คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๔๖/คำพิพากษา

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า
ผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านว่า
ผู้คัดค้านที่ ๒ คัดค้านว่า
ทางไต่สวน ข้อเท็จจริงได้ความว่า
ปัญหาข้อกฎหมาย
๑.   เดช พุ่มคชา และเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชน มีสิทธิร้องเรียนว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปรกติ ใช่หรือไม่
๒.   เมื่อผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างถึงแต่ผู้คัดค้านที่ ๒ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบไปถึงบุคคลอื่นด้วย ใช่หรือไม่
๓.   การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดีนี้ต่อผู้คัดค้านที่ ๑ ทั้งที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. เคยตรวจสอบทรัพย์สินรายเดียวกันไปแล้ว เป็นการไต่สวนซ้ำซึ่งขัดต่อกฎหมาย ใช่หรือไม่
๔.   คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดีนี้โดยมิชอบ เพราะแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อเขาพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปเกินสองปีแล้ว ใช่หรือไม่
๕.   ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคลือบคลุม และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้นำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ตกอยู่ในพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปรกติครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด ใช่หรือไม่
ปัญหาข้อเท็จจริง
๖.   ผู้ร้องที่ ๑ ร่ำรวยผิดปรกติใช่หรือไม่
๖.   ๖.๑   เงินจำนวนที่หนึ่ง สิบแปดล้านบาท
๖.   ๖.๒   เงินจำนวนที่สอง หนึ่งร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านสี่แสนแปดหมื่นบาท
๖.   ๖.๓   เงินจำนวนที่สาม สิบห้าล้านสี่แสนบาท
๖.   ๖.๔   เงินจำนวนที่สี่ สิบเอ็ดล้านบาท
พิพากษา





(อม. ๓๐)
คำพิพากษา[1]
 


เรื่อง   ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

ตราครุฑ
ตราครุฑ
คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๔๖
คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๔๖
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 
อัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายรักเกียรติ สุขธนะ   ที่ ๑ ผู้คัดค้าน
นางสุรกัญญา สุขธนะ   ที่ ๒



ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ ขณะที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีทรัพย์สินรวม ๗๑,๓๗๗,๗๒๐.๔๐ บาท มีหนี้สินรวม ๒๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ๔๙,๓๗๗,๗๒๐.๔๐ บาท นางสุรกัญญา สุขธนะ ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้คัดค้านที่ ๑ มีทรัพย์สินรวม ๒๙,๒๐๖,๗๐๔.๓๘ บาท ไม่มีหนี้สิน ส่วนนายสุวิชชา สุขธนะ บุตรของผู้คัดค้านทั้งสองมีทรัพย์สินรวม ๒๖,๙๘๖.๖๔ บาท ไม่มีหนี้สิน รวมสามคนมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ๗๘,๖๑๑,๔๑๑.๔๒ บาท ต่อมา วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ นายเดช พุ่มคชา ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า ระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีเงินไหลเข้าออกในบัญชีเงินฝากธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน ของผู้คัดค้านที่ ๒ นับร้อยล้านบาท น่าสงสัยว่า เงินดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในขณะที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ไต่สวนข้อเท็จจริง และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการแทน ในการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินฝากในบัญชีธนาคารหลายแห่งเพิ่มขึ้น คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถชี้แจงให้เชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้เงินจำนวน ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท มาโดยชอบ อันได้แก่ เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำนวน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๒๘ และ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ, เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ ๓๑๙-๓-๐๒๗๖๙-๒ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๔ และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ, เงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๗๗-๒-๕๗๑๕๑-๘ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ ๑๑๓-๔-๐๙๒๘๗-๑ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท, และในวันเดียวกัน นำฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๔-๑-๕๒๖๒๗-๔ บัญชีชื่อ นายจารุกิตติ์ (จิรายุ) จรัสเสถียร จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๔ และ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีฝากประจำเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๔-๑-๖๖๖๗๗-๗ บัญชีชื่อ นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ นำฝากวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ยอมรับว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนซึ่งได้จากการเล่นการพนัน เว้นแต่เงินจำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่กู้ยืมนายสมบัติ เพชรตระกูล ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนอีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนมีความเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้เงินจำนวนดังกล่าวมาโดยร่ำรวยผิดปกติ ในที่สุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากขึ้น หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งสิ้น ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ทรัพย์สินเงินสดจำนวน ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาทดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน

ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำร้องคัดค้านและแก้ไขคำร้องคัดค้านว่า นายเดช พุ่มคชา และเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ ประกอบมาตรา ๔ เพราะไม่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้คัดค้านที่ ๑ อีกทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจกล่าวหาและไต่สวนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ นายเดชร้องเรียนเฉพาะบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๒ และการใช้จ่ายงบประมาณการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ๑,๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ร้องเรียนกล่าวหาบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๑ ในชื่อบุคคลอื่นด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกล่าวหาและไต่สวนผู้คัดค้านที่ ๑ เช่นกัน เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีฝากประจำเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่นำฝากเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมีมติให้ยุติเรื่องแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนซ้ำอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๔ และ ๑๒๘ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๗ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เพราะการแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องกระทำในขณะที่ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่เกินสองปี ตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ขณะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ได้ล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว การแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสี่ครั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติ การแจ้งข้อกล่าวหาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๗๖ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนตามมาตรา ๗๗ อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา ๘๐ ประกอบกับคำร้องไม่ครบองค์ประกอบในเรื่องร่ำรวยผิดปกติ ยิ่งกว่านั้น ผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องนำสืบพิสูจน์ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติให้ครบเงื่อนไขตามคำนิยามก่อน ต่อจากนั้น ภาระการพิสูจน์จึงจะตกแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ตามมาตรา ๓๕ ผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถชี้แจงว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ทรัพย์สินมาโดยชอบ และถือว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากคณะอนุกรรมการไต่สวนสรุปวิธีการเล่นการพนันผิดพลาด ไม่มีการสอบถามผู้ที่มีอาชีพจัดพาคนไปเล่นการพนัน ได้แก่ ตัวแทนและตัวแทนช่วง ซึ่งผู้ไปเล่นการพนันจะวางเงินของตนเองก่อนไปเล่นการพนัน หรือขอวงเงินเครดิตจากตัวแทน และจะชำระบัญชีเงินพนันที่เล่นได้เสียกับตัวแทนเหล่านั้น โดยไม่ต้องนำเงินไปชำระบัญชีกับบ่อนกาสิโนหรือนำเงินกลับมาประเทศไทยเอง เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ เข้าไปเล่นการพนันในบ่อนกาสิโน จะใช้ชิปตายแทนเงินที่ใช้เล่นการพนัน หากชนะพนัน จะได้รับชิปเป็นกลับมาซึ่งสามารถนำไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศได้ ส่วนตัวแทนหรือตัวแทนช่วงจะได้ค่าตอบแทน หรือค่าคอมมิชชันโรลลิง (commission rolling) จากบ่อนกาสิโนอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าถึงหนึ่งจุดแปดของชิปที่ลูกค้าใช้เล่นการพนันทุกครั้ง แต่ถ้าลูกค้าวางเงินประกันเป็นทุนก่อนไป ค่าตอบแทนดังกล่าวจะตกเป็นของลูกค้า ที่คณะอนุกรรมการไต่สวนสรุปว่า จะต้องมีการวางเงินหรือชำระเงินก่อนไปเล่นการพนัน จึงไม่ถูกต้อง และขัดแย้งกับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการไต่สวนและของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เอง คณะอนุกรรมการไต่สวนวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน และไม่พยายามแสวงหาพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ การที่ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนงดการประสานงานขอความร่วมมือไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการไปเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด อินเตอร์เนชันแนล รีสอร์ต ประเทศออสเตรเลีย เพราะต้องการเร่งสรุปว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติ ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นนักการเมืองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หากบุคคลทั่วไปทราบว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนัน จะเป็นการไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงฝากเงินในบัญชีชื่อของนายจิรายุและนายพิษณุกร เพื่อความสะดวกที่ผู้คัดค้านที่ ๑ จะเบิกจ่ายมาใช้จ่ายในทางการเมือง ผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด อินเตอร์เนชันแนล รีสอร์ต ประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทเสริมสุวรรณ ทราเวล จำกัด เป็นผู้จัดพาไปและจัดการเกี่ยวกับเงินที่นำไปใช้เล่นการพนัน ส่วนเงินของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่จะนำกลับประเทศไทย ผู้คัดค้านที่ ๑ ให้นายจิรายุนำเงินที่ได้จากการเล่นการพนันจากบ่อนกาสิโนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำนวน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท, บัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๗๗-๒-๕๗๑๕๑-๘ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท, บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๔-๑-๖๖๖๗๗-๗ บัญชีชื่อ นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ นำฝากวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท, บัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ ๑๑๓-๔-๐๙๒๘๗-๑ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท, บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๔-๑-๕๒๖๒๗-๔ บัญชีชื่อ นายจารุกิตติ์ (จิรายุ) จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำฝากวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท, ส่วนเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท รวมเงิน ๑๕,๔๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่นำเงินตราต่างประเทศไปแลกเป็นเงินบาทเพื่อชำระหนี้การพนันที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ค้างชำระให้แก่นายภาณุวัฒน์ โดยเงินตราต่างประเทศดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๑ แบ่งชิปเป็นและค่าคอมมิชชันโรลลิงให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ ชนะพนัน, เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๓๑๙-๓-๐๒๗๖๙-๒ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเงิน ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่นายพินิจ จารุสมบัติ หัวหน้าพรรคเสรีธรรม มอบให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง, ส่วนเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ กู้ยืมจากนายสมบัติ เพชรตระกูล จำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ อีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ นำไปใช้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินของนายเทียม สุขธนะ บิดาผู้คัดค้านที่ ๑ คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยโดยปราศจากพยานหลักฐานว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้เงินดังกล่าวมาหลังจากยกเลิกราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นการไม่ชอบ การได้เงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงไม่ร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง

ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เงินฝากธนาคารในชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ตามคำร้อง ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ได้จากการเล่นการพนันที่ต่างประเทศ โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ได้นำเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการพนันนำติดตัวกลับประเทศไทย แล้วนำไปแลกเป็นเงินบาท และฝากธนาคารไว้ ซึ่งรวมเป็นเงินจำนวน ๑๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเงินอีกจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทได้มาจากการกู้ยืมนายสมบัติ เพชรตระกูล ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้ถือว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง

ทางไต่สวน และรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายเดช พุ่มคชา ตัวแทนเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชน มีหนังสือร้องเรียนกล่าวหาไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่า บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน ของผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยาผู้คัดค้าน ที่ ๑ มีเงินฝากเข้าและถอนออกนับร้อยล้านบาท ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ เงินดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในงบประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ของกระทรวงสาธารณสุข ตามหนังสือขอให้ไต่สวนอดีตรัฐมนตรีรักเกียรติ สุขธนะ ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ เอกสารหมาย ร. ๑ หน้า ๑ ต่อมา นายเดชมีหนังสือแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๓๘๖ ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งติดจำนองผู้อื่น โดยผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระหนี้ที่เจ้าของที่ดินค้างชำระให้แก่ผู้รับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นแคชเชียร์เช็คจำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทในชื่อของผู้คัดค้านที่ ๒ แล้วขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายภาณุวัฒน์ ตั้งสกุลสถาพร ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ในราคา ๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่เงินจำนวนนี้ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน ตามหนังสือขอส่งสำเนาเอกสารเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาเพื่อดำเนินการไต่สวนอดีตรัฐมนตรีรักเกียรติ สุขธนะ เอกสารหมาย ร. ๑ หน้า ๓ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับเรื่องไว้พิจารณา เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ และมาตรา ๗๖ ประกอบมาตรา ๗๗ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นทำการไต่สวนกรณีผู้คัดค้านที่ ๑ ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ผลการไต่สวนปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกเลิกราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๖ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ และผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินฝากธนาคารเพิ่มขึ้นหลายแห่งในบัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒, นายจิรายุ จรัสเสถียร, นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ ซึ่งเป็นน้องชายผู้คัดค้านที่ ๒ และบุคคลอื่นอีกหลายคน เป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท มากกว่ารายได้ตามปกติของผู้คัดค้านทั้งสอง คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ทราบรวมสี่ครั้ง ตามเอกสารหมาย ร. ๑๒ หน้า ๑, ๕, ๗ และ ๑๑ และทำการไต่สวนทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ รวมทั้งเงินฝากธนาคารที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน อันได้แก่ เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีฝากประจำเลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๑ หน้า ๒๑๓ ถึง ๒๑๕ เงินฝากจำนวนนี้ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า เนื่องจากกิจการค้าขายพืชไร่ของนายเทียม สุขธนะ บิดาผู้คัดค้านที่ ๑ ขาดสภาพคล่อง นายเทียมขอให้ผู้คัดค้านที่ ๑ นำเงินฝากธนาคารประเภทบัญชี เงินฝากประจำ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไปค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินของนายเทียมต่อธนาคาร แต่ในระยะนั้นผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันเสียไม่มีเงิน จึงขอกู้ยืมเงิน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทจากนายสมบัติ เพชรตระกูล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ นายสมบัติตกลงให้ยืมเงิน ต่อมา วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการเล่นพนันที่บ่อนกาสิโนในต่างประเทศและเก็บสะสมไว้ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้ ๙,๔๐๐,๐๐๐ บาท แล้วนำเงินที่กู้ยืมจากนายสมบัติกับเงินดังกล่าว รวม ๒๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท ไปที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน แล้วโอนเข้าบัญชีฝากประจำของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเงินที่เหลืออีกจำนวน ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท ฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ ตามเอกสารหมาย ร. ๓ หน้า ๖๔ ต่อมา วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ หลังจากเสร็จสิ้นการค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินของนายเทียมแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และโอนเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท กลับไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน แล้วออกเช็คสั่งจ่ายเงิน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นางพรสุข เสริมสุวรรณ ตามเอกสารหมาย ร. ๓ หน้า ๑๐๖ เพื่อชำระหนี้การพนันที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ค้างชำระ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามผู้ประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ป. ซึ่งขณะนั้น ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการไต่สวนแล้วมีความเห็นว่า เงินจำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข และไม่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ลงนามยกเลิกราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๖ มีมติให้ยุติเรื่อง แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า แม้คณะกรรมการ ป.ป.ป. จะเคยดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วมีมติให้ยุติเรื่องก็ตาม แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นสมควรไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เนื่องจากมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ได้กู้ยืมเงินจากนายสมบัติ เพราะเวลาที่มีการนำเงินจำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทเข้าฝากธนาคารในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ช่วงเวลา ๙:๓๐ ถึง ๑๐ นาฬิกา ไม่สอดคล้องกับเวลาเบิกเงินตามเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ ที่นายสมบัติอ้างว่า ให้กู้ยืมโดยนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินแล้วมอบให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งมีการขอรับเงินในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ เวลา ๑๔:๒๗ นาฬิกา และในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่า เสร็จสิ้นการค้ำประกันก็ไม่มีการคืนเงินจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทให้แก่นายสมบัติตามที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน คำชี้แจงของผู้คัดค้านที่ ๑ จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำนวน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๔ หน้า ๓, เงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๗๗-๒-๕๗๑๕๑-๘ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๕ หน้า ๓, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๓๔-๑-๖๖๖๗๗-๗ บัญชีชื่อ นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ นำฝากวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๔๕,๗๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๕ หน้า ๑๙๙, เงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ ๑๑๓-๔-๐๙๒๘๗-๑ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๕ หน้า ๘๓, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๓๔-๑-๕๒๖๒๗-๔ บัญชีชื่อ นายจารุกิตติ์ (จิรายุ) จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๕ หน้า ๑๐๑, เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๔ หน้า ๖ และวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๔ หน้า ๖ และ ร.๗ หน้า ๑๔ รวมทั้งสิ้น ๑๗๙,๔๘๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า เป็นเงินที่ได้จากเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด ประเทศออสเตรเลีย โดยมีนางพรสุข เสริมสุวรรณ เจ้าของและผู้จัดการบริษัทเสริมสุวรรณ ทราเวล จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากบ่อนกาสิโน (junket) ดังกล่าว และพันตำรวจโท ปกรณ์ เสริมสุวรรณ สามีนางพรสุข เป็นคนพาผู้คัดค้านทั้งสองและนายจิรายุเดินทางไปเล่นการพนัน โดยนางพรสุขได้รับเครดิตจากบ่อนกาสิโนดังกล่าว ๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย บริษัทเสริมสุวรรณ ทราเวล จำกัด จะบริการผู้เดินทางไปเล่นการพนันในเรื่องการเดินทาง ที่พัก อาหาร และให้เครดิตแก่ผู้ไปเล่นการพนัน โดยตกลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินไว้ล่วงหน้า เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย จะจ่ายเงินที่ค้างชำระ ในระยะแรกผู้คัดค้านที่ ๑ ได้รับเครดิตในวงเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย แต่ในระยะหลังเพิ่มเครดิตเป็น ๒,๐๐๐,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย เมื่อผู้เล่นการพนันเข้าไปในบ่อนกาสิโน ตัวแทนจะนำชิปตามมูลค่าที่ได้รับเครดิตมาให้เล่นการพนันซึ่งเรียกว่า ชิปตาย หากชนะพนันทางบ่อนกาสิโนจะมอบชิปเป็น หรือชิปสด ให้แก่ผู้เล่นการพนัน ซึ่งผู้เล่นการพนันอาจนำไปแลกชิปตายเล่นการพนันต่อไปหรือเก็บไว้แลกเงินสดก็ได้ ในกรณีที่ผู้เล่นการพนันเดินทางไปเล่นการพนันกับตัวแทนของบ่อนกาสิโน ทางบ่อนกาสิโนจะให้ค่าคอมมิชชันโรลลิงแก่ตัวแทนในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าถึงหนึ่งจุดแปดของมูลค่าชิปที่หมุนเวียนเล่นการพนัน เว้นแต่ผู้เล่นการพนันนำเงินวางประกันเป็นทุนไว้แก่ตัวแทน ผู้เล่นการพนันจะเป็นผู้ได้รับค่าคอมมิชชันโรลลิง จากบ่อนกาสิโน ส่วนกรณีที่ผู้เล่นการพนันเดินทางไปเล่นพนันเอง ผู้เล่นการพนันจะได้รับค่าคอมมิชชันโรลลิงดังกล่าวจากบ่อนกาสิโน หลังจากเลิกเล่นการพนันแล้ว ผู้เล่นการพนันจะมอบชิปที่เหลืออยู่ให้ตัวแทนนำไปแลกเงิน หรือเช็ค และนำกลับประเทศไทย ผู้คัดค้าน ที่ ๑ กับพวกเข้าไปเล่นการพนันในห้องสำหรับแขกระดับสูงซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับบุคคลที่ตัวแทนของบ่อนกาสิโนพาไปเล่นการพนัน เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ ได้รับเงินจากการชนะพนัน จะให้นายจิรายุ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำไปฝากธนาคารในบัญชีชื่อ นายจิรายุ เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากบุคคลทั่วไปทราบว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นนักการพนัน จะเป็นการไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ สำหรับเงินฝากธนาคาร ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้จากเดินทางไปเล่นการพนันระหว่างวันที่ ๒๑ ถึงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ นางพรสุขได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ เลขที่ ๖๓๕๔๗๖๓ ตามเอกสารหมาย ร. ๗ หน้า ๑๐๗ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ส่วนเงินฝากธนาคาร ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้จากเดินทางไปเล่นการพนันระหว่างวันที่ ๑๑ ถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ ในครั้งนี้ ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันได้เงิน ๓๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท แต่พันตำรวจโท ปกรณ์ขอหักเงิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปช่วยเหลือหัวหน้าพรรคกิจสังคมที่เสียพนัน นางพรสุขจึงออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ เลขที่ ๖๓๕๔๗๘๐ ตามเอกสารหมาย ร. ๗ หน้า ๑๒๓ ชำระเงินส่วนที่เหลือ ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เงินฝากธนาคารจำนวน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้จากเดินทางไปเล่นการพนันระหว่างวันที่ ๒ ถึงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑ เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย นางพรสุขออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ รวมสองฉบับ เช็คเลขที่ ๖๓๕๔๗๙๙ สั่งจ่ายเงิน ๒๐,๗๕๐,๐๐๐ บาท และเช็คเลขที่ ๖๓๕๔๘๐๐ สั่งจ่ายเงิน ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๗ หน้า ๑๓๕ และ ๑๓๖ ตามลำดับ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ส่วนเงินฝากธนาคาร ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้จากเดินทางไปเล่นการพนันระหว่างวันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๑ ได้เงินจากเล่นการพนันรวมทั้งสิ้น ๑๐๒,๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ เป็นของผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๙๒,๓๐๐,๐๐๐ บาท และเป็นของผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งได้รับจากผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ๑๐,๒๙๕,๐๐๐ บาท เมื่อพันตำรวจโท ปกรณ์นำเงินกลับประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทที่ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้โอนเงิน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาทและ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเข้าบัญชีเงินฝากของนายจิรายุ หลังจากนั้น พันตำรวจโท ปกรณ์นำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทที่ธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ ธนาคารดังกล่าวได้ออกแคชเชียร์เช็ค ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทจ่ายเงินให้แก่นายจิรายุ และวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ นางพรสุขออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ เลขที่ ๖๓๖๑๔๑๕ จ่ายเงิน ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๗ หน้า ๑๔๓ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ นอกจากไปเล่นการพนันที่ประเทศออสเตรเลียแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเดินทางไปเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนนาคา ประเทศกัมพูชา, บ่อนกาสิโนเกนติง ประเทศมาเลเซีย และบ่อนกาสิโนลิสบัว เมืองมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนางประภา อนุภาวธรรม และนายภาณุวัฒน์ ตั้งสกุลสถาพร เป็นคนพาไป ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ นายจิรายุได้จ่ายเงินประกันเป็นทุนและชำระหนี้การพนันแทนผู้คัดค้านที่ ๑ ให้แก่นายภาณุวัฒน์ รวมทั้งสิ้น ๑๓๗,๕๓๙,๐๐๐ บาท ตามสำเนาเช็ค สำเนาใบนำฝาก และสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารเอกสารหมาย ร. ๘ ส่วนนายภาณุวัฒน์ได้จ่ายเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ชนะพนันให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ รวมทั้งสิ้น ๖๕,๓๖๗,๐๐๐ บาท โดยแบ่งนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายจิรายุ ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท, นางกฤษณา จันทิม ๑๘,๔๐๐,๐๐๐ บาท และผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๑,๙๖๗,๕๐๐ บาท ตามสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารเอกสารหมาย ร. ๔ หน้า ๔ เอกสารหมาย ร. ๕ หน้า ๒๕๓ และเอกสารหมาย ร. ๓ หน้า ๖๖ ตามลำดับ คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า เงินฝากธนาคารดังกล่าวรวมทั้งสิ้น ๑๗๙,๔๘๐,๐๐๐ บาทที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ชี้แจงว่า ได้จากเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด ประเทศออสเตรเลียนั้น การชี้แจงแต่ละครั้งระบุจำนวนเงินที่ชนะพนันไม่เท่ากัน และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้นำเงินไปวางประกันแก่นางพรสุขก่อนเดินทางไปเล่นพนันตามธรรมเนียมปฏิบัติ อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า มีการนำเงินตราต่างประเทศที่อ้างว่าชนะพนันเข้ามาในประเทศไทย และไม่มีการนำเงินตราต่างประเทศไปแลกเป็นเงินบาท รวมทั้งไม่ปรากฏว่า มีเงินของลูกค้ารายอื่นเข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารของนางพรสุขเพื่อนำไปเล่นการพนัน การชำระบัญชีระหว่างกันไม่ได้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชี และการนำเงินฝากธนาคารโดยใช้บัญชีชื่อ บุคคลอื่น เป็นพฤติการณ์ที่ไม่สุจริต ปกปิด ซ่อนเร้น เพื่อมิให้บุคคลอื่นทราบข้อเท็จจริงและปกปิดแหล่งที่มาที่ไปของเงินเป็นพิรุธ นอกจากนี้ นางพรสุข ยังชี้แจงว่าเงินที่ผู้คัดค้านทั้งสองและนายจิรายุเล่นการพนันได้แต่ละครั้งไม่เกิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และการชำระเงินที่เล่นการพนันได้จะโอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้พาไปเล่นการพนันไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เล่นการพนันโดยตรง จึงถือว่า ทรัพย์สินส่วนนี้ ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ ส่วนเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท รวมเงิน ๑๕,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๓ หน้า ๖๔ ผู้คัดค้านที่ ๒ อ้างว่า เป็นเงินสะสมส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ได้รับจากผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อเดินทางไปเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนในต่างประเทศ ได้แก่ บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด ประเทศออสเตรเลีย, บ่อนกาสิโนลิสบัว เมืองมาเก๊า, บ่อนกาสิโนเกนติง ประเทศมาเลเซีย และบ่อนกาสิโนนาคา ประเทศกัมพูชา โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ไปคอยให้กำลังใจในระหว่างเล่นการพนัน เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ ชนะพนัน จะแบ่งชิปจำนวนย่อยและค่าคอมมิชชันโรลลิงให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ผู้คัดค้านที่ ๒ จะมอบชิปให้พันตำรวจโท ปกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ของผู้พาไปเล่นการพนันนำไปแลกเงิน พันตำรวจโท ปกรณ์หรือบุคคลเหล่านั้นจะนำเงินกลับมาประเทศไทย และโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๒ หรือมิฉะนั้น ผู้คัดค้านที่ ๒ จะเก็บเงินตราต่างประเทศไว้ เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ จำเป็นต้องใช้เงินชำระหนี้การพนันให้แก่นายภาณุวัฒน์ ตั้งสกุลสถาพร และต้องโอนเงินไปค้ำประกันนายเทียมในการทำสัญญาขายลดตั๋วเงินไว้แก่ธนาคาร ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงขอให้ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเงินตราต่างประเทศที่เก็บสะสมไว้ไปแลกเป็นเงินบาทมาใช้จ่าย ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเงินตราต่างประเทศไปแลกได้เงิน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำฝากเข้าบัญชีธนาคารรวมกับเงินที่มีอยู่แล้วและชำระหนี้ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นายภาณุวัฒน์ ตัวแทนช่วงที่พาผู้คัดค้านที่ ๑ ไปเล่นการพนันในบ่อนกาสิโนที่ประเทศมาเลเซีย ประเทศกัมพูชา และเมืองมาเก๊า และวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเงินตราต่างประเทศไปแลกได้เงิน ๙,๔๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงิน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ยืมจากนายสมบัติสองครั้งเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเงินเข้าบัญชีฝากธนาคารและโอนไปค้ำประกันนายเทียมในการทำสัญญาขายลดตั๋วเงินให้แก่ธนาคาร ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท คงเหลือเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสาร หมาย ร. ๓ หน้า ๖๔ เมื่อรวมกับเงินฝากธนาคารตามรายการในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๕,๔๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ เก็บสะสมเงินตราต่างประเทศและนำไปฝากธนาคารในบัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒, ญาติพี่น้อง และเพื่อนของผู้คัดค้านที่ ๒ โดยปกปิดไม่บอกให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ทราบ เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๑ มีภริยาน้อย คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า คำชี้แจงของผู้คัดค้านทั้งสองเลื่อนลอยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน และเห็นว่า ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราไม่น่าเก็บเงินสดไว้ให้แลกจำนวนมาก อีกทั้งผู้คัดค้านทั้งสองชี้แจงจำนวนเงินที่เล่นการพนันได้ไม่ตรงกัน นอกจากนี้ ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่เคยแสดงในบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า มีเงินตราต่างประเทศที่ยึดถือไว้ ผู้คัดค้านทั้งสองได้เงินดังกล่าวมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการประกาศยกเลิกราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๖ และยักย้ายถ่ายเทด้วยวิธีการสลับซับซ้อนยากแก่การติดตามตรวจสอบ เป็นลักษณะของการฟอกเงิน น่าเชื่อว่า ได้เงินเหล่านั้นมาจากการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ส่วนเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ ๓๑๙-๓-๐๒๗๖๙-๒ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเงิน ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ร. ๔ หน้า ๑๑๑ ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า สืบเนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๑ กับนายพินิจ จารุสมบัติ หัวหน้าพรรคเสรีธรรม เคยพูดคุยกันว่า จะทำงานการเมืองร่วมกัน จึงต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและสร้างฐานเสียง มีผู้สนับสนุนให้เงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ ผู้คัดค้านที่ ๑ ให้นายจิรายุนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้การพนัน แต่นายจิรายุนำเข้าฝากบัญชีธนาคารก่อน เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า รายการบัญชีเงินฝากธนาคารของนายจิรายุมีเงินหมุนเวียนเพื่อให้ธนาคารเชื่อถือ หลังจากนั้น นายจิรายุได้ถอนเงินดังกล่าวนำไปชำระหนี้พันตำรวจโท ปกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐บาท และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเช็คเอกสารหมาย ร. ๔ หน้า ๑๒๗, ๑๒๙ และ ๑๓๒ ตามลำดับ คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินส่วนนี้ให้ชัดเจนได้ น่าเชื่อว่าเงินฝากธนาคาร ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วเห็นว่า ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้คัดค้านที่ ๑ มีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในหน้าที่ รวมทั้งสิ้น ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดให้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ประการแรกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจกล่าวหาและไต่สวนว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติตามหนังสือร้องขอของนายเดช พุ่มคชา หรือไม่ ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า นายเดช ตัวแทนเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำหนังสือร้องขอให้ไต่สวนผู้คัดค้านที่ ๑ ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๔ ทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจกล่าวหาและไต่สวนผู้คัดค้านที่ ๑ ว่าร่ำรวยผิดปกติ เห็นว่า การดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติแยกการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ในหมวด ๖ โดยมาตรา ๖๖ บัญญัติให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. คำร้องดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องมีรายละเอียดตามมาตรา ๖๗ ซึ่งตาม (๔) ของมาตรา ๖๗ จะต้องระบุถึงข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ความเสียหายที่ได้รับ พร้อมพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ เมื่อได้รับคำร้องแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ตามมาตรา ๔๓ (๒) ส่วนการร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองตกเป็นของแผ่นดินเพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติได้บัญญัติไว้ในหมวด ๗ โดยมาตรา ๗๕ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนว่า พฤติการณ์ที่กล่าวหานั้นเข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ โดยคำกล่าวหาดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องมีรายละเอียดตามมาตรา ๗๖ ซึ่งตาม (๓) ของมาตรา ๗๖ บัญญัติให้ระบุถึงข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้ระบุถึงความเสียหายที่ได้รับ เช่นเดียวกับมาตรา ๖๖ เมื่อเรื่องที่กล่าวหาเข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณาแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ตามมาตรา ๔๓ (๓) ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ในการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกตินั้น ผู้กล่าวหาไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายตามมาตรา ๖๖ หนังสือร้องขอของนายเดชตัวแทนเครือข่ายสามสิบองค์กรพัฒนาเอกชนตามเอกสารหมาย ร. ๑ แผ่นที่ ๑ และแผ่นที่ ๒ เป็นการกล่าวหาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่ำรวยผิดปกติ โดยระบุพฤติการณ์ว่า มีบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน ของนางสุรกัญญา สุขธนะ ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินไหลเข้าออกนับร้อยล้าน ระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยระบุที่อยู่ของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนมาด้วย จึงเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่ำรวยผิดปกติตามมาตรา ๗๕ และ ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มิใช่การกล่าวหาให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้คัดค้านที่ ๑ ตามมาตรา ๖๖ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ตามมาตรา ๔๓ (๓) และมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ประการที่สองมีว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงมีอำนาจไต่สวนและกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ เกี่ยวกับรายการทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อของนายจิรายุ จรัสเสถียร และนายพิษณุกร อุดรสถิตย์ หรือไม่ ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า หนังสือร้องเรียนของนายเดช พุ่มคชา ร้องขอให้มีการตรวจสอบเฉพาะบัญชีของนางสุรกัญญา สุขธนะ ภริยาผู้คัดค้านที่ ๑ และที่เกี่ยวกับงบประมาณจัดสรรคืนพิเศษเป็นเงิน ๑,๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ร้องเรียนถึงบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ ในชื่อบุคคลอื่นด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจึงไม่มีอำนาจกล่าวหาและไต่สวนผู้คัดค้านที่ ๑ ว่าร่ำรวยผิดปกติเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินดังกล่าว เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๑๙ (๔) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อมีผู้กล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ ว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณาตามมาตรา ๗๕ แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงโดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการแทนได้ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อจะทราบข้อเท็จจริงหรือมูลความผิด ตามมาตรา ๔๓ (๓) ประกอบมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินที่ปรากฏอยู่ในชื่อบุคคลอื่นเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ คณะอนุกรรมการไต่สวนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจกล่าวหาและไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ ๑ หรือไม่ และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ คำคัดค้านข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ประการที่สามมีว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่นำฝากเข้าบัญชีฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เลขบัญชีที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ หรือไม่ และผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้เงินจำนวนดังกล่าวตามคำร้องข้อ ๓.๔ ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ป. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำวินิจฉัยข้อกล่าวหาร้องเรียนเลขดำที่ ๔๑๐๑๑๒๑๗ ว่า เห็นควรยุติเรื่อง เพราะไม่ปรากฏพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงกรณีการทุจริตตามที่เป็นข่าว มติดังกล่าวมีผลผูกพันต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๑๒๘ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนยกเรื่องเงินจำนวนดังกล่าวขึ้นมาไต่สวนใหม่ โดยไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน จึงเป็นการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงซ้ำขัดต่อมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น เห็นว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๒๑ บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการได้สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่นำฝากเข้าบัญชีฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เลขบัญชี ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ โดยรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นพยานเอกสารสิบหกรายการ และสอบพยานบุคคลจำนวนสามราย แล้วมีมติว่า เงินจำนวนดังกล่าวมีแหล่งที่มาเป็นเงินของนายสมบัติ เพชรตระกูล ที่ให้ยืม ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเป็นเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านทั้งสอง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เห็นสมควรให้ยุติเรื่อง เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๒ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงกรณีการทุจริตตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ปรากฏตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ป. ครั้งที่ ๒๘ / ๒๕๔๒ เอกสารหมาย ร. ๑ แผ่นที่ ๑๔๗ ถึง แผ่นที่ ๑๕๘ ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังไม่ได้ประกาศใช้บังคับ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการในนามของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๒๑ และถือได้ว่า เรื่องที่มาของเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่นำไปเข้าบัญชีฝากประจำของผู้คัดค้านที่ ๒ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว จึงเป็นกรณีที่ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงซ้ำอีก นอกจากจะมีพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน ตามมาตรา ๔๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวนเรื่องเงินฝาก ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าวได้ ก็ต้องปรากฏว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน เมื่อได้ความว่า ในการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองตามคำกล่าวหาของนายเดชที่กล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกตินั้น ปรากฏว่า เช็คเงินสดเลขที่ ๓๗๘๘๒๗๕ ซึ่งสั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ผู้คัดค้านที่ ๒ อ้างต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. ว่า สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายสมบัติ มีผู้มาเบิกเงินและโอนเงินตามเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของนางพรสุข แตกต่างจากคำให้การเดิมของผู้คัดค้านทั้งสองและนายสมบัติที่เคยให้การไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. จึงถือได้ว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนจึงมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวเพิ่มเติมได้ และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่อาจชี้แจงถึงแหล่งที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวได้ และมีมติว่า เงินที่นำฝากจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการร่ำรวยผิดปกติ ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอให้เงินฝากจำนวนดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน องค์คณะเสียงข้างมากจึงมีมติว่า คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ประการที่สี่มีว่า การที่คณะอนุกรรมการไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้คัดค้านที่ ๑ เพิ่มเติม ครั้งที่สอง, ครั้งที่สาม และครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓, วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๔ และวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๕ ตามลำดับ ซึ่งเป็นการแจ้งเมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นจากการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกินกว่าสองปีแล้ว ชอบด้วยมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ และการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อผู้คัดค้านที่ ๑ ชอบด้วยมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ การแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้คัดค้านที่ ๑ เพิ่มเติม ครั้งที่สอง, ครั้งที่สาม และครั้งที่สี่ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๗๕ วรรคสอง ซึ่งมีผลให้คณะอนุกรรมการไต่สวนไม่มีอำนาจไต่สวน และผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว อันได้แก่ ทรัพย์สินตามคำร้อง ข้อ ๓.๑, ข้อ ๓.๒ และ ข้อ ๓.๕ ถึงข้อ ๓.๑๑ ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้คัดค้านที่ ๑ ทั้งสี่ครั้งไม่ได้ระบุพฤติการณ์ว่า ร่ำรวยผิดปกติอย่างไร มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือหนี้สินลดลงผิดปกติอย่างไร หรือระบุพฤติการณ์ว่า ทรัพย์สินที่ได้มาเป็นการได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อย่างไร เห็นว่า นายเดช พุ่มคชา ทำหนังสือกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ ว่าร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ จึงเป็นการกล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติเมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่เกินสองปี ตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา ๗๗ ประกอบมาตรา ๔๓ (๓) ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อผู้คัดค้านที่ ๑ นั้นเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวนตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๓ ในหมวด ๔ การแจ้งข้อกล่าวหาและการชี้แจงข้อกล่าวหา ข้อ ๒๕ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาหลังจากไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าข้อกล่าวหามีมูล เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำ หรือยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามข้อ ๒๖ ต่อไป ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อผู้คัดค้านที่ ๑ ดังกล่าว จึงไม่ใช่การกล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา ๗๕ ซึ่งจะต้องกระทำภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ ๑ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง และไม่ต้องระบุถึงพฤติการณ์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติอย่างไร ตามมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ การแจ้งข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการไต่สวนจึงชอบแล้ว

ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ประการสุดท้ายมีว่า ตามรายงานของคณะอนุกรรมการไต่สวนและมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้วินิจฉัยถึงรายการทรัพย์สินตามคำร้องข้อ ๓ ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าได้มาโดยชอบ จึงถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ หรือวินิจฉัยว่า เชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ ตามรายงานคณะอนุกรรมการไต่สวน เอกสารหมาย ร. ๑๔ แผ่นที่ ๓๙, ๑๗๙, ๑๘๐ ถึง ๑๘๑, ๑๘๕, ๑๙๑ ถึง ๑๙๒, ๒๑๐ และ ๒๑๑ และผู้ร้องมีคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินนั้น ชอบด้วยมาตรา ๔ แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ และการที่มาตรา ๘๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๕ บัญญัติสอดคล้องกันให้ผู้ที่กล่าวอ้างโต้แย้งว่า ทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต่อศาลนั้น ผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติตามความหมายของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อนหรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” ไว้ว่า หมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ แต่ตามรายงานของคณะอนุกรรมการไต่สวน มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำร้องของผู้ร้อง ไม่ปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ทรัพย์สินมาโดยผิดปกติอย่างไร และได้ทรัพย์สินมาสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยมิชอบอย่างไร ทั้งในการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการไต่สวนไม่พยายามแสวงหาพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ใช้อำนาจหน้าที่อย่างไรจึงเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สินมา มิใช่เพียงแต่รับฟังตามคำชี้แจงของผู้คัดค้านที่ ๑ ว่าชี้แจงที่มาของเงินได้หรือไม่เท่านั้น ในการไต่สวนข้อเท็จจริงในศาล ผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่นำสืบให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา ๔ ก่อน ภาระการพิสูจน์จึงจะตกแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ตามกฎหมาย เห็นว่า บทนิยามของคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น แบ่งเป็น ๔ กรณี คือ (๑) การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ (๒) การมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ (๓) การมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ และ (๔) การได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วได้ความว่า ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้คัดค้านที่ ๑ มีเงินเข้าฝากธนาคารหลายแห่งในบัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยา และบัญชีชื่อ บุคคลอื่นคือนายจิรายุ จรัสเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายพิษณุกร อุดรสถิตย์ น้องชายผู้คัดค้านที่ ๒ และมีการโอนเงินดังกล่าวไปยังบุคคลอื่น โดยผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า เงินฝากดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเงินที่ได้จากการพนันในต่างประเทศ แม้ต่อมาผู้คัดค้านที่ ๑ สามารถชี้แจงและพิสูจน์ได้ว่า เงินที่นำฝากบางส่วนเป็นเงินที่ได้มาจากการเล่นการพนันในต่างประเทศและการทำธุรกรรมอย่างอื่นจริง แต่ยังเหลือรายการนำฝากเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ยอมรับว่า เป็นเงินของตนที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าได้มาอย่างไรหลายรายการ ซึ่งอยู่ในบัญชีธนาคารที่แตกต่างกันหลายบัญชี รวมเป็นยอดเงินทั้งสิ้น ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท จึงถือได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว คณะอนุกรรมการไต่สวน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ ๑ ตกเป็นของแผ่นดิน จึงไม่ต้องระบุว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ทรัพย์สินดังกล่าวโดยไม่ควรอย่างไร ทั้งการที่จะไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความร่ำรวยผิดปกตินั้น ควรกระทำมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ร้องนำคดีมาสู่ศาลแล้ว ศาลยังมีอำนาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจดังกล่าว โดยการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา ๕ และมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า ผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ร่ำรวยผิดปกติตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น เห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ ให้ถ้อยคำชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่า ยอดเงินที่นำฝากในบัญชีธนาคารต่าง ๆ ในบัญชีชื่อ บุคคลอื่น รวมเป็นเงิน ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ ๑ และไม่อาจชี้แจงให้คณะอนุกรรมการไต่สวนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เชื่อได้ว่า มิได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ จนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา ๘๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงมีภาระการพิสูจน์ต่อศาลว่า ทรัพย์สินตามคำร้องข้อ ๓ ดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์สินตามคำร้องของผู้ร้องข้อ ๓.๑ ถึง ๓.๑๑ เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ มีภาระการพิสูจน์ที่จะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘๑ วรรคสอง และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง ซึ่งจะได้วินิจฉัยตามลำดับ ดังนี้

