ความตกลงสมบูรณ์แบบ

(คำแปล)
ความตกลงสมบูรณ์แบบ




โดยที่ตามประกาศซึ่งได้กระทำ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งประเทศไทยได้ประกาศในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยว่า การประกาศสงครามซึ่งประเทศไทยได้กระทำเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ต่อสหราชอาณาจักรเป็นโมฆะ ด้วยเหตุที่ได้กระทำไปโดยขัดกับเจตจำนงของประชาชาวไทย และเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศไทย และ

โดยที่ในวันเดียวกัน ประกาศลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ดั่งกล่าวแล้ว ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย และ

โดยที่รัฐบาลไทยได้บอกปฏิเสธพันธไมตรี ซึ่งประเทศไทยได้กระทำกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กับทั้งบรรดาสนธิสัญญา กติกาสัญญา และความตกลงอื่น ๆ ซึ่งได้กระทำไว้ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น และ

โดยที่รัฐบาลไทยมีความใฝ่ใจที่จะเข้ามีส่วนอย่างเต็มที่ในการบรรเทาผลแห่งสงคราม โดยฉะเพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินบรรดากระบวนการอันมีความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือในการกลับสถาปนาความมั่นคงระหว่างประเทศและสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจทั่วไป และ

โดยที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียอาศัยข้อคำนึงเนื่องด้วยการกระทำในการบอกปฏิเสธซึ่งรัฐบาลไทยได้ปฏิบัติไปแล้ว และระลึกอยู่ด้วยเหมือนกันถึงความอุปการะที่ขะบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านในประเทศไทยได้อำนวยให้ระหว่างสงครามกับญี่ปุ่น จึงมีความปรารถนาที่จะให้สถานะสงครามสิ้นสุดลงโดยทันที

ฉะนั้น รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาที่จะกลับเจริญความสัมพันธ์ทางไมตรีอันสนิทสนมซึ่งมีอยู่ก่อนสงคราม จึงตกลงกระทำความตกลงเพื่อความมุ่งประสงค์ดั่งกล่าว และเพื่อการนี้ ได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็ม คือ

ฝ่ายรัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ

นาย เอม.อี. เดนิง, ซี.เอ็ม.จี., โอ.บี.อี.

ฝ่ายรัฐบาลอินเดีย

นาย เอม.เอส. อาเนย์

ฝ่ายรัฐบาลไทย

หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์
พลโท พระยาอภัยสงคราม
นายเสริม วินิจฉัยกุล

ผู้ซึ่ง เมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่กันและกัน และได้ตรวจเห็นว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันดั่งต่อไปนี้


การใช้คืนและการปรับปรุง

ข้อ หนึ่ง

รัฐบาลไทยตกลงว่าจะบอกปฏิเสธบรรดากระบวนการเนื่องจากการประกาศสงครามอันได้กระทำเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ดั่งกล่าวแล้วข้างต้น และจะจัดกระบวนการทางนิติบัญญัติและทางปกครองที่จำเป็น เพื่อให้เป็นผลแก่การบอกปฏิเสธนั้น

ข้อ สอง

รัฐบาลไทยแถลงว่าเป็นโมฆะบรรดาการที่นัยว่าได้มาซึ่งอาณาเขตต์บริติชที่ประเทศไทยได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กับทั้งบรรดาหลักสิทธิ สิทธิ ทรัพย์สินและผลประโยชน์ ซึ่งรัฐไทยหรือคนในบังคับไทยได้มาในอาณาเขตต์ดั่งกล่าวหลังจากวันที่ว่านั้น รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดกระบวนการทางนิติบัญญัติที่จำเป็น เพื่อให้เป็นผลตามคำแถลงข้างบนนี้ และโดยฉะเพาะอย่างยิ่ง

(ก) จะยกเลิก แลถแถลงว่าเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น บรรดากระบวนการทางนิติบัญญัติและทางปกครองเกี่ยวกับการซึ่งนัยว่าเป็นการผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแห่งอาณาเขตต์บริติช ซึ่งได้กระทำหลังจากวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

(ข) จะถอนบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารไทยตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายทหารผู้มีอำนาจออกจากบรรดาอาณาเขตต์บริติช ตลอดจนบรรดาข้าราชการและคนชาติไทยซึ่งได้เข้าไปในอาณาเขตเหล่านี้หลังจากที่นัยว่าได้ผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทยแล้ว

(ค) จะคืนบรรดาทรัพย์สินที่ได้เอาไปจากอาณาเขตต์เหล่านี้ รวมทั้งเงินตรา เว้นแต่เท่าที่แสดงหลักฐานได้ว่า ได้ให้ค่าอันเป็นธรรมเป็นการแลกเปลี่ยนกันแล้ว

(ง) จะให้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศหรือความบุบสลายแห่งทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ในอาณาเขตต์เหล่านี้ อันเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยยึดครองอาณาเขตต์เหล่านี้

(จ) จะไถ่ถอนเป็นเงินสเตอร์ลิงจากทุนสำรองสเตอร์ลิงที่เคยมีอยู่ซึ่งธนบัตรไทยที่เดินสะพัดอยู่ อันเจ้าหน้าที่บริติชได้เก็บรวบรวมไว้ในอาณาเขตต์บริติชที่ประเทศไทยได้ยึดครองภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

ข้อ สาม

รัฐบาลไทยตกลงว่า จะยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาและคืนในสภาพไม่เสื่อมเสียบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชะนิดของฝ่ายบริติชในประเทศไทย และในการใช้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศ หรือความบุบสลายที่ได้รับ คำว่า "ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์" ให้กินความรวมตลอดถึงทรัพย์สินทางราชการของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย ทรัพย์สินที่ได้โอนกรรมสิทธิหลังจากสงครามได้อุบัติขึ้น บำนาญที่ให้แก่คนชาติบริติช สต๊อกดีบุก ไม้สักและโภคภัณฑ์อื่น ๆ เรือและท่าเทียบ และสัญญาเช่า และสัมปทานเกี่ยวกับดีบุก ไม้สัก และอื่น ๆ ซึ่งให้ไว้แก่ห้างและเอกชนบริติชก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และยังคงสมบูรณ์อยู่ในวันนั้น

ข้อ สี่

รัฐบาลไทยตกลงว่า จะยกเลิกการพิทักษ์ธุรกิจการธนาคารและการพาณิชย์ฝ่ายบริติช และยอมให้กลับดำเนินธุรกิจต่อไป

ข้อ ห้า

รัฐบาลไทยตกลงว่าจะยอมรับผิด โดยบวกดอกเบี้ยตามอัตราส่วนร้อยที่สมควรในส่วนการใช้เงินค้างจ่ายเกี่ยวกับเงินกู้ และเกี่ยวกับการใช้เงินบำนาญเต็มจำนวนตั้งแต่วันที่หยุดใช้เงินตามระเบียบ


ความมั่นคง

ข้อ หก

รัฐบาลไทยยอมรับนับถือว่า กระบวนเหตุการณ์ในสงครามกับญี่ปุ่นแสดงให้เห็นความสำคัญของประเทศไทยเนือ่งในการป้องกันมะลายา พม่า อินเดีย และอินโดจีน และความมั่นคงของมหาสมุทรอินเดียและเขตต์แคว้นปาซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และรัฐบาลไทยตกลงว่าจะร่วมมือเต็มที่ในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การนั้นเห็นชอบแล้ว และหากจะเกี่ยวเนื่องถึงประเทศไทยและฉะเพาะอย่างยิ่งในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งหากจะเกี่ยวกับประเทศหรือเขตต์แคว้นเหล่านั้น

ข้อ เจ็ด

รัฐบาลไทยรับว่า จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน


การร่วมมือทางพาณิชย์และทางเศรษฐกิจ

ข้อ แปด

รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดกระบวนการทุกอย่างที่กระทำได้ เพื่อกลับสถาปนาการค้าขาเข้าและขาออกระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับอาณาเขตต์บริติชที่ใกล้เคียงอีกฝ่ายหนึ่ง และจะยึดือและรักษานโยบายฐานเพื่อนบ้านที่ดีในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินเรือชายฝั่ง

ข้อ เก้า

รัฐบาลไทยรับว่าจะเจรจากับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพื่อทำสนธิสัญญาการตั้งถิ่นฐานการพาณิชย์และการเดินเรือฉะบับใหม่ และทำอนุสัญญาการกงสุลโดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อสิบเอ็ดข้างล่างนี้เป็นมูลฐาน

