเสื้อให้สอดเข้าในกระโปรงได้มิดชิด สาบบ่าเป็นสาบขนาดพองาม ด้านหลังของตัวเสื้อที่กึ่งกลางตัวใต้สาบทำจีบชนิดครีบกว้างสามเซนติเมตรหนึ่งจีบ ด้านหน้าผ่าอกตรงโดยตลอด มีสาบกว้างขนาดสามเซนติเมตร ติดดุมโลหะสีเงินดุนเป็นรูปพระเกี้ยวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสองเซนติเมตรห้าดุมรวมดุมที่ติดคอเสื้อ แขนเสื้อเป็นแขนสั้นเหนือข้อศอกไม่เกินหกเซนติเมตร ปลายแขนมีผ้าอีกชิ้นหนึ่งตลบขึ้น ส่วนที่ตลบกลับตรงท้องแขนกว้างสามเซนติเมตร ตรงหลังแขนกว้างหกเซนติเมตร การเดินตะเข็บตัวเสื้อทุกตะเข็บให้เดินตะเข็บคู่ ในกรณีของนิสิตหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม อนุโลมให้แขนเสื้อเป็นแขนยาวได้
(๒) กระโปรงทำด้วยผ้าสีกรมท่าหรือสีดำ ไม่มันแวววาว ไม่มีลวดลาย กระโปรงแบบจีบรอบหรือแบบสุภาพ ไม่มีผ่า หรือทรงตรงมีผ่าด้านหลัง โดยที่จีบของกระโปรงซ้อนกัน ขอบกระโปรงอยู่ระดับเอว ความยาวของกระโปรงอยู่ระหว่างเข่าและข้อเท้า ห้ามใช้ผ้ายีน ผ้าสักหลาด ผ้าลูกฟูก ผ้ายืด ผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ สำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งให้ใช้กระโปรงแบบจีบรอบ
(๓) เครื่องหมายตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย ทำด้วยโลหะสีเงิน สูงสามเซนติเมตร ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา
(๔) เข็มขัดทำด้วยสักหลาดหรือหนังกลับสีน้ำตาลเข้ม กว้างสามจุดห้าเซนติเมตร เป็นเข็มขัดรูด ปลายแหลม หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีเงิน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดสี่เซนติเมตร ดุนเป็นตราพระเกี้ยว คาดทับรอยต่อที่กระโปรงทับเสื้อ
(๕) รองเท้าหนังหุ้มส้น หรือมีสายรัดส้น แบบสุภาพ สีดำ สีขาว สีน้ำตาล สีกรมท่า หรือสีเทา สำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งให้ใช้รองเท้าหนังหุ้มส้น สีขาว ไม่มีลวดลาย ไม่เปิดหัวรองเท้า และสวมถุงเท้าสีขาว
เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธีสำหรับนิสิตชาย
(๑) เสื้อราชปะแตนสีขาว คอตั้ง แขนยาวถึงข้อมือ มีช่องกระเป๋าที่อกเสื้อซ้ายและขวา และที่เอวเสื้อซ้ายและขวา ที่แนวสาบอกกลัดดุมตราพระเกี้ยวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสองเซนติเมตรห้าดุม
(๒) แผงคอติดที่คอเสื้อทั้งสองข้าง ทำด้วยสักหลาดหรือกำมะหยี่ สีตามสีประจำคณะที่สังกัด รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายตัดเป็นรูปชายธง แต่ละข้างกว้างสี่จุดห้าเซนติเมตร ยาวสิบสองเซนติเมตร ที่กึ่งกลางตามความยาวของแผงคอ มีแถบสีทองกว้างหนึ่งเซนติเมตร หนึ่งแถบ และมีตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน สูงสามจุดห้าเซนติเมตร ติดทับบนแถบสีทองที่กึ่งกลางของแผงคอ
สีประจำคณะมีดังนี้
คณะครุศาสตร์ | สีแสด |
คณะจิตวิทยา | สีน้ำเงินแก่อมม่วง |
คณะทันตแพทยศาสตร์ | สีม่วง |
คณะนิติศาสตร์ | สีขาว |
คณะนิเทศศาสตร์ | สีน้ำเงิน |
คณะพยาบาลศาสตร์ | สีแดงชาด |
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี | สีฟ้า |
คณะแพทยศาสตร์ | สีเขียวแก่ |
คณะเภสัชศาสตร์ | สีเขียวมะกอก |
คณะรัฐศาสตร์ | สีดำ |
คณะวิทยาศาสตร์ | สีเหลือง |
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา | สีส้ม |
คณะวิศวกรรมศาสตร์ | สีเลือดหมู |
คณะศิลปกรรมศาสตร์ | สีแดงเลือดนก |
คณะเศรษฐศาสตร์ | สีทอง |
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ | สีน้ำตาล |
คณะสหเวชศาสตร์ | สีม่วงคราม |
คณะสัตวแพทยศาสตร์ | สีฟ้าหม่น |
คณะอักษรศาสตร์ | สีเทา |
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร | สีแดงอิฐ |
กรณีนิสิตที่ปฏิบัติงานให้กับสโมสรนิสิตอาจใช้แผงคอสีชมพู
เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธีสำหรับนิสิตหญิง
มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องแบบปกติสำหรับนิสิตหญิง โดยให้กลัดดุมที่คอเสื้อ กระโปรงสีกรมท่า และรองเท้าสีดำเท่านั้น ยกเว้นรองเท้าสำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งให้ใช้เช่นเดียวกับเครื่องแบบปกติ
เครื่องแบบงานพิธีการสำหรับนิสิตชาย
มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องแบบปกติสำหรับนิสิตชาย โดยให้ผูกเน็กไทมีตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย
เครื่องแบบงานพิธีการสำหรับนิสิตหญิง
มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องแบบในงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี
มหาวิทยาลัยอาจออกประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยการแต่งกายชุดสุภาพก็ได้ โดยจัดทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ให้นิสิตแต่งเครื่องแบบปกติ เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี เครื่องแบบงานพิธีการ หรือแต่งกายชุดสุภาพ ตามประกาศมหาวิทยาลัย หรือตามที่ระบุในหมายกำหนดการ กำหนดการ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัย
ให้อธิการบดี โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณบดี มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการตามข้อบังคับนี้
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
ในการตีความหรือในกรณีที่มีปัญหาขัดข้องเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อบังคับนี้ หรือในกรณีที่ข้อบังคับนี้มิได้ระบุไว้ ให้อธิการบดีมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด และในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น สภามหาวิทยาลัยอาจมีมติให้งดหรือยกเว้นการใช้ข้อบังคับนี้ได้ตามความจำเป็น
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนพิเศษ ๕๒ ง/หน้า ๒๕/๒๖ เมษายน ๒๕๕๓
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"