ทรัพย์สินตามคำร้องของผู้ร้องข้อ ๓.๔ จำนวนแรก คือ เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บัญชีเงินฝากประจำ เลขที่ ๔๑๘-๒-๐๖๗๔๔-๔ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวนเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่าเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ยืมจากนายสมบัติ เพชรตระกูล ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ อีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บัญชีเงินฝากดังกล่าวฝากโดยวิธีโอนเงิน on-line เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน ไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เพื่อค้ำประกันหนี้การขายลดตั๋วเงินของนายเทียม สุขธนะ และเมื่อนายเทียมชำระหนี้การขายลดตั๋วเงินแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้โอนเงินกลับไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ เกี่ยวกับเงินจำนวนนี้ ผู้คัดค้านทั้งสองเบิกความว่า เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ กิจการค้าขายพืชไร่ของนายเทียม บิดาของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่จังหวัดอุดรธานีประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ประเภทขายลดตั๋วเงิน นายเทียมจึงขอร้องผู้คัดค้านที่ ๑ ให้หาเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำมาฝากบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นหลักประกัน แต่ในช่วงนั้นผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่มีเงินเนื่องจากเล่นการพนันเสียเป็นจำนวนมาก และเป็นหนี้การพนันประมาณ ๒๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงขอยืมเงินนายสมบัติ เพชรตระกูล หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ จำนวน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ รู้จักนายสมบัติมานาน และเคยยืมเงินนายสมบัติมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง การยืมเงินทุกครั้งนายสมบัติไม่เคยทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เคยคิดดอกเบี้ย และผู้คัดค้านที่ ๑ ก็ชำระหนี้ตรงเวลา นายสมบัติจึงตกลงให้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่อ้างว่า ขณะนั้นมีเงินหมุนเวียนพอที่จะให้ยืมได้เพียง ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ตกลงจะชำระเงินคืนภายในสองเดือน นายสมบัตินัดหมายให้ไปรับเงินยืมเป็นเงินสดวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ยังไม่นำเงินดังกล่าวเข้าฝากธนาคาร แต่ให้ผู้คัดค้านที่ ๒ นำไปเก็บไว้ในตู้นิรภัยที่บ้าน เนื่องจากจะนำเงินตราต่างประเทศที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้จากเล่นการพนันและเก็บสะสมไว้มาแลกสมทบให้ครบ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมา ผู้คัดค้านที่ ๑ ขอยืมเงิน นายสมบัติอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากเกรงว่า เงินตราต่างประเทศที่นำไปแลกไม่เพียงพอ และนายสมบัติให้ไปรับเงินในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันทำการเนื่องจากวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑ เป็นวันหยุดราชการ แต่ผู้คัดค้านที่ ๑ จะเดินทางไปเล่นการพนันที่ต่างประเทศกับนายภาณุวัฒน์ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๐ และต้องชำระหนี้การพนันที่ติดค้างให้แก่นายภาณุวัฒน์ก่อนเดินทาง ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงให้ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเงินตราต่างประเทศไปแลกเป็นเงินบาทได้เงิน ๙,๔๐๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้แบ่งชำระหนี้ นายภาณุวัฒน์ ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำไปรวมกับเงินยืมที่ได้มา ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วโอนไปฝากเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ต่อมาผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันที่ประเทศออสเตรเลียและได้เงินจำนวนมาก จึงนำเงินสดไปทยอยชำระหนี้นายสมบัติรวม ๓ ครั้ง คือวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๑ ชำระ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ชำระ ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ชำระอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสองเกี่ยวกับเงินจำนวนนี้มีข้อที่น่าสงสัยอยู่หลายประการ กล่าวคือ ประการแรก เรื่องการไปรับเงินยืม ผู้คัดค้านทั้งสองเบิกความว่า ไปรับเงินยืมจากนายสมบัติรวมสามครั้ง แต่ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปรับเพียงครั้งเดียว ซึ่งแตกต่างจากคำให้การในชั้นไต่สวนของนายสมบัติที่ให้การว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปรับทั้งสามครั้ง ที่นายสมบัติเบิกความต่อศาลในภายหลังว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปรับครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ก็มิได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดจึงเบิกความแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่เคยให้การไว้ก่อนหน้านี้ กล่าวคือ นายสมบัติให้การต่อเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ป. ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๒ และหลังจากนั้นประมาณหนึ่งปี เมื่อนายสมบัติมาให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ก็ยังยืนยันข้อเท็จจริงที่เคยให้การไว้ในครั้งแรก ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า นายสมบัติอาจจำข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนเนื่องจากเหตุเกิดนานแล้ว ก็ไม่มีเหตุผล เพราะคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ ๑ ในเรื่องนี้ยังแตกต่างกับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ เองที่อ้างว่า ไปรับเงินยืมครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองด้วย ประการที่สอง เรื่องเงินยืมครั้งที่สาม จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ ขอยืมเงินเพิ่มอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายสมบัติไม่อาจหาเงินมาให้ยืมได้ ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง และต่อมา ช่วงวันที่ ๒๘ หรือ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ได้รับการยืนยันจากนายสมบัติให้ไปรับเงินยืมอีก ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งแสดงว่า นายสมบัติให้ยืมเงินเพิ่มเพียง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จากคำให้การในชั้นไต่สวนและคำเบิกความของนายสมบัติที่อ้างว่า ในวันที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปรับเงินยืมครั้งที่สอง จำนวน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ขอยืมเงินเพิ่มอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายสมบัติจึงสั่งจ่ายเช็คจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่เมื่อมารับเงินผู้คัดค้านที่ ๑ กลับขอรับเพียง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท อ้างว่า พอมีเงินสดเหลืออยู่บ้าง ซึ่งแสดงว่า นายสมบัติมีเงินพอที่จะให้ยืม และได้เตรียมเงินไว้แล้ว ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่เป็นฝ่ายผู้คัดค้านที่ ๑ เองที่ประสงค์จะยืมเงินเพียง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ประการที่สาม เรื่องความเชื่อใจในการให้ยืมเงิน ในตอนแรกผู้คัดค้านที่ ๒ ให้การว่า นายสมบัติขอให้นำเงินที่ให้ยืมเข้าบัญชีชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ เนื่องจากนายสมบัติกับผู้คัดค้านที่ ๒ รู้จักกันดี และนายสมบัติค่อนข้างจะเชื่อใจผู้คัดค้านที่ ๒ มาก ด้วยความเชื่อใจดังกล่าว จึงมิได้ทำสัญญายืมกันไว้ แต่ต่อมา ผู้คัดค้านที่ ๒ ให้การใหม่ว่า เหตุที่โอนเงินเข้าฝากในชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ไม่โอนฝากในชื่อผู้คัดค้านที่ ๑ เพราะนายสมบัติต้องการให้ผู้คัดค้านที่ ๒ รับรู้เรื่องการยืมในครั้งนี้ ส่วนนายสมบัติเบิกความว่า ให้ยืมเงินเพราะมีความเชื่อถือนายเทียมและผู้คัดค้านที่ ๑ และเคยให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ยืมเงินมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ นายสมบัติเพิ่งรู้จักผู้คัดค้านที่ ๒ โดยผู้คัดค้านที่ ๑ พามาให้รู้จัก และเมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ ติดธุระมารับเงินยืมไม่ได้ ก็ได้โทรศัพท์มาถามว่า ให้ผู้คัดค้านที่ ๒ รับเงินแทนได้หรือไม่ นายสมบัติบอกว่า ได้ เพราะรู้จักกันแล้ว แสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ กับนายสมบัติมิได้สนิมสนมกันดังที่ผู้คัดค้านที่ ๒ อ้าง ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ ๑ เบิกความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ไปเปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ก็เพื่อให้นายเทียมเห็นคุณงามความดีของลูกสะใภ้ในยามกิจการของนายเทียมประสบปัญหา ประการที่สี่ เรื่องการส่งมอบเงินยืมและหลักฐานการยืมเงิน นายสมบัติเบิกความว่า นายสมบัติประกอบธุรกิจหลายอย่าง มีวงเงินปีหนึ่งประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แสดงให้เห็นว่า นายสมบัติมีฐานะทางการเงินดีมาก หากนายสมบัติให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ยืมเงิน ก็น่าจะมอบเงินยืมให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ โดยมอบเป็นเงินสดหรือสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ในคราวเดียว เพราะอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ทั้งนายสมบัติก็ตกลงให้ยืมเงิน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากมีเงินหมุนเวียนพอที่จะให้ยืมได้ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องทยอยสั่งจ่ายเช็คหลายฉบับต่างวันกัน แล้วจึงให้พนักงานของนายสมบัตินำเช็คไปเบิกเงินสดจากธนาคารเพื่อนำมามอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา ที่นายสมบัติอ้างว่า หากให้พนักงานของนายสมบัติไปเบิกเงินครั้งละมาก ๆ เกรงจะเกิดอันตรายนั้น ก็ไม่มีเหตุผล เพราะเช็คที่นายสมบัติสั่งจ่ายแล้วให้พนักงานไปเบิกแต่ละครั้งก็เป็นเงินจำนวนมากเช่นกัน ส่วนที่อ้างว่า ไม่ต้องการให้ผู้ยืมรู้ฐานะทางการเงินก็ฟังไม่ขึ้น เพราะนายสมบัติได้บอกกับผู้คัดค้านที่ ๑ ตั้งแต่แรกแล้วว่ามีเงินให้ยืม ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับบอกให้ทราบถึงฐานะทางการเงินของตนแล้ว ยิ่งกว่านั้น เงินที่ตกลงให้ยืมก็มีจำนวนมาก แต่นายสมบัติกลับไม่ทำหลักฐานใด ๆ ไว้เป็นหนังสือ ที่นายสมบัติอ้างว่า เหตุที่ไม่ส่งมอบเช็คให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ หรือทำหลักฐานการยืมเงินเป็นหนังสือ เพราะไม่ต้องการให้มีหลักฐานปรากฏว่า ตนเองไปยุ่งเกี่ยวกับนักการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายสมบัติเคยมีเรื่องพัวพันกับนักการเมืองรายหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และนายสมบัติต้องเสียเวลาไปให้การเป็นพยานในชั้นศาลนั้น ก็ไม่มีเหตุผล เพราะหากนายสมบัติไม่ต้องการไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านที่ ๑ ในเรื่องการให้ยืมเงิน นายสมบัติก็น่าจะให้นายเทียมเป็นผู้ยืมเงินโดยตรง และสั่งจ่ายเช็คหรือโอนเงินยืมให้แก่นายเทียม และทำหลักฐานการยืมไว้ เนื่องจากนายสมบัติทราบดีว่า ผู้ที่ต้องการใช้เงินคือนายเทียม มิใช่ผู้คัดค้านที่ ๑ ทั้งนายสมบัติก็มีความเชื่อถือนายเทียม เนื่องจากเคยมีบุญคุณต่อนายสมบัติมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งจ่ายเช็คนำไปเบิกเงินสดมาเก็บไว้ที่บ้าน แล้วนัดหมายให้ผู้คัดค้านที่ ๑ มารับเงินในภายหลังให้เป็นการยุ่งยาก ข้ออ้างของนายสมบัติจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ประการที่ห้า เรื่องเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทที่นำฝากเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๒ ผู้คัดค้านที่ ๑ เบิกความว่า มีที่มาสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ยืมจากนายสมบัติ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินส่วนตัว ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การของผู้คัดค้านทั้งสองที่เคยให้การไว้ก่อนหน้านี้ว่า เงินที่นำฝาก ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ยืมจากนายสมบัติ ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทรวมกับเงินส่วนตัวอีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยเฉพาะผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ให้การไว้ถึงสองครั้ง และยืนยันทุกครั้งว่า เมื่อนายสมบัติทยอยมอบเงินสดให้รวม ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้เก็บรวบรวมเงินทั้งหมดไว้ที่บ้าน ต่อจากนั้น จึงนำเงินสดส่วนตัวของตนกับผู้คัดค้านที่ ๑ อีก๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท สมทบกับเงินที่ยืมจากนายสมบัติรวมเป็น ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วนำไปฝากธนาคารในตอนเช้าของวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ประการสุดท้าย เรื่องการคืนเงินยืม ผู้คัดค้านที่ ๑ เบิกความว่า ตกลงคืนเงินยืมภายในสองเดือน แต่ในชั้นไต่สวนผู้คัดค้านที่ ๑ ให้การว่าตกลงจะชำระหนี้ภายในสามเดือน และนอกจากนี้ ผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเบิกความว่า หลังจากยืมเงินแล้วผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันที่ต่างประเทศได้เงินจำนวนมาก จึงทยอยชำระหนี้คืนนายสมบัติเป็นเงินสดรวมสามครั้ง ซึ่งแตกต่างจากคำให้การของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ให้การไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ เขียนเช็คมอบให้ผู้คัดค้านที่ ๑ นำไปมอบให้นายสมบัติเป็นการชำระหนี้ แต่นายสมบัติขอรับเป็นเงินสด โดยอ้างว่า เมื่อตอนรับเงินยืม รับเป็นเงินสด จึงขอให้คืนเป็นเงินสด และจำเป็นจะใช้เงิน ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงนำเช็คไปขอแลกเงินสดจากพันตำรวจโท ปกรณ์ในวันรุ่งขึ้น แล้วนำเงินไปมอบให้นายสมบัติ ส่วนผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมื่อนายเทียมชำระหนี้ขายลดตั๋วเงินเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านที่ ๒ จึงปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ แล้วโอนเงินเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน หลังจากนั้น ได้สั่งจ่ายเช็คเงินสด ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทให้แก่นายสมบัติเป็นการชำระหนี้ แต่ต่อมา ผู้คัดค้านที่ ๒ ให้การใหม่ว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ มิได้สั่งจ่ายเช็คดังกล่าวให้นายสมบัติโดยตรง แต่ได้มอบให้ผู้คัดค้านที่ ๑ นำไปชำระหนี้นายสมบัติ และมาทราบจากผู้คัดค้านที่ ๑ ในภายหลังว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้นำไปชำระหนี้นายสมบัติ แต่นำไปให้พันตำรวจโท ปกรณ์เนื่องจากจะเดินทางไปเล่นการพนันที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๒ ก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดจึงให้การในตอนแรกว่าได้สั่งจ่ายเช็คให้นายสมบัติโดยตรง ส่วนนายสมบัติให้การในครั้งแรกว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้นำเช็คสั่งจ่ายเงินสด๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทมามอบให้นายสมบัติเป็นการชำระหนี้เงินยืม นายสมบัติให้พนักงานนำไปเบิกเงินสด แต่ต่อมา ให้การใหม่ว่า นายสมบัติขอรับชำระหนี้คืนเป็นเงินสด ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงนำเงินสดมาชำระ ซึ่งนายสมบัติก็มิได้ให้เหตุผลในการขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวเช่นกัน ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างในทำนองว่า คำให้การของผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ถูกต้อง เนื่องจากให้การตามที่ผู้คัดค้านที่ ๒ จดบันทึกไว้ก็ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง เพราะหากเป็นดังที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างคำให้การของผู้คัดค้านที่ ๑ ก็น่าจะสอดคล้องกับคำให้การของผู้คัดค้านที่ ๒ หาใช่ขัดแย้งกันดังที่ปรากฏอยู่ไม่ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสองเกี่ยวกับเงินจำนวนดังกล่าว เห็นได้ว่า มีข้อพิรุธหลายประการ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะหักล้างพยานหลักฐานในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้รับฟังเป็นอย่างอื่น เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่าเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ องค์คณะเสียงข้างมากจึงมีมติว่า คำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองเกี่ยวกับเงินจำนวนนี้ฟังไม่ขึ้น