ข้อ สิบ

รัฐบาลไทยรับว่าจะเจรจากับรัฐบาลอินเดียโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพื่อทำสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือฉะบับใหม่ โดยอาศัยการถ้อยทีถ้อยใช้หลักการในข้อต่อไปนี้เป็นมูลฐาน

ข้อ สิบเอ็ด

(๑) ระหว่างที่ยังไม่ได้ทำสนธิสัญญาและอนุสัญญาดั่งกล่าวในข้อเก้าและสิบข้างบนนี้ และภายให้บังคับให้วรรค (๒) ของข้อนี้ รัฐบาลไทยรับว่าจะถือตามบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือ ซึ่งลงนามกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ กับทั้งรับว่า นอกจากสนธิสัญญานั้นจะอนุญาตให้กระทำได้โดยชัดแจ้งแล้ว จะไม่ใช้กระบวนการใด ๆ บังคับ อันเป็นการอาศัยเหตุสัญชาติ กีดกันผลประโยชน์ทางพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมฝ่ายบริติชหรือผู้ประกอบวิชาชีพฝ่ายบริติช จากการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและการค้าของไทย หรือกระบวนการใด ๆ ที่บังคับให้รักษาไว้ซึ่งสต๊อกหรือส่วนสำรองเกินกว่าที่ปฏิบัติกันอยู่โดยปรกติในการพาณิชย์ การเรือ การอุตสาหกรรม หรือการธุรกิจ

(๒) คำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยดั่งกล่าวข้างบนนี้ (ก) ให้มีข้อยกเว้นใด ๆ ได้ ตามแต่จะได้ตกลงกันในเวลาใด ๆ ระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดีย แล้วแต่กรณีย์กับรัฐบาลไทย (ข) นอกจากจะได้ยืดเวลาออกไปด้วยความตกลงพร้อมกัน จะเป็นอันตกไป ถ้าหากว่าสนธิสัญญาและอนุสัญญาดั่งกล่าวในข้อเก้าและสิบไม่ได้กระทำกันภายในกำหนดเวลาสามปี นับแต่วันใช้ความตกลงนี้

(๓) ความในข้อนี้ไม่ให้ถือว่า เป็นการตัดทางที่จะให้ผลปติบัติซึ่งให้ประโชน์อนุเคราะห์เท่าเทียมกันแก่คนชาติ และการธุระของสหประชาชาติทั้งหมด หรือแต่ชาติหนึ่งชาติใด

ข้อ สิบสอง

รัฐบาลไทยรับว่าจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั่วไปใด ๆ เกี่ยวกับดีบุกหรือยาง ซึ่งอนุโลมตามหลักการเกี่ยวกับข้อตกลงว่าด้วยโภคภัณฑ์ตามแต่องค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคมแห่งองค์การนั้นจะได้ตกลงกัน

ข้อ สิบสาม

จนกระทั่งวันซึ่งจะเป็นวันเดียวหรือต่างวันกันก็ได้ แต่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ รัฐบาลไทยรับว่า นอกจากจะได้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการประสม ณ วอชิงตัน หรือองค์คณะใด ๆ ที่จะมาทำการแทน และในกรณีย์ข้าว นอกจากจะได้เป็นไปตามคำอำนวยขององค์การพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนั้นแล้ว จะห้ามบรรดาการส่งข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศ และจะจัดระเบียบการค้าและเร้าการผลิตโภคภัณฑ์เหล่านี้

ข้อ สิบสี่

รัฐบาลไทยรับว่า โดยเร็วที่สุดที่พอจะกระทำได้ โดยเอาข้าวไว้ให้เพียงพอแก่ความต้องการภายในของไทยแล้ว จะจัดให้มีข้าวสาร ณ กรุงเทพฯ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้องค์การที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรจะได้แจ้งให้ทราบนั้นใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่ากับข้าวส่วนที่เหลือซึ่งสะสมไว้และมีอยู่ในประเทศไทย ณ บัดนี้ แต่ไม่เกินหนึ่งกับกึ่งล้านตันเป็นอย่างมาก หรือจะตกลงกันให้เป็นข้าวเปลือกหรือข้าวกล้องในปริมาณอันมีค่าเท่ากันก็ได้ เป็นที่ตกลงกันว่าจำนวนข้าวสารอันแน่นอนที่จะจัดให้มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ได้ตามความในข้อนี้นั้น องค์การดั่งกล่าวข้างต้นจะเป็นผู้กำหนด และข้าวสาร ข้าวเปลือก หรือข้าวกล้องที่ส่งมอบตามความในข้อนี้ จะได้อนุโลมตามมาตรฐานคุณภาพอันเป็นที่ตกลงกันตามที่เจ้าหน้าที่ดั่งกล่าวได้กำหนด

ข้อ สิบห้า

จนกระทั่งวันที่ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะจัดให้องค์การข้าวดั่งกล่าวในข้อสิบสามและข้อสิบสี่ใช้ประโยชน์ได้ในข้าวทั้งหมดอันเป็นส่วนที่เหลือจากความต้องการภายในประเทศไทย ข้าวเช่นว่านี้ นอกจากข้าวที่ส่งมอบโดยไม่คิดมูลค่าตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในข้อสิบสี่นั้นจะได้ส่งให้โดยวิธีองค์การพิเศษดั่งกล่าวในข้อสิบสาม และข้อสิบสี่จะได้แจ้งให้ทราบ และตามราคาที่กำหนดด้วยความตกลงกับองค์การนั้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงราคาข้าวที่ควบคุมในเขตต์แคว้นอื่น ๆ ในอาเซียซึ่งส่งข้าวออกนอกประเทศ


การบินพลเรือน

ข้อ สิบหก

รัฐบาลไทยจะให้สายการเดินอากาศฝ่ายพลเรือนแห่งจักรภพประชาชาติบริติชได้รับผลประติบัติ โดยความตกลงอันจะได้เจรจากันกับรับาลแห่งสมาชิกของจักรภพประชาชาติบริติชในเรื่องการจัตั้ง บำรุงรักษา และเดินสายการเดินอากาศเป็นระเบียบประจำ ซึ่งให้ประโยชน์อนุเคราะห์ไม่น้อยกว่าที่ได้ให้แก่อิมปีเรียล แอร์เวย์ส ตามหนังสือที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗


ที่ฝังศพสงคราม

ข้อ สิบเจ็ด

รัฐบาลไทยรับว่าจะทำความตกลงกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย เพื่อต่างฝ่ายต่างบำรุงรักษาที่ฝังศพสงคราม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่การจัดตั้งถาวรและการดูแลในภายหน้าแห่งที่ฝังศพสงครามของฝ่ายบริติชและฝฝ่ายอินเดีย และที่ฝั่งศพสงครามของฝ่ายไทยในอาณาเขตต์ของแต่ละฝ่าย


ปกิณณกะ

ข้อ สิบแปด

รัฐบาลไทยตกลงถือว่ายังคงใช้อยู่ซึ่งบรรดาสนธิสัญญาสองฝ่ายระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทยตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณษจักรและรัฐบาลอินเดียจะได้ระบุแล้วแต่กรณีย์ภายใต้บังคับแห่งข้อแก้ไขใด ๆ ที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะแจ้งให้ทราบ และถือว่าสนธิสัญญาใด ๆ ซึ่งมิได้ระบุไว้ดั่งกล่าวนั้นเป็นอันยกเลิกไป

ข้อ สิบเก้า

รัฐบาลไทยตกลงถือว่ายังคงใช้อยู่ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทย บรดาสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงหลายฝ่ายซึ่งทำไว้ก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (ก) ที่ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณีย์ เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้นและยังคงเป็นภาคีอยู่ (ข) ที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณีย์ เป็นภาคีอยู่ในขณะนั้นและยังคงเป็นภาคีอยู่ แต่ประเทศไทยมิได้เป็นภาคี ทั้งนี้รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ เมื่อได้รับคำแจ้งความดั่งกล่าว รัฐบาลไทยจะได้จัดการที่จำเป็นโดยทันที ตามความในสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงดั่งกล่าว ซึ่งประเทศไทยมิได้เป็นภาคีผู้ทำสัญญาอยู่นั้น เพื่อเข้าเป็นภาคี หรือถ้าเข้าเป็นภาคีไม่ได้ ก็จะได้ปฏิบัติให้เป็นผลตามบทบัญญัติแห่งหนังสือสัญญานั้น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสหราชอาณษจักรหรืออินเดียแล้วแต่กรณีย์ โดยวิธีนิติบัญญัติหรือทางปกครองตามแต่จะเหมาะสม รัฐบาลไทยตกลงด้วยว่าจะสนองตามข้อแก้ไขใด ๆ ในหนังสือสัญญานั้น ซึ่งหากจะได้ใช้บังคับตามข้อกำหนดแห่งตราสารดั่งกล่าวหลัจากวันที่ว่านั้น