ทรัพย์สินตามคำร้องของผู้ร้องข้อ ๓.๑ ข้อ ๓.๒ ข ๓.๕ ข้อ ๓.๖ ข้อ ๓.๗ และข้อ ๓.๘ คือ เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๓๑๙-๒-๖๒๕๔๙-๗ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ และวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๓๐,๐๘๐,๐๐๐ บาท, ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๒๐,๔๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ, เงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล ๑ บางกะปิ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๗๗-๒-๕๗๑๕๑-๘ บัญชี ชื่อนายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๑๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๓๔-๑-๖๖๖๗๗-๗ บัญชีชื่อ นายพิษณุกร อุดรสถิตย์ นำฝากวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๔๕,๗๕๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีสะสมทรัพย์เลขที่ ๑๑๓-๔-๐๙๒๘๗-๑ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๒๕,๙๐๐,๐๐๐ บาท, เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๓๔-๑-๕๒๖๒๗-๔ บัญชีชื่อ นายจารุกิตติ์ (จิรายุ) จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๗๙,๔๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า เงินในบัญชีทั้งหมดดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการเดินทางไปเล่นการพนันที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด อินเตอร์เนชันแนล รีสอร์ต ประเทศออสเตรเลีย รวมสี่ครั้ง ระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, วันที่ ๑๑ ถึง ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๐, วันที่ ๒ ถึง ๔ มกราคม ๒๕๔๑ และวันที่ ๒๓ ถึง ๒๔ มกราคม ๒๕๔๑ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากการไต่สวนของศาลว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันที่ประเทศออสเตรเลียในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจริง แต่ปัญหาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันได้หรือไม่ และเป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้น คงมีแต่คำเบิกความของผู้คัดค้านทั้งสองเท่านั้นที่อ้างว่า เล่นการพนันได้เงินจำนวนมาก ส่วนนายพิษณุกร แม้จะเบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันได้ แต่ก็ไม่ทราบว่า เป็นเงินจำนวนเท่าใดเนื่องจากไม่ได้อยู่ดูผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นตลอดเวลา และไม่ได้ร่วมเดินทางไปเล่นการพนันกับผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ประเทศออสเตรเลียทุกครั้ง นายจิรายุที่ร่วมเดินทางไปด้วยกับผู้คัดค้านที่ ๑ ก็เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ จะ เล่นการพนันได้เสียจำนวนเท่าใดพยานไม่ทราบ คงได้รับคำบอกเล่าจากผู้คัดค้านที่ ๑ เท่านั้น แม้ในชั้นไต่สวน นายจิรายุจะเคยให้การว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันได้ แต่นายจิรายุให้เหตุผลถึงสาเหตุที่ให้การเช่นนั้นว่า เป็นเพราะได้รับการร้องขอจากผู้คัดค้านที่ ๑ ก่อนไปให้การ และหากผู้คัดค้านที่ ๑ ได้เงินจากการเล่นการพนันจริง ก็น่าจะนำเงินที่ได้ไปฝากธนาคารในบัญชีของตนเอง หรือผู้คัดค้านที่ ๒ ผู้เป็นภริยา เพราะเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบ ไม่น่าจะฝากเงินจำนวนมากมายหลายสิบล้านบาทในบัญชีชื่อบุคคลอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาโต้แย้งกันในภายหลังได้ ที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่า มีตำแหน่งทางฝ่ายนิติบัญญัติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีตำแหน่งทาง ฝ่ายบริหารเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องปกปิดมิให้สาธารณชนทราบว่า ตนเองเป็นนักการพนันก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอแก่การรับฟัง เพราะการนำเงินเข้าฝากธนาคาร ไม่ว่าในบัญชีของตนเองหรือบัญชีชื่อบุคคลใดก็ตาม บุคคลภายนอกก็ไม่อาจล่วงรู้ถึงแหล่งที่มาของเงินได้ หากไม่มีการบอกกล่าวให้ทราบ ทั้งผู้คัดค้านที่ ๒ ก็เคยรับราชการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน ย่อมทราบถึงความสำคัญของการจัดทำและจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการรับเงินและจ่ายเงินไว้เป็นหลักฐานการเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบในภายหน้า ดังนั้น หากเงินฝากธนาคารเหล่านี้ ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้รับมาจากเล่นการพนันจริง เชื่อว่า ผู้คัดค้านทั้งสองจะต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเล่นการพนัน เพื่อใช้แสดงยืนยันถึงที่มาของเงินดังกล่าว เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถนำเอกสารดังกล่าวมาแสดงให้ปรากฏว่าได้เงินดังกล่าวมาจากบ่อนกาสิโน ข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสองจึงเลื่อนลอย นอกจากนี้ ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ว่า ในการเดินทางไปเล่นการพนันที่ ประเทศออสเตรเลีย ผู้คัดค้านที่ ๑ ไปเล่นโดยไม่ต้องวางเงินก่อนเดินทางไปเล่น แต่ไปเล่นโดยขอเครดิตจากนางพรสุขซึ่งเป็นตัวแทนบ่อนกาสิโนที่ประเทศออสเตรเลียก็ดี และผู้คัดค้านที่ ๑ มีสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนชิปหรือค่าคอมมิชชันโรลลิงก็ดี ปรากฏว่า ไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของนางพรสุขและพันตำรวจโท ปกรณ์ที่อ้างว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปเล่นการพนันโดยวิธีวางเงินก่อนเดินทาง มีบางครั้งเท่านั้นที่ขอเครดิต และโดยปกติจะไม่มีการคิดบัญชีได้เสียระหว่างผู้คัดค้านที่ ๑ กับนางพรสุข เนื่องจากไม่มีเครดิตกัน เว้นแต่ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ขอเครดิตที่บ่อนกาสิโนเนื่องจากเล่นการพนันเสีย และในการเดินทางไปเล่นการ พนันของผู้คัดค้านที่ ๑ โดยวิธีวางเงินก็มี ทั้งกรณีที่ผู้คัดค้านที่ ๑ นำเงินบาทมาให้นางพรสุขซื้อเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และฝ่ายนางพรสุขถือไปให้ที่ประเทศออสเตรเลีย และกรณีที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือเงินดอลลาร์ออสเตรเลียไปเอง ซึ่งนางพรสุขไม่อาจทราบจำนวนเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ นำติดตัวไปได้ ส่วนค่าคอมมิชชันโรลลิง ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ได้รับ เนื่องจากนางพรสุขเป็นฝ่ายออกค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก และค่าอาหารให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ แม้การเดินทางไปประเทศออสเตรเลียทุกครั้ง พันตำรวจโท ปกรณ์ สามีของนางพรสุข จะเดินทางไปด้วย แต่ก็ไม่ได้รู้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นได้หรือเสีย เหตุที่นางพรสุขสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ก็เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๑ เอาเงินดอลลาร์ออสเตรเลียมาให้ช่วยขาย แล้วให้นางพรสุขสั่งจ่ายเช็คตามที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ต้องการ ไม่ใช่ชำระหนี้การพนัน ทั้งการนำฝากบางรายการก็ไม่ใช่การฝากด้วยเช็คของนางพรสุข แต่นำฝากด้วยเช็คหรือการโอนเงินมาจากผู้มีอาชีพซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้เงินมาจากการเล่นการพนัน กรณีจึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่า บรรดาเช็คที่นางพรสุขหรือบุคคลอื่นสั่งจ่ายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ตามที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างนั้นเป็นเช็คที่สั่งจ่ายชำระหนี้การพนัน ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้เพียงว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียมา แต่เงินดังกล่าวจะได้มาจากการเล่นการพนันที่ประเทศออสเตรเลียหรือไม่ ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เพราะหากเป็นเงินที่ได้จากการเล่นการพนันจริง ผู้คัดค้านที่ ๑ ก็น่าจะทำให้ถูกต้องได้ โดยนำเงินกลับเข้าประเทศเอง และให้ทางบ่อนกาสิโนรับรองว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันได้ โดยผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรของรัฐบาลออสเตรเลียก่อนกลับประเทศไทย ก็จะมีหลักฐานเพื่อแสดงว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มาโดยชอบ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องนำเงินเข้าบัญชีตนเองเพื่อให้ตรวจสอบได้ เพราะจะได้ตรวจสอบที่มาของเงินได้ว่ามาจากแหล่งใด การมาอ้างในภายหลังย่อมรับฟังได้ยาก ในเรื่องนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนก็เคยมีมติเชื่อผู้คัดค้าน ที่ ๒ ว่า เล่นพนันได้ เนื่องจากมีการโอนเงินจากตัวแทนบ่อนกาสิโนไปเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งบัญชีดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๑ เคยแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้แล้ว อันแสดงถึงความสุจริต มิใช่ผู้คัดค้านที่ ๑ ใช้บัญชีของนายจิรายุหรือยืมชื่อและเอกสารของนายพิษณุกรไปเปิดบัญชี เป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งว่า เพื่อมิให้มีการตรวจสอบได้ ส่วนกรณีที่พันตำรวจโท สันธนะ ประยูรรัตน์, นางประภา อนุภาวธรรม, นางงามจิตต์ วิทยอำนวยคุณ, นายภาณุวัฒน์ ตั้งสกุลสถาพร ตลอดจนนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งค่าคอมมิชชันโรลลิงให้แก่ลูกค้าที่เดินทางไปเล่นการพนัน ก็เป็นเรื่องขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างตัวแทนบ่อนกาสิโนกับลูกค้าที่เดินทางไปเล่นการพนันจะตกลงกัน มิได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนกันทั้งหมด ดังนั้น ที่นางพรสุขอ้างว่า ไม่ได้แบ่งค่าคอมมิชชันโรลลิง ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เนื่องจากนางพรสุขได้ให้บริการในเรื่องตั๋วเครื่องบินตลอดจนค่าอาหารและที่พักแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ นั้นจึงมีเหตุผล ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ ๑ เกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวจึงยังมีข้อที่น่าสงสัยอยู่ พยานหลักฐานจากการไต่สวนของศาล ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าเงิน ๑๗๙,๔๘๐,๐๐๐ บาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ องค์คณะเสียงข้างมากจึงมีมติว่า คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ เกี่ยวกับ เงินจำนวนนี้ฟังไม่ขึ้น