ข้อ ยี่สิบ

ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับให้เข้าเป็นภาคีแห่งองค์การระหว่างประเทศใด ๆ ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ อันเป็นองค์การที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียเป็นสมาชิกอยู่ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะปฏิบัติตามข้อผูกพันใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากหรือเนื่องด้วยองค์การนั้น ๆ หรือเอกสารที่จัดตั้งองค์การนั้น ๆ ขึ้นตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียแล้วแต่กรณีย์ จะได้ระบุในเวลาใด ๆ

ข้อ ยี่สิบเอ็ด

โดยคำนึงถึงคำมั่นสัญญาซึ่งรัฐบาลไทยให้ไว้ข้างบนนี้ รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียตกลงถือว่าสถานะสงครามเป็นอันสิ้นสุดลง และจะดำเนินการโดยทันทีในอันที่จะกลับเจริญความสัมพันธ์ทางไมตรีกับประเทศไทย และแลกเปลี่ยนผู้แทนทางทูตกัน

ข้อ ยี่สิบสอง

รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียรับรองด้วยว่าจะสนับสนุนการที่ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ


วิเคราะห์ศัพท์และวันใช้ความตกลง

ข้อ ยี่สิบสาม

ภาคีผู้ทำสัญญานี้ตกลงกันว่า คำว่า "บริติช" ในความตกลงนี้

(๑) เมื่อช้แก่บุคคลธรรมดา หมายความว่า บรรดาคนในบังคับของสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์ และอาณาจักรบริติชอันพ้นทะเลทั้งหลาย จักรพรรดิแห่งอินเดีย ตลอดจนบรรดาบุคคลในอารักขาของสมเด็จพระมหากษัตริย์

(๒) เมื่อใช้แก่อาณาเขตต์ หมายความว่า บรรดาอาณาเขตต์ใด ๆ ในอธิปไตย อธิราชย์อารักขา หรืออาณัติของสมเด็จพระมหากษัตริย์ แล้วแต่กรณีย์

(๓) เมื่อใช้แก่นิติบุคคล หมายความว่าบรรดานิติบุคคลซึ่งได้รับสถานภาพเช่นนั้นจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในอาณาเขตต์ใด ๆ ดั่งกล่าวแล้ว และ

(๔) เมื่อใช้แก่ทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ หมายความว่าทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ของบุคคลดั่งระบุไว้ใน (๑) หรือ (๓) ข้างบนนี้ แล้วแต่กรณีย์

ข้อ ยี่สิบสี่

ความตกลงนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เพื่อเป็นพะยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ได้ลงนามและประทับตราความตกลงนี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำควบกันเป็นสามฉะบับ เป็นภาษาอังกฤษ ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่หนึ่งมกราคม คริสต์ศักราช พันเก้าร้อยสี่สิบหก ตรงกับพุทธศักราช สองพันสี่ร้อยแปดสิบเก้า

ฝ่ายบริเตนใหญ่และไอร์แลน์เหนือ

(ลงนาม) เอม. อี. เดนิง.

ฝ่ายอินเดีย

(ลงนาม) เอม.เอส. อาเนย์
(ลายมือชื่อนี้ได้ลงไว้ด้วยความตกลงกับผู้แทนของสมเด็จพระราชาธิบดีในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในความสัมพันธ์กับบรรดารัฐอินเดียน.)

ฝ่ายไทย

(ลงพระนาม) วิวัฒน
(ลงนาม) พระยาอภัยสงคราม
พลโท
(ลงนาม) ส. วินิจฉัยกุล

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"