ทรัพย์สินตามคำร้องของผู้ร้องข้อ ๓.๓ และข้อ ๓.๔ จำนวนหลัง คือ เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสะพานกรุงธน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๓๗-๑-๑๕๓๐๖-๙ บัญชีชื่อ ผู้คัดค้านที่ ๒ นำฝากเป็นเงินสดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท โดยผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า เป็นเงินของผู้คัดค้านที่ ๒ จากการเก็บสะสมเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการเดินทางไปเล่นการพนันที่ต่างประเทศ และผู้คัดค้านที่ ๒ นำติดตัวเข้ามาในประเทศไทย แลกเป็นเงินบาทนำฝากธนาคารดังกล่าว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านทั้งสองทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เงินฝากดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้มาจากการเดินทางไปเล่นการพนันในประเทศต่าง ๆ คือ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๒๙ ถึง ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๑๑ ถึง ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ และเมืองมาเก๊า ระหว่างวันที่ ๑๘ ถึง ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้นำเงินตราต่างประเทศสกุลของประเทศดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยมาแลกเป็นเงินบาท ผู้คัดค้านที่ ๒ ให้การด้วยว่า การเล่นการพนันดังกล่าวมีทั้งเล่นได้และเล่นเสีย แม้ผลที่สุดจะเล่นเสีย แต่ในขณะเล่นถ้าเล่นได้ บางครั้ง ผู้คัดค้านที่ ๒ ก็จะเก็บชิปสดหรือชิปเป็นไว้ แล้วนำไปแลกเงินสด ถือเงินสดกลับประเทศไทย ในชั้นศาล ผู้คัดค้านทั้งสองมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว และเบิกความว่า การไปเล่นการพนันของผู้คัดค้านที่ ๑ บางครั้งผู้คัดค้านที่ ๒ จะไปด้วย เมื่อผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นการพนันได้ก็จะให้รางวัลแก่ผู้คัดค้านที่ ๒ กับมีนายวิรัตน์ บุญซ้อน คนขับรถของผู้คัดค้านที่ ๑ มาเบิกความว่า เคยขับรถให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ไปที่ร้านรับแลกเงินสี่ถึงห้าครั้ง แต่จะแลกเป็นจำนวนเท่าใดพยานจำไม่ได้ และมีนายพิษณุกร น้องชายผู้คัดค้านที่ ๒ เบิกความว่า เงินตราต่างประเทศที่ผู้คัดค้านที่ ๒ เก็บสะสมไว้ได้มาจากการไปเล่นการพนันกับผู้คัดค้านที่ ๑ พยานเคยไปแลกเงินกับผู้คัดค้านที่ ๒ เห็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสองไม่มีเอกสารหลักฐานที่แสดงว่า เงินทั้งสองจำนวนได้มาจากการนำเงินที่ได้จากการเล่นการพนันไปแลกดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้าง ในเรื่องเงินรางวัลที่ได้จากผู้คัดค้านที่ ๑ นั้น ผู้คัดค้านที่ ๒ ไม่เคยให้การเรื่องนี้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนแต่อย่างใด ที่ผู้คัดค้านที่ ๒ อ้างว่า นำเงินตราต่างประเทศเข้ามา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเช่นกัน เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวรวมกันแล้วเป็นเงิน ๑๕,๔๐๐,๐๐๐ บาท นับว่า เป็นเงินจำนวนมากพอสมควร ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่า ได้มาจากการเดินทางไปเล่นการพนันสี่ครั้ง ในจำนวนนี้ ผู้คัดค้านทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เล่นเสียสองครั้ง คือ การเล่นที่ประเทศมาเลเซียและเมืองมาเก๊า โดยที่ประเทศมาเลเซีย ผู้คัดค้านที่ ๑ เล่นเสีย ๒๔,๓๐๐,๐๐๐ บาท และเมืองมาเก๊า ผู้คัดค้านที่ ๒ เล่นเสีย ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ยิ่งไม่น่าเชื่อว่า จะเหลือเงินตราต่างประเทศกลับมาแลกเป็นเงินบาทได้จำนวนมากเช่นนั้น ดังนั้น พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนของศาล ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ นำเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการเล่นการพนันหรือเงินรางวัลที่ได้รับจากผู้คัดค้านที่ ๑ เข้ามาในประเทศไทยตามจำนวนที่อ้าง ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นเงินสะสมส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ ๒ และผู้คัดค้านที่ ๑ ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า เป็นทรัพย์สินที่มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ องค์คณะจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองเกี่ยวกับเงินจำนวนดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

ทรัพย์สินตามคำร้องของผู้ร้องข้อ ๓.๙ ข้อ ๓.๑๐ และ ข้อ ๓.๑๑ คือ เงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขางามวงศ์วาน บัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๓๑๙-๓-๐๒๗๖๙-๒ บัญชีชื่อ นายจิรายุ จรัสเสถียร นำฝากวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนชั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้คัดค้านที่ ๑ ชี้แจงข้อเท็จจริงตามหนังสือลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๔ ว่า เงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ ๑ แต่ไม่ได้ชี้แจงว่า ได้เงินดังกล่าวมาอย่างไร ในชั้นยื่นคำคัดค้านต่อศาลอ้างว่าเป็นเงินที่ได้จากนายพินิจ จารุสมบัติ แต่ในชั้นไต่สวน ผู้คัดค้านที่ ๑ เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ตกลงจะทำงานการเมืองร่วมกับนายพินิจ จารุสมบัติ หัวหน้าพรรคเสรีธรรม มีผู้สนับสนุนพรรคเสรีธรรมมอบเงินให้ผู้คัดค้านที่ ๑ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมทางการเมืองรวม ๓ ครั้ง เงินทั้งสามจำนวนได้รับมาเป็นเงินสด ผู้คัดค้านที่ ๑ ให้นายจิรายุนำไปชำระหนี้การพนัน แต่นายจิรายุกลับนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า รายการบัญชีเงินฝากของนายจิรายุมีเงินหมุนเวียน ทำให้ธนาคารเชื่อถือ หลังจากนั้น ผู้คัดค้านที่ ๑ สั่งให้นายจิรายุถอนเงินโดยออกเช็คชำระหนี้การพนัน ซึ่งปรากฏหลักฐานตามเช็คเอกสารหมาย ร. ๔ หน้า ๑๒๗, ๑๒๙ และ ๑๓๒ ว่า นายจิรายุได้ถอนเงินชำระหนี้ให้แก่พันตำรวจโท ปกรณ์เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ เห็นได้ว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างถึงแหล่งที่มาของเงินทั้งสามจำนวนแตกต่างกัน ทั้งชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชั้นยื่นคำคัดค้านและชั้นไต่สวนของศาล แม้ผู้คัดค้านที่ ๑ จะมีพยานบุคคลมาเบิกความสนับสนุน โดยมีนายวินยา มกรพงศ์ เบิกความว่า พยานทำธุรกิจส่งออกของเด็กเล่นไปต่างประเทศ พยานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเสรีธรรม หลังจากที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ตกลงจะมาร่วมงานทางการเมืองด้วย ซึ่งการทำกิจกรรมทางการเมืองจะต้องใช้เงินสร้างพื้นฐานทางการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง กลุ่มของพยานจึงได้รวบรวมเงินสนับสนุนให้ผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยเป็นเงินส่วนตัวของพยาน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พยานได้นำเงินทั้งหมดไปมอบให้นายโกวิท ภูตะคาม ในราวกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๑ นายศิริทัต โรจนพฤกษ์ เบิกความว่า พยานประกอบธุรกิจโทรคมนาคม พยานเป็นผู้มอบเงินสนับสนุนทางการเมืองให้ผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยนำไปมอบให้ผู้คัดค้านที่ ๑ โดยตรงที่บ้านของผู้คัดค้านที่ ๑ กับมีนายโกวิท ภูตะคาม เบิกความว่า ประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๑ พยานได้รับมอบเงินจากนายวินยา ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อจะส่งไปช่วยกิจกรรมทางการเมืองของผู้คัดค้านที่ ๑ พยานได้นำเงินไปมอบให้นายจิรายุผู้ช่วยผู้คัดค้านที่ ๑ เพราะขณะนั้น ผู้คัดค้านที่ ๑ อยู่ต่างประเทศ โดยส่งมอบเงินสดให้ที่ลานจอดรถอุรุพงษ์คลินิก ซึ่งอยู่แถวสามเสน นอกจากนี้พยานได้รวบรวมเงินจากผู้ที่คุ้นเคยและสนับสนุนทางการเมืองได้ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำไปส่งมอบให้นายจิรายุที่เดิม หลังจากนั้นผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มาร่วมงานกับพรรคเสรีธรรม มีการเปิดตัวกันที่ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี เห็นว่า ในการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งมีโอกาสให้การและทำหนังสือชี้แจงหลายครั้ง แต่ไม่ได้ให้การหรือชี้แจงว่าได้เงินดังกล่าวมาอย่างไร ซึ่งหากเป็นเงินที่ได้รับมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมทางการเมืองดังที่ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างในชั้นศาล ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายถึงขนาดที่ผู้คัดค้านที่ ๑ จะต้องปกปิดที่มา ถ้าเทียบกับข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ ๑ เกี่ยวกับเงินยอดอื่นที่ว่าได้มาจากการเล่นการพนันแล้ว ข้ออ้างตามเหตุผลนี้ยังจะเสียหายน้อยกว่าการอ้างว่าได้มาจากการเล่นการพนันเสียอีก ส่วนในชั้นศาลที่ผู้คัดค้านที่ ๑ และพยานมาเบิกความก็ปรากฏว่า มีข้อน่าสงสัยอยู่หลายประการ กล่าวคือ เหตุใดจึงต้องส่งมอบเงินงวดแรกโดยเร่งรีบในขณะผู้คัดค้านที่ ๑ เดินทางไปต่างประเทศ นอกจากนี้ เงินทั้งสามจำนวนนำเข้าบัญชีธนาคารของนายจิรายุ และมีการถอนเงินโดยเช็คในวันเดียวกับที่นำเข้าบัญชีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสามจำนวนโดยมิได้นำไปทำกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด ประการสำคัญก็คือ นายจิรายุเบิกความแต่เพียงว่า พยานได้รับเงินดังกล่าวจากผู้คัดค้านที่ ๑ โดยไม่ได้เบิกความในรายละเอียดเลยว่า พยานไปรับเงินจากนายโกวิทที่ลานจอดรถดังที่นายโกวิทเบิกความแต่อย่างใด แต่ในการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายจิรายุให้การถึงเงินดังกล่าวว่า พยานได้รับเงินสดจากผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท, วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และได้นำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของพยานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขางามวงศ์วาน เป็นการฝากให้โอนไปชำระหนี้พันตำรวจโท ปกรณ์และนางพรสุข พยานไม่ทราบว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้รับเงินนี้มาจากที่ใด อันเป็นการขัดแย้งกับคำเบิกความของนายโกวิทในข้อสาระสำคัญ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้รับเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวมาโดยชอบ มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ องค์คณะเสียงข้างมากจึงมีมติว่าคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๑ เกี่ยวกับเงินทั้งสามจำนวนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๒๓๓,๘๘๐,๐๐๐ บาท ตกเป็นของแผ่นดิน



วิชา มั่นสกุล


สุประดิษฐ์ หุตะสิงห์


เธียรไท สุนทรนันท


ไสว จันทะศรี


ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน


อำนวย เต้พันธ์


กำพล ภู่สุดแสวง


พินิจ เพชรรุ่ง


หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์



เชิงอรรถ แก้ไข

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๑๐๑ ก/หน้า ๓/๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๖




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"